อ่านรายละเอียด ข้อกฎหมายปลดล็อกกัญชา การครอบครอง หรือมีใช้แบบไหน ไม่มีความผิด ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศอ.ปส.ตร.) สั่งพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ สั่งไม่ฟ้องคดีกัญชา ส่วนที่ออกหมายจับแล้ว-ถอนหมายจับ ส่วนทรัพย์สินของกลางที่ยึด-อายัดไว้ แต่ยังไม่มีคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน หรือเลขาธิการ ป.ป.ส. ให้แจ้งเจ้าของทรัพย์สินมารับคืนทั้งหมด
กรณี "ปลดล็อกกัญชา" ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อ ยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 พ.ศ.2565 ส่งผลให้ส่วนต่างๆ ของพืชกัญชา ได้แก่ ช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ ไม่ว่าสดหรือแห้ง กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชาและยางกัญชา ไม่มีสถานะเป็นยาเสพติดอีกต่อไป เว้นแต่สารสกัดจากกัญชา-กัญชง ที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือ THC เกิน 0.2% เท่านั้น ที่ยังถือเป็นยาเสพติด โดยมีผลนับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป (เป็นข้อความที่ปรากฏตามประกาศ กระทรวงสาธารณสุข)
ฝั่งตำรวจ ล่าสุดทางด้าน พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ด้านป้องกันปราบปราม (รอง ผบ.ตร.ปป.) และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศอ.ปส.ตร.) เปิดเผยถึงการบังคับใช้กฎหมายว่า นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 พืชกัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติด และยกเลิกความผิดฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออก มีไว้ในครอบครอง จำหน่ายมีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ หรือเสพพืชกัญชา รวมถึงการสูบ ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิด
...
การครอบครองกัญชา
- การมีพืชกัญชาไว้ในครอบครอง หรือปลูกกัญชา ไม่ว่าจะมีจำนวนเท่าใด ก็ไม่มีความผิด
- แต่การมีใช้ จำหน่าย สารสกัดจากกัญชาที่มีปริมาณสาร THC เกินกว่า 0.2% ไม่มีใบอนุญาต ไม่มีใบสั่งแพทย์ ไม่ผ่านการรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือเป็นสารสกัดจากกัญชานั้นมีแหล่งที่มาจากนอกราชอาณาจักร ยังถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย
- เมื่อตำรวจตรวจพบ จะยังไม่ดำเนินคดีในทันที เนื่องจากไม่เป็นความผิดซึ่งหน้า ตำรวจจะต้องยึดสารสกัดนั้นส่งผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบหาค่าสาร THC สืบเสาะแหล่งที่มา ตรวจหลักฐานการขออนุญาต หากพบว่าผิดกฎหมาย จึงจะเรียกตัวมาแจ้งข้อกล่าวหา ดำเนินคดีภายหลัง
การสูบกัญชา
- ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป การสูบกัญชา ไม่มีความผิด
- แต่การสูบกัญชาในที่สาธารณะ รบกวนสิทธิผู้อื่น มีความผิดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท
- การสูบกัญชาในที่สาธารณะ ยังไม่มีกฎหมายควบคุมโดยตรง เช่น บุหรี่ ที่มี พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ควบคุมอยู่
ซึ่งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการสาธารณสุข มีมติเห็นชอบร่างคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางควบคุม เหตุรำคาญ จากการกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด สำหรับราชการส่วนท้องถิ่นใช้ควบคุมเหตุรำคาญแล้วรายละเอียดของประกาศนี้ ให้เจ้าพนักงานในท้องถิ่นดูแล เมื่อได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนเหตุรำคาญ เรื่อง กลิ่นหรือควันจากการสูบกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ให้เจ้าพนักงานดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย โดยศึกษาข้อมูลเบื้องต้น เช่น สถานที่ หรือบริเวณที่ถูกร้องเรียน สถานที่ที่ประชาชนร้องเรียน แหล่งกำเนิดกลิ่นหรือควัน ลักษณะกลิ่น ช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบ ก่อนแจ้งเตือนออกคำแนะนำให้แก้ไขปรับปรุงในระยะเวลาที่กำหนด
"กรณีผู้ถูกร้องเรียนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง ให้เจ้าพนักงานดำเนินการส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข โดยอัตราโทษกรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวข้างต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาทถ้วน หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีผู้ถูกร้องเรียนปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง เรื่องยุติ ให้เจ้าพนักงานแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ร้องเรียนทราบต่อไป" อธิบดีกรมอนามัย ระบุ
คดีกัญชา
- เมื่อกฎหมายยกเลิกความผิดของพืชกัญชา ผู้ต้องขังและผู้ต้องหาคดีกัญชา รวม 4,200 ราย จะได้รับการปล่อยตัวพ้นผิด
***อ้างอิงจากที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม 8 มิถุนายน 2565 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ ได้รายงานตัวเลขจำนวนผู้ต้องขังที่มีความผิดเกี่ยวกับกัญชา จำนวน 4,075 ราย แบ่งเป็น มีความผิดเกี่ยวกับคดีกัญชาคดีเดียว 3,071 ราย มีความผิดฐานอื่นด้วย 1,004 ราย โดยนักโทษเด็ดขาด และผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีเกี่ยวกับกัญชาคดีเดียว ศาลจะปล่อยตัว และพิพากษายกฟ้อง ส่วนที่มีฐานความผิดอื่นด้วย จะไม่ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ แต่ศาลจะแก้ไขยกเลิกโทษที่เกี่ยวกับคดีกัญชาให้
“โดยก่อนหน้านี้ กรมราชทัณฑ์ ได้ให้ผู้บัญชาการเรือนจำ เร่งทำคำร้องให้ผู้ต้องขัง ที่เกี่ยวกับคดีกัญชา ให้ศาลพิจารณา เพื่อศาลจะได้ออกหมายปล่อยตัว ทั้งคดีเด็ดขาด และไม่เด็ดขาด โดยคดีที่เด็ดขาด ก็จะต้องปล่อยตัว ส่วนที่ยังไม่เด็ดขาด ก็จะต้องยกฟ้อง ซึ่งขณะนี้ หลายเรือนจำมีความพร้อมในเรื่องการปล่อยตัวผู้ต้องขังที่เกี่ยวกับคดีกัญชา ในวันพรุ่งนี้แล้ว โดยส่วนใหญ่ จะได้รับการปล่อยตัวทันที ซึ่งผู้ต้องขัง ได้รู้ตัวล่วงหน้าแล้วทุกคน ดังนั้น ขอให้กรมราชทัณฑ์ ดูแลเรื่องการปล่อยตัวให้เรียบร้อยด้วย ส่วนคดีในส่วนของ ป.ป.ส. ก็ต้องจำหน่ายออกจากสารบบ แบ่งเป็น คดียึดทรัพย์ 99 คดี คดีทรัพย์สิน 110 ล้านบาท” รมว.ยุติธรรม กล่าว
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีหนังสือสั่งการให้พนักงานสอบสวนทั่วประเทศสั่งไม่ฟ้องคดีเกี่ยวกับพืชกัญชาที่อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน
- การขออนุมัติศาลออกหมายจับแล้ว ให้ขอถอนหมายจับ แต่หากมีความผิดอื่นร่วมด้วยยังคงดำเนินการตามกฎหมายในข้อหาความผิดอื่นๆ ต่อไป
...
ของกลางคดีกัญชา
- คืนทรัพย์สินของกลางในคดีพืชกัญชา รวมทั้งของส่วนตัวผู้ต้องหา ที่ยังมิได้มีการทำลาย หรือใช้ประโยชน์ หรือขายทอดตลาดตามคำพิพากษา
- ทรัพย์สินเกี่ยวเนื่องกับการกระทำในคดีเกี่ยวกับกัญชา ที่ตำรวจตรวจยึดหรืออายัดไว้แต่ยังไม่มีคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน หรือเลขาธิการ ป.ป.ส. ให้ยึดหรืออายัดไว้ชั่วคราว ให้แจ้งเจ้าของทรัพย์สินมารับคืนทั้งหมด
เรียบเรียง : gravity_ki
กราฟิก : Theerapong.c