“โฆษกศาลยุติธรรม” แจงขั้นตอนฎีกาคดี “สรยุทธ” ระบุยื่นฎีกาข้อเท็จจริงได้ หากมีผู้พิพากษาที่พิจารณา หรือ อสส.รับรอง

เมื่อวันที่ 1 ก.ย.60 นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงขั้นตอนข้อกฎหมายในการยื่นฎีกาคดีที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนจำคุกนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อายุ 51 ปี อดีตพิธีกรรายการข่าวชื่อดัง และกก.ผจก.บจก.ไร่ส้ม กับพวกในความผิดฐานสนับสนุนพนักงานรัฐ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อกระทำการในตำเเหน่ง, เป็นพนักงานใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตเสียหายแก่องค์กร, ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 6 กระทง เเละเมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืน จึงเป็นคดีต้องห้ามฎีกา ตาม ป.วิอาญามาตรา 218 วรรคเเรกที่ระบุว่า ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งคดีนี้มีการลงโทษกระทงละ 3 ปี 4 เดือน เท่ากับลงโทษกระทงละไม่เกินห้าปี จึงเป็นคดีต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้านายสรยุทธจะยื่นฎีกาได้จะต้องทำอย่างไร นายสืบพงษ์ กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเเต่ในข้อกฎหมายตัวจำเลยยังสามารถฎีกาได้ไม่มีปัญหา เเละการจะยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น จะต้องดำเนินการตามมาตรา 221 ซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับคดีต้องห้ามฎีกาไว้ว่า ถ้าผู้พิพากษาคนใดที่เป็นผู้พิจารณาสำนวนหรือ ผู้พิพากษาที่ลงชื่อทำความเห็นแย้งในคดีนี้ไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอัน ควรสู่ศาลสูงสุดและมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกา หรือกรณีที่อัยการสูงสุด ลงชื่อรับรองฎีกาว่า มีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็ให้ สามารถฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้.

...