เตือนภัยมิจฉาชีพหลอกขโมยข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในทางมิชอบทั้งการทำฟิชชิ่ง โฟนสแกม โทรไปหลอกลวง หรือ ข่มขู่ผู้เสียหายเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือข้อมูล พร้อมคำแนะนำกรณีตกเป็นเหยื่อควรทำอย่างไร
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยมิจฉาชีพหลอกขโมยข้อมูลส่วนบุคคล ของผู้อื่นไปใช้ในทางมิชอบ หรือใช้ในการกระทำความผิด สร้างความเสียหายจากกรณีที่มีการนำเสนอทางสื่อทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับอาชญากรรมในลักษณะหลอกลวงเพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคล (Identity Theft) ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากประชาชน บัตรเครดิต รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการเงินต่างๆ ไปใช้หาประโยชน์ในทางมิชอบ ใช้วิธีการในการหลอกลวงหลายรูปแบบ เช่น Phishing mail คือการหลอกลวงโดยใช้อีเมลหรือหน้าเว็บไซต์ปลอมในการหลอกลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น หรือ Phone scam คือการโทรไปหลอกลวง หรือข่มขู่ผู้เสียหายเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือข้อมูล
จากนั้นเหล่ามิจฉาชีพก็จะนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้หาประโยชน์ เช่น กรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายเวชระเบียนของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ได้มาติดต่ออ้างว่าเป็นนายหน้าขอกู้เงินนอกระบบ โดยลักลอบนำข้อมูลสำเนาบัตรประชาชนของคนไข้กว่า 10 ราย มาขอกู้เงินจำนวนกว่า 100,000 บาท แต่เมื่อถึงกำหนดส่งดอกเบี้ยผู้กู้กลับไม่ชำระเงิน และขอผัดผ่อนเรื่อยมาผู้ปล่อยกู้จึงได้ติดตามทวงถามกับลูกหนี้ ซึ่งพบว่าลูกหนี้ทุกรายไม่รู้เรื่อง ทุกคนแจ้งว่าเป็นผู้ป่วยที่เดินทางมารักษาตัวที่โรงพยาบาลเท่านั้น แต่ถูกเจ้าหน้าที่รายดังกล่าวลักลอบนำเอกสารข้อมูลสำเนาบัตรประชาชนไปใช้ในการกู้เงิน
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตระหนักถึงพิษภัยดังกล่าวและได้กำชับไปยังทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องทุกพื้นที่ ให้เร่งสร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์ถึงภัยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทุกรูปแบบ พร้อมช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกมิจฉาชีพหลอกลวง รวมถึงให้เร่งทำการสืบสวนสอบสวนปราบปรามและดำเนินคดีมิจฉาชีพ ที่ฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนห้วงการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างจริงจังต่อเนื่อง มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม
...
การกระทำลักษณะดังกล่าวหากมีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนตาม เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และหากมีการกระทำความผิดในฐานฉ้อโกง โดยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่นก็จะมีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อีกทั้งหากมีการนำสำเนาบัตรประชาชนที่เกิดจากการปลอมลายมือชื่อไปใช้ จะมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอฝากประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนถึงแนวทางป้องกัน ดังนี้
1.หากมีการถูกแอบอ้างนำบัตรประชาชน หรือสำเนาบัตรประชาชนไปใช้ ขอให้รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน
2.อย่าหลงเชื่อข้อมูลการโพสต์และห้ามเปิดลิงก์ที่แนบมาพร้อมกับอีเมลที่ไม่แน่ใจแหล่งที่มาอย่างเด็ดขาด
3.ห้ามเปิดเผยข้อมูลหรือเอกสารส่วนตัวใดๆ ผ่านระบบออนไลน์ หากยังไม่ได้ทำการตรวจสอบให้ดีเสียก่อน
4.ในกรณีหลงเชื่อไปแล้ว ให้รีบเปลี่ยนรหัสผ่านต่างๆ ทันที และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคาร สถาบันทางการเงิน เป็นต้น
นอกจากนี้หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.