ตำรวจ ยึดคำพิพากษาฎีกา เตรียมแจ้งข้อหา "ฆ่าผู้อื่น" ซึ่งมีโทษสูงสุดกรณีการเสียชีวิตของพริตตี้ "ลัลลาเบล" ชี้เข้าข่าย"ฆ่าโดยงดเว้น" กระทำโดยเล็งเห็นผล การไม่ให้ความช่วยเหลือ ทำให้มีอันตรายถึงแก่ความตายได้
หลังจากที่ พล.ต.ต.สัมฤทธิ์ ตงเต๊า ผบก.น.8 เรียกประชุมชุดคลี่คลายคดีการตายของ น.ส.ธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ หรือ “ลัลลาเบล” อายุ 25 ปี พริตตี้ชื่อดัง เสร็จสิ้นไปเมื่อช่วงสายที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวมีรายงานว่า ขณะนี้ชุดคลี่คลายคดี โดยเฉพาะในส่วนของพนักงานสอบสวน ได้พยายามรวบรวมคำพิพากษาฎีกา คดีสำคัญๆ ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย และขอคำปรึกษากับครูอาจารย์ด้านกฎหมาย แล้วพอสรุปได้ว่า แนวทางการแจ้งข้อกล่าวหาและออกหมายจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยคดีนี้ ในเบื้องต้นควรจะเป็นข้อหา "ฆ่าผู้อื่น" ซึ่งเป็นข้อหาที่มีอัตราโทษสูงสุดคือประหารชีวิตเอาไว้ก่อน
โดยพิจารณาตามคำพิพากษาฎีกาที่ 16412/2555 คดีที่จำเลยได้ขี่รถ จยย.พาสาวคนรักซ้อนท้ายไปเกิดอุบัติเหตุ โดยสาวคนรักตกจากรถได้รับอันตรายหมดสติ ขณะเกิดเหตุแทนที่จำเลยจะช่วยเหลือดันเผ่นหนีไป ทิ้งสาวคนรักสลบอยู่ถึงแปดวัน ไม่แจ้งให้มารดาของแฟนสาวทราบ การกระทำเช่นนี้ถือเป็นหน้าที่อันเกิดจากการกระทำครั้งก่อนของจำเลยเอง ที่พาสาวคนรักมาเที่ยวแล้วเกิดอุบัติเหตุ ถือว่า “เกิดหน้าที่ต้องช่วย ต้องดูแลสาวคนรัก ถ้าไม่ช่วยถือเป็นการงดเว้น” ซึ่งคดีนี้ศาลเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยเล็งเห็นผล เพราะการงดเว้นไม่ให้ความช่วยเหลือสาวคนรักอาจทำให้มีอันตรายถึงแก่ความตายได้ เมื่อสาวคนรักไม่ตายจำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และ มาตรา 59 วรรคท้าย
ขณะที่เฟซบุ๊ก ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนาวุฒิ วงศ์อนันต์ อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้โพสต์ความคิดเห็นเกี่ยวกับ “การฆ่าโดยงดเว้น” ไว้อย่างน่าสนใจโดยใจความส่วนหนึ่งให้ความรู้ว่า บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อกระทำโดยเจตนา เมื่อบุคคลนั้นมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้ผลนั้นเกิดแต่งดเว้นการที่จักป้องกันผลนั้นด้วย ตามมาตรา 59 วรรคท้าย หน้าที่ป้องกันไม่ให้ผลนั้นเกิดมีหลายกรณี เช่น 1.หน้าที่โดยผลของกฎหมาย เช่น บิดามารดาต้องเลี้ยงดูบุตร 2.หน้าที่ตามสัญญา เช่นการว่าจ้างบอดี้การ์ดส่วนตัวมาคุ้มครองเรา 3.หน้าที่อันเกิดจากการกระทำครั้งก่อนๆ ของตนเอง เฉกเช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 16412/2555 คดีที่ยกตัวอย่างข้างต้น และ 4.หน้าที่เกิดจากความสัมพันธ์พิเศษเฉพาะเรื่อง เช่น ชายหญิงที่อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนกันถูกต้องตามกฎหมาย ก็มีหน้าที่ต้องดูแลกัน
...
ดังนั้น การทำงานของพนักงานสอบสวนในคดีขณะนี้จึงเห็นพ้องกับ คำพิพากษาฎีกาที่ 16412/2555 และความคิดเห็นของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนาวุฒิ ในส่วนของเจตนาของผู้ต้องสงสัยคดี ลัลลาเบล คือ กรณีเจอสาวในผับหรือสถานที่ใด และเกิดความชอบพอกันพากันไปต่อที่สถานที่อื่นใดก็ตาม จนเกิดเหตุการณ์ขึ้นดังกล่าว การเสียชีวิตของลัลลาเบลนี้ น่าจะเข้าข่ายหน้าที่การกระทำครั้งก่อนๆ ของผู้ต้องสงสัย ที่ผู้ต้องสงสัยได้อุ้มร่างของพริตตี้ผู้ตาย ออกจากบ้านที่มีการจัดงานปาร์ตี้ มีการพาขึ้นรถยนต์ส่วนตัว ลากขึ้นลิฟต์เข้าไปในห้องพักที่คอนโดมิเนียมหลายชั่วโมงก่อนจะแบกร่างลงลิฟต์มาไว้บนโซฟาที่ล็อบบี้
"เมื่อผู้ต้องสงสัยพามาควรมีหน้าที่ต้องดูแลถ้ามีอะไรเกิดขึ้น ต้องให้ความช่วยเหลือเพื่อป้องกันไม่ให้ผลนั้นเกิด แต่กรณีนี้ผู้ต้องสงสัยงดเว้นหน้าที่ของตนเองจนเกิดการเสียชีวิต จึงเห็นควรตั้งข้อหา ฆ่าผู้อื่น ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดเอาไว้ก่อน ก่อนที่จะตรวจสอบพยานหลักฐานชิ้นอื่นๆ เพื่อแจ้งข้อหาอื่นๆ เพิ่มเติมได้ในภายหลัง"