ศาลพิพากษาคดีศัลยกรรมร้อยไหมให้ไฮโซ 72 ปีดับ จำคุกหมอเจ้าของคลินิก 4 ปี 12 เดือน ชี้ ประมาทไม่ซักประวัติผู้ป่วย-ปั๊มหัวใจพลาดกระดูกซี่โครงหัก ด้านลูกสาวผู้ตาย เผยได้รับความจริงและความยุติธรรม

วันที่ 23 ธ.ค.ที่ ศาลอาญามีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.2810/2562 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ฟ้อง นพ.ธนพล ทองประเสริฐ อายุ 51 ปี เจ้าของคลินิกเสริมความงามชื่อดัง ย่านทาวน์อินน์ทาวน์ เป็นจำเลย ในความผิดฐานกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตาม ป.อาญา ม.291, ประกอบการและดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล จำเลยมาศาลตามนัด

อัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปได้ว่า จำเลยได้จัดตั้งคลินิกศรีวรา ย่านทาวน์อินทาวน์ กทม.เพื่อเสริมสวย ทำศัลยกรรมเสริมความงามโดยมิได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยจำเลยได้ฉีดสสาร (ยาชาไซโคเคนผสมอาดีนาลีน) จำนวน 12 ซีซี เพื่อเสริมความงามโดยวิธีร้อยไหมให้กับ นางณัฐมล ประชาเสรี อายุ 72 ปี โดยปราศจากความระมัดระวัง ไม่ได้ทำการทดสอบว่านางณัฐมลมีอาการแพ้ยาหรือไม่ ด้วยความประมาทของจำเลยดังกล่าว เป็นเหตุให้นางณัฐมล มีอาการแพ้ยา ริมฝีปาก และนิ้วมือสีเขียว จากนั้นจำเลยได้ปั๊มหัวใจนางณัฐมล ที่ขณะนั้นมีอายุ 72 ปี แล้วด้วยความรุนแรงต่อเนื่อง จนกระดูกซี่โครงหัก ตับฉีกขาด เลือดออกในช่องท้อง เป็นเหตุให้นางณัฐมลถึงแก่ความตาย

คดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธ ข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย กับให้การรับสารภาพ ข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล และได้รับการประกันตัว

คำพิพากษาใจความว่าศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพในความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ไม่มีเหตุสงสัย ฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องฐานนี้ ส่วนความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือไม่ โจทก์มีผู้ช่วยจำเลยเป็นประจักษ์พยาน เบิกความเกี่ยวกับการที่ผู้ตายมาทำการร้อยไหม จำเลยฉีดยาชาให้ผู้ตายแล้วเดินไปเข้าห้องน้ำ ต่อมาผู้ตายมีอาการตัวเขียว ผู้ช่วยจำเลยวิ่งไปตาม และจำเลยได้ปั๊มหัวใจผู้ตาย

...

โจทก์มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นพยานโจทก์เบิกความ เกี่ยวกับก่อนทำหัตถการ ต้องซักประวัติผู้ป่วยทุกครั้ง การร้อยไหมเป็นการศัลยกรรม ซึ่งผู้มีอายุมากมีความเสี่ยง แพทย์พยาบาลต้องอยู่กับคนไข้ตลอด ต้องมีการซักประวัติคนไข้บันทึกในเวชระเบียน การต้องให้ยาชากับผู้ป่วยอายุมากเสี่ยงมีโรคประจำตัว ต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้ผิดพลาด วันเกิดเหตุจำเลยไม่ซักประวัติผู้ตาย ไม่บันทึกประวัติผู้ตาย อีกทั้งพยานโจทก์เบิกความเกี่ยวกับยาที่ใช้เป็นยาอันตราย ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ผู้ตายมีโรคความดันโลหิตสูง

จำเลยจบแพทยศาสตร์ย่อมทราบยาที่ใช้เป็นยาอันตราย ควรระวังในการใช้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจทั้งก่อนและหลังฉีด จำเลยละเลยการซักประวัติก่อนเริ่มฉีดยา และไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ ไม่ติดตั้งตัวแจ้งเตือนสัญญาณชีพถือว่าประมาท การที่ผู้ตายตัวเขียวเป็นผลจากการที่จำเลยฉีดยาไม่ระมัดระวัง ส่วนที่พยานจำเลยนำสืบเชื่อว่าผู้ตายมีสุขภาพดี พยานจำเลยไม่ใช่ผู้รักษาผู้ตาย พยานจำเลยไม่หักล้างพยานโจทก์

ส่วนที่ผู้ตายตับฉีก โจทก์มีเจ้าหน้าที่กู้ภัยเป็นประจักษ์พยาน ก่อนปั๊มหัวใจเห็นว่าหน้าอกของผู้ตายยุบลงผิดสภาพ รู้สึกได้ว่ากระดูกซี่โครงรวบลง มีเสียงดังกรอบแกรบเพราะกระดูกหัก น่าจะเกิดจากการปั๊มหัวใจไม่ถูกต้อง เหตุที่ซี่โครงหักเกิดจากการปั๊มหัวใจของจำเลยก่อนเจ้าหน้าที่กู้ภัยเดินทางมาถึง เป็นผลให้ตับฉีก การปั๊มหัวใจของจำเลยไม่ระมัดระวัง ไม่ตรวจสอบตำแหน่งวางมือตามหลักการแพทย์ ถือเป็นความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามโจทก์ฟ้อง

พิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตาม ป.อาญา ม.291 จำคุก 4 ปี, ประกอบการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาความผิด ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ลดโทษกึ่งหนึ่งฐานประกอบการสถานพยาบาลฯ 6 เดือน และดำเนินการสถานพยาบาลฯ 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยเป็นเวลา 4 ปี 12 เดือน จำเลยยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวทันที

ด้าน น.ส.อนิชา ประชาเสรี ลูกสาวของผู้เสียชีวิต เปิดเผยภายหลังฟังคำพิพากษาว่า ส่วนตัวแล้วไม่มีความพอใจหรือไม่พอใจ สิ่งที่เราต้องการคือความจริงและความยุติธรรม ที่จริงทางตนไม่อยากสร้างเวรสร้างกรรม แต่เมื่อเราไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ต้องดำเนินการทางคดี โดยหลังจากเกิดเรื่อง อีกฝ่ายไม่เคยมีการมาขอโทษหรือเจรจาไกล่เกลี่ยเลย สำหรับการดำเนินคดีของศาลในคดีแพ่งที่เคยไปฟ้องก่อนหน้านี้นั้น ต้องรอให้คำตัดสินคดีอาญาจบก่อน ซึ่งได้เราเรียกค่าเสียหาย 200 ล้านบาท .