- แก๊งคอลเซ็นเตอร์ อาละวาด ตัวเลขความเสียหายปี 2564 มีเหยื่อเข้าแจ้งความกับ บช.สอท.กว่า 1,600 คน มูลค่าความเสียหายสูงกว่า 1,000 ล้านบาท
เป็นภัยอันตรายร้ายแรง สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจให้แก่หลายๆ ประเทศ...
นั่นคือ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” (Call Center) หรือขบวนการต้มตุ๋น ใช้โทรศัพท์หลอกให้เจ้าของบัญชีโอนเงิน หรือดูดเงินออกไปจากบัญชี ที่ผ่านมามีคนไทยต้องตกเป็นเหยื่อมากมาย สูญเสียเงินมหาศาล โดยเฉพาะตัวเลขความเสียหายปี 2564 มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความถูกหลอกในลักษณะนี้กับ บช.สอท.กว่า 1,600 คน มูลค่าความเสียหายสูงกว่า 1,000 ล้านบาท
ข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊กตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ล่อลวงหญิงสาวรายหนึ่งได้เงินไปมากถึง 1,080,000 บาท
โดยผู้เสียหายอยู่กรุงเทพฯ ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้สคริปต์เดิมในการลวงให้โอนเงิน
1. อ้างเป็น ตร.สภ.เมืองเชียงใหม่
2. มีพัสดุส่งของไปจีนโดยมีชื่อเหยื่อเป็นผู้ส่ง
3. ข่มขู่ขอตรวจสอบบัญชีธนาคารโดยให้โอนเงินเข้าบัญชีแก๊งเพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี โดยอ้างว่าส่งให้ตรวจสอบแล้วหากไม่มีความผิดจะโอนคืน
4. บังคับพูดคุยไม่ให้วางสายโทรศัพท์เพื่อไปปรึกษาใครได้
5. กดดัน ข่มขู่ด้วยอ้างชื่อตำรวจ, บัตรประจำตัว, รูปถ่ายการจับกุมเก่าๆ จากอินเทอร์เน็ต (ครั้งนี้ใช้บัตรเจ้าหน้าที่ ปปง.)
6. เหยื่อหลงเชื่อ โอนเงินเข้าบัญชีบุคคลธรรมดาที่แก๊งส่งมาให้
7. บล็อกไลน์ ระงับการติดต่อสื่อสาร
เหล่าพนักงานโทรศัพท์ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ต่างใช้สคริปต์เดิมๆ ในการล่อลวงเหยื่อ อาจจะเปลี่ยนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อาทิ บัตรต่างๆ, ภาพต่างๆ แต่สคริปต์หลอกเป็นเหมือนเดิมคือ เริ่มจากพนักงาน DHL โทรมาแจ้งว่ามีพัสดุผิดกฎหมายส่งออกนอก แล้วจะโอนสายให้แจ้งความกับตำรวจปลอม แล้วตำรวจปลอมจะขู่เอาเงิน
...
หลอกเหยื่อโอนเงิน แถมหัวเราะเยาะเย้ย
อีกเคส เป็นสาวกำแพงเพชร ได้โพสต์คลิปวิดีโอบทสนทนาระหว่างตนกับชายที่อ้างเป็นตำรวจ สภ.เมืองเชียงใหม่ หลังหลอกให้เหยื่อโอนเงินไป 7,000 บาท เพื่อนำไปให้ ปปง.ตรวจสอบ และจะให้โอนเพิ่มอีก 50,000 บาท แต่เหยื่อไม่มีเงินพอจะโอนให้ ทำให้ผู้ที่อ้างเป็นตำรวจจะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในจังหวัดกำแพงเพชรเข้าจับกุมและอายัดตัวไปดำเนินคดีที่จังหวัดเชียงใหม่
โดยเหยื่อพยายามสอบถาม และพยายามให้ประสานงาน ให้เคลียร์เรื่องให้จบ แต่ไม่ยอมประสาน ก่อนจะหัวเราะเยาะ พร้อมเตือนเหยื่อ “ทีหลังมีสายอะไรแปลกๆ เข้ามาห้ามรับเด็ดขาดเลยนะ” เหยื่อบอก “ก็หนูไม่รู้ ก็เพิ่งเคยเจอแบบนี้” ก่อนตอบกลับมาว่า “เข้าใจๆ เดี๋ยวไปจับเลยนะ” ส่วนเงินที่โอนไปจะได้คืนหลังตรวจสอบเสร็จ จากนั้นได้ย้ำว่า “คุณฟังผมนะทีหลังมีเบอร์อะไรแปลกๆ มานะครับ อย่ารับโดยเด็ดขาดนะครับนะ ผมเป็นมิตรครับ” เหยื่อถาม “มิตรอะไรอะพี่” ก่อนตอบกลับมาว่า “มิจฉาชีพครับ” แล้วตัดสายทิ้งไปในทันที
ต่อมาหญิงอายุ 25 ปี ผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองกำแพงเพชร และขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยติดตามดำเนินคดีให้ถึงที่สุด พร้อมเปิดเผยว่า มีโทรศัพท์เข้ามาหาตนและสอบถามว่าตนได้ส่งเอกสารไปที่จังหวัดเชียงใหม่หรือไม่ ในเอกสารนั้นมีพาสปอร์ตบัญชีเงินฝากเกี่ยวพันกับการฟอกเงิน โดยจับกุมผู้ต้องหาได้ และได้ซัดทอดมาที่ตนว่าตนเดือดร้อนเงินและได้ขายบัญชีให้กับผู้ต้องหา
หลังจากนั้นมิจฉาชีพทำทีส่งต่อสายให้กับตำรวจฝ่ายต่างๆ ก่อนที่จะให้กับผู้ที่อ้างตัวเป็นตำรวจยศร้อยโทสนทนาต่อ โดยหลอกให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบเส้นทางบัญชี ตนจึงหลงเชื่อไป เมื่อครอบครัวรู้ จึงถูกตำหนิและบอกให้รู้ว่าโดนหลอก ตนจึงพยายามโทรเจรจาและขอเงินคืนแต่ไม่เป็นผลแถมยังมาหัวเราะเยาะเย้ยตนอีก พร้อมยังจะมาบอกอีกว่า เป็นมิจฉาชีพ
นอกจากอ้างเป็นตำรวจ สภ.เมืองเชียงใหม่ แล้วยังอ้างเป็น ดีเอสไอ และตำรวจ สน.พญาไท
แพทย์ รพ.ประสาทฯเต้น หลังเจอแก๊งคอลเซ็นเตอร์เล่นใหญ่
ขณะที่ นพ.ชลภิวัฒน์ ตรีพงษ์ นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันประสาทวิทยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรและประชาสัมพันธ์ เผยว่า ขณะนี้มีแพทย์จำนวนมาก ทั้งสถาบันประสาทฯ รพ.รามาธิบดี โรงเรียนแพทย์ และ รพ.สังกัดอื่นๆจำนวนมาก ถูกกลุ่มมิจฉาชีพโทรเข้ามาหลอกลวง เบอร์จะเหมือนกันหมด ขึ้นต้นด้วย 093 เป็นเบอร์ซ้ำๆ กัน
ตนได้รับสายเข้ามาเป็นครั้งที่ 2 ครั้งแรกวันที่ 10 ม.ค. แต่เนื่องจากติดคนไข้เลยไม่ได้คุย ล่าสุดโทรมาอีกเมื่อสายวันที่ 12 ม.ค.ได้อัดเสียงไว้ ผู้โทร.มาอ้างว่า ชื่อ ร.ต.ต.หญิง อติภา ยันเจริญ อยู่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ สน.พญาไท ระบุว่า มีเอกสารฉุกเฉิน คดีแดงเลขที่ จ 939/2564 อ้างว่า มีผู้ต้องหาคดีฟอกเงิน ชื่อนายสุเมธ ขวัญแก้ว ซัดทอดว่าตนเปิดบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยาให้ ขอให้ไปรายงานตัวที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ สน.พญาไท
โดยเบื้องต้นได้ตรวจสอบชื่อ-นามสกุล ที่อ้างถึงทั้ง “ร.ต.ต.หญิง อติภา ยันเจริญ” และ “นายสุเมธ ขวัญแก้ว” ผ่านกูเกิล ไม่พบข้อมูลทั้ง 2 คน ไม่แน่ใจว่าสะกดผิดหรือไม่ เพราะยังไม่ได้ตรวจสอบไปยังต้นสังกัดที่อ้างถึงคือกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ สน.พญาไท
เท่าที่คุยกับแพทย์ที่ถูกโทรหา เข้าใจว่ายังไม่มีใครตกเป็นเหยื่อ เพราะคนที่โดนส่วนใหญ่มักไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีพวกนี้ ไม่แน่ใจว่าเพราะเขาไม่ทราบว่าข้อมูลเบอร์โทรที่ได้ไปนั้นเป็นเบอร์แพทย์ทั้งหมด กังวลว่าจะมีประชาชนตกเป็นเหยื่อ อยากเตือนให้ระมัดระวังตัว หากมีคนโทรมาแอบอ้างเรื่องต่างๆ อย่าเพิ่งหลงเชื่อ และทำตาม ขอให้ตรวจสอบกับหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
...
ล่าสุด ได้แจ้งไปยังเพจรับเรื่องร้องเรียนกับดีเอสไอแล้ว เนื่องจากเรื่องลักษณะนี้เคยเห็นตามข่าวการหลอกลวง จะมีคนแรกโทรมาแจ้งประเด็นให้เราตกใจก่อน จากนั้น จะมีคนโทร.บอกเป็นคนที่ช่วยเหลือทางคดีได้ แต่ตอนนี้ ยังไม่มีตัวละครอื่นเข้ามา
"บิ๊กเด่น" ออกโรงเตือนภัย 7 กลโกงโจรหลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์
ขณะที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส. ตร.) ออกมาเตือนภัยประชาชน ให้ทราบถึงวิธีการต่างๆ ที่มิจฉาชีพมักใช้หลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์ 7 ข้อ ดังนี้
1.หลอกขายของออนไลน์ แต่ไม่ส่งสินค้าจริง หรือส่งสินค้าที่ไม่ตรงตามที่ตกลง หรือไม่มีคุณภาพมาให้ มิจฉาชีพจะนำภาพสินค้าจาก อินเทอร์เน็ต หรือภาพจากผู้ใช้งานอื่นที่ขายสินค้าจริง นำมาโพสต์ขายในช่องทางตัวเอง เพื่อหลอกให้ลูกค้า หลงเชื่อว่ามีสินค้านั้นอยู่จริง โอนเงินสั่งซื้อ แต่จะไม่ส่งสินค้า หรือส่งสินค้าไม่ตรงตามที่ตกลง
2.เงินกู้ออนไลน์ ดอกเบี้ยมหาโหด มีผู้เสียหายจำนวนมากหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อแก๊งปล่อยเงินกู้ออนไลน์ กลุ่มคนร้ายจะหลอกว่ามีบริการเงินกู้ คิดอัตราดอกเบี้ย ราคาถูก ผ่อนจ่ายระยะยาว แต่เมื่อทำสัญญาแล้ว ไม่ได้รับเงินกู้ตามจำนวนที่ตกลง อีกทั้งดอกเบี้ยยังเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวอีกด้วย
3.เงินกู้ออนไลน์ ที่ไม่มีจริง (เงินกู้ทิพย์) จะต่างจากกรณีข้างต้น คือ คนร้ายจะหลอกผู้เสียหายว่าก่อนได้รับเงินกู้จะต้องเสียค่าบริการ ค่ามัดจำ หรือค่าดำเนินการต่างๆ ให้ผู้เสียหายโอนเงินให้เรื่อยๆ จนสุดท้ายไม่ได้รับเงินกู้จริงตามที่กล่าวอ้าง
4.หลอกให้ลงทุน มิจฉาชีพจะหลอกให้ผู้เสียหายลงทุนต่างๆ เช่น ลงทุนธุรกิจ หรือลงทุนแชร์ลูกโซ่ ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยจะเสนอผลตอบแทนเป็นจำนวนมาก ได้เงินไว แรกๆ อาจจะได้รับผลจริง เมื่อเหยื่อหลงเชื่อ และร่วมลงทุนเป็นจำนวนมากขึ้นจะเริ่มบ่ายเบี่ยงไม่ให้ผลตอบแทนตามที่ตกลงไว้
...
5.หลอกให้เล่นพนันออนไลน์ การพนันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่มิจฉาชีพจะหว่านล้อมด้วยวิธีการต่างๆ ให้ผู้เสียหายเข้าร่วมลงทุน หรือเล่นการพนันออนไลน์ หากท่านถูกโกง จากการพนันออนไลน์แล้วอาจไม่สามารถแจ้งความหรือดำเนินคดีกับมิจฉาชีพได้
6.โรแมนซ์สแกม หลอกให้รัก หลอกให้โอนเงิน กลุ่มมิจฉาชีพจะทำงานเป็นขบวนการ โดยจะใช้รูปภาพ และโปรไฟล์เป็นชาวต่างชาติที่ดูดีมีฐานะ ทักมาคุย สร้างความสนิทสนม จากนั้นจะหลอกผู้เสียหายด้วยวิธีการต่างๆ เช่น จะส่งของมาให้ หรือหลอกให้ลงทุน ฯลฯ ให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงินให้เป็น จำนวนมาก
7.ลิงก์ปลอมหลอกแฮกข้อมูลโทรศัพท์ มิจฉาชีพจะส่งข้อความต่างๆ เช่น ท่านได้รับความ ช่วยเหลือต่างๆ ท่านเป็นผู้โชคดีได้รับเงินรางวัล หรือ แม้กระทั่งหลอกว่าเป็นลิงก์จากหน่วยงาน หรือธนาคาร ให้ผู้เสียหายกดลิงก์เข้าไปเพื่อตรวจสอบข้อมูล แต่เมื่อกดลิงก์เข้าไปแล้ว มิจฉาชีพก็จะแฮกข้อมูลในโทรศัพท์ หรือบัญชีธนาคาร ทำให้สูญเงินไปทันที
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. สั่งการให้ทุกหน่วยเร่งระดมกวาดล้าง อาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างเข้มงวด สำหรับประชาชนหากพบเบาะแส หรือเกรงจะตกเป็นเหยื่อ สามารถแจ้งเข้ามาได้ที่สายด่วน PCT 1599 หรือ บช.สอท. 1441 ตลอด 24 ชม. หรือสายตรง 08-1866-3000 หรือ www.pct.police.go.th
โฆษก ตร.ย้ำตั้งสติ!! ก่อนโอน
ด้าน พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในห้วงเวลาปัจจุบัน ได้มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงพี่น้องประชาชนในหลายรูปแบบ อาทิ หลอกว่าได้รับรางวัล หลอกว่าเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด หรือปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วให้เพิ่มเพื่อนผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โดยปลอมเป็นไลน์ของสถานีตำรวจ เพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว หรือหลอกให้หลงเชื่อว่าทำผิดกฎหมายเพื่อโอนเงินแลกกับการไม่ดำเนินคดี ซึ่งในขั้นตอนสุดท้ายมิจฉาชีพจะโน้มน้าวให้ “โอนเงิน” ด้วยเหตุผลต่างๆ นั้น ขอให้ท่านตั้งสติ และห้ามโอนเงินเด็ดขาด
...
พล.ต.ต.ยิ่งยศ กล่าวต่อว่า จากภัยร้ายทางโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความมุ่งมั่นที่จะปราบปรามอย่างจริงจัง จึงได้ตั้ง ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) เพื่อปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องดังกล่าว อย่างเข้มงวด เพื่อลดความสูญเสียทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน โดยมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ฯ
“พล.ต.อ.สุวัฒน์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีนโยบายให้ประชาสัมพันธ์เตือนภัย และให้ความรู้กับพี่น้องประชาชน เพื่อให้รู้เท่าทันมิจฉาชีพ เสมือนเป็นวัคซีนเพื่อป้องกันภัยร้ายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (Cyber Vaccinated) และได้กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ปฏิบัติหน้าที่กวาดล้างมิจฉาชีพอย่างเข้มข้น รวดเร็ว เพื่อไม่ให้พี่น้องประชาชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพอีกต่อไป จึงอยากขอเน้นย้ำกับพี่น้องประชาชนว่า หากท่านพบว่ามีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และดำเนินการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ให้สันนิษฐานว่าเป็นมิจฉาชีพ ขอให้ท่านตั้งสติ และห้ามโอนเงินโดยเด็ดขาด
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันมิจฉาชีพ และมีผลการจับกุมปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง หากท่านเผชิญกับเหตุการณ์ลักษณะนี้ ขอให้ท่านตั้งสติ และห้ามโอนเงินเด็ดขาด หากพี่น้องประชาชนพบเบาะแสการกระทำความผิด ขอให้ช่วยกันแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีตำรวจในพื้นที่ใกล้ท่าน หรือโทรสายด่วน 191 หรือ สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง”
เรียบเรียง : gravity_ki
กราฟิก : Anon Chantanant