รองเลขาฯ ป.ป.ส. ย้ำเตือนประชาชนเรื่องปลูกกัญชาว่า กัญชายังเป็นยาเสพติดประเภท 5 ปลูกไม่ได้รับอนุญาตมีความผิดตามกฎหมาย การขออนุญาตกับ สสจ.ต้องเป็นวิสาหกิจชุมชน หน่วยงานการแพทย์ สถาบันการศึกษา
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (รองเลขาธิการ ป.ป.ส.) ในฐานะโฆษก สำนักงาน ป.ป.ส. ได้เปิดเผยถึงกรณีการถูกจับกุมจากการปลูกกัญชา รวมถึงข้อสงสัยว่ากัญชาสามารถปลูกได้อย่างเสรีแล้วหรือยัง หลังจากประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2564 ซึ่งในหมวดประเภทของยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ ไม่มีชื่อกัญชาอยู่ในยาเสพติดประเภท 5 โดยระบุว่า "ประเภท 5 ยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าอยู่ในประเภท 1 ถึงประเภท 4 เช่น พืชฝิ่น"
รองเลขาฯ ป.ป.ส.กล่าวว่า แม้ว่าประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ จะไม่มีชื่อกัญชาอยู่ในยาเสพติดประเภท 5 แต่ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ใหม่นั้น ได้ประกาศไว้ถึงการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษว่า ยาเสพติดให้โทษชื่อใดอยู่ในประเภทใด ให้เป็นไปตามกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ส. ประกาศกำหนด ซึ่งจากเรื่องดังกล่าว กัญชา ยังคงอยู่ในบัญชียาเสพติดประเภท 5 ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 ที่มีผลบังคับใช้อยู่ ยกเว้นวัตถุหรือสาร เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ เช่น เปลือก เส้นใย ใบที่ไม่มีช่อดอกติดมา สารสกัด CBD ที่มีสาร THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก
...
นายปิยะศิริ เผยอีกว่า ดังนั้น การปลูกกัญชาเองโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะกัญชายังเป็นยาเสพติดประเภท 5 โดยแม้ว่าจะปลดล็อกในบางส่วนของพืชกัญชา เช่น เปลือก เส้นใย ใบ รวมถึง สาร CBD แต่มีข้อแม้ว่าส่วนประกอบดังกล่าวต้องมีที่มาจากแหล่งผลิตที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น โดยผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 93 ของพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท ถ้าเป็นการกระทำเพื่อการค้า ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 1,500,000 บาท
รองเลขาฯ ป.ป.ส. กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ การขออนุญาตปลูกกัญชา สามารถทำได้ โดยต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ สถาบันอุดมศึกษาที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย หรือผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มกันจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือสหกรณ์การเกษตร และร่วมกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อขออนุญาต ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ หรือ อย. และต้องดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น.