"ผมเชื่อมั่นว่าตำรวจส่วนใหญ่เป็นตำรวจที่ดี และก็ยอมรับว่าที่ผ่านมา มีตำรวจบางส่วนทำให้ภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย หากจะถามว่า ตำรวจต้องปรับการทำงานอย่างไรให้สังคมยอมรับ ผมมองว่าไม่ต้องไปปรับแก้อะไร เพราะหน้าที่ของตำรวจมันตรงตามตัวอักษรอยู่แล้วว่า “มีหน้าที่รักษาความสงบสุขของสังคม จับกุมและปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย” 

เพราะการก้าวเข้าสู่รั้วโรงเรียนนายร้อยสำหรับเขามันเกิดขึ้นจาก "พรหมลิขิต" ....... นักเรียนชั้นมัธยมปลายโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่นที่ 115 ตั้งใจสอบเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนเปลี่ยนความคิดสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร เลือกเรียนเหล่าตำรวจ เพียงเพราะธุรกิจครอบครัวเคยถูกฉ้อโกง ..."ไทยรัฐออนไลน์" โดย Police Community จะมาแนะนำให้รู้จักนายตำรวจอัธยาศัยดี อดีตสารวัตรประชาสัมพันธ์กองบัญชาการตำรวจนครบาล พ.ต.ท.เนติ วงษ์กุหลาบ ตำแหน่งรองผู้กำกับการสืบสวน สน.อุดมสุข หรือ รองโฟ๊ก

"รองโฟ๊ก" นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 39 นักเรียนนายร้อยรุ่น 55 เป็นที่รู้กันดีในแวดวงเพื่อนๆ ด้านความคิดสร้างสรรค์ คิดทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม ผุดโครงการดีๆ เพื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชน “ส่งรัก ปันสุข” ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนร่วมส่งโปสการ์ดให้กำลังใจแด่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และนำเงินที่ได้จากการขายโปสการ์ดทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย ไปมอบให้ครอบครัวเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทุพพลภาพและเสียชีวิต เพื่อตอบแทนในความเสียสละของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, โครงการ “วันนี้วันพระ ไม่จับแต่ขอเตือน”, โครงการ “นกหวีดธรรมะ” และโครงการ “ใบสั่งแห่งความรัก”

...

ธุรกิจครอบครัวถูกโกง แต่กฎหมายทำอะไรคนโกงไม่ได้

ผมคิดว่า การเข้าสู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจของผมเหมือนเป็นพรหมลิขิต ความตั้งใจแรกผมอยากเรียน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจครอบครัว แต่คุณแม่อยากให้ผมรับราชการ เพราะมันมีความมั่นคงมากกว่า  ประกอบกับพวกเราเลยถูกฉ้อโกง แล้วกฎหมายก็ทำอะไรคนโกงเราไม่ได้เลย ความคิดของผมเลยเปลี่ยน การเข้ามาเป็นตำรวจของผม นอกจากตั้งใจจะให้ความยุติธรรมประชาชนตาดำๆ แล้ว ผมยังมุ่งหวังสร้างสิ่งดีๆ ให้กับเพื่อนตำรวจ และสังคมรอบข้าง  ซึ่งก็สมความตั้งใจ เพราะทุกวันนี้ผมไม่เคยลืมปณิธานของตัวเอง และจะทำต่อไปเรื่อยๆ

หลังจากเรียนจบ ผมลงตำแหน่งพนักงานสอบสวน (สบ.1) สน.ภาษีเจริญ จากนั้นก็ย้ายมาอยู่ บก.น.1 เป็นรองสารวัตรป้องกันปราบปราม สน.ดินแดง ก่อนโยกไปเป็น รองสารวัตรป้องกันปราบปราม สน.ห้วยขวาง ติดยศ พ.ต.ท. เป็นสารวัตรฝ่ายอำนวยการ (ประชาสัมพันธ์) กองบัญชาการตำรวจนครบาล, สารวัตรจราจร สน.ลาดกระบัง, สารวัตรสืบสวน กองกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 4 ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชา ทำงานในทีมงานโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทั่งปัจจุบันเป็นรองผู้กำกับการสืบสวน สน.อุดมสุข ครับ

นักสืบยุคใหม่ต้องเข้าถึงเทคโนโลยี ไม่ละเลยข้อมูลท้องถิ่น

งานสืบสวนถือเป็นงานที่ท้าทายของตำรวจ เพราะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานเพื่อทราบรายละเอียดของคดี โดยงานสืบสวนยุคปัจจุบันนั้น นักสืบจำเป็นที่ต้องเข้าใจเรื่องของเทคโนโลยี รวมถึงหลักนิติวิทยาศาสตร์ โดยไม่ละเลยต่อข้อมูลท้องถิ่นและเทคนิคที่นักสืบรุ่นเก่าได้ถ่ายทอดมา โดยส่วนตัวมักจะดูซีรีส์เรื่อง CSI เพราะในแต่ละตอนของซีรีส์ดังกล่าวจะให้แง่คิดของการสืบสวนแต่ละคดี รวมถึงการนำหลักนิติวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยมาสนับสนุนในการสืบสวน

...

ตำรวจยุคเก่า -ใหม่ ต่างกันที่เทคโนโลยี ยึดหลักทำเพื่อประชาชนเหมือนกัน

สมัยที่ผมจบมาใหม่ๆ ถ้าจะให้เห็นภาพว่าแตกต่างกับสมัยนี้อย่างไร ขอยกตัวอย่างย้อนไปสมัยที่ผมจบจาก ร.ร.นรต. แล้วบรรจุทำงานครั้งแรกเป็น พงส.สน.ภาษีเจริญ สมัยนั้นผมยังใช้กล้องถ่ายรูปที่ต้องใช้ม้วนฟิล์มในการถ่ายรูปที่เกิดเหตุ แล้วนำฟิล์มไปล้างที่ร้านถ่ายรูป แต่สมัยนี้พกแค่มือถือก็สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง สำนวนการสอบสวนต้องใช้พิมพ์ดีดในการสอบปากคำ ดังนั้นความแตกต่างเรื่องของเทคโนโลยีที่สนับสนุนในการทำงานจะเห็นได้ชัด

"ไม่ว่าตำรวจยุคสมัยไหน ก็ขอให้ยึดหลักการทำงานตามอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของตนให้ดี เพราะอย่าลืมว่าเงินเดือนที่ตำรวจได้รับทุกๆ เดือนนั้นมันเป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชน เพื่อหวังให้มีตำรวจที่คอยปกป้องคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อความสงบสุขของสังคม"

สัมผัสนักเรียนนายร้อยรุ่นหลังลงไป 10 ปี กล้าแสดงออก กำหนดทิศทางงานได้

"ตำรวจยุคนี้ถือว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะปีงบประมาณ 2560 นรต.รุ่น 64 ลงไป ยังเป็นรองสารวัตร ที่ผมได้เคยสัมผัสกับน้องๆ โดยตรง ก็ต้องยอมรับว่าแนวความคิดของเด็กรุ่นนี้กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นในการทำงาน ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีของผู้บริหารงานด้านนั้นๆ เพราะจะได้รับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย เพื่อนำความคิดเห็นดังกล่าวมาวิเคราะห์และจะได้กำหนดทิศทางในการทำงาน"

...

สำคัญที่สุดคือ อยากจะฝากให้น้องๆ ทุกคนให้มีความรับผิดชอบในตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง และหากมีโอกาสพยายามทำงานตำรวจให้ครบทุกสายงาน เพราะแต่ละสายงานหลักการรายละเอียดไม่เหมือนกัน เพราะอนาคตน้องๆ ต้องเป็นผู้บริหารหน่วย จะได้นำประสบการณ์ที่ผ่านมา นำมาบริหารหน่วยได้อย่างมีหลักการ

ตำรวจควรพีอาร์ผลงานตัวเอง จะได้บันทึกไว้ว่าทำอะไรเพื่อประชาชนบ้าง

...

การพีอาร์ผลงานตัวเองผ่านสื่อมวลชน มีความจำเป็น เพราะเมื่อเราได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนแล้วหากเราไม่พีอาร์ผลงาน พี่น้องประชาชนจะไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำอะไรในแต่ละวัน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้าใจสื่อมวลชนด้วยว่า สื่อมวลชนต้องเลือกผลงานที่คิดว่าเป็นที่น่าสนใจเพื่อมานำเสนอ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเลือกผลงานตัวเองที่จะให้สื่อมวลชนนำเสนอด้วย ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องที่ทำต้องให้สื่อมวลชนพีอาร์ทุกๆ เรื่อง

"โดยบางเรื่องเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจใช้พื้นที่ส่วนตัวของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม โปรแกรมไลน์ รวมถึงยูทูบ ในการนำเสนอผลงานของตนเองก็ได้ อย่างน้องก็ได้บันทึกในพื้นที่ส่วนตัวว่าได้ทำอะไรเพื่อประโยชน์พี่น้องประชาชนบ้าง"

"ตำรวจ" มีหน้าที่ชัดเจน ไม่ต้องปรับแก้ เพียงปลูกฝังให้มีจิตสาธารณะ

ผมยังเชื่อมั่นว่าตำรวจส่วนใหญ่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นตำรวจที่ดี และก็ยอมรับว่าที่ผ่านมาก็มีตำรวจบางส่วนที่ทำให้ภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย แล้วตำรวจจะต้องปรับการทำงานด้านไหนบ้างเพื่อให้สังคมยอมรับตำรวจมากขึ้น ผมมองว่าการทำงานของตำรวจไม่ต้องไปปรับแก้อะไร เพราะหน้าที่ของตำรวจมันตรงตามตัวอักษรอยู่แล้วว่า “มีหน้าที่รักษาความสงบสุขของสังคม จับกุมและปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย” เป็นหลัก จะเห็นได้ว่าจะมีสักกี่อาชีพบนโลกใบนี้ที่หน้าที่ของอาชีพนั้นบังคับให้ทำความดี หนึ่งในนั้นก็มีอาชีพตำรวจ

ถ้าสิ่งที่อยากจะให้ปรับเพื่อให้สังคมยอมรับตำรวจมากขึ้น ในความคิดของผมอยากให้ปรับระบบการสร้างบุคลากรทุกระดับ ไม่ว่าชั้นสัญญาบัตร ชั้นประทวน ให้ปลูกฝังความคิดของผู้ที่อยากจะมาทำหน้าที่อาชีพตำรวจ ให้มีจิตสาธารณะ รวมไปถึงทักษะความรู้ในอาชีพตำรวจทุกด้านให้พร้อมออกมาทำหน้าที่ตามความหมายของคำว่า “ตำรวจ” บนพื้นฐานของงบประมาณที่เพียงพอต่อการทำงาน และงบประมาณในการพัฒนาขีดความสามารถแต่ละสายงานอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ เป็นลำดับแรก  เพราะหากตำรวจทุกๆ ชั้นยศทำหน้าที่ของตนตามความหมายของคำว่า “ตำรวจ” บนพื้นฐานความคิดที่ดี เชื่อว่าภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในสายตาของประชาชนจะดีขึ้น

อุปกรณ์ขั้นพื้นฐานของตำรวจคือสิ่งจำเป็น

มีหลายเรื่องที่ผมคิด แต่ในที่นี้ขอยกเรื่องเดียวคือเรื่องงบประมาณที่สนับสนุนในการทำงาน เช่น อุปกรณ์พื้นฐานที่มีความจำเป็นในการปฏิบัติงาน โดยส่วนใหญ่ตำรวจเอาเงินส่วนตัวไปซื้อเพื่อให้มีอุปกรณ์ให้ครบ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุสื่อสาร กุญแจมือ อาวุธปืน เครื่องคอมพิวเตอร์ พริ้นท์เตอร์ เป็นต้น รวมไปถึงงบประมาณที่เพิ่มศักยภาพการทำงานของตำรวจในแต่ละสายงาน เพื่อให้ก้าวหน้ากว่าอาชญากร เพราะท้ายสุดไม่ใช่เพื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่จะเป็นพี่น้องประชาชนที่จะได้รับผลประโยชน์ดังกล่าว เพราะจะได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีขีดความสามารถและพร้อมปฏิบัติงานเพื่อความผาสุกของพี่น้องประชาชน

ตำรวจยุค 4.0 ต้องก้าวทันโจร ก้าวทันโลกเทคโนโลยี เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง

ผมมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของหลายหน่วยงานตำรวจที่พยายามทำไอโอและแทรกซึมบุคลากรเข้าสู่โลกโซเชียลเพื่อการเข้าถึงประชาชน ผมคิดว่าต่อไปตำรวจจะสามารถมีสื่อขนาดย่อมๆ เป็นของตัวเอง โปรโมตตัวเองได้ดีไม่แพ้สื่อกระแสหลักสำนักต่างๆ เพราะทุกวันนี้โลกโซเชียลเข้าถึงทุกซอกทุกมุม ขอแค่หน่วยงานเรารู้จักที่จะนำเสนอผลงานและทำไอโอให้ถูกหลัก จะตำรวจยุคเก่าหรือยุคใหม่ ผมว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราต้องออกมาทำพีอาร์หน่วยงานตามแบบฉบับของตัวเอง ถือเป็นการช่วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขับเคลื่อนผลงานออกสู่สายตาประชาชน แบบไม่สร้างภาพ ทำงานจริง เพื่อประชาชนจริงๆ และออกสู่สายตาประชาชนจริงๆ 

*** ทางผู้เขียนเองขอชูสองแขนสนับสนุนความคิดรองผู้กำกับการสืบสวน  สน.อุดมสุข ปฏิเสธไม่ได้เลยจริงๆ ว่า ทุกหน่วยงานต้องประชาสัมพันธ์ความเคลื่อนไหวของตัวเองโดยใช้โลกโซเชียลในทางที่เป็นประโยชน์ "ให้คุณ" ให้ความรู้กับประชาชนผู้รับข่าวสาร และสัมผัสแตะต้องกับตำรวจอย่างเราๆ ค่อนข้างใกล้ชิด  ถึงแม้บางครั้งหลายคนอาจมองว่า โลกโซเชียลเป็นดาบ 2 คม แต่ในฐานะที่เราเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีประสบการณ์ความรู้ความสามารถทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ มันไม่ยากเลยค่ะที่จะเลือกใช้คมดาบให้ถูกด้าน. 

Police Community