พนักงานสอบสวนกองปราบ นำตัวแม่ปุ๊กฝากขังพร้อมยื่นคัดค้านการประกันตัว แฉพฤติกรรมสุดที่จะรับ ทุกครั้งที่มาเยี่ยม นำอาหารมาป้อน เด็กจะปากบวม เลือดออก อาการทรุด ตอนนี้แม่ปุ๊กจะถ่ายคลิป เรียกความสงสาร จนสุดท้ายเด็กผู้หญิงเสียชีวิต
ฝากขัง "แม่ปุ๊ก" ฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนฯ
วันที่ 25 พ.ค. ที่ศาลอาญา พนักงานสอบสวนกองปราบปรามนำตัว นางสาวนิษฐา วงวาล หรือแม่ปุ๊ก ฝากขังต่อศาล ในข้อหาหารับไว้ซึ่งเด็กโดยมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ, พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย, ฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น และฉ้อโกงประชาชน กรณีคดีวางยาลูก 2 คน จนเสียชีวิตและบาดเจ็บ เหตุเกิดที่โรงพยาบาลนครสวรรค์ประชารักษ์ ตำบลปากน้ำโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2558 ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน ที่บ้านพักของนางสาวนิษฐา ถนนเทิดราชัน แขวงสีกัน เขตดอนเมือง ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2558 เกี่ยวเนื่องกันถึงที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ถึง 12 สิงหาคม 2562 (กรณีเด็กหญิงคนที่ 1)
เผย "แม่เอม" เป็นคนมาร้องทุกข์ที่กองปราบ
พฤติการณ์คือ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 นางสาวเอมอัชนา (มารดาแท้ๆ ของเด็กหญิงคนที่ 1) ซึ่งเป็นผู้กล่าวหา ได้มาร้องทุกข์ที่กองบังคับการปราบปราม ให้ดำเนินคดีกับนางสาวนิษฐา โดยแจ้งว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2558 ได้ถูกผู้ต้องหาหลอกลวงว่าจะขอรับอุปการะเลี้ยงดูบุตรของนางสาวเอมอัชนาที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ โดยหลอกลวงให้หลงเชื่อว่าผู้ต้องหาเป็นผู้มีฐานะดี มีอาชีพการงานที่มั่นคง โดยอ้างว่าเป็นเภสัชกร เมื่อนางสาวเอมอัชนาคลอดบุตรแล้ว ผู้ต้องหาได้มารับตัวน้องยิ้ม ที่โรงพยาบาลนครสวรรค์ประชารักษ์ เพื่อไปดูแล
...
อ้างตั้งแต่แรก เด็กป่วยโรค "เรนินโนม่าห์"
ต่อมา ผู้ต้องหาได้แจ้งว่า เด็กมีอาการป่วย มีความจำเป็นต้องทำประกันสุขภาพ จึงหลอกลวงให้นางสาวเอมอัชนาทำการเปิดบัญชีธนาคารทหารไทย จำนวน 1 บัญชี และผู้ต้องหาได้เปิดบัญชีธนาคารทหารไทย อีกจำนวน 2 บัญชี เป็นชื่อบัญชีของนางสาวเอมอัชนา ปรากฏว่า ผู้ต้องหาได้นำบัญชีธนาคารดังกล่าวไปใช้ในการแสวงหาประโยชน์ โดยอ้างว่าเป็นมารดาของเด็กผู้หญิงที่ป่วยด้วยโรค "เรนินโนม่าห์" และใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณารับบริจาคเงินผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ทั้งบริจาคเงินโดยตรง และในรูปแบบของการซื้อสิ่งของ เช่น เครื่องมือแพทย์ เครื่องมือวัดไข้ จนมีผู้หลงเชื่อโอนเงินบริจาคเข้าบัญชีธนาคารตามที่กล่าวมาข้างต้นจำนวนมาก และในบางครั้งก็ไม่ส่งสินค้าให้ และได้ใช้บัญชีธนาคารดังกล่าว มีผู้เสียหายจำนวนหลายรายที่หลงเชื่อโอนเงินค่าสินค้าเข้าบัญชีธนาคารดังกล่าว และมีผู้เสียหายจำนวนมากได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในท้องที่เกิดเหตุหลายท้องที่ และอยู่ระหว่างการดำเนินคดี
ห้ามแม่แท้ๆ เข้าเยี่ยม จนเด็กเสียชีวิต
ต่อมา นางสาวนิษฐา ได้แจ้งกับนางสาวเอมอัชนาว่า เด็กผู้หญิงป่วยหนักเข้าทำการรักษาตัวที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และในวันที่ 12 สิงหาคม 2562 เด็กได้เสียชีวิต โดยผู้ต้องหาห้ามไม่ให้นางสาวเอมอัชนาเข้ามาเยี่ยมดูอาการไข้ และไม่ให้ไปร่วมงานศพ โดยอ้างว่าสามารถดูแลได้ และไม่อยากเห็นหน้านางสาวเอมอัชนา เนื่องจากมีหน้าตาคล้ายกับเด็ก หากเห็นแล้วจะมีความคิดถึง นางสาวเอมอัชนาได้หลงเชื่อ จึงไม่ได้ไปเยี่ยมไข้ และไม่ได้ไปร่วมงานศพแต่อย่างใด
ใช้ภาวะเจ็บป่วยทุกข์ทรมานของเด็ก "หลอกลวงขายสินค้า"
จากการสืบสวนพบว่า ผู้ต้องหาได้รับอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงจริง และอ้างว่ามีบุตรชายอีก 1 คน อายุ 2 ขวบเศษ ไม่ปรากฏชื่อของบิดา และมีพฤติกรรมฉ้อโกงหลอกลวงขายสินค้าเครื่องมือแพทย์ กระทำความผิดและมีหมายจับกุมในหลายท้องที่ และได้พบข้อความใน Facebook ส่วนตัวของผู้ต้องหาปรากฏข้อความขอรับบริจาคเงิน หรือขายสินค้า โดยใช้ภาวะอาการเจ็บป่วยทุกข์ทรมานของเด็กหญิงและเด็กชาย เป็นเครื่องมือในการโฆษณาจนมีผู้หลงเชื่อโอนเงินเข้ามาในบัญชีธนาคารของนางสาวเอมอัชนาเป็นจำนวนมาก โดยผู้ต้องหาเป็นผู้ถือบัตรเอทีเอ็มและสมุดบัญชีธนาคาร เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ามีเงินหมุนเวียนในบัญชีธนาคารดังกล่าวจำนวนถึง 20 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลาเพียง 2 ปี โดยเงินดังกล่าวผู้ต้องหาเป็นผู้นำไปใช้ประโยชน์ทั้งหมด
จากการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต แพทย์ที่เป็นผู้ทำการรักษาอาการเจ็บป่วยของเด็กทั้งสอง ปรากฏข้อมูลว่า เด็กชายวัย 2 ขวบเข้ามาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 และเด็กหญิงก็ไม่ได้เจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรค “โรนินโนม่าห์” ตามที่ผู้ต้องหาแสดงข้อความอันเป็นเท็จในการโฆษณาขายสินค้า และรับบริจาคแต่อย่างใด อีกทั้งอาการเจ็บป่วยทั้งของเด็กทั้งสองไม่ได้เกิดจากโรคที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เป็นอาการของผู้ที่ได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายด้วยการกินเข้าไป
ตรวจชิ้นเนื้อ พบสารคล้ายน้ำยาล้างห้องน้ำ
จากการตรวจสอบชิ้นเนื้อและตรวจสอบร่างกายของเด็กอย่างละเอียดแล้วยังพบว่า ทั้งสองได้รับสารพิษประเภท “สารกัดกร่อน” ซึ่งเป็นกรดหรือด่างเข้าสู่ร่างกายซึ่งคล้ายคลึงกับผู้ป่วยที่ดื่มสารพิษประเภทน้ำยาล้างห้องน้ำ ไฮเตอร์ เพื่อฆ่าตัวตาย จากการเฝ้าดูอาการของแพทย์และพยาบาลผู้ทำการรักษาพบว่า เมื่อนางสาวนิษฐามาเยี่ยมไข้ได้นำอาหารมาให้เด็กทั้งสองจะมีอาการทรุดหนัก ปากบวม มีเลือดออกที่ปาก จมูก และมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นมากมาย โดยทุกครั้งเมื่อเด็กมีอาการเจ็บปวดทุกข์ทรมาน นางสาวนิษฐาจะถ่ายรูป ถ่ายทอดสดเพื่อนำไปโฆษณาแสวงหาประโยชน์เรียกรับเงินบริจาคแก่ผู้มีจิตเมตตาสงสารทุกครั้ง
คณะแพทย์และพยาบาลจึงได้มีมาตรการควบคุมไม่ให้นางสาวนิษฐาเข้าเยี่ยม และไม่ให้นำอาหารมาให้เด็กกินอีก ปรากฏว่าอาการกลับดีขึ้นตามลำดับ ผลจากการกระทำของนางสาวนิษฐาคือ เด็กผู้หญิงได้ถึงแก่ความตาย และน้องผู้ชายได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส บาดเจ็บสาหัส หลอดลมและหลอดอาหารเสียหาย มีอาการพิการ และได้รับความทุกข์ทรมานจากการกลืนอาหารไปตลอดชีวิต
"แพทย์ผู้ทำการรักษา ฝ่ายกฎหมาย และนักสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ประมวลเหตุการณ์ทั้งหมดแล้วจึงเชื่อว่านางสาวนิษฐาเป็นผู้ให้สารพิษประเภทสารกัดกร่อนเข้าสู่ร่างกายด้วยการกินเพื่อให้เด็กทั้งสองมีอาการเจ็บป่วยทุกขเวทนาน่าสงสาร เพื่อที่จะลงข้อความผ่านอินเทอร์เน็ตต่อสาธารณชนขายสินค้าและรับบริจาคแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ผู้ต้องหาเอง การกระทำของผู้ต้องหาที่กระทำต่อเด็กผู้หญิง เป็นความผิดฐานรับไว้ซึ่งเด็ก โดยมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ฉ้อโกงในการแสดงตนเป็นคนอื่น ฉ้อโกงประชาชน และการกระทำต่อเด็กผู้ชาย เป็นความผิดฐานรับไว้ซึ่งเด็กโดยมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น และฉ้อโกงประชาชน"
...
ต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 พนักงานสอบสวนกองปราบปรามได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหาในข้อหาดังกล่าว ต่อมาศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับที่ 675/2563 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 เวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามได้จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับข้างต้นเพื่อนำส่งดำเนินคดี
นอกจากนี้ คณะแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับผู้ต้องหาในความผิดทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มาตรา 40 ที่ สภ.คลองหลวง ตามคดีอาญาที่ 127/2563 จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ทั้งนี้ การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ครบกำหนดการควบคุมตัว 48 ชั่วโมง ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 พนักงานสอบสวนยังต้องสอบปากคำพยานอีก 10 ปาก รอผลตรวจของกลางและผลตรวจสอบการพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องหา ด้วยความจำเป็นจึงขอฝากขังผู้ต้องหาไว้ มีกำหนด 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 20-31 พฤษภาคมนี้
หากมีการยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนขอคัดค้านการประกัน เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง หากให้ประกัน ผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี ต่อมาศาลได้ออกหมายขังส่งไปเรือนจำ
พนักงานสอบสวน ขอนำ "แม่ปุ๊ก" ส่งตรวจสุขภาพจิต
นอกจากการตรวจสอบผู้ต้องหาและพยานซึ่งเป็นบิดาของผู้ต้องหาได้ให้การว่า ผู้ต้องหาได้เคยเข้ารับการรักษาด้วยโรคสุขภาพจิต ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ผลการตรวจสอบพบว่า มีความผิดปกติกับการจัดการความเครียด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 แต่ในขณะทำการสอบสวน ผู้ต้องหารับทราบเข้าใจคำถามของพนักงานสอบสวน และสามารถตอบคำถามของพนักงานสอบสวนได้ และมีสติสัมปชัญญะดี จึงขออนุญาตให้นำส่งผู้ต้องหาไปตรวจสุขภาพจิตอย่างละเอียด เพื่อประกอบสำนวนการสอบสวน.