"หมอปลา" พาเหยื่อร้องกองปราบ เอาผิดขบวนการหลอกวิ่งเต้นแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ "รองผู้กำกับ" หลงเชื่อจะได้ขึ้นเป็น "ผู้กำกับ" เลยโอนไป 5.7 ล้าน สุดท้ายไม่สมหวังชื่อหลุดโผ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 16 มีนาคม 2564 ที่ศูนย์รับแจ้งความตำรวจสอบสวนกลาง นายจีรพันธ์ เพชรขาว หรือ หมอปลา พร้อมด้วย นายไพศาล เรืองฤทธิ์ ทนายความ, นายกฤษฎา โลหิตดี หรือ ทนายโนบิตะ พานายภาณุมาศ จิตวศินกุล หรือ เฮียเปี๊ยก นักธุรกิจ และ น.ส.เอ (สงวนชื่อ-นามสกุล) ผู้เสียหาย เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. เพื่อให้ตรวจสอบกลุ่มเครือข่ายหลอกวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งข้าราชการ อ้างว่ารู้จักกับตำรวจชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงบุคคลที่มีตำแหน่งในสังคม โดยมี พ.ต.อ.เทวินทร์ ขุนแก้ว ผกก.กลุ่มงานสอบสวน บก.ป. เป็นตัวแทนรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว

น.ส.เอ เปิดเผยว่า ได้รู้จักกับ นางปฏิญาพร หรือ เจ๊โหน่ง จากการไปร่วมทำบุญด้วยกันหลายครั้ง ต่อมาเมื่อ นางปฏิญาพร ทราบว่าสามีของตนรับราชการตำรวจ จึงพยายามเข้ามาทำทีตีสนิทมากขึ้น ก่อนขอให้ครอบครัวของตนช่วยทำบุญกฐิน เป็นเงิน 200,000 บาท ตนเห็นว่าเป็นการทำบุญจึงโอนเงินให้ไป ต่อมานางปฏิญาพร หรือ เจ๊โหน่ง ได้เริ่มออกอุบายนัดสามีของตนมาที่ร้านส้มตำชื่อดังย่านเมืองทองธานี พบกับนางอณัญญา หรือ “เจ๊ญา” และ “หม่อมแฟงค์” โดยเจ๊โหน่งได้แนะนำว่าทั้งสองคนรู้จักนักการเมือง และตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งอ้างด้วยว่าหม่อมแฟงค์ก็มีฐานันดรเป็นหม่อมหลวงสนิทกับคนในวังแห่งหนึ่ง สามารถช่วยเหลือให้สามีของตนเลื่อนตำแหน่งจากรองผู้กำกับ เป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจได้ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องจ่ายเงินเป็นค่าดำเนินการ สามีและตนเอง จึงไปหากู้ยืมเพื่อนแล้วโอนเงินให้กับทั้ง 3 คน หลายครั้ง รวมเป็นเงิน 5,750,000 บาท

...

น.ส.เอ กล่าวต่อว่า แต่เมื่อผลการแต่งตั้งออกมา กลับปรากฏว่าไม่ได้รับการแต่งตั้งตามที่กล่าวอ้าง จึงขอเงินคืน แต่กลับถูกปฏิเสธ โดยเจ๊โหน่งกับหม่อมแฟงค์อ้างว่า เงินได้ให้เจ๊ญาไปแล้ว เมื่อทวงถามไปที่เจ๊ญา ก่อนจะมีการคืนเงินให้มาเพียงบางส่วน และเริ่มบ่ายเบี่ยง จึงเชื่อว่าถูกหลอกและมีการทำกันเป็นขบวนการ รวมถึงยังเชื่อว่านอกจากสามีตนแล้ว น่าจะมีผู้ตกเป็นเหยื่ออีกหลายราย เรื่องดังกล่าวได้ส่งผลกระทบกับครอบครัวของตนเองเป็นอย่างมาก จนต้องกลายเป็นหนี้เป็นสิน

ขณะที่ นายกฤษฎา เปิดเผยว่า ลักษณะของขบวนการนี้คือมีการตีสนิทเข้ามาชักชวนให้ทำบุญงานกฐิน หนึ่งในขบวนการมีบุคคลที่มีบรรดาศักดิ์เป็นหม่อมหลวง โดยขบวนการนี้มักจะนัดหมายเหยื่อให้มาที่ร้านอาหาร จากนั้นจะโน้มน้าวชักจูงเหยื่อด้วยการอ้างว่ารู้จักกับคนมีชื่อเสียงในสังคม เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ โอนเงินให้ โดยครั้งแรกเหยื่อโอนเงินไป 3,000,000 บาท จากนั้นขบวนการนี้ จะอ้างว่ามีผู้ที่ต้องการตำแหน่งหลายคน เพื่อให้เหยื่อจ่ายเงินเพิ่ม นอกจากนี้ยังพบว่า ขบวนการดังกล่าวยังมีความเชื่อมโยงถึงโควตาลอตเตอรี่อีกด้วย

ขณะที่ นายภาณุมาศ เปิดเผยว่า ผู้เสียหายรายอื่นๆ มีตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับรองสารวัตร ไปจนถึงรองผู้กำกับ รวมถึงข้าราชการครูต่างถูกหลอกลวงในลักษณะเดียวกัน โดยข้าราชการครูส่วนใหญ่มักถูกหลอกลวงว่าจะได้รับมอบรางวัล รวมถึงได้ลงหนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่างๆ ขณะนี้มีผู้เสียหายที่ร้องเรียนมายังตนประมาณ 8 ราย รวมมูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท

ขณะที่ นายไพศาล เปิดเผยว่า ขบวนการดังกล่าวมีการแบ่งหน้าที่กัน อ้างว่ามีการแจกรางวัลให้กับบุคคลต่างๆ จากนี้จะขยายผลเพิ่มเติม จึงอยากฝากไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ตรวจสอบ ว่าผู้ร่วมขบวนการดังกล่าว มีบุคคลสำคัญใดบ้าง ที่มีส่วนรู้เห็นตามคำกล่าวอ้างจริงหรือไม่ โดยในวันนี้จะให้กองบังคับการปราบปรามตรวจสอบความจริง

เบื้องต้นพนักงานสอบสวนได้รับเรื่องไว้ ก่อนสอบปากคำผู้เสียหาย เพื่อเตรียมประมวลเรื่องราว เสนอให้กับผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไป