ตร.ชี้แจงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงรูปร่าง ขนาด หรือรูปลักษณ์ และการระราน บูลลี่ทางไซเบอร์ จะมีความผิดข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และอาจก่อให้เกิดการกระทำผิดอื่นตามมา มีโทษทั้งจำและปรับ

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2565 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรียนชี้แจงกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์ได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการพูดจาเสียดสี ล้อเลียนผู้อื่น (Body Shaming) ของนักแสดงฮอลลีวูดชื่อดัง ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลายบนโลกออนไลน์ นั้น ในปัจจุบันทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้หลากหลายแฟลตฟอร์ม และเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ซึ่งหากใช้อย่างถูกต้องก็จะก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย แต่ในทางกลับกันหากใช้ในทางไม่ถูกต้องก็จะก่อให้เกิดผลร้ายตามมามากเช่นกัน การวิพากษ์วิจารณ์ถึงรูปร่าง ขนาด หรือรูปลักษณ์ภายนอก (Body Shaming) และการระรานทางไซเบอร์ (Cyberbullying)

โดยเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2565 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า Body Shaming คือ การวิพากษ์วิจารณ์บุคคลอื่น หรือตนเอง ด้วยการพูดถึงรูปร่าง ขนาดตัว ไปจนถึงรูปลักษณ์ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการพูดตรงๆ พูดเปรียบเทียบ หรือพูดล้อเล่น คำพูดดังกล่าวส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจของคนที่ถูกต่อว่าล้อเลียนอย่างมาก และถือเป็นการกลั่นแกล้งกัน (bullying) อีกรูปแบบหนึ่งด้วย อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่ถูกล้อเลียน ส่งผลเสียต่อร่างกาย และอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่ถูกล้อเลียน สร้างบาดแผลทางใจให้อีกฝ่ายได้ ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต นอกจากจะส่งผลร้ายในด้านของจิตใจ และอาจส่งผลต่อร่างกายของผู้ที่ถูกกระทำแล้ว ในบางครั้งอาจจะเป็นต้นเหตุที่ก่อเหตุให้เป็นความรุนแรง การหมิ่นประมาท หรือการกระทำที่ผิดกฎหมายอื่นๆ ตามมาก็เป็นได้

...

พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวต่อว่า การกระทำดังกล่าวข้างต้นหากมีพยานหลักฐานที่ปรากฏชัดเจน หรือมีการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ก็อาจจะเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากประชาชนทั่วไปสามารถเห็น หรือเข้าถึงข้อความดังกล่าวได้อาจจะเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หากมีการทำร้ายร่างกายก็จะเป็นความผิดในฐานผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับในฐานความผิดที่เป็นความผิดต่อส่วนตัว หากต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี ผู้เสียหายจะต้องมาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป เพื่อเป็นการแก้ไขปัญาและป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้กำชับและสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ พร้อมให้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงพิษภัยต่างๆ บนโลกออนไลน์ พร้อมกับแนวทางการป้องกันให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป

พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางการรับมือกับการวิพากวิจารณ์รูปร่างผู้อื่น (Body Shaming) และ การระรานทางไซเบอร์ (Cyberbullying) โดยพึงระลึกไว้เสมอว่าไม่สามารถให้ทุกคนเข้าใจได้ รู้สึกไม่สบายใจให้รีบเอาตัวออกมาจากสถานการณ์นั้น หรือบล็อกข้อความไป และหากโดนกระทำในลักษณะดังกล่าวรู้สึกไม่สบายใจ หาที่ปรึกษาเพื่อจัดการกับอารมณ์และความรู้สึก มองคิดบวกและให้กำลังใจตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เชื่อมั่นว่าข้อแตกต่างไม่ใช่ข้อด้อย หลีกเลี่ยงจากคน Toxic ที่ชอบพูดจาทำร้ายผู้อื่น และตัวเราเองก็ต้องไม่ไปล้อเลียนผู้อื่น และไม่สนุกกับการที่ผู้อื่นถูกล้อเลียนเช่นกัน

ทั้งนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่เหมาะสม ควรใช้อย่างมีสติ และในทางที่สร้างสรรค์ เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ทั้งนี้ประหากพบเห็นการวิพากษ์วิจารณ์ถึงรูปร่าง ขนาด หรือรูปลักษณ์ (Body Shaming) และ การระรานทางไซเบอร์ (Cyberbullying) อย่าแชร์ต่อ อย่าคอมเมนต์ อย่าไปยุ่งเกี่ยวไม่ว่าจะทางใด เพื่อให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันปัญหาและทำให้สังคมออนไลน์เป็นสังคมที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น.