กรมพินิจฯ เผยยังไม่พบเยาวชน-เจ้าหน้าที่ติดโควิด มั่นใจระบบแยกกักตัวเด็กใหม่ พร้อมดูแลความเป็นอยู่ตามสถานการณ์อย่างดี ย้ำนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า กรมพินิจฯ ได้มีการเก็บข้อมูล และรายงานสถานการณ์สถิติผู้ติดเชื้อโควิด ในกรมพินิจฯ รายวัน โดยปัจจุบันยังไม่พบการติดเชื้อในเด็กและเยาวชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ซึ่งสถิติประจำวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 (ข้อมูล ณ วันที่ 18 พ.ค. 64 เวลา 14.00 น.) มียอดควบคุมตัวเยาวชนอยู่ที่ 4,013 ราย กักตัว 460 ราย รวมควบคุมทั้งสิ้น 4,473 ราย ส่วนเจ้าหน้าที่มีจำนวนทั้งสิ้น 4,200 ราย อยู่ระหว่างกักตัว 5 ราย และได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว จำนวน 462 ราย ขณะที่เด็กและเยาวชนยังไม่มีผู้ใดได้รับการฉีดวัคซีน อีกส่วนที่สำคัญ คือ การบริหารจัดการเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีความเสี่ยงมากที่สุดในการเป็นพาหะนำเชื้อเข้ามา เพราะเจ้าหน้าที่มีการเข้าออกในสถานที่ควบคุม จึงเน้นย้ำให้ทุกคนป้องกัน ดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด ต้องมีวินัยการ์ดห้ามตก เพราะพฤติกรรมที่ปฏิบัติเป็นประจำหลังเลิกงานอาจมีความสุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้ม 4 จังหวัด
“กรมพินิจฯ ได้รับชื่นชมจาก คณะแพทย์และกรมควบคุมโรค หลังการหารือร่วมถึงการบริหารจัดการ ว่ามีการดูแลเจ้าหน้าที่และเด็กๆ เป็นอย่างดี มีการปรับแผนตามสถานการณ์ที่เหมาะสม โดยคณะแพทย์ได้แนะนำให้เน้นเรื่องกินอยู่หลับนอน การเว้นระยะห่างในโรงอาหาร การตักอาหารโดยลดการสัมผัส การเว้นระยะห่างในหอนอน รวมทั้งแยกเด็กกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กที่มีโรคอ้วน เบาหวาน ความดัน หรือมีโรคประจำตัว เพราะกลุ่มนี้จะมีการติดเชื้อได้ง่ายและหายยาก” พ.ต.ท. วรรณพงษ์ กล่าว
...
พ.ต.ท.วรรณพงษ์ เปิดเผยอีกว่า หน่วยงานในสังกัดกรมพินิจฯ มีพยาบาลวิชาชีพ และพนักงานพินิจที่ดูแลเด็กและเยาวชนทั่วทุกแห่ง และได้มีการดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่ เช่น การแยกห้องกักตัวสำหรับเด็กรับใหม่ และการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ทั้งในส่วนของเด็กและเยาวชน เจ้าหน้าที่ ผู้มาติดต่อราชการ และด้านอาคารสถานที่ ให้มีความปลอดภัยจากโควิด อีกทั้ง สั่งให้หน่วยงานในสังกัดทุกจังหวัดเตรียมพื้นที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับ สสจ.
“ขณะนี้กำลังใจคือสิ่งสำคัญสุด เพราะขณะนี้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขัน และตั้งการ์ดสุดกำลัง จนบางท่านอาจเกิดความเครียดและท้อ จึงขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่ทำงานเพื่อเด็กและเยาวชนทุกคน ฝากเน้นย้ำให้นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในเรื่องของการสื่อสาร และการทำงานแบบไม่ใช้เอกสารหรือกระดาษ เพื่อลดขั้นตอน และเพื่อให้การทำงานสะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น” พ.ต.ท. วรรณพงษ์ กล่าว