โฆษกศาลยุติธรรม เผยศาลล้มละลายพร้อมรับคดีฟื้นฟูการบินไทย ชี้ ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดจำนวนผู้ทำเเผนไว้หลักควรเป็นคนเข้าใจธุรกิจการบินไทย เเผนจะผ่านขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้ส่วนใหญ่รวมทั้งศาลเห็นชอบ ส่วนฟื้นฟูสำเร็จหรือไม่ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง
เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2563 นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรมได้ให้ความเห็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับ การพิจารณาคดีฟื้นฟูกิจการของการบินไทยในประเด็นผู้ที่จะเข้ามาทำแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย หรือที่เรียกว่าผู้ทำเเผนนั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541 ที่บัญญัติเรื่องการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เพิ่มเติมใน พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ไม่ได้กำหนดจำนวนผู้ทำแผนไว้ โดยเป็นบุคคล หรือนิติบุคคล ก็ได้ ผู้ทำเเผนฟื้นฟู จึงอาจเป็นบริษัทลูกหนี้ หรือตัว กก. ลูกหนี้ หรือบุคคลภายนอกก็ได้
การเสนอผู้ทำแผนฯ นั้น ผู้ร้องขอฟื้นฟู หรือเจ้าหนี้ผู้คัดค้าน ก็สามารถเสนอผู้ทำเเผนได้ เมื่อศาลพิจารณาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเเล้ว หากมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ปกติศาลจะมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน ไปพร้อมกับคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แต่ถ้าศาลเห็นว่ายังไม่สมควรตั้งบุคคลที่เสนอเป็นผู้ทำเเผน ก็สามารถมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการไป แล้วให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผน หลังจากนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องรายงาน ผู้ที่ได้รับการเลือก ให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งในขั้นสุดท้าย
ลักษณะและคุณสมบัติผู้ทำแผนเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลต้องพิจารณา เเต่โดยหลักการควรเป็นคนที่เข้าใจธุรกิจของลูกหนี้ มีความสามารถ และมีความสุจริต
ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาเรื่องการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่มีหนี้จำนวนมาก และเจ้าหนี้หลายราย ย่อมขึ้นกับข้อเท็จจริงแต่ละกรณี เเต่เงื่อนไขสำคัญคือ เจ้าหนี้ที่มีจำนวนหนี้ส่วนใหญ่ ตามสัดส่วนและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ต้องเห็นชอบ เพื่อให้แผนฟื้นฟู ผ่านมติที่ประชุมเจ้าหนี้
...
โดยการเจรจาต่อรองอาจขึ้นกับเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้รายใหญ่, การปรับโครงสร้างองค์กรของลูกหนี้ รวมทั้งผู้ที่จะใส่เงินลงทุนใหม่เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งกรณีนี้อาจจะมาจากภาครัฐก็ได้ เพื่อให้บรรดาเจ้าหนี้เห็นว่า การฟื้นฟูกิจการเป็นประโยชน์มากกว่า ให้กิจการของลูกหนี้ล้มละลาย ต้องถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด
เพราะตามกฎหมาย แผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลจะเห็นชอบได้นั้น บรรดาเจ้าหนี้ต้องได้รับชำระหนี้โดยรวมมีมูลค่ามากกว่า การที่ลูกหนี้ต้องล้มละลาย แม้ว่าเจ้าหนี้อาจต้องลดหนี้ลงบางส่วน และทยอยได้รับเงินจากการผ่อนเวลาชำระหนี้
ส่วนเจ้าหนี้ที่มีจำนวนหนี้ข้างน้อย แม้ไม่ยินยอมกับเงื่อนไขในแผนฟื้นฟูกิจการ กฎหมายก็บังคับให้ต้องยอมรับ หากเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ มีมติยอมรับแผน ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด และศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
นายสุริยัณห์ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงความพร้อมของศาลล้มละลายในการรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทย ว่า ศาลล้มละลายกลางมีความพร้อมในการดำเนินการอย่างมาก เพราะศาลล้มละลายก่อตั้งขึ้น เพื่อแก้ปัญหาลูกหนี้ที่ประสบปัญหาทางการเงิน และคดีที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน บริษัทที่มีหนี้จำนวนมาก นับหมื่นหรือแสนล้านบาท รวมทั้งคดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลล้มละลายกลางโดยตลอด ในช่วงหลายปีมานี้ ก็มีคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน อยู่ในการพิจารณาคดีของศาลล้มละลายกลางหลายคดี
ส่วนประเด็นเรื่องการฟื้นฟูกิจการสำเร็จหรือไม่ ขึ้นกับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น สภาพกิจการนั้นเอง, การสนับสนุนของเจ้าหนี้ และผู้ที่ใส่เงินลงทุนใหม่, การแข่งขันของอุตสาหกรรม ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจในภาพรวม
"ปัญหาที่เคยเกิดในทางคดีฟื้นฟูฯ มักจะมีที่มาจากความขัดแย้งระหว่าง ลูกหนี้, เจ้าหนี้ และผู้มีส่วนได้เสีย ที่ใช้กระบวนการทางกฎหมาย โดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของการฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ ดังนั้น การเจรจาเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ และการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อให้ได้ข้อยุติ นอกกระบวนการศาล ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเลยทีเดียว" นายสุริยัณห์กล่าว