บก.น.7 สร้างเครือข่ายป้องกันอาชญากรรม ชุมชนปลอดภัย ประชาชนเป็นสุข โดยมอบหมายให้ รอง ผบก.น.7 และ ผกก.บางกอกน้อย นำฝึกอบรมการมีส่วนร่วม พร้อมเสริมความรู้การเฝ้าระวัง ป้องกัน และเพื่อแสวงหาความร่วมมือ และสร้างความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติงานของตำรวจ

เมื่อวันที่ 28 มี.ค.64 กองบังคับการตำรวจนครบาล 7 โดย พล.ต.ต.เอกชัย บุญวิสุทธิ์ ผบก.น.7 มอบหมายให้ พ.ต.อ.เจษฎา สวยสม รอง ผบก.น.7 พ.ต.อ.ศาสตรา อ่อนรัศมี ผกก.สน.บางกอกน้อย พ.ต.ท.สมศักดิ์ เกิดแสง รอง ผกก.ป. นางสุนีย์ ทรัพย์อดิเรก ตัวแทน กต.ตร. นายบัญชา เทียนศิริ ประธานเครือข่ายชุมชนเขต บางกอกน้อย ร่วมเปิดโครงการฝึกอบรมการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบลของ สน.บางกอกน้อย โดยมีประธานชุมชน 19 ชุมชน และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมอบรม จำนวนทั้งสิ้น 111 คน ณ ห้องประชุมวาสุกรี โรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ



พ.ต.อ.ศาตรา อ่อนรัศมี ผกก.บางกอกน้อย เผยว่า สำหรับโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1. เพิ่มประสิทธิภาพของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่ระดับตำบล 2. สร้างองค์ความรู้ให้แก่ประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมและช่วยเหลือสนับสนุนเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังป้องกันอาชญากรรม 3. ส่งเสริมและพัฒนาให้ประชาชน เด็กและเยาวชน ได้รู้เท่าทันและสามารถป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่ 4. ตอบสนองการดำเนินงานของรัฐบาลในการป้องกันอาชญากรรมโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน

...



ผกก.บางกอกน้อย เผยต่อว่า ทั้งนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันระหว่างประธานชุมชนในเขตบางกอกน้อย เพื่อแสวงหาความร่วมมือ สร้างแนวร่วมและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมและอุบัติเหตุในพื้นที่ของแต่ละชุมชนและชุมชนใกล้เคียงกัน อันเป็นการบำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้แก่ประชาชนในพื้นที่เขตบางกอกน้อย

โดยโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนในพื้นที่อย่างมาก โดยผลที่คาดว่าจะได้รับ ได้แก่ 1. มีเครือข่ายประชาชนเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการรักษาความสงบเรียบร้อย คอยเฝ้าระวังป้องกันรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ชุมชนและใกล้เคียง 2. มีการจัดตั้งกลุ่มเครือข่ายประชาชนในการติดต่อ ประสานงาน และเตือนภัยอาชญากรรมและอุบัติเหตุในชุมชน 3. กลุ่มเครือข่ายประชาชนที่ได้รับการอบรมได้ช่วยสอดส่องดูแลพฤติการณ์ คอยเป็นหูเป็นตาและแจ้งเบาะแสพฤติกรรมเบี่ยงเบนต่างๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจอันเป็นการป้องกันอาชญากรรมชั้นต้น

4. เครือข่ายประชาชนนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในชุมชนของตนเอง สร้างความตระหนักถึงปัญหาอาชญากรรมภายในชุมชน และเรียนรู้มิให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรม 5. เครือข่ายประชาชนมีการดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ หรือการดำเนินกิจกรรมเพื่อป้องกันอาชญากรรม เช่น การปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในชุมชนมิให้เอื้อต่อการเกิดอาชญากรรม ตัดวงจรการก่ออาชญากรรมตั้งแต่ต้น 6. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติงานของตำรวจ

...