รถติดนานถือเป็นเรื่องปกติที่คนใช้รถในเมืองใหญ่ต้องเจอ แต่เรื่องที่ไม่ปกติก็คือ ความสงสัยในเรื่องของการใช้งานเกียร์อัตโนมัติ เมื่อต้องจอดรอการเคลื่อนตัวนานๆ กลับมีความคิดเห็นจากเหล่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญชำนาญการเรื่องของเกียร์อัตโนมัติที่แตกต่างกันออกไป ทำให้คนใช้รถเกียร์ออโต้บางคนงง ในความเป็นจริง หากติดไฟแดงนานๆ หลายคนจะเหยียบเบรกไว้ ส่วนใหญ่มักจะหยิบมือถือมาส่องโลกโซเชียล โดยเฉพาะในช่วงที่ข่าวของแม่ตั๊กและสามีโดนรวบกำลังโด่งดังเป็นพลุแตก

เมื่อติดไฟแดงแล้วต้องรอเคลื่อนตัว การเหยียบเบรกเข้าเกียร์ D เอาไว้ก็ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ถูกต้อง หากรถมีการขยับเคลื่อนตัวได้บ้าง (อย่างต่อเนื่อง ติดๆ หยุดๆ พอจะไหลได้) ก็สามารถทำได้ เกียร์ออโต้ที่ออกแบบให้เลื่อนเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ได้นั้น เมื่อติดไฟแดงนานระดับ 3-5 นาทีก็ยังไม่ขยับ ส่วนใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญมักจะแนะนำให้เหยียบเบรกคาเกียร์ D เอาไว้ จนกว่ารถคันข้างหน้าจะเคลื่อนตัว หากติดไฟแดงไม่นานก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิดการติดนานเกินเหตุอย่างที่บอก เช่น ข้างหน้ามีอุบัติเหตุจนกีดขวางช่องทางจราจร หรือฝนตกน้ำท่วมขังทำรถติดพันกันแยกต่อแยก การใช้เท้าขวาเหยียบเบรกยัดเกียร์ D หรือเกียร์ขับเคลื่อนเอาไว้นานๆ จะทำให้เกิดความเมื่อยล้า ปวดขา ตามมาด้วยความเครียดในการควบคุมรถยนต์ ลองเหยียบเบรกแช่เอาไว้แค่ 3-5 นาที ขาก็เริ่มจะรู้สึกถึงความเมื่อยที่เริ่มเกาะกุม 

...

แรงดันในระบบเกียร์อัตโนมัติจะทำงานเมื่อเลื่อนคันเกียร์จาก N ไปที่ตำแหน่ง D โดยจะเกิดแรงดันขึ้นเพื่อดันของเหลวหรือน้ำมันเกียร์ ให้มีการไหลเวียนอย่างต่อเนื่องเพื่อหล่อลื่นการทำงาน มีข้อสงสัยว่า การเลื่อนคันเกียร์บ่อยๆจาก D ไป N จะทำให้เกียร์สึกหรอโดยใช่เหตุ!! ช่างหรือผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จึงแนะนำวิธีการใช้งานเกียร์ออโต้ โดยมักจะบอกกันว่าตั้งแต่สตาร์ตเครื่องยนต์ใส่เกียร์ D ขับออกจากบ้าน เมื่อเจอสภาพจราจรที่ติดขัดไม่ว่าจะสาหัสสากรรจ์ขนาดไหน ก็ไม่ควรเปลี่ยนเกียร์เลื่อนไปเลื่อนมาระหว่าง D และ N ให้เหยียบเบรกเอาไว้พร้อมกับคาเกียร์ในตำแหน่ง D ตลอดเวลา แม้รถจะติดนานจนเมื่อยขา เพราะต้องเหยียบแป้นเบรกยาวนานเกินไป แทนที่เกียร์จะพังกลับเป็นความเมื่อยที่ทำให้ปวดขา มีผู้เชี่ยวชาญในด้านระบบส่งกำลังอัตโนมัติ ต่างออกมาบอกกันว่า ทอร์ค คอนเวอร์เตอร์ ในเกียร์อัตโนมัติจะหยุดส่งถ่ายแรงดันเมื่อผู้ขับขี่เข้าเกียร์ว่างหรือเกียร์ N และหากเลื่อนคันเกียร์ไปที่ตำแหน่งขับเคลื่อนหรือ D เพื่อขับเคลื่อน แรงดันจากระบบเกียร์จะทำงานต่อทันทีที่เข้าเกียร์ D ทำให้ภายในระบบเกียร์และวาล์วภายในมีแรงดันไม่ต่ำกว่า 2-5 บาร์ สำหรับให้กำลังในการออกตัว หากทำแบบนั้นบ่อยๆ จะทำให้เกียร์สึกหรอซึ่งพิสูจน์กันแล้วว่าไม่จริงเสมอไป

เมื่อรถติดยาวต้องรอการเคลื่อนตัวนาน เพื่อลดอาการเมื่อยขา และทำให้เกียร์ได้พัก ผมใช้การเลื่อนคันเกียร์อัตโนมัติจากตำแหน่ง D ไปที่เกียร์ว่างหรือตำแหน่ง N แล้วดึงเบรกมือเพื่อป้องกันรถไหล  ไม่ว่าจะติดนานแค่ 1-2 นาที หรือนิ่งสนิทนานเกิน 3-5 นาที ถ้าเริ่มเมื่อย ก็แค่เลื่อนคันเกียร์ไปยังเกียร์ว่างหรือ N แล้วดึงเบรกมือเพื่อพักเท้าขวา (ในรถยนต์รุ่นใหม่ ส่วนใหญ่ใช้เกียร์ไฟฟ้า โดยมีสวิชท์ DNRP ก็แค่กดสวิชท์ในตำแหน่ง P หรือตำแหน่งจอด แล้วก็พักเท้าขวาได้เลย ทำให้ไม่ต้องมานั่งเหยียบเบรกแช่ไว้นานเกินไป การเปลี่ยนจาก D ไป N แล้วขึ้นเบรกมือ ไม่ว่าจะเป็นเบรกมือไฟฟ้า หรือเบรกมือแบบเก่าที่มีคันเบรกมือมาให้ใช้งาน เกียร์จะไม่อยู่ในตำแหน่งที่กำลังเคลื่อนที่ ช่วยทำให้เกิดความปลอดภัย หากขาขวาเกิดคลายน้ำหนักจากแป้นเบรกซึ่งอาจเกิดจากความเผลอเรอ หรือขาดความระวังแล้วตำแหน่งเกียร์ยังอยู่ที่ D ซึ่งเป็นตำแหน่งเคลื่อนที่ รถอาจไหลไปชนกับรถคันข้างหน้าได้ เมื่อเจอรถติดหนัก ส่วนใหญ่ห้ามใช้เกียร์ P เพราะกลัวเคลื่อนตัวไม่ทัน หรือมีรถมาชนท้ายจะยิ่งทำให่เกียร์จอดเสียหาย ก็ใช้เกียร์ว่างหรือ N แล้วขึ้นเบรกมือ หรือถ้าเป็นเบรกมือไฟฟ้าก็แค่กดปุ่มลงไป ส่วน Auto Brake Hold ระบบเบรกอัตโนมัติมาช่วยทำให้รถไม่เคลื่อนตัว ไม่แน่ใจจริงๆ ว่าระบบเกียร์ออโต้ในรถบางรุ่นที่มีฟังก์ชันนี้ จะสั่งให้เกียร์อยู่ในตำแหน่ง N หรือ D  

...

การสึกหรอของเกียร์อัตโนมัติ นอกจากการเลื่อนคันเกียร์ไป-มาซึ่งเป็นวิธีใช้งานในชีวิตประจำวันอยู่แล้วที่คุณต้องเลื่อนจาก P ไป R ไป N ไปที่ D หรือแม้แต่ D1-D2 หากพบเจอกับทางขึ้นเขาลงเนิน การสึกหรอเสียหายถือว่าน้อยมากกับการเลื่อนคันเกียร์ ค่าความสึกหรอยังเกิดขึ้นได้จากการใช้งานที่ผิดวิธี เช่น ไม่เคยเปลี่ยนของเหลวหล่อลื่นมานานจนจำไม่ได้ว่าครั้งล่าสุดเปลี่ยนไปเมื่อไหร่ (ควรเปลี่ยนทุก 40,000 กิโลเมตร) ออกตัวกระชาก ชอบขับแบบลากรอบลากเกียร์ เปลี่ยนเกียร์ขึ้นลงด้วยตัวเองบ่อยครั้ง แทนที่จะให้ ECU ของเกียร์ทำงานไปตามโปรแกรมที่ตั้งเอาไว้ซึ่งถูกออกแบบให้แต่ละอัตราทดมีความเหมาะสมกับรอบเครื่อง ขับแบบวัยรุ่นใจร้อน รถยังไม่ทันหยุดก็ยัดเกียร์ถอยจนมีเสียงเฟืองเกียร์ขบกันดังกึก แบบนั้นแหละครับที่เป็นตัวการในการทำให้เกียร์ออโต้ของคุณเสียหายหรือเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ ไม่ใช่แค่การเลื่อนคันเกียร์จาก D ไป N เพื่อพักเท้าพักขา เมื่อเจอเข้ากับรถติด

...

จากข้อมูลของเพจฟอกเกียร์ มีบรรยายเป็นตัวอักษรเอาไว้ว่า เกียร์อัตโนมัติมีปั๊มเกียร์ซึ้งเป็นปั๊มไฮดรลิคชนิด Cycloid Pump หน้าที่คือ การดูด – จ่ายน้ำมันเกียร์ เพื่อส่งไปให้กับทอร์คคอนเวอร์เตอร์และห้องเกียร์ต่าง ๆ สถานะของเกียร์อัตโนมัติ ในขณะที่สตาร์ทเครื่องยนต์นั้น อยู่ในสถานะที่ปิดการทำงานทุกเกียร์ น้ำมันเกียร์มันก็จะวนในระบบอยู่ในสถานะเกียร์ว่าง แม้ว่าจะคันเกียร์จะอยู่ในตำแหน่ง P ก็ตาม

เมื่อเลื่อนเกียร์ไปที่ D ส่วนควบคุมจะส่งสัญญานให้จ่ายกระแสไฟไปที่โซลินอยด์ ที่อยู่กับชุดเกียร์
เมื่อโซลินอยด์ได้รับไฟฟ้า ก็จะสร้างสนามแม่เหล็กขึ้นมาเพื่อดึงสลักเกียร์ที่อยู่ในวาล์วบอดี้ออกมา น้ำมันเกียร์อัตโนมัติจึงจะสามารถวิ่งผ่านเข้าไปในระบบของเกียร์ ส่วนตำแหน่งเกียร์ P นั้น มันจะมีกลไกชุดหนึ่งเข้ามาล็อคเพลาของเกียร์อัตโนมัติ เพื่อไม่ให้เกียร์เคลื่อนไหวได้ ต่างกันกับตำแหน่งเกียร์ N ที่กลไกดังกล่าวไม่ได้เข้ามาล็อคเพลาเกียร์ไว้ ส่วนตำแหน่งเกียร์ N หรือเกียร์ว่าง น้ำมันเกียร์ไม่ได้เข้าไปผลักดันหรือขับเคลื่อนกลไกภายในระบบเกียร์ เพื่อให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าหรือถอยหลัง แรงดันในตำแหน่ง N จะต่ำลง เนื่องจากเครื่องยนต์ไม่มีโหลด 

...

การใส่เกียร์ D เหยียบเบรกรอการเคลื่อนตัว ข้อดีก็คือ สามารถคลายเท้าขวาออกจากแป้นเบรกเพื่อเคลื่อนที่ได้เลย  ไม่ต้องเลื่อนคันเกียร์จาก N ไปหา D การที่เราใส่เกียร์ D แล้วเหยียบแป้นเบรกส่งกระทบหรือสะสมความเสียหายให้กับส่วนไหนของรถยนต์สันดาปภายในคือ เครื่องยนต์ทำงานหนักขึ้น ต้องเพิ่มโหลดให้กับปั๊มเกียร์ ความร้อนสะสมสูงขึ้น หัวเทียน / คอล์ยจุดระเบิด (ในรถยนต์เบนซิน)

หากเหยียบเบรกเข้าเกียร์ D แล้วเครื่องยนต์มีอาการกระตุก ลองโยกคันเกียร์มาที่ N อาการกระตุกก็หายไป นี่คืออาการเริ่มต้นของชุดจุดระเบิดเริ่มมีปัญหา การใส่เกียร์ D และเหยียบเบรกเอาไว้ เพื่อป้องการการสึกหรอของชุดเกียร์ แต่กลับมีชิ้นส่วนนอกระบบเกียร์ที่ต้องรับภาระกรรมมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ส่วนควบ ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการใส่เกียร์ D แล้วเหยียบเบรก เริ่มจากน้ำมันเกียร์อัตโนมัติเมื่อใช้งานไปนานๆ ก็จะมีค่าความสกปรกเพิ่มมากขึ้น ความสกปรกดังกล่าวเกิดขึ้นจากตระกัน ตะกอนของเศษชิ้นส่วนคลัทช์เล็กๆที่หลุดออกมา

ซีล / โอริงต่าง ๆ จากการใช้งานในลักษณะใส่เกียร์ D แล้วเหยียบเบรกรอการเคลื่อนตัว เครื่องยนต์หมุน ทอร์คคอนเวอร์เตอร์หมุน ปั๊มเกียร์หมุน แต่เกียร์หมุนไม่ได้ เพราะถูกระบบเบรกจับล้อเอาไว้ ภาษาชาวบ้านเรียกว่าฟรีคลัทช์ทิ้ง เปรียบเสมือนกับรถเกียร์ธรรมดา เมื่อรถติดแทนที่จะปลดเกียร์ว่าง แต่เลือกที่จะเหยียบคลัทช์ เพื่อไม่ให้เกียร์ส่งกำลังไปที่เฟืองท้าย โดยมีแผ่นคลัทช์เป็นตัวรับหน้าเสื่อในการเชื่อมต่อกำลังระหว่างเครื่องยนต์กับเกียร์ เกียร์อัตโนมัติก็มีแผ่นคลัทช์ขั้นอยู่ เศษชิ้นส่วนของคลัทช์มีทั้งใยสังเคราะห์และโลหะผสมกันอยู่ เมื่อสึกกร่อน ชิ้นส่วนเล็กๆเหล่านั้นจะหมุนวนอยู่ในระบบ แล้วเข้าไปอุดตันในส่วนต่างๆ แม้แต่โซลินอยด์และวาล์วบอดี้ หรือท่อทางเดินต่างๆ ทำให้น้ำมันเกียร์มีความหนืดสูงขึ้น การดูดจ่ายของปั๊มเกียร์ทำงานหนักขึ้น เครื่องยนต์ที่เป็นต้นกำเนิดแรงของปั๊มเกียร์ทำงานหนักขึ้น  ทำให้กินเชื้อเพลิง

รถที่มีโหมด Auto Brake Hold  ในขณะที่รถติด ระบบเกียร์จะไปอยู่ในโหมดของเกียร์ N และจัดการเบรกอัตโนมัติเพื่อให้รถไม่เคลื่อนที่จนกว่าผู้ขับจะแตะไปที่คันเร่ง รถยนต์บางรุ่นจัดเกียร์ P พร้อมขึ้นเบรกมือไฟฟ้าให้แบบอัตโนมัติ

สำหรับรถทั่วไป แค่เลื่อนคันเกียร์ไปที่ N แล้วขึ้นเบรกมือ รอการเคลื่อนตัวที่โคตรนาน เมื่อรถคันหน้าเริ่มเคลื่อนตัวก็ใส่เกียร์ D ปลดเบรกมือ อยากทำแบบไหน จะเหยียบเบรกเอาไว้นานๆ จะเลื่อนคันเกียร์ไปที่ N แล้วขึ้นเบรกมือ หรือใช้ฟังก์ชัน Auto Brake Hold ก็ได้ทั้งนั้น แต่ขอให้ตรงตามสถานะการณ์รถติดที่อาจมีไหลขึ้นหน้าไปได้บ้าง หรือหยุดสนิทนานจนแทบจะหลับ 

หากรถติดไม่นานก็เหยียบเบรกคาเกียร์ D เอาไว้ แค่คลายเท้าออกจากแป้นเบรก รถก็ไหลไปข้างหน้าแล้ว แต่เมื่อเจอเข้ากับสภาพจราจรที่ติดหนึบ ติดนาน กว่าจะเคลื่อนตัวนานหลายนาที ก็ให้ใส่เกียร์ว่างหรือเกียร์ N แล้วดึงเบรกมือป้องกันรถไหล ได้พักเท้าไปในตัว หรือถ้ามี Auto Brake Hold ก็กดใช้งาน เมื่อเหยียบเบรก รถจะหยุดแล้วสามารถพักขาขวารอการเคลื่อนตัวต่อไป พอเคลื่อนตัว ก็แค่เอาเท้าขวาแตะคันเร่งเบาๆ รถก็จะกลับเข้าสู่เกียร์ D เพื่อเคลื่อนที่ต่อไป อย่างที่บอกว่า เมื่อรถติดสาหัส การเลื่อนเกียร์จาก D ไป N แล้วขึ้นเบรกมือเอาไว้ป้องกันรถไหล ไม่ทำให้เกียร์สึกหรอเสื่อมสภาพเร็วอย่างแน่นอน แถมยังให้เกียร์ได้พักการทำงานเมื่อเข้าสู่เกียร์ว่างนั่นเองละครับ.