ที่ประชุม ก.ตร. มีมติเห็นชอบตั้งกองบัญชาการใหม่ ทำหน้าที่ดูแลอาชญากรรมทางเทคโนโลยี คาดจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดย บก.ปอท.ยังมีอยู่ แต่ปรับหน้าที่ให้สอดคล้องกับ บก.ตำรวจสอบสวนกลาง
เมื่อวันที่ 29 พ.ค.63 เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 29 พ.ค.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมก.ตร.ที่ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายหลังการประชุม พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า การกระชุมครั้งนี้มีวาระการรายงานของอนุ ก.ตร.คณะต่างๆ และวาระขอรับความเห็นชอบในเรื่องอื่นๆ ในที่ประชุมนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการผ่อนปรนในระยะที่ 3 ซึ่งมีมาตราการหลายอย่างที่ต้องขอความร่วมมือจากฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการเข้มงวดในการออกตรวจตรา และกำชับให้ข้อแนะนำการปฏิบัติ ทั้งสถานที่ได้รับการผ่อนปรนหรือพี่น้องประชาชน เพื่อจะได้ไม่ละเลย จนเกิดการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น
...
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมนายกรัฐมนตรี ได้สอบถามความคืบหน้า กรณีการจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านเทคโนโลยี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.จึงรายงานความคืบหน้าให้ทราบดังนี้ หน่วยงานใหม่ที่จัดตั้งจะใช้ชื่อว่า กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี การจัดตั้งกองบัญชาการใหม่นี้ เพื่อให้สอดคล้องกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ที่ทำหน้าที่ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ รวมถึง ศูนย์เฟกนิวส์
พล.ต.ท.ปิยะ กล่าวอีกว่า สำหรับ กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่จะตั้งขึ้นมาใหม่นี้ มี 7 กองบังคับการ ประกอบด้วย 4 กองบังคับการที่ดูแล 4 ภูมิภาคทั่วไทย และกองบังคับการดูแลพื้นที่ กรุงเทพฯ 1 กองอำนวยการ และหน่วยสำคัญ คือ กองบังคับการตรวจสอบวิเคราะห์อาชญากรรม ที่มีหน้าที่สำคัญในการตรวจพิสูจน์หลักฐานทางเทคโนโลยี และการประสานงานกับหน่วยงานต่างประเทศ สำหรับกองบัญชาการใหม่นี้ จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงช่วยให้กับ บก.สส.ทั่วประเทศ ส่วนคดีมโนสาเร่ทั่วไปยังคงให้ สถานีตำรวจพื้นที่รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนสืบสวน ทั้งนี้ กองบัญชาการใหม่จะรับผิดชอบคดีที่เกี่ยวพันหรือสร้างความเสียหายในวงกว้าง
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า สำหรับ บก.ปอท. หรือ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท.ที่ประชาชนรู้จักและคุ้นเคยกันดีนั้นยังมีอยู่ แต่จะมีการปรับภารกิจให้สอดคล้องกับกองบังคับการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) หลังจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะดำเนินการแก้กฎหมาย กำหนดตำแหน่งโดยจะมีบุคลากรไปปฏิบัติหน้าที่ราวๆ 1,000 คน ประสานกระทรวงดิจิทัลฯ และจะได้ดำเนินการออกร่างระเบียบใหม่ คาดว่าน่าจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 3 เดือน และจะมีสถานที่ตั้งอยู่ภายในเมืองทองธานี.