ศาลตัดสินจำคุก “ฟิล์ม รัฐภูมิ” 1 ปีปรับ 1 แสน โทษจำรอลงอาญา 2 ปี รายงานตัว 1 ปี และบำเพ็ญประโยชน์ 24 ชั่วโมง หลังร่วมกับพวกเปิดบริษัทบัตรเติมเงินจ่ายค่าสินค้าผ่านแอปฯ “เพย์ออล” โดยไม่ได้รับอนุญาต
วันที่ 6 ธ.ค. เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ หรือ “ฟิล์ม” พระเอกและนักแสดงชื่อดัง, นายศราวุฒิ นนทะภา, นายธเนศ จัตวาพรพานิช อายุ 43 ปี และ นายภูมิพัฒน์ ประเสริฐวิทย์ จำเลยในคดีร่วมกันประกอบธุรกิจ บัตรชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้รับอนุญาต ได้เดินทางมาเพื่อฟังคำพิพากษาคดีดำ อ.3090/61 ที่พนักงานอัยการคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด โดย นายศราวุฒิ นนทะภา กรรมการผู้มีอำนาจ นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ หรือฟิล์ม รัฐภูมิ อายุ 33 ปี พระเอกและนักแสดงชื่อดัง นายธเนศ จัตวาพรพานิช อายุ 43 ปี และนายภูมิพัฒน์ ประเสริฐวิทย์ อายุ 38 ปี ในฐานะกรรมการบริษัท ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ ในความผิดฐาน “ร่วมกันประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันประกอบธุรกิจ บัตรชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้รับอนุญาต” ที่ห้องพิจารณา 914 คดีนี้ พวกจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจึงมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะ ประวัติครอบครัว การทำงานการศึกษา ของพวกจำเลย และอื่น ๆ เพื่อนำมาพิจารณาประกอบคำพิพากษา และอนุญาตให้พวกจำเลยมีประกันตัวไปคนละ 2 แสนบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
โดยคดีนี้ อัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างเดือนตุลาคม 2559 ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ต่อเนื่องกันจำเลยทั้ง 4 คน บังอาจร่วมกันประกอบกิจการให้บริการแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือภายใต้ชื่อ “เพย์ออล” (Payall) และสมัครสมาชิกเพื่อสร้างบัญชีของผู้ใช้บริการ ซึ่งระบบจะตั้งบริษัทสมาชิก รหัสผ่านในการใช้งาน และเติมเงินผ่านเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยตามช่องทาง โดยระบบจะบันทึกจำนวนเงินที่เติมตามมูลค่าของผู้ใช้บริการแต่ละราย รวมทั้งนำเงินที่ชำระไว้ล่วงหน้าไว้ชำระค่าสินค้า และค่าบริการต่างๆ แทนเงินสด การกระทำของพวกจำเลยมีลักษณะร่วมกันประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการโอนสิทธิการถือครองเงิน และการโอนสิทธิการถอนเงิน หรือหักเงินผ่านบัญชีหรือแอปพลิเคชันของผู้ใช้บริการโดยไม่จำกัด และไม่อยู่ภายใต้ระบบการจัดจำหน่าย ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุม ดูแลธุรกิจการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551 และบัญชีท้ายตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุม ดูแลธุรกิจการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยจำเลยทั้งหมดให้การรับสารภาพไม่ต่อสู้คดี และวันนี้เดินทางมาฟังคำพิพากษาตามนัดหมาย
...
ศาลพิเคราะห์ จำเลยทั้งหมดมีความจริงที่ประกอบกิจการบริษัทโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 เสียค่าปรับเป็นเงิน 2 แสน ส่วนจำเลยที่ 2 ถึง 4 ให้จำคุก 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท แต่จำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 6 เดือน ปรับ 5 หมื่นบาท แต่จำเลยไม่เคยกระทำความผิด และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญา 2 ปี และต้องมารายงานตัว 1 ปี และบำเพ็ญประโยชน์ 24 ชั่วโมง.