กรมการขนส่งทางราง พร้อมหน่วยงานเกี่ยวข้อง ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุรถไฟชนพ่วง 18 ล้อ บริเวณทางพาดรถไฟหนองขอนกว้าง เมืองอุดรธานี แต่ยังปิดปากไม่ให้ข้อมูลเช่นเดียวกับตำรวจ ขณะที่ผลตรวจแอลกอฮอล์พนักงานควบคุมเครื่องกั้น พบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 นายทยากร จันทรางศุ ผอ.กองมาตรฐานความปลอดภัยบำรุงทาง กรมการขนส่งทางราง พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่สอบสวนข้อเท็จจริง กรณีอุบัติเหตุรถไฟขบวนรถเร็ว 134 (หนองคาย-กทม.) ชนตัวพ่วงท้ายรถพ่วง 18 ล้อ บริเวณทางพาดรถไฟหนองขอนกว้าง ถนนเลี่ยงเมือง (ทางหลวง 216) อ.เมืองอุดรธานี ทำให้พนักงานขับรถและช่างเครื่องหัวรถจักรเสียชีวิต 2 ราย เมื่อช่วงค่ำวันที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมา

โดยมี นายบัญชา รอดฤดี สารวัตรสื่อสาร ขอนแก่น, นายสมพร พิรุณสุนทร สารวัตรแขวงบำรุงทางอุดรธานี, พ.ต.ท.สิทธิพร ธารากุลทิพย์ รอง ผกก.ภ.จว.อุดรธานี, ตัวแทนศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุบนถนนอุดรธานี, ตัวแทนป้องกันบรรเทาสาธารณภัย จ.อุดรธานี ร่วมกันให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า หลังเกิดอุบัติเหตุไปแล้ว อุปกรณ์ปิดกั้นทางพาดชำรุด 1 ชุด ไม่สามารถยกคาดกั้นขึ้นลงได้ ต้องใช้พนักงานลากแผงกั้น ซึ่งมีอุปสรรคถนนมีความกว้าง พนักงานมีคนเดียวต้องจ้างเพิ่ม โดยจะมีรถไฟผ่านถึงวันละ 24 ขบวน

...

นายทยากร จันทรางศุ ผอ.กองมาตรฐานความปลอดภัยบำรุงทาง ได้สอบถามข้อมูลเบื้องต้น เปรียบเทียบกับรายงานที่ส่งไป ก่อนจะไปดูสภาพของทางพาด เดินย้อนขึ้นไปทางสถานีรถไฟหนองขอนกว้าง ซึ่งเป็นเส้นทางที่รถไฟขบวนเกิดเหตุมา เพื่อตรวจสอบอาณัติสัญญาณที่ส่งมาจากสถานีหนองขอนกว้าง และส่งมาจากป้อมควบคุมอุปกรณ์กั้นทาง (ที่เป็นสัญญาณว่าจุดปิดกั้นให้รถไฟผ่านได้หรือไม่) จากนั้นมาตรวจสอบอุปกรณ์ที่ป้อมควบคุม และไปตรวจสอบรางรถไฟอีกด้าน

ขณะทำการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ มีรถไฟผ่านไปก่อน 1 ขบวน ราว 9 นาที รายงานพนักงานควบคุมเครื่องปิดกั้น ระบุได้ทำตามขั้นตอน ด้วยการกดสัญญาณเสียง จากนั้นกดสัญญาณไฟวาบๆ และกำลังจะเอาแผงกั้นลง เป็นช่วงหัวค่ำมีรถผ่านจำนวนมาก ไม่สามารถเอาแผงกั้นลงได้ทันที จึงยังไม่ได้กดสัญญาณว่าเอาอุปกรณ์ปิดกั้นลงแล้ว ก็มาเกิดอุบัติเหตุขึ้น โดยทางพาดรถไฟมีมาตรฐาน หากมีรถผ่านไม่เกิน 40,000 คัน ให้ใช้เครื่องปิดเปิดอัตโนมัติ หากรถผ่าน 40,000-100,000 คัน ต้องใช้พนักงานควบคุมการปิดกั้น และเกิน 100,000 คัน จะต้องใช้ทางต่างระดับ

โดย นายทยากร จันทรางศุ ผอ.กองมาตรฐานความปลอดภัยบำรุงทาง กรมการขนส่งทางราง ปฏิเสธที่จะให้ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ โดยแจ้งเหตุผลว่า อยู่ระหว่างการสอบสวน และการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ขอให้การสอบสวนเสร็จจะมีการชี้แจง ขณะเดียวกันมีคำสั่งให้ทำการซ่อมเครื่องยกปิดกั้นทางพาดให้เสร็จภายใน 1 สัปดาห์ และให้ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ส่องสว่างที่มีสภาพเก่าให้กลับมาใช้งานได้เต็มที่

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ชี้แจงเหมือนกันว่า ขอให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้ชี้แจง ส่วนที่ต้องแจ้งข้อหาโชเฟอร์รถพ่วง 18 ล้อ กระทำการโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นเพราะกฎหมายเขียนไว้อย่างนั้น และก็จะดำเนินการลักษณะนี้ทุกครั้ง เมื่อเหตุเกิดในพื้นที่ของการรถไฟ สำหรับการตรวจแอลกอฮอล์ โชเฟอร์รถพ่วง 18 ล้อ, พขร. และช่างเครื่อง มีค่าเป็น 0

...

ส่วนพนักงานควบคุมเครื่องกั้น ทั้งแบบเป่าและตรวจจากเลือด พบว่ามีแอลกอฮอล์.