"บิ๊กเด่น" พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร. สั่งชะลอตั้งด่านตรวจเมา-จุดกวดขันวินัยการจราจร ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัดสีแดง ระดมฝ่ายสืบสวนหาข่าว กลุ่มคนรวมตัวมั่วสุมในโรงแรม-รีสอร์ต

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร. ได้มีวิทยุในราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ 17 เม.ย. ถึง ผบช. หรือตำแหน่งเทียบเท่า ผบก.ในสังกัด สง.ผบ.ตร. ใจความว่า อ้างถึง ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน พ.ศ.2558, ว.ตร. ด่วนที่สุด ที่ 0009.121/23 ลง 4 ม.ค.2564 กำชับการปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และว.ตร. ด่วนที่สุด ที่ ศปม5.31/139 ลง 8 เม.ย.2564 กำชับการปฏิบัติในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของข้าราชการตำรวจ

เนื่องจากปัจจุบันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ เดือนเม.ย. มีการขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น สามารถแพร่เชื้อติดต่อกันได้โดยผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ และขณะนี้มีข้าราชการตำรวจติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้การระงับยับยั้งและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงให้ดำเนินการ ดังนี้

...

การดำเนินการกรณีข้าราชการตำรวจติดเชื้อโควิด-19

1.ให้ รพ.ตร. ร่วมกับ ศปม.ตร. ตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลการติดเชื้อของข้าราชการตำรวจ ในห้วงระหว่าง 1 ม.ค.2564 -15 เม.ย.และวางมาตรการรองรับเพื่อป้องกันการติดเชื้อของข้าราชการตำรวจ แล้วให้ ศปม.ตร. ยกร่างหนังสือเสนอ ตร. พิจารณาลงนามกำหนดเป็นมาตรการป้องกันๆในภาพรวมของ ตร.

2.สำหรับกำลังพลที่รักษาหายดีหรือพ้นกำหนดการกักตัวแล้ว ให้เรียกตัวกลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ โดยให้กำกับดูแลการปฏิบัติของข้าราชการตำรวจทุกนายให้เป็นไปตามแนวทางที่ ตร. ได้สั่งการไว้แล้ว

กำชับการปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 20) ดังนี้

1.ให้ทุกหน่วยศึกษาทำความเข้าใจข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 20) ซึ่งมีการบังคับใช้มาตรการควบคุมเพิ่มเติมรวมทั้งปรับระดับพื้นที่สถานการณ์เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด จำนวน 18 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม จำนวน 59 จังหวัด ทั้งนี้ ตั้งแต่ 28 เม.ย.เป็นต้นไป

2.การออกตรวจพื้นที่ของเจ้าหน้าที่สายตรวจ ชุดเคลื่อนที่เร็ว และชุดสายตรวจร่วม ให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจ เพื่อระงับยับยั้งการมั่วสุม หรือการจัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค

3.การออกตรวจพื้นที่ในเวลากลางคืนให้เน้นการเปิดสัญญาณไฟวับวาบ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ โดยเน้นการตรวจบริเวณจุดเสี่ยง และห้วงเวลาเสี่ยง

4.เน้นการทำงานเชิงรุก โดยการออกประชาสัมพันธ์ หากพบการฝ่าฝืนให้เน้นการป้องกัน ระงับ ยับยั้ง และตักเตือนก่อน แล้วบังคับใช้กฎหมายตามขั้นตอน อย่างรอบคอบและรัดกุม

5.ให้ชะลอการตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์และจุดกวดขันวินัยการจราจร โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุด สำหรับจุดตรวจป้องกันอาชญากรรม จุดสกัดกั้นยาเสพติด และจุดสกัดกั้นตามแนวชายแดน ให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ตามมาตรการที่ ศบค. กำหนด และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ

6.ให้ข้าราชการตำรวจและประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบงดจัดกิจกรรมทางสังคมในลักษณะที่เป็นงานเลี้ยงสังสรรค์ งานรื่นเริง เว้นแต่เป็นการจัดพิธีตามประเพณีนิยม และมีมาตรการป้องกันโรคที่เพียงพอ

7.พิจารณาปรับรูปแบบการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจในสังกัด โดยอาจปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง การสลับวันทำงาน หรือวิธีอื่นใดที่เหมาะสมเพื่อลดโอกาสติดเชื้อ

ในห้วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2564 ยังพบว่าบางพื้นที่มีการมั่วสุมหรือจัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค เช่น การจัดงานเลี้ยงรื่นเริง การมั่วสุมดื่มสุรา ตามที่ปรากฏตามสื่อสังคมออนไลน์ แล้วมีการดำเนินคดีในภายหลัง จึงกำชับการปฏิบัติ ดังนี้

1.ให้จัดตั้งทีมฝ่ายกฎหมายของแต่ละหน่วย ศึกษาข้อกฎหมายในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกรณีการมั่วสุม การชุมนุม การทำกิจกรรม โดยให้นำข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 15, 16, 18, 19, 20 และฉบับอื่นๆ รวมทั้งประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ตลอดจนคำสั่งของผู้ว่าราชการ กทม. ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่เกี่ยวข้องมาสรุปเป็นแนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่สายตรวจ ชุดเคลื่อนที่เร็ว ชุดสายตรวจร่วม และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ตลอดจนวางแนวทางการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนตามกฎหมายดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.ให้เพิ่มการสืบสวนหาข่าวจากสื่อสังคมออนไลน์และสืบสวนทางกายภาพ และรับแจ้งเบาะแสจากประชาชน ให้ทราบความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น มั่วสุมรวมตัวกันเสพยาเสพติด เล่นการพนัน ดื่มสุรา ตามโรงแรม รีสอร์ต อพาร์ทเมนต์ หอพัก ห้องเช่า เป็นต้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางมาตรการป้องกัน ระงับยับยั้ง และสืบสวนจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย

ให้ผู้บังคับบัญชาระดับ บช/ภ. และ บก/ภจว.ตรวจเยี่ยมบำรุงขวัญและให้กำลังใจผู้ปฏิบัติหน้าที่และวางระบบการคัดกรองประชาชนผู้มาติดต่อราชการให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค การใช้งานแอปพลิเคชันไทยชนะอย่างเคร่งครัด และวางระบบการกักตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรค โดยมีผู้รับผิดชอบควบคุม กำกับ ดูแล อย่างชัดเจน หากพบว่ามีกำลังพลในการปฏิบัติหน้าที่ไม่เพียงพอ (เนื่องจากมีสาเหตุต้องกักตัว) ให้ บช./ภ. บก./ภ.จว. พิจารณาปรับกำลังพลภายในหน่วย โดยใช้ กำลังพล สน./สภ. ข้างเคียง หรือส่วนกลาง เช่น บก.สส. กก.สส. มาสนับสนุนการปฏิบัติงานตามความเหมาะสม

...

ให้มีการแบ่งมอบหมายผู้บังคับบัญชาแต่ละระดับให้ควบคุม กำกับ ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา ให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค และกำชับการปฏิบัติตนของข้าราชการตำรวจในสังกัด ดังนี้

1.ให้ข้าราชการตำรวจทุกนายปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันโรค (O-M-H-T-T-A) อย่างเคร่งครัด โดยสวม Face Shield หรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ มีเจลแอลกอฮอล์ติดตัวทุกนาย มีการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนการปฏิบัติหน้าที่ หมั่นล้างมือด้วยสบู่ เจลล้างมือ น้ำยาหรือแอลกอฮอล์ล้างมือ รักษาระยะห่างระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและระหว่างประชาชน ตลอดจนใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ และหมอชนะ

2.ให้ข้าราชการตำรวจประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี หลีกเสี่ยงการประพฤติตนที่ไม่เหมาะสม เช่น มั่วสุมดื่มสุรา หรือเข้าไปในสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค.