"ไสลเกษ วัฒนพันธุ์" ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาและอดีตประธานศาลฎีกา แจงปมตรวจสอบข่าวประเด็นสินบนโตโยต้าตามช่องทาง
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา อดีตประธานศาลฎีกา กล่าวถึงกรณีการเตรียมยื่นหนังสือให้สำนักงานศาลยุติธรรมตรวจสอบและดำเนินคดีผู้โพสต์ข้อความและเว็บไซต์บางแห่งที่เสนอข่าวและลงข้อความพาดพิงเกี่ยวกับการรับสินบนคดีภาษีโตโยต้า 11,000 ล้านบาท ทำให้ได้รับความเสียหาย ว่า ไม่ได้ยื่นว่าให้ดำเนินคดีใคร หรือสำนักข่าวแห่งไหนเป็นการเฉพาะเจาะจง แต่ยื่นให้สำนักงานศาลยุติธรรมตรวจสอบเรื่องที่ปรากฏเป็นข่าวกล่าวหาการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้พิพากษา เมื่อถูกกล่าวหาจึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานศาลยุติธรรมตรวจให้ความกระจ่างปรากฏต่อสังคม เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่กระทบแค่ผู้พิพากษาหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ แต่ยังกระทบถึงสถาบันศาลด้วย สำนักงานศาลยุติธรรมมีบุคลากรและนิติกรตรวจสอบและใช้ดุลพินิจว่า การนำเสนอข่าวของสื่อบางแห่งมีเจตนาทำละเมิดหรือหมิ่นประมาทหรือไม่ ถ้าสื่อรายงานข่าวไม่ลำเอียงเป็นไปตามข้อเท็จจริงมีกฎหมายคุ้มครองสื่อ แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าแสดงความเห็นไม่ตรงไม่ถูกต้อง เอาข้อความมาโพสต์มาเสนอข่าวแบบไม่มีที่มาที่ไป ก็เข้าข่ายมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ละเมิด และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ใช่ว่าจะไปรบกับสื่อ จึงอยากชี้แจงให้เข้าใจ
นายไสลเกษกล่าวว่า ต้นเรื่องข่าวนี้มาจากเว็บไซต์ลอว์ 360 ของต่างประเทศ แล้วนำมาแปลข่าว ต้องไปตรวจสอบดูว่า แปลถูกต้องครบถ้วนหรือเปล่า หรือเอามาตัดต่อแปลแค่บางช่วง สำนักงานศาลยุติธรรมต้องตรวจสอบเรื่องนี้ให้กระจ่าง 1.เพื่อช่วยเหลือข้าราชการที่ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ และ 2.เพื่อทำความจริงให้ปรากฏกับสังคม ตนไม่สามารถไปชี้นำสำนักงานศาลยุติธรรมได้ ถ้าตรวจสอบแล้วมีใครเข้าข่ายกระทำผิด ให้สำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการตามขั้นตอนไป ซึ่งเป็นช่องทางที่ถูกต้อง
...
นอกจากนี้หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ สัมภาษณ์พิเศษนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ อดีตประธานศาลฎีกาคนที่ 45 ถึงกรณีเว็บไซต์ Law360 เผยแพร่รายงานว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯอยู่ระหว่างการสืบสวนว่า บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จ่ายสินบนให้แก่ผู้พิพากษา 3 คน รวมถึงอดีตประธานศาลฎีกาและที่ปรึกษาศาลฎีกา เพื่อไปเกลี้ยกล่อมให้ประธานศาลฎีกา ณ ตอนนั้น ตัดสินคดีที่เอื้อประโยชน์ต่อโตโยต้า นายไสลเกษหนึ่งในผู้พิพากษาที่อยู่ในรายงานดังกล่าวได้กล่าวปฏิเสธมีความเกี่ยวข้อง ตอนนั้นเป็นประธานศาลฎีกาแต่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการตัดสินคดี และผู้พิพากษาอีก 2 คนที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันสินบน ก็ไม่ได้มาพูดคุยปรึกษาอะไรกับตนเกี่ยวกับคดีเช่นกัน การทบทวนคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ประกาศในเดือน มี.ค.ปีนี้ แต่ตนพ้นตำแหน่งไปแล้วเมื่อเดือน ก.ย.2563 นอกจากนี้ที่กล่าวหาว่าผู้พิพากษาถูกยัดสินบน 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และต่อมาอีก 27 ล้านดอลลาร์ มันดูเลื่อนลอย ใครจะบ้องตื้นมาจ่ายเงินให้ก่อนที่จะรู้ว่าคำตัดสินชั้นอุทธรณ์จะออกมาในรูปแบบใด