ฎีกายกฟ้องม็อบรุ่นใหญ่ “จำลอง-สนธิ” กับพวกรวม 6 คน คดี 9 แกนนำพันธมิตรฯ “ชุมนุมดาวกระจาย” ไล่รัฐบาล “สมัคร สุนทรเวช ปี 51” แต่ให้จำคุก “ไชยวัฒน์-อมร-เทิดภูมิ” จำเลยที่ 7-9 คนละ 8 เดือน ไม่รอลงอาญา โฆษก บช.น.เผยมีแผน อพยพรวมทั้งเส้นทางสำรอง หากมีการปิดล้อมรัฐสภาช่วงอภิปราย ราชทัณฑ์เผยอาการแกนนำม็อบรุ่นเล็ก “เพนกวิน-พรหมศร” รักษาโควิดหายแล้ว

วันที่ 31 ส.ค.ที่ศาลอาญา ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสุริยะใส กตะศิลา นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือ รัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี และ นายเทิดภูมิ ใจดี อดีตแกนนำพันธมิตร เป็นจำเลยที่ 1-9 ตามลำดับในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใดฯเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่ประชาชนและก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการโดยผู้กระทำคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแต่ไม่เลิก กรณีชุมนุมต่อต้านขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ปี 51

อัยการฟ้องว่า วันที่ 25 พ.ค.51 จำเลยทั้ง 9 คน จัดชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง ก่อนนำกลุ่มพันธมิตรเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล ปิดการจราจรถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่สี่แยกมัฆวานรังสรรค์ไปจนถึงสี่แยก จปร.เป็นที่ชุมนุมประท้วง จนถึงวันที่ 5 ต.ค.51 โดยตั้งเวทีถาวร กางเต็นท์ มีโรงครัวปรุงอาหาร ขึงลวดหนามกั้นถนนราชดำเนินนอก ตั้งกองกำลังรักษาความปลอดภัยเรียกว่า “นักรบศรีวิชัย” จัดเตรียมเครื่องมือ เช่น ไม้เบสบอล หนังสติ๊ก ท่อนเหล็กเป็นอาวุธ ส่อไปในทางที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงถึงขนาดก่อความไม่สงบขึ้นในประเทศ จำเลยทั้ง 9 คน ผลัดขึ้นกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานรัฐบาลตลอด 24 ชั่วโมง ร่วมกันชักชวนผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนปิดถนน และเคลื่อนกำลังในลักษณะ “ดาวกระจาย” ใช้รถยนต์บรรทุกเป็นเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ไปกดดันสถานที่ราชการหลายแห่ง เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ทั้งหมดให้การปฏิเสธและได้ประกันตัวในชั้นพิจารณา

...

คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ก.ค.60 ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-6 เนื่องจากเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีบุกรุกทำเนียบรัฐบาล อัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 7-9 ศาลเห็นว่าการกระทำเป็นความผิดฐานมั่วสุม 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ ตามมาตรา 215 วรรคหนึ่ง แต่เห็นควรให้รอการกำหนดโทษจำเลยที่ 7-9 ไว้ก่อนมีกำหนด 2 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ม.ค.62 ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด อัยการโจทก์ยื่นฎีกา ขอให้ลงโทษจำเลย โดยในวันนี้ จำเลยที่ 1-9 เดินทางมาศาลฟังคำพิพากษา

ก่อนฟังคำพิพากษา นายไชยวัฒน์กล่าวว่า ไม่กังวลใดๆ หากศาลยกฟ้องก็กลับบ้าน ถ้าลงโทษไม่รอลงอาญาก็เข้าคุก คดีนี้ผ่านมา 3 ศาล จะมี ข้อยุติอย่างไรต้องรอดูคำพิพากษา คิดว่าจะเป็นบรรทัดฐานสำคัญของการเคลื่อนไหวของประชาชนในการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ เพราะทั้ง 9 คนได้เชื่ออย่างสุจริตใจว่าทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการหยุดใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลของรัฐบาลและรัฐสภาในขณะนั้นมีการใช้สิทธิ์การชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธ แต่ฝ่ายโจทก์ระบุว่ามีการกระทำผิดเกี่ยวกับทางอาญาในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คดีนี้จะเป็นอีกคดีที่ชัดเจนคดีหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงสถานการณ์ปัจจุบันการใช้สิทธิ์ในการชุมนุมบานปลายคล้ายว่า ทำให้เกิดความรุนแรง และภายใต้คำพูดว่าเป็นการกระทำอย่างสงบปราศจากอาวุธ ถ้าเทียบกับบรรทัดฐานของพันธมิตร น่าจะชัดเจนว่าขอบเขตมันต่างกัน พฤติการณ์ต่างกัน ดังนั้น การตัดสินคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานการต่อสู้คนรุ่นหลังด้วย

ต่อมาศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาใจความว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1-6 มาก่อน ศาลพิพากษาไปแล้ว คดีนี้เป็นการฟ้องซ้ำ โจทก์นำการกระทำความผิดในคราวเดียวกันมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-6 เป็นคดีอีกไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนจำเลยที่ 7-9 เห็นว่า ได้ปราศรัยเชิญชวนประชาชนมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล นอกจากนี้ จำเลยที่ 7 ยังไปปิดถนนมิตรภาพ จ.นครราชสีมา ส่วนจำเลยที่ 8 นำผู้ชุมนุมไปปิดล้อมที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย การกระทำของจำเลยที่ 7-9 เป็นการร่วมชุมนุมที่ปิดกั้นการจราจร พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำจำเลยที่ 7-9 เป็นการมั่วสุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามมาตรา 66 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 116 อนุ 2 และอนุ 3 เป็นบทหนักสุด ให้จำคุกคนละ 1 ปี แต่มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา จากนั้นจำเลยที่ 1-6 ทยอยเดินทางกลับ ส่วนจำเลยที่ 7-9 ถูกคุมตัวส่งเรือนจำทันที

นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยว่า ผู้ชุมนุมทางการเมืองที่ติดเชื้อโควิด-19 และถูกส่งรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ 5 ราย คือนายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ นายพรหมศร หรือฟ้า วีระธรรมจารี นายภาณุพงศ์ จาดนอก นายชาติชาย แกดำ และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา วันนี้นายพริษฐ์รู้สึกตัวดี ถามตอบรู้เรื่อง มีไข้ต่ำ อ่อนเพลียเล็กน้อย ไอเล็กน้อย ไม่มีน้ำมูก นายพรหมศร รู้สึกตัวดี ยิ้มแย้มพูดคุย ช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่มีหอบเหนื่อย ไม่มีไข้ ไม่มีปวดศีรษะ รับประทาน อาหารได้ ขับถ่ายปกติ นอนหลับพักผ่อนได้ แพทย์ลงความเห็นว่า ทั้งสองคนได้รับการรักษาโควิดหายแล้ว ผล X-ray ปอด เมื่อวันที่ 30 ส.ค.64 ทั้งคู่เป็นปกติ ส่งตัวไปยังหอพักฟื้นผู้ป่วยเพื่อสังเกตอาการ พร้อมอยู่ระหว่างแพทย์พิจารณาส่งตัวกลับ ไปคุมขังยังเรือนจำตามปกติ

นายธวัชชัยกล่าวอีกว่า ส่วนนายภาณุพงศ์รู้สึกตัวดี ไม่มีไข้ ไม่เจ็บคอ ทานอาหารได้ ขับถ่ายปกติ นอนหลับพักผ่อนได้ นายจตุภัทร์รู้สึกตัวดี ถามตอบรู้เรื่อง ช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่หอบเหนื่อย ไม่มีไข้ อ่อนเพลียเล็กน้อย ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก นอนหลับพักผ่อนได้ ด้านนายชาติชายรู้สึกตัวดี ช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่มีอาการหอบเหนื่อย มีไข้ สามารถนอนหลับพักผ่อนได้ รับประทานอาหารได้ ขับถ่ายปกติ ส่วนการตรวจพบฝ้าที่ชายปอด แพทย์ได้ดูแลและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ผู้ต้องขังทั้งหมดมีสัญญาณชีพและระดับออกซิเจนในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ

วันเดียวกัน ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. เผยว่าในวันที่ 1 ก.ย. พบการนัดหมายชุมนุม 3 กลุ่ม คือ กลุ่มราษฎรตาลีบัน นัดหมาย 14.00 น. บริเวณแยกลาดพร้าว กลุ่มรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย นัดหมาย 15.00 น. บริเวณหน้ารัฐสภา แยกเกียกกาย และกลุ่มทะลุแก๊ส บริเวณแยกดินแดง ย้ำเตือนว่า กทม.เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด การรวมกลุ่มชุมนุมมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ส่วนที่จะชุมนุมบริเวณอาคารรัฐสภาช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากพบละเมิดกฎหมาย หรือพยายามฝ่าฝืนเข้าไปในสถานที่ราชการ เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย ใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนตามหลักสากลดังที่เคยใช้ ส่วนการตั้งเครื่องกีดขวางและปิดเส้นทาง จะพิจารณาตามสถานการณ์และคำนึงถึงการเปิดทางเข้าออกสถานที่ การรักษาความปลอดภัยสถานที่ ลดผลกระทบกับประชาชนทั่วไป แต่กรณีที่ไม่สามารถเข้าออกได้ตามเส้นทางปกติ มีการเตรียมแผนอพยพเส้นทางสำรองไว้แล้ว ส่วนแกนนำหรือผู้ชุมนุมที่มีหมายจับ หากตำรวจพบจำเป็นต้องจับกุม เว้นแต่การจับกุมอาจทำให้เกิดความวุ่นวาย อาจไปจับกุมภายหลัง

...

รอง ผบช.น.กล่าวต่อว่า ส่วนการตรวจสอบบุคคลที่ถือปืนในพื้นที่การชุมนุม บริเวณแยกดินแดง เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ตำรวจพบว่า เป็นอาชีวะกลุ่มหนึ่งอย่างน้อย 2 คน ส่วนผู้ที่ร่วมทำร้ายเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่การชุมนุม มีผู้ร่วมก่อเหตุประมาณ 6 คน จับแล้ว 2 คน พร้อมยอมรับการชุมนุมวันดังกล่าว มีรถตำรวจถูกวัตถุคล้ายกระสุนปืนยิงเข้าใส่ จะต้องตรวจสอบขีปนวิธีหาทิศทางยิง หาตัวผู้ก่อเหตุต่อไป

ล่าสุดพ่อแม่นายเอก (นามสมมติ) อายุ 16 ปี พาลูกชายเข้ามอบตัวกับ พ.ต.อ.พงศ์จักร ปรีชาการุณพงศ์ ผกก.สภ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี หลังปรากฏภาพถือปืนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมทะลุแก๊ส ที่สามเหลี่ยมดินแดง เมื่อวันที่ 29 ส.ค. นายเอกให้การอ้างว่าวันเกิดเหตุขี่ จยย. ไปร่วมชุมนุมที่แยกดินแดงตั้งแต่ตอนเย็น โดยนำปืนที่ทำขึ้นเองติดตัวไปด้วยแต่ไม่มีกระสุน ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมกำลังปะทะกับทางเจ้าหน้าที่ ด้วยความคึกคะนองชักปืนออกมาถือโชว์ จากนั้นได้ออกจากที่ชุมนุมราว 2 ทุ่ม ส่วนปืนโยนทิ้งลงแม่น้ำเจ้าพระยาขณะมาถึงกลางสะพานปทุมธานี จากนั้นตำรวจนำตัวส่งไปที่ สน.ดินแดง เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

ส่วนที่บริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดงและพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวของกลุ่มเด็กและเยาวชน แนวร่วมเครือข่ายกลุ่มทะลุแก๊ส เป็นวันที่ 2 ต่อเนื่องจากวันที่ 30 ส.ค. มีเพียงกลุ่มเสื้อแดงที่สนับสนุนการชุมนุมกลุ่มเยาวชนทะลุแก๊ส และกลุ่มเด็กอาชีวะจำนวนหนึ่งมาสังเกตการณ์ว่า จะมีการจัดกิจกรรมปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกหรือไม่ ส่วนทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่พบว่ามีการวางกำลังชุดควบคุมฝูงชนไว้ที่แนวโรงพยาบาลทหารผ่านศึก และปิดการจราจรถนนวิภาวดีรังสิต ขาออก ในช่องคู่ขนาน หน้า ร.1 ทม.รอ. เหมือนทุกครั้ง