การต่อภาษีรถยนต์นั้นนอกจากจะสามารถต่อได้ที่กรมการขนส่งทางบก หรือห้างร้านของเอกชนที่รับต่อภาษีแล้ว เรายังสามารถต่อภาษีผ่านช่องทางออนไลน์ได้อีกด้วย "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" เก็บรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการต่อภาษีรถยนต์มาฝาก โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

ต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ต้องทำอย่างไร 

การต่อภาษีรถยนต์ผ่านช่องทางออนไลน์สามารถทำผ่านแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax และผ่านเว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th/esvapp/login.jsf ซึ่งหลักการใช้งานมีความคล้ายคลึงกันมากๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

- ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax
- สำหรับผู้ที่ใช้งานครั้งแรก กรอกข้อมูลส่วนตัวกดปุ่ม "กดเพื่อรับรหัส OTP"
- กรอกรหัส OTP ที่ได้รับจากอีเมล แล้วกดยืนยัน
- ตั้งรหัส PIN 6 หลัก
- ลงทะเบียนเสร็จแล้ว กดเมนู "ชำระภาษีรถ"
- เลือกรูปแบบชำระภาษี
- กรอกข้อมูลส่วนตัวอีกเล็กน้อย
- เลือกประเภทรถที่ต้องชำระภาษี และกรอกข้อมูลทะเบียนรถ
กรอกข้อมูลประกันภัยรถ หรือ พ.ร.บ.
- เลือกรับเอกสารทางไปรษณีย์ทั่วไป หรือตู้ kiosk เฉพาะในกรุงเทพมหานคร
- เลือกช่องทางการชำระเงิน 

...

ต่อภาษีรถยนต์เกิน 7 ปีผ่านช่องทางออนไลน์ 

การต่อภาษีรถยนต์ผ่านเว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก และการต่อภาษีรถยนต์อายุเกิน 7 ปี มีรายละเอียดดังนี้

1. เข้าสู่เว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก https://eservice.dlt.go.th/esvapp/login.jsf  จากนั้นก็กดสมัครสมาชิกก่อน สำหรับใครที่ยังไม่เคยลงทะเบียน โดยการตั้งรหัสผ่านจะต้องมีตัวพิมพ์ใหญ่ ตัวพิมพ์เล็ก และตัวเลขด้วย แต่ใครที่เคยลงทะเบียนแล้วให้กรอกเลขที่บัตรประชาชน และใส่รหัสผ่าน

2. ล็อกอินเข้าระบบเสร็จแล้วให้กด บริการยื่นชําระภาษีรถยนต์ประจำปี

3. เลือกประเภทรถ จังหวัดที่จดทะเบียน ทะเบียนรถ และชื่อผู้ครอบครอง ระบบก็จะขึ้นข้อมูลให้กรอก

4. ย้ำก่อนว่า รถอายุเกิน 7 ปีต้องตรวจตรอ.มาก่อน ซึ่งสมัยนี้ข้อมูลการตรวจคุณภาพการใช้งานของรถนั้นจะอัปโหลดมาที่กรมการขนส่งฯ อัตโนมัติ เช่นเดียวกับข้อมูลการซื้อ พ.ร.บ. ซึ่งกรมการขนส่งฯ มีให้เลือกซื้อหากใครยังไม่ได้ต่อ เพราะการเสียภาษีรถยนต์นั้นจะต้องซื้อ พ.ร.บ.ก่อนไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถเสียภาษีได้

5. ระบบก็จะขึ้นรายละเอียดการยื่นชำระภาษี รวมถึงการเสียเงิน จากนั้นก็กดยอมรับ ระบบจะขึ้นให้เรากรอกสถานที่จัดส่งเอกสารอีกครั้ง

ขาดต่อภาษีรถยนต์ได้กี่วัน

การต่อภาษีรถยนต์ช้ากว่ากำหนดจะต้องเสียค่าปรับ 1% ต่อเดือน แต่ถ้าหากปล่อยให้ทะเบียนรถขาด หรือไม่ได้ยื่นจ่ายภาษีรถยนต์เกิน 3 ปีขึ้นไปจะไม่สามารถทำธุรกรรมเกี่ยวกับรถยนต์ได้ ยกเว้นการขายต่อเท่านั้น โดยกรมการขนส่งทางบกจะส่งจดหมายมาแจ้งว่าจะแจ้งจอดแล้วนะ และป้ายทะเบียนรถของเราก็จะถูกยกเลิก ต้องติดต่อกลับภายใน 30 วัน และเสียค่าปรับ 1,000 บาท ป้ายทะเบียนถึงจะกลับมาใช้ได้ดังเดิม

ต่อภาษีรถยนต์ใช้เอกสารอะไรบ้าง

- หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถ หรือเล่มทะเบียน
- พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
- หลักฐานการผ่านการตรวจสภาพรถยนต์ หรือ พ.ร.บ.

ต่อภาษีรถยนต์อย่างไร หากโดนใบสั่ง และไม่เคยจ่ายค่าปรับจราจร

นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 66 ที่ผ่านมา หากเราโดนใบสั่งทำผิดกฎจราจรแล้วไม่ได้ไปชำระค่าปรับตามที่กำหนด เมื่อถึงเวลาต่อภาษีรถยนต์ประจำปี นายทะเบียนจะรับต่อภาษีประจำปี แต่จะไม่ออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี หรือ ป้ายภาษี ให้ โดยจะออกหลักฐานชั่วคราวแทนป้ายภาษีซึ่งมีอายุ 30 วันให้ไปก่อน เพื่อให้ไปชำระค่าปรับที่ค้างชำระให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน จึงจะมารับป้ายภาษีได้

หากยังฝ่าฝืนไม่ไปชำระค่าปรับ และยังใช้รถบนถนน เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบก็จะต้องเสียค่าปรับเป็นจำนวนเงินถึง 2,000 บาทต่อครั้งตามมาตรา 60 ของ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 และทั้งจะถูกตัดคะแนนจราจรอีก 1 คะแนนต่อครั้ง อาจเป็นเหตุให้ถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์

ทั้งนี้ หากผู้ขับขี่รถไม่แน่ใจว่าตนเองมีใบสั่งให้ไปชำระค่าปรับ หรือมีใบสั่งค้างชำระหรือไม่ สามารถลงทะเบียนใช้งานและตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ https://ptm.police.go.th  หรือตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ

...

ต่อพ.ร.บ.รถยนต์

พ.ร.บ.รถยนต์ ที่เรียกกันติดปากแท้จริงแล้วคือ ประกันรถยนต์ภาคบังคับ หรือ Compulsory Motor Insurance หรือ ประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งกำหนดให้รถยนต์รวมถึงรถจักรยานยนต์ทุกคัน ทุกชนิดที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก และรถที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องยนต์ ไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น ต้องทำประกันภัยภาคบังคับ

ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองผู้ขับขี่ คู่กรณี ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอก ที่ประสบอุบัติเหตุจากการใช้รถซึ่งให้ความคุ้มครองในรูปแบบของเงินชดเชย และค่าดูแลรักษาพยาบาลดังนี้

- คุ้มครองค่าเสียหายเบื้องต้น ได้รับเลยไม่รอการพิสูจน์ถูก หรือผิด

1. ค่ารักษาพยาบาล (ตามจริง) จ่ายไม่เกิน 30,000 บาท
2. การเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจ่ายไม่เกิน 35,000 บาท

- คุ้มครองค่าเสียหายที่เกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้น จะได้รับหลังจากพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นผู้ที่ต้องรับผิดตามกฎหมาย

1. ค่ารักษาพยาบาล (ตามจริง) จ่ายไม่เกิน 80,000 บาท
2. การเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จ่ายไม่เกิน 500,000 บาท
3. การสูญเสียอวัยวะ จ่ายไม่เกิน 200,000-500,000 บาท
- ค่าชดเชยรายวัน (จ่ายตามจำนวนวันที่เข้ารักษาตัวในฐานะผู้ป่วยใน) 200 บาท/วัน (สูงสุดไม่เกิน 20 วัน)

...

สำหรับการต่อ พ.ร.บ. หรือ ซื้อพ.ร.บ.สามารถซื้อได้ตามบริษัทประกันภัยทั่วไปผ่านช่องทางออนไลน์ หรือโบรกเกอร์ประกันภัย โดยราคาจะอยู่ที่ 645-1,182 บาท ซึ่งราคานี้ใช้สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลเท่านั้น.