ปอศ. เปิดปฏิบัติการค้น 10 จุด ทลายเครือข่าย "แอปพลิเคชันเงินกู้นอกระบบ" จับนายทุนใหญ่ชาวจีน 3 ราย พร้อมขบวนการ พบเงินหมุนเวียนกว่า 400 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 19 ส.ค.64 พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผบก.ปอศ. สั่งการให้ พ.ต.อ.ภาดล จันทร์ดอน ผกก.5 บก.ปอศ. นำกำลังกว่า 60 นาย ร่วมกับตำรวจภูธรภาค 2 เข้าตรวจค้นเครือข่ายแอปพลิเคชันเงินกู้นอกระบบ 10 เป้าหมาย ในพื้นที่กรุงเทพฯ และ จ.ชลบุรี จับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมด 9 ราย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มนายทุน เป็นชาวจีน 3 ราย 2. กลุ่มเปิดบัญชี เป็นชาวไทย 5 ราย 3. กลุ่มพนักงานทวงหนี้ เป็นชาวไทย 1 ราย พร้อมของกลาง คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 5 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 14 เครื่อง สมุดบัญชีธนาคาร 13 เล่ม อายัดบัญชีเงินฝากที่เกี่ยวข้อง 37 บัญชี รวมยอดเงินที่อายัดได้ 2.1 ล้านบาท และเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยทั้งหมดถูกดำเนินคดีในข้อหา ประกอบด้วย ร่วมกันประกอบสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด



พ.ต.อ.ภาดล เปิดเผยว่า ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมากว่าได้รับความเดือดร้อนจากแอปพลิเคชันเงินกู้นอกระบบ กาก้า และ กิโก้ (KAKA, KIKO) เจ้าหน้าที่จึงได้สืบสวนสอบสวนแอปพลิเคชันดังกล่าว ก่อนจะมีการเปิดปฏิบัติการเข้าตรวจค้น 10 จุด ใน กทม.และชลบุรี

พ.ต.อ.ภาดล กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ ได้สืบสวนจับกุมแก๊งแอปพลิเคชันเงินกู้ตลอดมา ทำให้กลุ่มคนร้ายได้ปรับกลวิธีให้มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น มีการปิดบังอำพรางสถานที่ตั้ง รวมไปถึงมีการว่าจ้างผู้อื่นให้มาเปิดบัญชีเพื่อใช้ในการกระทำความผิด สำหรับแก๊งแอปพลิเคชันเงินกู้นอกระบบ "กาก้า - กิโก้" มีเงินหมุนเวียนในระบบ ไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท ในช่วงเวลาเพียงแค่ 3 เดือน และมีการยักย้ายถ่ายเทเงินอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ยากต่อการติดตามจับกุม

...



รายงานข่าวแจ้งว่า การตรวจค้นครั้งนี้พบว่ามีผู้ต้องหาตามหมายจับอีก 2 ราย ได้หลบหนี ขณะนี้หน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างการติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็วที่สุด

พ.ต.อ.ภาดล ยังกล่าวเตือนประชาชนด้วยว่า อย่าได้หลงเชื่อทำการกู้เงินจากแอปพลิเคชันเงินกู้นอกระบบต่างๆ เพราะนอกจากจะถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมากแล้ว ยังอาจถูกข่มขู่ คุกคาม รวมไปถึงการถูกประจาน และถูกเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวในโทรศัพท์มือถือ



ทั้งนี้หากประชาชนท่านใดได้รับข้อความทางโทรศัพท์ หรือ SMS แจ้งให้ชำระหนี้แทนโดยอ้างว่าเคยกู้ยืมหรือเป็นผู้ค้ำประกันให้กับบุคคลอื่น พร้อมทั้งข่มขู่ว่าถ้าไม่ชำระหนี้ดังกล่าวจะทำให้ติดเครดิตบูโร หากกรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริงขออย่าได้ตื่นตระหนกและหลงเชื่อโอนเงินให้แก่กลุ่มมิจฉาชีพ โดยขอให้บันทึกรายละเอียดต่างๆ เช่น หมายเลขโทรศัพท์, หมายเลขบัญชีธนาคาร แล้วแจ้งเบาะแสมาที่ สายด่วน 1599 (ศปน.ตร.) หรือ สถานีตำรวจใกล้บ้าน.