ความปลอดภัยในการขับขี่ที่ควรใส่ใจก่อนออกเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเช็กความพร้อมต่างๆ ทั้งแรงดันลมยาง ไฟสัญญาณ ใบปัดน้ำฝน และระดับเชื้อเพลิงในถังแล้ว สิ่งสำคัญที่จะทำให้การควบคุมรถยนต์เป็นไปอย่างถูกต้องก็คือ การปรับท่านั่งให้กระชับรัดกุม ท่านั่งที่ถูกต้อง จะช่วยให้การควบคุมทิศทางของรถ เมื่อปรับท่านั่งไม่ถูก นั่งห่างจากพวงมาลัยเกินไปจนแขนเหยียดตึง คุณจะพบกับปัญหา ทั้งการมอง เลี้ยว หรือเบรก รวมถึงการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นตรงหน้า เมื่อปรับท่านั่งและจับพวงมาลัยได้อย่างถูกต้อง หากเกิดมีอะไรตัดหน้ารถ และจะต้องใช้พวงมาลัยหักเบี่ยงหลบ เปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็ว เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ คุณจะแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที เท่าที่สังเกต พี่แท็กซี่บางคนจับพวงมาลัยและปรับท่านั่งตามใจชอบ ซึ่งส่งผลในทางลบต่อการควบคุมรถยนต์อย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น การสอบใบขับขี่ในประเทศไทย มุ่งไปที่กฏหมายจราจรและสัญลักษณ์ต่างๆ มากกว่าที่จะอบรมการปรับท่านั่งและจับพวงมาลัยให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง
...
การปรับตำแหน่ง และการจับพวงมาลัยที่ถูกต้อง
การปรับตำแหน่งพวงมาลัยที่ดีนั้นควรให้ พวงมาลัยนั้นเชิดขึ้นหาคนขับนิดหน่อยจะทำให้การควบคุมรถนั้นมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งการปรับพวงมาลัยสูงหรือต่ำไป อาจจะทำให้ควบคุมการหมุนของพวงมาลัยได้ยาก พวงมาลัยอาจบดบังจุดมองด้านหน้า ตำแหน่งที่ถูกต้องในการปรับระยะของพวงมาลัย เริ่มจากใช้มือทั้งสองจับพวงมาลัย เมื่อเปรียบเทียบกับหน้าปัดของนาฬิกา มือซ้ายอยู่ในตำแหน่ง 9 นาฬิกา ส่วนมือขวาอยู่ในตำแหน่ง 3 นาฬิกา ไม่ควรจับพวงมาลัยในตำแหน่งอื่นเนื่องจากการจับในตำแหน่งที่แตกต่างออกไป หรือจับพวงมาลัยแบบพี่แท็กซี่บางคน ที่ชอบเอามือไปจับอยู่ด้านบนสุดของพวงมาลัย นั่นจะทำให้คุณไม่สามารถควบคุมทิศทางได้อย่างรวดเร็วว่องไว เมื่อเกิดเรื่องฉุกเฉินขึ้นตรงหน้า
การจับพวงมาลัยในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลร้ายต่อการขับอย่างคาดไม่ถึงหากเกิดเหตุฉุกเฉินที่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนทิศทางอย่างฉับพลันทันที ทำให้ความแม่นยำในการบังคับควบคุมด้อยลง ตำแหน่งของการจับที่ 9 และ 3 นาฬิกาซึ่งอยู่ครึ่งหรือช่วงกลางของวงพวงมาลัยพอดี ไม่ว่าจะเลี้ยวยูเทิรน์ กลับรถ ลองฝึกคาจุดจับเอาไว้ที่ 3 และ 9 นาฬิกา
ท่านั่งขับรถที่ถูกวิธีนั้น เริ่มจากการระยะห่างของพวงมาลัย ซึ่งระยะห่างจากพวงมาลัยที่จะทำให้นั่งสบายนั้นควรห่างจากพวงมาลัย 1 ช่วงแขนพอดี โดยที่แขนของคนขับจะต้องไม่หย่อนหรือตึงจนเกินไป ซึ่งระยะแบบนี้จะทำให้มีประสิทธิภาพในการควบคุมทิศทางผ่านพวงมาลัยได้ดีที่สุด อย่าปรับร่นเบาะจนนั่งชิดกับพวงมาลัยมากจนเกินไป (คล้ายคนสูงอายุหรือสุภาพสตรีบางท่านที่ชอบนั่งจนชิดติดกับพวงมาลัย) เพราะการนั่งท่านี้จะทำให้แขนไม่สามารถหมุนพวงมาลัยได้อย่างรวดเร็วหากมีอะไรตัดหน้ารถ การปรับเบาะเอนเบาะแบบนอนขับคล้ายรถสปอร์ตก็ไม่ใช่ท่านั่งที่ถูกต้องเพราะจะทำให้ควบคุมรถได้ยากหากเกิดเหตุฉุกเฉิน แขนที่ตึงมากจนเกินไปจะทำให้ไหล่ของคุณหลุดจากเบาะเมื่อต้องหักพวงมาลัยเร็วๆ เพื่อหักหลบหรือเปลี่ยนทิศทางเพื่อหลบหลีกอุบัติเหตุ
...
เมื่อจะเลี้ยวยูเทิร์น นักขับส่วนใหญ่ ชอบเอามือสอดเข้าไปด้านในวงพวงมาลัย แล้วเริ่มต้นการหมุน เมื่อจับแบบล้วง หรือควักพวงมาลัย โดยใช้มือจับด้านในของวง จะทำให้คุณเลี้ยวได้ไม่คล่องแคล่ว เท่ากับการรูดมือผ่านวงพวงมาลัยโดยยังคงใช้การจับอยู่ด้านนอก นักแข่งรถส่วนใหญ่จะล็อกการจับพวงมาลัย ในตำแหน่ง 3-9 นาฬิกา เอาไว้ราวกับใช้คีมล็อก เพื่อการบังคับทิศทางที่รวดเร็ว แม้ขณะเข้าโค้งยูเทิร์นด้วยความเร็วสูง ตำแหน่งของการจับก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดทั้งสิ้น
...
น้ำหนักในการจับพวงมาลัย
เมื่อขับไม่เร็ว ใช้การจับแบบสบายๆ ไม่กำแน่นจนเกินไป และเมื่อใช้ความเร็วสูง หรือขับในขณะที่เกิดฝนตกผิวถนนเปียกชื้น ให้เพิ่มน้ำหนักของการจับพวงมาลัยอีกนิด การจับพวงมาลัยแน่นมากจนเกินไปจะทำให้เกิดความเครียดตามมา ใช้น้ำหนักที่พอดีๆ อาจใช้นิ้วโป้งเกี่ยวไว้ที่ขอบของก้านวงเพื่อประคองทิศทางเมื่อขับทางไกลบนไฮเวย์ และเมื่อเปลี่ยนมาขับออฟโรดที่ต้องลุยฝ่าหลุมบ่อไม่ควรใช้นิ้วโป้งเข้ามาประคองเพราะพวงมาลัยบนเส้นทางออฟโรดนั้นจะสบัดไปมาจนอาจทำให้นิ้วของคุณได้รับบาดเจ็บ
...
จับพวงมาลัยมือเดียว เป็นวิธีการควบคุมรถที่ประมาทและอาจจบลงด้วยอุบัติเหตุ อย่าขับรถโดยจับพวงมาลัยมือเดียว หรือจับผิดตำแหน่ง ถ้าใช้ความเร็วสูง ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวัง มองให้ไกล ข้ามรถคันข้างหน้าไปมากเท่าไรยิ่งดี เพราะอาจมีหลุมหรือเศษยางรถสิบล้อ เศษไม้ หรือซากสุนัขที่โดนรถชน ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายจากการขับเข้าไปชนหรือทับ เมื่อใช้รถเกียร์ธรรมดา เปลี่ยนเกียร์แล้ว เอามือออกจากหัวเกียร์กลับไปจับพวงมาลัยที่ 9 นาฬิกาตามเดิม ความว่องไวแม่นยำ ในการหมุนพวงมาลัย นอกจากจะเกี่ยวข้องกับตำแหน่งในการจับพวงมาลัยแล้ว การปรับเบาะและพนักพิงก็มีส่วนสำคัญ โดยเมื่อจับพวงมาลัยตามตำแหน่งที่ถูกต้อง ข้อศอกงอเล็กน้อย ไม่ตึงจนต้องเหยียดแขนสุด หรือหย่อนจนข้อศอกแนบชิดติด
ลำตัว ซึ่งสามารถตรวจสอบระยะที่เหมาะสมของเบาะและพนักพิงได้ การปรับระยะพวงมาลัย ใช้วิธีเหยียดแขนให้ตึง แล้ววางทาบลงด้านบนสุดของพวงมาลัยที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา ข้อมือต้องอยู่บนขอบของพวงมาลัย พอดี หรืออยู่ใกล้กับตำแหน่งของอุ้งมือ ไม่เลยไปจนถึงฝ่ามือ และแผ่นหลังต้องแนบกับพนักพิง ขาไม่เหยียดหรืองอมากเกินไป การปรับท่านั่งแบบห่างเกินไป ทำให้คุณควบคุมพวงมาลัยในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ยาก แถมยังเหยียบแป้นเบรกได้ไม่ถนัดหรือไม่เต็มแรง นั่นหมายถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อขณะใชัรถ.