นายกสมาคมทนายออกแถลงการณ์ ชี้การออกพ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ มีวาระซ่อนเร้น เเฝงนัยไม่สุจริต เอาบุคลากรการเเพทย์บังหน้าปกป้องคณะบุคคล รัฐบาล ที่บริหารจัดการ จัดหาวัคซีนล้มเหลว นำไปสู่โศกนาฏกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และความเจ็บป่วย ล้มตายของคนในชาติ

วันที่ 12 ส.ค. นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ความว่า

"แม้เจตจำนงของร่างพระราชกำหนดจำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. ... จะเป็นไปเพื่อปกป้องคุ้มครองบุคลากรสาธารณสุขและสถานพยาบาลมิให้ต้องรับผิดตามกฎหมายทั้งความรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา ทางวินัยและทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ อันมีข้อยกเว้น หากการกระทำดังกล่าวเป็นไปโดยไม่สุจริต การกระทำนั้นประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและการกระทำนั้นเกิดหรือมูลเหตุมาจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในในรัฐธรรมนูญ

เห็นว่า หากแต่ความคุ้มครองส่วนบุคคลในสาระสำคัญ มิได้แตกต่างไปจากพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตามมาตรา 17 พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่ เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ประกอบกับพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 มาตรา 29(1) และตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินเรื่อง ประเภท ระดับ อำนาจหน้าที่ ขอบเขตความรับผิดชอบและข้อจำกัดของหน่วยปฏิบัติการ พ.ศ. 2562 ข้อ 5(9) ดำเนินการให้ผู้ปฏิบัติการเป็นเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่เพื่อให้ผู้ปฏิบัติการนั้นได้รับความคุ้มครองรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่ผู้ปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติการนั้นได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการให้ความคุ้มครองผู้ปฏิบัติการต่อผู้เสียหายในผลแห่งความละเมิด"

...

จากเหตุดังกล่าวข้างต้น ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่มีสภาพบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันจึงเพียงพอต่อการให้ความคุ้มครอง ปกป้องให้บุคลากรทางสาธารณสุขที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต มีความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอยู่แล้ว

แต่ในสาระสำคัญของความครอบคลุมของบุคคลที่ได้รับประโยชน์ตามข้อ 7 พ.ร.ก.ฉุกเฉินดังกล่าวระบุว่า “บุคคล/คณะบุคคล ที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาหรือบริการวัคซีน” ควรรวมไปถึงการกระทำของรัฐบาลหรือบุคคล/คณะบุคคล ที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายที่ได้กระทำการบริหารทางสาธารณสุขผิดพลาด ล้มเหลว ละเลย จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และความเจ็บป่วย ล้มตายของประชาชนในชาติ

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย มีความเห็นว่า การออกพ.ร.ก.ดังกล่าว หากสามารถทำให้เกิดความคุ้มครองบุคคลตามข้อ 7 โดยไม่ต้องรับผิดได้ด้วยแล้ว ก็น่าจะเป็นการออกพ.ร.ก.ที่ขัดกับเจตนารมณ์ที่แท้จริง เนื่องจากมิได้มีเจตนาออกมาเพื่อคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ หรือบุคลากรด่านหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่เพียงอย่างเดียว แต่กลับเป็นการออกพ.ร.ก.ที่มีการแอบแฝงที่มีนัยไม่สุจริต มีวาระซ่อนเร้น ปกปิดโดยเอาบุคลากรทางการแพทย์ฯ เป็นข้ออ้างบังหน้าเพื่อหวัง ปกป้องเพื่อคุ้มครองบุคคลตามข้อ 7 ให้ได้รับประโยชน์จากร่างพ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าพรุ่งนี้นายนรินท์พงศ์ จะเดินทางไปยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการบริหารงานสาธารณสุข ในฐานความผิดของเจ้าพนักงานในเวลา 13.30 น.