ตำรวจ สภ.โนนไทย นำตัว "หลวงตาชฎาทอง" ส่งฟ้องศาลแล้ว ขณะที่ผู้เสียหายกว่า 90 ราย แห่เข้าแจ้งความเอาผิด มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 4 ล้านบาท ขนาด พ.ต.ท.ยังตกเป็นเหยื่อ โดนไป 3 หมื่น
จากกรณีที่ชาวบ้าน อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา เผยว่าที่หมู่บ้านมีหญิงคนหนึ่ง นุ่งเหลืองห่มเหลือง แต่งกายคล้ายพระสงฆ์ และเรียกตัวเองว่า "หลวงตา" หรือ “หลวงตาชฎาทอง” เนื่องจากบางครั้งก็สวมชฎาด้วย มักอวดอ้างว่ามีวิชา สามารถมองเห็นผี สื่อกับวิญญาณได้ และชอบทักคนอื่นว่ามีกรรม มีผีคอยตาม ต้องทำบุญสะเดาะเคราะห์ต่อดวงชะตา ด้วยการนำเงินสดมาใส่บาตรพระของตัวเอง และบอกว่าตัวเองเป็นพระปฏิบัติสายหลวงตามหาบัว จนชาวบ้านหลงเชื่อแล้วสูญเงินกันไปหลายราย
ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ สภ.โนนไทย ยังมีบรรดาผู้เสียหาเดินทางทยอยกันเข้ามาแจ้งความ พร้อมให้ปากคำกับตำรวจกว่า 20 ราย โดยในขณะนี้มีผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความกับตำรวจแล้วกว่า 90 ราย รวมมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 4 ล้านบาท
โดยเมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ได้มีการควบคุมตัว น.ส.วรรณฒนา อยู่ทน อายุ 51 หรือ “หลวงตาชฎาทอง” ไปยังศาลแขวงนครราชสีมา เพื่อนำตัวส่งฟ้องศาล
...
โดย พ.ต.อ.อิษฏ์ บุญญะฤทธิ์ ผกก.สภ.โนนไทย เปิดเผยว่า เบื้องต้นตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ น.ส.วรรณฒนา แล้ว ซึ่งผู้ต้องหาก็ให้การรับสารภาพ ซึ่งข้อกล่าวหาที่ได้แจ้งดำเนินคดีไปก็คือ “แต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช โดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น” ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 208 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในส่วนข้อหาฉ้อโกง ต้องรอสอบปากคำผู้เสียหายทั้งหมดก่อนและรวบรวมหลักฐานเพื่อที่จะดำเนินคดีในข้อหานี้
สำหรับกรณีที่มีภาพข่าวที่ออกมาว่ามี เจ้าหน้าที่ตำรวจของทาง สภ.โนนไทย ไปรับซองจากทาง “หลวงตา” นั้น คงต้องให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปรากฏในภาพด้วย และคงต้องสืบหาข้อเท็จจริงก่อนว่าเข้าไปอยู่ในภาพได้อย่างไร และคงต้องดูเจตนาในการให้ซองด้วยว่ามีที่ไปที่มาอย่างไร
ทางด้าน พ.ต.ท.อภิสัณสร์ โพธิ์ศรี อดีตสาวัตรสืบสวน สภ.โนนไทย หนึ่งในผู้เสียหายและเป็นหนึ่งในตำรวจที่ปรากฏอยู่ในภาพ เปิดเผยว่า ภาพที่ปราฏออกสื่อไปยอมรับว่าเป็นภาพของตนเองจริง แต่ภาพที่เห็นคือเป็นการเข้าไปรักษาความสงบตามปกติ เพราะมีประชาชนเดินทางมาเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่ไปเป็นการอารักขาแต่อย่างใด สำหรับที่เดินทางมาในวันนี้ก็เพื่อมาแจ้งความกับ “หลวงตา” ซึ่งตนก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับความเสียหาย โดยเสียหายไป 3 หมื่นบาท ซึ่งได้คืนมาเพียง 5 พันบาท
ขณะที่ นายวินัย ปุณยรัชตปรีดา ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดฯ ลงพื้นที่ไปร่วมตรวจสอบเบื้องต้นตั้งแต่เมื่อวานแล้ว (24 กุมภาพันธ์ 2565) ดูในเรื่องสภาพแวดล้อม การแต่งกาย และพฤติกรรมที่เข้าข่ายกระทำผิด ซึ่งจะมีตำรวจ เป็นเจ้าพนักงานตรวจสอบหลักดูในเรื่องบุคคลแต่งกายเลียนแบบพระ และรวบรวมหลักฐาน พยาน เพื่อสรุปสำนวนส่งฟ้อง ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดฯ จะลงนามในฐานะพยาน และให้คำแนะนำแก่เจ้าพนักงานฯ ส่วนกรณีการฉ้อโกงประชาชน ก็เป็นเรื่องของผู้เสียหายที่จะต้องไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวน ให้มาตรวจสอบและดำเนินคดีแต่ละรายไป
และจากคำพูดของหญิงแต่งกายเป็นพระ ที่ว่า ดำเนินการในลักษณะนี้มานานเป็น 10 กว่าปีแล้ว คนรู้ไปทั้งอำเภอ ซึ่งคำพูดดังกล่าว เป็นแค่ข้อกล่าวอ้างของหญิงรายนี้เท่นั้น เพราะที่ผ่านมา สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด รวมทั้ง คณะสงฆ์จังหวัดฯ ไม่เคยทราบข่าวมาก่อน ส่วนเรื่องการถวายปัจจัย เป็นเรื่องของจิตศรัทธาที่ญาติโยมนำมาถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ ไม่ถือว่าผิดอะไร เพราะพระจะไม่ทราบว่าเป็นเงินปัจจัยของใคร ได้มาอย่างไร ญาติโยมถวายมา พระก็รับไว้เท่านั้น แต่เรื่องที่ปรากฏในข่าว ว่า หญิงแต่งกายเลียนแบบพระไปรับกิจนิมนต์และนั่งบนอาสนะ ระดับเดียวกับพระสงฆ์ ถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ซึ่งตนได้เข้าหารือกับคณะสงฆ์จังหวัด เพื่อขอตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว
...
ส่วนการพิจารณาก็เป็นอำนาจทางการปกครองของคณะสงฆ์ ซึ่งขณะนี้ทางเจ้าคณะพระสังฆาธิการไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้กำชับด้วยวาจาและมีหนังสือสั่งการแจ้งสังฆาธิการในพื้นที่ให้เข้าตรวจสอบโดยเร็ว ว่า เป็นพระรูปใด อยู่วัดไหน ร่วมกิจนิมนต์ใด มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหรือไม่ และไปร่วมขบวนการ หรือรับซองปัจจัยในลักษณะพุทธพาณิชย์หรือไม่ เป็นต้น ณ ตอนนี้ กำลังเร่งตรวจสอบอยู่.