เกียร์อัตโนมัติทำให้การขับรถง่ายกว่าเดิม เกียร์ออโต้ได้เข้ามาแทนที่เกียร์ธรรดาที่เริ่มจะตกยุค ไม่ว่าจะเป็นรถอีโคคาร์ราคาประหยัด หรือรถสปอร์ตซุปเปอร์คาร์ค่าตัวสูงลิบ เกือบทั้งหมดใช้เกียร์อัตโนมัติเพื่อความสะดวกในการขับขี่ใช้งาน รถเกียร์ธรรมดาเริ่มลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ เหลือเพียงรถสปอร์ตและรถกระบะบางรุ่นที่ยังคงมีเกียร์ Manual ให้เลือกใช้สำหรับนักขับที่ยังชอบเหยียบคลัตช์ยัดเกียร์ด้วยตัวเอง
ความสะดวกและใช้งานได้ง่ายของระบบส่งกำลังแบบอัตโนมัติหรือเกียร์ออโต้ เข้ามาเพิ่มความง่ายในการขับใช้งานรถยนต์ จนทำให้บางครั้งหลายคนอาจหลงลืมการขับใช้งานที่ถูกต้อง หรือไม่ได้ใส่ใจตรวจสอบการดูแลรักษาเพื่อยืดอายุการใช้งาน เกียร์ออโต้ยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเกียร์ CVT สายพานโลหะที่คล้องอยู่กับพูเล่ย์ต่างขนาดหรือเกียร์ออโต้แบบทอร์คคอนเวอร์เตอร์ที่ใช้เฟืองต่างขนาดสำหรับการทดกำลัง ต่างต้องการวิธีขับที่ถูกต้อง รวมถึงการดูแลรักษาเปลี่ยนถ่ายของเหลวหล่อลื่นตามระยะทางที่ได้วิ่งใช้งานในชีวิตประจำวัน ยิ่งวิ่งเยอะเท่าไรเกียร์ยิ่งต้องการการบำรุงรักษามากขึ้นเท่านั้น
...
ไม่มีเกียร์ออโต้ยี่ห้อใดที่ทนทานนานใช้งานไม่มีพัง ที่เคลมว่าไม่ต้องเปลี่ยนของเหลวหล่อลื่นตลอดอายุการใช้งานก็เห็นว่าพอขึ้นหลักแสนแล้วไม่ได้เปลี่ยนน้ำมันเกียร์ก็เดี้ยงเกือบทั้งนั้น ไม่มีเกียร์ลูกไหนที่สามารถใช้น้ำมันเกียร์ตั้งแต่ออกจากโรงงานจนพังคาเท้าที่ 3-4 แสนกิโลเมตร ส่วนใหญ่เกียร์ที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนของเหลวจะเริ่มออกอาการเมื่อตัวเลขไมล์เกิน 120,000 กิโลเมตร หรืออาจน้อยกว่านั้นขึ้นอยู่กับลักษณะการขับ อุณหภูมิแวดล้อมภายนอก และตัวแปรอื่นๆ ที่คุณอาจนึกไม่ถึง เมื่อใช้งานผิดวิธี ไม่เคยเปลี่ยนถ่ายของเหลวที่ใช้สำหรับหล่อลื่นชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวในเกียร์ ขึ้นรถมาได้ขยี้คันเร่งลากรอบสับเกียร์เล่นผ่าน Paddle Shift กดคันเร่งขับแบบซิ่งเปลี่ยนเกียร์ขึ้นลงไปมาบ่อยครั้งทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนเกียร์เอง (คงเพราะมันจัด) ไม่ปล่อยให้ระบบอัตโนมัติในเกียร์ทำหน้าที่ ชอบขับแบบลากรอบคาเกียร์ที่ให้แรงบิดสูงสุดนานๆ เพื่อความมันในอารมณ์ ชอบใช้ตำแหน่ง +/- หรือตำแหน่งแมนนวลเพื่อเปลี่ยนเกียร์เองบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะวิ่งทางเขาหรือทางราบธรรมดา ก็มักจะยัดเกียร์เล่นเป็นนักแข่งรถ ออกตัวกระชากลากถู บางทีนึกว่าตำแหน่งเกียร์ที่ตัวเองเลือกเป็นตำแหน่งที่ถูกต้องแต่จริงๆ แล้วเป็นตำแหน่งที่ทรมานเกียร์ เจอเข้าไปแบบนี้ต่อให้เกียร์เทพยี่ห้อไหนที่ว่าทนแสนทนก็ไม่รอดสันดอนไปได้ สุดท้ายเกียร์พังคาเท้า
เกียร์พังจะเริ่มจาก เกียร์มีอาการกระตุกกระชาก สตาร์ตเครื่องใส่เกียร์ต้องรอนานกว่าจะขยับ หรือใส่เกียร์ไปแล้วแต่ดันไม่ไปจอดนิ่งๆ อยู่กับที่ การตอบสนองต่อการทดกำลังเชื่องช้าอืดอาดไม่ทันใจ หรือไม่ได้อย่างใจเหมือนตอนป้ายแดง ขับมาดีๆ เกียร์ก็ไม่เปลี่ยน หรือพอยัดเกียร์ R รถก็ยังนิ่งสนิทไม่ขยับ แสดงว่าเกียร์ออโต้ในรถคุณพังหรือใกล้พังเต็มทน
...
อาการเริ่มแรกเมื่อเกียร์ใกล้พบจุดจบ มักจะเกิดกับเกียร์ถอยหลังก่อน เมื่อจอดจนเครื่องเย็นเข้าเกียร์ถอยหลัง หรือเกียร์ R รถไม่เคลื่อนที่ หรือเคลื่อนแต่ต้องรอนาน หรือเข้าเกียร์ถอยแล้วเกิดอาการกระตุก ขับไปสักพักพอเครื่องร้อนขึ้น อาการจะกลับมาเป็นปกติ แต่อยู่ในอาการแบบเป็นๆ หายๆ หลังจากเกิดอาการยัดเกียร์ถอยแล้วรถไม่ถอย 1 สักระยะก็จะมีอาการนี้ตามมา ช่วงจังหวะในการเปลี่ยนเกียร์จะมีอาการลื่นของผ้าคลัตช์ในช่วงเปลี่ยนเกียร์ และการเปลี่ยนเกียร์จะไม่นิ่มนวล เข้าเกียร์แล้วไม่วิ่ง ออกตัวไม่ได้ ต้องรอเครื่องร้อนๆ หรือบางทีต้องเลื่อนคันเกียร์เพื่อออกตัวที่เกียร์ 2 ก่อน วิ่งไปสักพักค่อยเปลี่ยนกลับมาที่ตำแหน่ง D ได้
วิธีขับแบบถนอมและยืดอายุเกียร์ นอกจากการเปลี่ยนถ่ายของเหลวไปตามระยะทางที่ใช้งานจริง (ประมาณสี่หมื่นกิโลเมตร) คือ
เมื่อต้องการเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์จากเดินหน้ามาเป็นถอยหลัง หรือจากตำแหน่ง D ไปที่ตำแหน่ง R ต้องเหยียบเบรกให้รถหยุดสนิท ไม่ใช่ยัดจาก D ไป R ในขณะที่รถกำลังไหล ขับแบบขาดความระมัดระวังแบบนี้บ่อยครั้ง เกียร์จะสึกหรอเร็วกว่าปกติ
...
ห้ามใส่เกียร์ว่างขณะขับลงเนิน หรือลงสะพาน ขณะขับลงจากทางลาดชัน เกิดความคิดประหยัดแล้วใส่เกียร์ว่างหรือ N ทันที ที่คิดว่าจะทำให้รถประหยัดน้ำมัน แต่เกียร์อาจสึกหรอเร็วขึ้น เนื่องจากในขณะที่รถกำลังวิ่งแล้วทำการปลดเกียร์จาก D ไปเป็น N หรือจากตำแหน่งเดินหน้าไปเป็นเกียร์ว่าง ของเหลวหล่อลื่นท่ีเคยหมุนวนในตำแหน่งเกียร์ D จะหยุดการหมุนวน แต่เกียร์ยังคงหมุนเร็วเนื่องจากรถกำลังไหลลงเนิน ชิ้นส่วนของเกียร์ที่ทำงานแต่ไม่มีของเหลวไปหล่อลื่นจะทำให้เกียร์สึกหรอเร็วกว่าปกติ
...
หลายคนมักจะเออออกันไปเองว่า การใช้งานเกียร์ออโต้ ตั้งแต่สตาร์ตเครื่องยนต์ใส่เกียร์ D เมื่อเจอสภาพจราจรที่ติดขัด ก็ไม่ควรเปลี่ยนเกียร์เลื่อนไปเลื่อนมาระหว่าง D และ N โดยเหยียบเบรกแช่เอาไว้พร้อมกับคาเกียร์ในตำแหน่ง D ตลอดเวลา ไม่เลื่อนไปที่เกียร์ว่างหรือ N แล้วขึ้นเบรกมือหรือกดใช้เบรกมือไฟฟ้า แม้จะเจอเข้ากับสภาพการจราจรที่หนาแน่น ติดหนึบกว่าจะเคลื่อนตัวแต่ละที ใช้เวลานานถึง 2-3 นาที หรือมากกว่านั้น ส่วนใหญ่ไม่ว่ารถจะติดสาหัสขนาดไหน ก็คิดว่าต้องเหยียบแป้นเบรกเอาไว้ ไม่ควรเปลี่ยนไปเป็นเกียร์ว่าง เมื่อเหยียบเบรกยาวนานอาจเกิดอาการล้า เมื่อย หรือตะคริวกินขา แถมไฟเบรก LED ยังไปแยงตารถคันหลัง ติดนานก็ใส่เกียร์ N ให้เกียร์ได้พักบ้าง และถ้ากลัวรถไหลก็ให้ขึ้นเบรกมือทุกครั้ง เมื่อยกขาออกจากแป้นเบรกไปพักบ้าง คุณจะรู้สึกสบายขึ้นและเกียร์ก็ได้อยู่ในตำแหน่งที่ไม่ต้องมีภารกรรมในการทำงาน จนกระทั่งเคลื่อนตัวอีกครั้งก็เหยียบเบรก ใส่เกียร์ D แล้วปลดเบรกมือ หัดทำเป็นนิสัยเมื่อรถติดนานๆ ช่วยยืดอายุเกียร์ได้ครับ
การสึกหรอเสียหายของระบบเกียร์อัตโนมัติ ยังเกิดขึ้นได้จากการใช้งานที่ผิดวิธี เช่น ไม่เคยเปลี่ยนของเหลวหล่อลื่นมานานจนจำไม่ได้ว่าครั้งล่าสุดเปลี่ยนไปเมื่อไหร่ ชอบขับแบบลากรอบลากเกียร์ เปลี่ยนเกียร์ขึ้นลงด้วยตัวเองบ่อยครั้งแทนที่จะให้ซอฟต์แวร์ควบคุมการทำงานของเกียร์ ทำหน้าที่ไปตามที่โปรแกรมเอาไว้ (ซึ่งเปลี่ยนเกียร์ได้เร็วและตรงตามรอบเครื่องยนต์มากกว่ามนุษย์นักขับ) รถยังไม่ทันหยุดก็ใจร้อน ยัดเกียร์ถอยปังเข้าให้ แบบนั้นแหละครับที่เป็นตัวการในการทำให้เกียร์ออโต้เสียเร็วก่อนกำหนด ไม่ใช่แค่การเลื่อนคันเกียร์จาก D ไป N เพื่อพักเท้าพักขาเมื่อเจอเข้ากับรถติดหนักๆ แถมยังเป็นการพักการทำงานของชุดคลัตช์ไปในตัวขณะจอดรอสัญญาณไฟ จะขับแบบไหนที่มีทั้งถนอมและพังระบบส่งกำลังราคาแพงก็เลือกเอานะครับ.