น้องๆ หลานๆ ที่รีวิวรถใหม่ในยูทูบ การจับพวงมาลัยที่ถูกต้องนั้น จะทำให้น้องดูน่าเชื่อถือ หรือศัพท์นักเลงรถเขาเรียกว่า เป็นมวย อย่าจับพวงมาลัยแบบตามใจฉัน มันดูไม่ดี การจับพวงมาลัยให้ถูกต้องช่วยสื่อให้คนเห็นในด้านความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือของคนที่ทำรีวิว คนดูเอาไปทำตามก็จะทำให้ควบคุมรถได้ดีขึ้น เกิดเหตุฉุกเฉินก็จะสามารถใช้พวงมาลัยหลบหลีก เปลี่ยนทิศทางเพื่อเลี่ยงอุบัติเหตุ
...
ครูฝึก หรือ instructor จาก Porsche BMW Mercedes-Benz Audi และอีกหลายแบรนด์ ให้ความสำคัญมากกับท่าทางการนั่งขับ ตำแหน่งท่านั่ง การจับพวงมาลัย ระดับความสูงของเบาะ ระยะของข้อศอก เข่าและแผ่นหลังรวมถึงสะโพก ท่านั่งคือเรื่องสำคัญในอันดับต้นๆ ของการควบคุมรถยนต์ ท่านั่งที่ถูกต้องพอดิบพอดีกับระยะของพวงมาลัย แป้นคันเร่งและเบรก จะทำให้ควบคุมรถยนต์ได้ดีขึ้น ท่านั่งขับรถที่ถูกต้องได้ระยะพอดิบพอดีจะช่วยทำให้นักขับรอดพ้นจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นตรงหน้า ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลาเมื่อใช้รถใช้ถนน
ท่านั่งขับรถที่ถูกวิธีนั้นเริ่มจากการระยะห่างของพวงมาลัย ซึ่งระยะห่างจากพวงมาลัยที่จะทำให้นั่งสบายนั้นควรห่างจากพวงมาลัย 1 ช่วงแขนพอดี โดยที่แขนของคนขับจะต้องไม่หย่อน หรือตึงจนเกินไป ซึ่งระยะแบบนี้จะทำให้มีประสิทธิภาพในการควบคุมทิศทางผ่านพวงมาลัยได้ดีที่สุด อย่าปรับร่นเบาะจนนั่งชิดกับพวงมาลัยมากจนเกินไป (คล้ายคนสูงอายุ หรือสุภาพสตรีบางท่านที่ชอบนั่งจนชิดติดกับพวงมาลัย) เพราะการนั่งท่านี้จะทำให้แขนไม่สามารถหมุนพวงมาลัยได้อย่างรวดเร็วหากมีอะไรตัดหน้ารถ เมื่อเกิดการชนด้านหน้าแล้วแอร์แบ็กระเบิด การนั่งติดกับพวงมาลัยมากจนเกินไปอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บรุนแรงได้เมื่อแอร์แบ็กทำงาน
...
การปรับเบาะเอนเบาะแบบนอนขับคล้ายรถสปอร์ตก็ไม่ใช่ท่านั่งที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้ควบคุมรถได้ยากหากเกิดเหตุฉุกเฉิน แขนที่ตึงมากจนเกินไปจะทำให้ไหล่ของคุณหลุดจากเบาะเมื่อต้องหักพวงมาลัยเร็วๆ เพื่อหักหลบ หรือเปลี่ยนทิศทางเพื่อหลบหลีกอุบัติเหตุ
...
ร่นระยะห่างของเบาะให้พอดีกับการเหยียบคันเร่งหรือเบรก การใช้เท้าขวาเหยียบเบรกห้ามปรับไกลจนต้องใช้ปลายเท้าเหยียบ เมื่อเหยียบแป้นเบรกหรือคันเร่ง เข่าขวาจะต้องงอเล็กน้อยในตำแหน่งที่พอดี ไม่ควรปรับเลื่อนเบาะไกลจนเหยียบแป้นแล้วต้องยืดขาขวาออกไปจนแทบจะสุด
...
การปรับพนักพิงหลังขึ้นอยู่กับสรีระของคนขับแต่ละคนที่แตกต่างกัน เมื่อก้าวขึ้นไปนั่งในตำแหน่งคนขับ ปรับพนักพิงหลังให้ตรง จากนั้นจึงค่อยๆ ปรับเบาะให้เอนไปทางด้านหลังเล็กน้อย ไม่ตั้งชัน หรือเอนมากเกินไปจนทำให้แขนตึง การปรับพนักพิงหลังจนอยู่ในระดับที่เหมาะสมจะทำให้คุณควบคุมพวงมาลัยได้ดั่งใจ ลองใช้มือซ้ายจับพวงมาลัยที่ 9 นาฬิกาแล้วหมุนไปทางขวาจนสุด หากไหล่ของคุณยกออกจากพนักพิงหลังแสดงว่าคุณยังนั่งห่างเกินไป
การปรับตำแหน่งพวงมาลัยที่ดีนั้นควรให้พวงมาลัยนั้นเชิดขึ้นหาคนขับนิดหน่อยจะทำให้การควบคุมรถนั้นมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งการปรับพวงมาลัยสูงหรือต่ำไปอาจจะทำให้ควบคุมการหมุนของพวงมาลัยได้ยาก ตำแหน่งที่ถูกต้องของการใช้มือทั้งสองจับพวงมาลัย เมื่อเปรียบเทียบกับหน้าปัดของนาฬิกา มือซ้ายอยู่ในตำแหน่ง 9 นาฬิกา ส่วนมือขวาอยู่ในตำแหน่ง 3 นาฬิกา หรือหากเป็นนักขับรุ่นเก่าก็มักจะจับที่ 10 นาฬิกาที่มือซ้าย และ 2 นาฬิกาที่มือขวา ไม่ควรจับพวงมาลัยในตำแหน่งอื่น เนื่องจากการจับในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้องจะทำให้ไม่สามารถควบคุมพวงมาลัยได้เมื่อเกิดเรื่องฉุกเฉินขึ้นตรงหน้า การจับพวงมาลัยในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้องจะทำให้ความแม่นยำในการบังคับควบคุมด้อยกว่าตำแหน่งของการจับที่ 9 และ 3 นาฬิกา ซึ่งอยู่ครึ่งหรือช่วงกลางของวงพวงมาลัยพอดี
ปรับความสูงของเบาะไม่ให้เตี้ยจนติดพื้น มองอะไรข้างหน้าไม่เห็น หรือปรับเบาะยกสูงจนหัวแทบจะติดกับหลังคา ความสูงของเบาะที่พอดีช่วยทำให้คุณมองเห็นข้างหน้าได้ไกลกว่าการปรับกดเบาะจนเตี้ยติดพื้น หากคุณปรับยกเบาะสูงมากเกินไป เมื่อต้องหักพวงมาลัยหลบอะไรก็ตามบนถนน หรือเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง ร่างกายส่วนบนของคุณจะเซไปเซมาจากแรงเหวี่ยง หรือแรงจี ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการควบคุมทำให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากเหตุการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นตรงหน้า.