คอลัมน์ไทยรัฐออนไลน์วันอาทิตย์ยานยนต์ ขอต้อนรับสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนด้วยหัวข้อเรื่องการใช้เบรกสักหน่อย เนื่องจากการที่ผมได้ไปสะดุดกับโพสต์ใน Social Network ที่มีใครสักคนขุดขึ้นมา เกี่ยวกับเรื่องที่ว่า “อย่าไปเชื่อพวก YouTuber ให้มากนักเรื่องการใช้ Engine Brake” ซึ่งเนื้อหากล่าวโดยย่อก็คือ Engine Brake หรือการทำให้รถหน่วงความเร็วลงด้วยเครื่องยนต์นั้น คือเรื่องที่ไม่จำเป็น ซึ่งกรณีนี้ ผมรู้ดีเลยว่า หลายท่านที่เป็นนักขับรถผ่านเส้นทางภูเขาลาดชันคงขอให้นิ้วหัวแม่โป้งชี้ลงพื้นกับสิ่งนี้

...

ถ้าพูดถึงการขับลงเขา เบรกของรถทั่วไปไม่ว่าจะดิสก์เบรก หรือดรัมเบรก ทำงานโดยการใช้แรงหนีบของคาลิเปอร์ ที่กดผ้าเบรกเข้ากับจานเบรก (ในกรณีดิสก์เบรก) หรือแรงถ่างของก้ามปู (ในกรณีดรัมเบรก) ความฝืดที่เกิดขึ้นเมื่อของอย่างหนึ่งพยายามหยุดการเคลื่อนที่ของอีกสิ่งหนึ่งโดยมีส่วนที่สัมผัสกันโดยตรง ก็มักจะก่อให้เกิดความร้อน แล้วผ้าเบรกของรถยนต์นั้น มีอุณหภูมิในการทำงานที่เหมาะสม กล่าวคือ ถ้าเย็นเกินไป หรือร้อนเกินไป ประสิทธิภาพก็จะลดลง การขับรถลงเขาที่ปลอดภัย หัวใจจึงอยู่ที่การ “ควบคุมความเร็วของรถไม่ให้สูงเกินความสามารถของเบรกที่จะรับไหว” ในจุดนี้ หากเป็นรถเกียร์ธรรมดา การใช้เกียร์ต่ำแล้วยกคันเร่งออกตอนลงเนิน แม้ความเร็วจะยังเพิ่มขึ้น แต่ก็เพิ่มช้ากว่าการใช้เกียร์สูง

บางคนอาจบอกไม่เกี่ยว..ลองง่ายๆ บนพื้นราบเลยครับ ใส่เกียร์ 2 วิ่งไป 50 แล้วยกคันเร่ง กับใส่เกียร์ 4 วิ่งไป 50 แล้วยกคันเร่ง การหน่วงของรถก็ไม่เหมือนกันแล้ว ดังนั้นเมื่อขับบนทางลงภูเขา การใช้เกียร์ต่ำยกคันเร่งแล้วลงเนินไป คือวิธีที่ความเร็วจะเพิ่มช้าที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่ต้องใช้เบรกเท้าเลยนะครับ ยังไงก็ต้องใช้ แต่ระหว่างรถคันที่ใช้เกียร์ต่ำแต่แรกในการช่วยคุมความเร็ว สลับกับเบรกเท้า กับรถอีกคันที่ใช้เกียร์สูงปล่อยไหลจนความเร็วขึ้นสูงไปมาก แล้วไปฝากภาระทั้งหมดไว้กับระบบเบรกเท้า คุณว่าคันไหนเบรกจะร้อนจัดมากกว่ากัน? เหมือนกับถามว่า เบรกจาก 100 กม./ชม. ให้รถหยุด กับเบรกจาก 60 ให้รถหยุด คุณว่าอันไหนสร้างความร้อนมากกว่า? เมื่อความร้อนมันเกินเบรกจะรับ คราวนี้เอาเท้ากดเบรกไป รถก็จะไหล เบรกไม่หน่วงดีเท่าที่มันเคยเป็น หรือที่เรียกว่าอาการเฟดนั่นเอง

ดังนั้น ก่อนที่คุณจะปล่อยลูกสาววัยรุ่นไปเที่ยวเชียงใหม่เชียงรายแล้วเช่ารถขับ ช่วยสอนวิธีการใช้ทั้งเกียร์ และเบรก เพื่อควบคุมความเร็วรถเอาไว้หน่อยก็ไม่น่าจะทำให้เด็กที่ไหนสมองระเบิดหรอกครับ รถเกียร์อัตโนมัติ หรือ CVT อาจจะไม่มีการหน่วงความเร็วที่ชะงักเท่ารถเกียร์ธรรมดา แต่คุณสามารถสั่งให้รถเลือกเกียร์ต่ำได้ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกียร์ +/- ซึ่งพบมากในรถสมัยใหม่ หรือการดึงลงมาตำแหน่ง 2 หรือ L ซึ่ง 2 ก็คือ รถจะถูกรั้งไว้ที่เกียร์ 2 และไม่ข้ามไป 3 ส่วน Honda ใหม่ๆ บางคัน จะไม่มีทั้ง +/- หรือ 2 แต่มี S หรือ B การจะดูว่าเข้าเกียร์ต่ำทำอย่างไร ในคู่มือจะมีบอกไว้เสมอว่า ขับลงเขา ให้เข้าเกียร์ไหน ถ้าคุณคิดจะขับเล่นบนเขาด้วยการแตะเบรกรัวๆ ถี่ๆ แล้วคาเกียร์ไว้ D ก็ขอให้โชคดี แล้วก็อย่าไปทิ่มก้นใครเข้าแล้วกัน

...

การขับบนเขาให้ได้ดี อย่างน้อย คุณมองเข็มความเร็วรถ ประเมินความชันของทางที่ไป คุณต้องนึกให้ได้ว่าใช้เกียร์ไหนถึงจะเหมาะสม หรืออย่างน้อยก็ต้องจำให้ได้ว่าความเร็วที่เหมาะสมของเกียร์ 1, 2, และ 3 นั้นอยู่ที่เท่าไร วิ่งอยู่ 60 ต้องนึกให้ได้ว่าควรเลือกเกียร์ไหน..ผมบอกไว้เลยว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน และบางครั้งที่บางคนมองว่าการขับรถไปไหนต่อไหนเป็นเรื่องง่าย เพราะว่ามันเป็นคนมักง่ายต่างหาก

นอกจากการเลือกเกียร์เพื่อคุมความเร็วแล้ว เวลาคุณเบรก ความนานในการกด และความลึกในการกด ก็มีผลต่อความร้อนของเบรก ถ้าคุณเหยียบ 50% แต่เหยียบค้างไว้อย่างนั้นนานในขณะลงเนิน บางทีมันอาจจะสร้างความร้อนไปที่ระบบเบรกมากกว่าการเหยียบ 70% แต่เหยียบแป๊บเดียวแล้วปล่อย สลับกันไป เพราะเบรกทำงานด้วยการแปลง “ความเร็วของรถ” เป็น “ความร้อน” ตราบใดที่มีการกดเบรก ระบบเบรกก็จะไม่มีการลดความร้อนลง มีแต่เพิ่ม บางครั้งคุณจะเห็นคนขับรถตู้ เบรกหนักจนคนนั่งหัวโยก แต่เบรกแล้วมีจังหวะปล่อย อย่าเพิ่งไปด่าเขาครับ เพราะตอนปล่อยเบรก คือตอนที่เบรกมีโอกาสระบายความร้อน แต่ขัดต่อความสบายของคนนั่ง คนขับบางคนก็กลัวผู้โดยสารตวาด เลยต้องขับเบรกน้อยๆ เลียนานๆ สุดท้ายก็ควันออกล้ออยู่ดี

...

โดยรวมแล้วก็คือ การขับบนเขาระยะทางยาวๆ หรือชันมาก คุณจำเป็นต้องใช้เกียร์ที่ถูกต้องเพื่อการควบคุมความเร็ว และ ใช้เบรกเท้า กับจังหวะ/ความลึกในการเบรกเพื่อชะลอรถ แต่ไม่ได้หมายความว่า เวลาคุณขับบนพื้นราบ ขับในชีวิตประจำวันแล้วต้องกดเบรกเท้าแล้วลดเกียร์ต่ำไปตลอด เพราะมันไม่จำเป็น ถ้าคุณไม่ได้คิดว่าจะขับโหดจนเบรกเดือด คุณไม่จำเป็นต้องใช้เกียร์ช่วยเลยครับ ให้เบรกทำงานของมันไป เพราะอยู่บนทางราบ ไม่ว่าเกียร์ไหนคุณยกคันเร่งความเร็วก็ลดอยู่แล้ว

...

ในกรณีที่ขับรถมา แล้วเจอรถทัวร์ตัดหน้าที่จุดกลับรถ ก็ไม่ต้องพะวงกับการเชนจ์เกียร์ลงครับ ลืมทุกอย่างให้หมด ใช้แต่เบรกเท้ากับเพ่งสมาธิไปที่พวงมาลัยเพื่อหาช่องทางที่จะหักหลบ หรือเบนรถจากแนวการปะทะที่อันตราย เพราะคนส่วนมากไม่ใช่นักแข่งแรลลี่ คุณไม่สามารถทำหลายอย่างพร้อมกันแล้วหวังว่าจะให้มันดี อย่าคิดว่าแค่กระทืบเบรกจมแล้วหักหลบสุดแรงเกิดจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะบางครั้ง เบรกแรงเกินไปกลับกลายเป็นรถหมุนคว้างไปหาเสา หลายคนมักพูดว่า “ถ้าคุณไม่เก่ง ก็กระทืบให้จมสุดไว้ก่อน ให้เบรก ABS มันจัดการ คุณแค่เลี้ยวก็พอ” เอาเข้าจริงรถทรงสูง หรือรถกระบะยุคใหม่ที่มี ABS แล้ว กระทืบเบรกสุดแรงเกิดบางครั้งก็รถหมุนนะครับ ผมเลยจะเสริมว่า “ถ้าคุณไม่เก่ง ก็ไปหาวิธีทำให้เก่งขึ้น หรือเข้าใจประสิทธิภาพรถตัวเองมากขึ้น ไม่ใช่เอะอะกระทืบจมไปจนแก่”

ถ้าคุณดูคลิปรถหมุนบน Tiktok จะเห็นได้ว่าส่วนมาก เกิดจากการเบรกอย่างรุนแรงในขณะที่รถกำลังมีแรงเหวี่ยงไปด้านข้างสะสมอยู่ หรือก็คือ หักหลบก่อนแล้วกระทืบเบรกตอนล้อยังเลี้ยวอยู่ เมื่อวัตถุมันมาในแนวเอียงๆ และมีทิศทางพุ่งไปข้างหน้า พอคุณเบรกมัน ส่วนของวัตถุที่ล้นข้างมานั่นล่ะครับ จะพยายามแซงขึ้นมา วิธีแก้ก็คือคุณต้องเบรกให้สัมพันธ์กับพวงมาลัย ถ้าคิดจะกระทืบเบรกสุดตัว พวงมาลัยควรอยู่ในตำแหน่งตรง หรือเกือบตรงก่อนกระทืบ แต่หลังจากกระทืบแล้วจะไปท่าไหนต่อ

ถ้ารถมีเบรก ABS และยางอยู่ในสภาพดี กดเท้าคาไว้เลยแล้วพุ่งสมาธิไปที่พวงมาลัยเพื่อหักหลบ จำนะ..เบรกก่อนหัก ไม่ใช่หักแล้วกระทืบเบรก ใครบอกทำสองแบบให้ผลไม่ต่างกัน รบกวนคราวหน้าขี่ม้าแทนนะครับ

ถ้ารถไม่มี ABS หรือยางโล้นเป็นยอดเขาเมืองน่าน ก็ยกเท้าขึ้นนิดหน่อย แล้วหักหลบ หาทิศทางหลบที่เป็นเส้นตรงที่สุดเท่าที่คุณจะหาเจอ เพราะหลังหักหลบเสร็จ เมื่อพวงมาลัยกลับมาตรงอีกครั้ง จุดนั้นคุณจะสามารถกดเบรกหนักได้อีกดอกถ้าจำเป็น เรื่องนี้ จะทำได้ดีที่สุด ก็ต้องรู้การตอบสนองของรถที่ตัวเองขับ หรือมีโอกาสได้ลองขับในคอร์สฝึกหัด ซึ่งทางบริษัท ฟอร์มูล่า (สื่อสากล) เขาจะมี Skill Driving Experience ให้ไปลองวิ่งผ่านน้ำ เบรกจม หรือสไลด์ท้ายเล่น คนที่เรียนจบคอร์สเหล่านี้มา จะใช้เบรกเป็นและรู้วิธีหักหลบอย่างปลอดภัยบนพื้นเปียก มีโอกาสรอดมากกว่าคนที่ไม่เคยหัด ถ้าอยากส่งลูกสาวไปเรียน ก็ไม่ต้องกลัว มีอาจารย์ผู้หญิงที่ขับรถบนสนามชนะผมเป็นผู้สอนอยู่หลายคน

พูดถึงสนามแข่ง บางท่านอาจจะยกมือถามว่า อ้าว น้า แล้วที่พวกนักแข่งเขาขับกันล่ะครับ เวลาพุ่งมาสุดตัวบนทางตรง พอถึงทางโค้ง ทำไมเขาต้องเอาปลายเท้ากดเบรก เอาส้นเท้าตอกคันเร่งไปพร้อมๆ กับเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำ (Heel and Toe) ด้วยล่ะครับ ถ้ามันไม่ได้ช่วยหน่วงความเร็ว แล้วเขาทำทำไม?

อาจารย์ที่เป็นนักแข่งระดับมืออาชีพ เคยสอนผมไว้ว่า ในสนาม เกียร์ เราจะใช้เพื่อพุ่งไปข้างหน้า ส่วนจะหยุดการเร่ง เราใช้เบรก ถ้าเบรกไม่ดีพอ ก็ไปทำระบบเบรกให้ทนความร้อน ทนงานโหดมากขึ้น ส่วนสิ่งที่คุณเห็นว่าเขาเชนจ์เกียร์ลง 1-2 ครั้งสุดทางตรงก่อนเข้าโค้งนั้น ไม่ใช่เพื่อชะลอความเร็ว แต่เพื่อเข้าเกียร์ต่ำเตรียมรอไว้สำหรับโค้งข้างหน้าต่างหาก ลองนึกดูสิถ้าโค้งข้างหน้าต้องใช้เกียร์ 2 แล้วคุณพุ่งมาสุดทางตรงเกียร์ 4 คุณจะไปเปลี่ยนลงสองตอนไหนล่ะ? ตอนเข้าโค้งไปแล้วก็คงไม่ใช่ ดังนั้น ก็เลยทำมันในระหว่างที่รถกำลังเบรกอยู่ซะ ซึ่งดูเหมือนง่าย แต่ไม่ง่าย โดยเฉพาะ Heel and Toe ที่ปลายเท้าขวาต้องคุมแรงเบรกให้พอดี เท้าซ้ายเหยียบคลัตช์ ส้นของเท้าขวาตอกคันเร่งให้รอบเครื่องดีดขึ้น และปล่อยคลัตช์ในจังหวะที่ความเร็วรอบเครื่องใกล้เคียงกับความเร็วการหมุน ณ เกียร์ที่กำลังจะเข้า การเบิ้ลรอบเครื่องขึ้นสูง ก็เพื่อความเร็วของรอบเครื่องกับเกียร์ที่ใกล้เคียงกัน พอถอนคลัตช์แล้วไม่เกิดแรงกระชาก เป็นการเซฟเกียร์ และป้องกันไม่ให้เกิด Shift-lock (อาการล้อล็อกเพราะเข้าเกียร์ต่ำกะทันหัน)

แถมให้ว่า Heel and Toe นี่ ถ้าใครทำไม่ได้ ก็ไม่ได้บาปครับ อาจารย์แต่ละคนพูดเหมือนกันว่า อย่าเพิ่ง Heel and Toe เลย ถ้าคุณยังเบรกอย่างเดียวให้ถูกจังหวะไม่ได้ ซึ่งก็คือ เวลาเหาะมาทางตรง ก่อนถึงโค้ง เบรกตัวโก่งไปเลย แล้วก่อนเข้าโค้งก็เอาเท้าซ้ายเหยียบคลัตช์เปลี่ยนเกียร์ แต่ตอนถอนคลัตช์ก็อย่ากระชากโครมคราม ถ้าตอนคลัตช์จับปุ๊บหน้ารถกระชากทิ่มมากกว่าเดิม แปลว่าตอนนั้นเรายังใช้เบรกเท้าขวาไม่แรงพอ ก็ไปฝึกเรื่องแรงเบรก จังหวะเบรก ท้ายสุดโฟกัสของการหน่วงความเร็วในสนาม ก็เน้นที่เบรกเท้าเป็นหลัก การเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำ ทำเพื่อเตรียมรอโค้งถัดไป ไม่ได้เกี่ยวกับการหน่วงความเร็ว

โดยสรุป การขับบนเขา ใช้เกียร์ต่ำเพื่อ “ควบคุมความเร็วรถ” ไม่ให้เกินขีดจำกัดที่เบรกจะรับได้ แต่ตอนหน่วงความเร็ว เราใช้เบรกเท้าล้วนๆ ใช้เกียร์แต่แรกเพื่อเอารถให้อยู่ แต่ตอนเบรก ก็โฟกัสไปที่เบรกเท้า ความลึกในการกด และจังหวะในการปล่อยให้มันดี ไม่ต้องเบรกพร้อมเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำตลอด โดยเฉพาะถ้ามันทำให้คุณคุมแรงเบรกที่เท้าไม่แม่น หรือจะใช้วิธีนั้นก็ต่อเมื่อ ถ้าไม่ทำแล้วคุณอาจเสี่ยงตาย ที่สำคัญคือ อย่าลืมดูแล ตรวจสอบระบบเบรก เช็กระดับน้ำมันเบรก ความหนาของผ้าเบรก เช็กคราบน้ำมันรั่วที่ระบบเบรกก่อนไปขับตะลุยบนภูเขา เพราะถ้าเกิดพังไปสักอย่างสองอย่าง ไอ้สิ่งที่เขียนมาสามหน้ากระดาษนี้ ไม่เหลือความหมายเลยจริงๆ นะเธอ.

Pan Paitoonpong