ศาลฎีกาพิพากษา 6 ปี 24 เดือน สรยุทธ คดีสนับสนุนให้พนักงานในองค์กรของรัฐกระทำความผิดเมื่อไม่รายงานโฆษณาเกินเวลาให้ อสมท ทราบทำให้ อสมท ได้รับเงินค่าโฆษณาล่าช้าจำนวน 138 ล้านบาท 

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 ม.ค.63 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นางพิชชาภา หรือนางชนาภา บุญโต อดีตพนักงานจัดทำคิวโฆษณาของ บมจ.อสมท จำเลยที่ 1, บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2, นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา กก.ผจก.บจก.ไร่ส้ม และอดีตพิธีกรรายการเล่าข่าวชื่อดัง จำเลยที่ 3 และ น.ส.มณฑา ธีระเดช พนักงาน บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 4 ในความผิดฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่, เป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์กร, เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ม.6, 8, 11

กรณีเมื่อวันที่ 4 ก.พ.48-28 เม.ย.49 ต่อเนื่องกัน นางพิชชาภา ซึ่งเป็นพนักงานจัดทำคิวโฆษณาของ บมจ.อสมท ได้จัดทำคิวโฆษณารวม ในรายการ “คุยคุ้ยข่าว” โดยใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต ไม่รายงานการโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บค่าโฆษณาเกินเวลา จาก บจก.ไร่ส้มจำนวน 17 ครั้ง ทำให้ บมจ.อสมท เสียหายกว่า 138 ล้านบาท โดยมีบริษัทไร่ส้ม, นายสรยุทธ และน.ส.มณฑา ที่ให้การสนับสนุนในการกระทำความผิด โดยจำเลยทั้งหมด ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

คดีนี้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุก นางพิชชาภา อดีตพนักงาน บมจ.อสมท จำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมรับทรัพย์สินฯ เป็นเวลา 20 ปี, ปรับ บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 จำนวน 80,000 บาท, ส่วนนายสรยุทธ และน.ส.มณฑา จำเลยที่ 3-4 ให้จำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา จากนั้น บจก.ไร่ส้ม, นายสรยุทธ, น.ส.มณฑา จำเลยที่ 2-4 ได้ยื่นฎีกาโดยมีผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นเซ็นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามขั้นตอนของกฎหมาย

...

เนื่องจากคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่าง หรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำคุกนั้นไม่เกิน 5 ปี หรือคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับแล้วศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดดังกล่าว หากจะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องมีผู้พิพากษาในสำนวน หรือที่ทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ หรืออัยการสูงสุดเซ็นรับรองว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย

โดยจำเลยทั้งหมดได้รับการปล่อยชั่วคราว ตีราคาประกันคนละ 5 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

ล่าสุด ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องรายงานคิวโฆษณาส่วนเกินเวลาให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แต่ไม่รายงาน โดยจากทางไต่สวนรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้ใช้จำเลยที่ 1 หาช่องทางช่วยเหลือตามคำขอของจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 1 ใช้น้ำยาลบคำผิด แม้จะฟังไม่ได้ว่าเช็ค 6 ฉบับ จ่ายเป็นค่าตอบแทน แต่ฟังได้ว่ามีการจ่ายเช็คในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งหากไม่ได้ประโยชน์ในการดำเนินการ จำเลยที่ 1 คงไม่หาช่องทางช่วยเหลือ แม้จะมีการจ่ายเงินค่าโฆณาส่วนเกิน ก็จ่ายหลัง บมจ. อสมท. ผู้เสียหายตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว และล่วงเลยจากเวลาที่เกิดเหตุ 2 ปี

การกระทำของจำเลยทั้ง 4 เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ รวม 6 กระทง โดยพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1-4 เป็นเจ้าหน้าที่ และผู้สื่อข่าวอาวุโส กลับทำผิดโดยไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง โดยจำเลยที่ 3 เป็นสื่อมวลชนอาวุโส ต้องปฏิบัติตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สื่อมวลชนอื่น พฤติการณ์ไม่เพียงให้รอการลงโทษ หรือลงโทษสถานเบา ตามที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาได้

พิพากษาแก้ว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิด 6 กระทง ลงโทษจำคุกนางพิชชาภาจำเลยที่ 1 กระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 18 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 12 ปี , ลงโทษปรับ บ.ไร่ส้มจำเลยที่ 2 กระทงละ 18,000 บาท รวมปรับ 108,000 บาท ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงปรับ 72,000 บาท และจำคุกนายสรยุทธและน.ส.มณฑาจำเลยที่ 3 และ4 จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 12 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 6 ปี 24 เดือน.