ว่าด้วยเรื่องของเบรก และซ่อมบำรุง

เราพูดเรื่องความแรง รถแรงกันมาเยอะแล้ว สิ่งที่ทำให้ผมคิดได้ว่าน่าจะเขียนเรื่องเบรกกันสักหน่อย เพราะเป็นอุปกรณ์สำคัญที่มีหน้าที่เซฟไม่ให้คุณหน้าแตก ไม่ให้ไฟหน้าแตก หรือถึงขั้นดับสูญชีวี เบรกคืออุปกรณ์ที่คนใส่ใจค่อนข้างน้อย..สำหรับบางคนสีรถที่เงาฉ่ำ ภายในที่สูดกลิ่นแล้วสดชื่นปอด คือสิ่งที่เจ้าของพลีเงินค่าความสวยงามให้ปีละเป็นหมื่น แต่กับระบบเบรก..อย่าว่างู้นงี้เลยครับ เช็กน้ำหม้อน้ำ น้ำมันเครื่องเสร็จแล้ว กี่คนที่เลยไปส่องกระปุกน้ำมันเบรก ถ้าคุณคือคนที่ทำเป็นประจำทุกสัปดาห์ รวมถึงยังคอยเอาไฟฉายส่องดูผ้าเบรกด้วย คุณเจ๋งมากครับ นี่สิคนรักรถตัวจริง

...

เมื่อเราพูดถึงการบำรุงรักษา หลายคนมักจะถามผมว่า น้ำมันเบรก ควรเปลี่ยนทุกกี่ปี เรื่องนี้ ผมจะบอกเสมอว่า ให้ดูที่จำนวนกิโลเมตรเป็นหลัก และปีที่ใช้งานเป็นรอง สำหรับคนที่ขับรถใช้งานตามปกติ ไม่ใช่รถประเภทสปอร์ตคาร์สมรรถนะสูง การเปลี่ยนน้ำมันเบรกทุก 40,000 กิโลเมตรนั้น เพียงพอแล้วครับ ส่วนใครที่ใช้รถน้อย เช่นวิ่งแค่ปีละ 10,000 กิโลเมตร แบบนี้ พอครบ 2 ปี ก็ควรเปลี่ยนได้แล้ว สีของน้ำมันเบรก (ใส/คล้ำ) สามารถบอกได้ว่าควรถึงเวลาเปลี่ยนแล้วหรือยัง น้ำมันเบรกมักจะดำช้ากว่าน้ำมันเครื่องนะครับ แต่คุณอย่ารอให้มันดำเข้มเลย แค่เปลี่ยนเป็นสีชาลิปตัน ก็ควรลองเช็กแล้วว่า ถ่ายน้ำมันเบรกครั้งล่าสุดเมื่อไหร่

การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกของแต่ละคน ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน บางคนที่ต้องลุยน้ำบ่อย ตัวรถสัมผัสความชื้นสูงเป็นนิจ หรือพวกที่ขับแบบใช้เบรกจนเต็มประสิทธิภาพบ่อยๆ พวกนี้อาจไม่ต้องรอถึง 40,000 กิโลเมตรก็ได้ครับ อาจจะลดเหลือ 30,000 กิโลเมตร แต่จะ 20,000 เลยนั้น ก็ดูจะเกินจำเป็นไปนิด ผมมีเพื่อนจำพวกเท้าผีหลายคน และเท่าที่ดูน้ำมันเบรกของรถพวกมันตอนใช้ไป 20,000 กิโลเมตรนั้นสภาพยังโอเคอยู่ครับ

ส่วนน้ำมันเบรกที่ใช้กันในปัจจุบัน ก็มีทั้งเกรด DOT3, DOT4, DOT5 หรือ 5.1 ซึ่งในกรณีของรถส่วนใหญ่ เราจะเติมน้ำมันเบรกตามคู่มือกำหนด รถญี่ปุ่นหลายรุ่น พอข้ามศตวรรษมาจะเติม DOT3 หรือ DOT4 กันเป็นส่วนใหญ่ น้ำมันเบรกเหล่านี้จะมีจุดที่ต่างกันคือสารประกอบที่อยู่ในน้ำมันเบรก ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อดึงจุดเดือดของน้ำมันให้สูงขึ้น แต่เรื่องนี้ ไม่ต้องคิดมากครับ ถ้าคู่มือบอกให้ใช้ DOT4 ได้ ก็เติม DOT4 ไปเลย เพราะน้ำมันเบรกอย่างหลังจะคงประสิทธิภาพได้ดีกว่าเมื่อเริ่มใช้งานหนัก แต่การเติมน้ำมันส่วนที่นอกเหนือคู่มือไปนั้น ต้องลองดูว่า เราใช้รถรุ่นไหน และถามคนที่มีประสบการณ์กับรถรุ่นนั้น อย่างรถเก่าอายุ 30 ปี บางคันใช้ DOT4 มาหลายปีไม่เป็นไร แต่บางคันเจ้าของบอกว่าใช้แล้วลูกยางเบรกบวม ก็มีเช่นกัน (ส่วนตัวผม Nissan อายุ 30 ปี ในคู่มือให้เป็น DOT3 แต่ผมเติม DOT4 มา 20 ปีแล้วครับ ลูกยางเบรกมาพังเอาตอนที่รถจอดนิ่งๆอยู่ 3-4 ปี ซึ่งไม่น่าเกี่ยวกับน้ำมันเบรกที่ใช้

...

นอกจากน้ำมันเบรกแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่คุณต้องเปลี่ยนบ่อยไม่แพ้กันก็คือผ้าเบรก

ซึ่งสำหรับคนที่ใช้รถโมเดลใหม่ๆนั้น การใช้ผ้าเบรกที่มีในศูนย์บริการก็ไม่ผิดนะครับ หลายคนมักจะตั้งเป้าไว้ก่อนว่า ผ้าเบรกศูนย์แพง (ตัวผ้าไม่แพงครับ แต่บางศูนย์จะแพงที่ค่าแรง) แต่จะบอกว่า เปลี่ยนข้างนอก แล้วเลือกผ้าเบรกไม่เป็น ไปเลือกของถูกมา ก็อาจซวยเบรกไม่ดี เพราะการทำงานของผ้าเบรกนั้นไม่ใช่แค่สักแต่ว่ามีความฝืดแล้วก็บีบจานให้มันหยุดนะครับ ในทางฟิสิกส์ การเบรก คือการเปลี่ยนพลังงานจากการเคลื่อนที่ ไปเป็นพลังงานความร้อน ดังนั้นเวลาเราเบรก มันถึงมีความร้อนเกิดขึ้นที่จานเบรก แล้วก็ส่งต่อไปยังผ้าเบรก แล้วก็ชุดคาลิเปอร์ ลูกยางต่างๆ และรวมถึงน้ำมันเบรกด้วย

...

เมื่อคุณใช้ผ้าเบรกราคาถูกและเป็นยี่ห้อที่เน้นทำมาถูก บางทีมันก็เบรกไม่อยู่ เพราะพอร้อนปุ๊บ ประสิทธิภาพหาย ดังนั้น ถ้าเลือกไม่เป็นจริงๆ ก็ผ้าเบรกศูนย์แหละครับ มันไม่ใช่ผ้าเบรกที่ดีที่สุด แต่เป็นของที่เปลี่ยนใส่แล้วให้ความมั่นใจได้ สำหรับคนที่ขับรถไม่เร็ว และไม่มีเวลาไปศึกษาผ้าเบรกยี่ห้อต่างๆ ผ้าเบรกศูนย์ของรถบางยี่ห้อก็ไม่กระจอกนะครับ อย่างพวก Suzuki Swift ECO นั้น ผ้าเบรกเดิมสามารถรองรับการขับซิ่งได้ดีระดับนึงเลยด้วย

...

แต่ถ้าคุณเป็นขาซิ่ง หรือคิดว่าผ้าเบรกเดิมๆ ของศูนย์ไม่พอ ก็ต้องหาผ้าเบรกแต่ง/ผ้าเบรกซิ่ง ซึ่งมีมากมายในตลาด ฝั่งแบรนด์ไทย ก็จะมี National Brake, Nexzter เป็นต้น แบรนด์ญี่ปุ่น มี Akebono, Dixcel แบรนด์ฝรั่งมี EBC, Brembo เป็นต้น ที่จริงมีอีกหลายยี่ห้อ แต่ประเด็นสำคัญคือ แต่ละค่ายเขาจะมีการจัด Level ความดุของผ้าเบรกตามสไตล์เขา แต่ส่วนมากมักจะมีการเคลมว่าทนความร้อนกันได้กี่องศา ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณแล้วล่ะครับว่าตัวเองขับเร็วแบบไหน ถ้าเร็ว แต่ไม่ค่อยได้ใช้เบรก จะใช้เบรกอย่างหนักตอนมีรถตัดหน้าแล้วต้องต้านเท้าสุด แค่ต้องการเอาเบรกที่ทนกว่าเกรดศูนย์ไว้อุ่นใจ แบบนี้ คุณมองไปที่ผ้าเบรกพวกที่เคลมทนร้อน 500-600 องศา ผมว่าเอาอยู่ครับ (จากประสบการณ์ส่วนตัว)

ส่วนคนที่ขับบนถนนราวกับสนามแข่ง (ซึ่งผมไม่ได้สนับสนุน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อยากให้คุณเบรกไม่อยู่ชนวัวชนควายตาย) เร่งความเร็วสูงมากๆ แล้วเบรก แล้วเร่งแล้วเบรกบ่อยๆ คุณเล็งพวกผ้าเบรกระดับ 800 องศาไว้ก็ได้ครับ น่าจะได้ใช้คุ้ม

บางคนอาจจะบอกว่า อ้าว คุณ ถ้าไทป์ 800 องศา มันเบรกดีกว่า ทำไมไม่ให้ใช้เบรกทนร้อนสูงไปให้หมดเลยละครับ? ต้องอธิบายว่าผ้าเบรกที่ทนความร้อนสูงมากๆ มักจะมีนิสัยเสียคือ ตอนสตาร์ตรถขับออกไปใหม่ๆ มันจะเบรกไม่อยู่ครับ พวกผ้าเบรกทนร้อนนี้ คุณต้องใช้ให้มันร้อนถึงระดับนึง มันถึงจะทำงานได้ดี คนที่ใช้จึงต้องไม่ลืมว่า ผ้ายังเย็นจะเบรกไม่อยู่ ประการต่อมาคือเสียง...ผ้าเบรกที่ทนร้อนสูงมากๆ มักจะมาพร้อมเสียงเสียดสีที่ดัง ตอนใส่ใหม่ๆอาจจะเงียบแต่พอผ่านไปสักพักร้องแหลมราวค้างคาวโดนเหยียบเท้า ยี่ห้อไหนที่ไม่ดัง คุณอาจจะโชคดีครับ

ซึ่งเรื่องนี้ต่างจากพวกผ้าเบรก 600 องศา ซึ่งถึงแม้จะทนร้อนน้อยกว่า แต่มีโอกาสที่จะดังน้อยกว่า ที่สำคัญคือเวลาขับในเมือง ก็มักจะเบรกให้รถหยุดได้นุ่มเท้า ทั้งตอนร้อนและเย็น ในขณะที่พวก 800 องศานั้น พอร้อนได้ที่ เหยียบเบรกเบาๆ แมวหมาแทบจะพุ่งจากเบาะหลังมาชนกระจกหน้า ผมถึงบอกว่าของพวกนี้ ได้อย่าง เสียอย่าง และพวกที่ทนร้อนกว่า ก็มักจะมีราคาแพงกว่าด้วย ถ้าไม่อยากจ่ายแพง ไม่อยากเบรกทิ่มจึ้ก ไม่อยากได้ยินเสียงดัง ก็ขับรถให้ช้าลงครับ แค่นั้น

คำถามต่อมาที่เจอประจำเวลาเปลี่ยนผ้าเบรกคือ พอเปลี่ยนผ้าเบรกแล้วต้องเจียจานเบรกมั้ย?

การเจียจากเบรก แน่นอนครับว่ามันก็ทำให้จานเบรกบางลง อายุการใช้งานที่เหลือมันก็สั้นลงด้วย ดังนั้นปกติ ผมจะไม่แนะนำให้เจียจานเบรก บางคนบอกว่า ถ้าไม่เจียจาน เมื่อใส่ผ้าเบรกใหม่ หน้าสัมผัสของผ้าเบรกกับจานมันจะไม่เต็ม..ผมจะบอกให้ว่า ถึงเจีย มันก็ไม่ได้เต็มหรอกครับ การเจียจานเบรกน่ะ เอาไว้ใช้ก็ต่อเมื่อ หนึ่ง คุณไม่สบายใจ ต่อให้ใครจะบอกว่าไม่ต้องเจีย คุณก็นอนไม่หลับ ก็เจียซะแล้วหลับให้สบายนะลูก และสอง เมื่อจานเบรกเดิมคด โดยเฉพาะพวกที่ขับซิ่งๆเบรกร้อนมา แล้วเจอน้ำท่วมแล้วลงไปลุยทันที พวกนี้เสี่ยงจานคดง่ายครับ โดยเฉพาะพวก Honda

เมื่อจานคด เวลาเบรก รถก็จะสั่นสะท้าน แบบนี้ครับ เราค่อยเจียจานเบรกกัน

นอกจากนี้ ไหนๆ เมื่อคุณให้ร้านรื้อชุดเบรกออกมาดูแล้ว ก็ฝากเขาเช็กสภาพลูกยางเบรกด้วยเลยแล้วกัน โดยเฉพาะกับรถที่วิ่งมาเกินแสนกิโลเมตร หรือรถที่มักจอดในที่ที่น้ำท่วมถึงแบบมิดแก้มยาง ความชื้นสามารถทำลายซีลยางตรงนี้ได้ดีครับ โดยเฉพาะกับรถที่จอดมากกว่าใช้ เพราะพวกรถที่ได้วิ่งทุกวัน ซีลยางเมื่อโดนความร้อนจากการเบรก ความชื้นก็ถูกไล่ไปได้บ่อย เมื่อลูกยางเบรกเสื่อม ประสิทธิภาพการเบรกแย่ลง ที่สำคัญคือ พวกจุดเชื่อมต่อสายเบรก เช็กสักนิดก็จะดีมาก เพราะบางที น้ำมันเบรกก็สามารถรั่วได้ แล้วมันไม่ได้รั่วแบบทันทีให้เรารู้สึกไงครับ มันรั่วแบบน้ำเซาะตลิ่งไปเรื่อยๆ รู้ตัวอีกที น้ำมันเบรกหายไปเกินครึ่ง รถบรรทุกตัดหน้า เบรกกันให้บ้า รถก็ไม่ชะลอ

โดยสรุป สำหรับการใช้งานและการดูแลโดยผู้ใช้ (ซึ่งไม่ใช่ช่างซ่อมรถ) คุณคอยดูน้ำมันเบรก ผ้าเบรก และส่องตรวจสอบสายเบรก จุดเชื่อมต่อต่างๆเท่าที่ทำได้ เปลี่ยนน้ำมันเบรกตามอายุ ส่วนผ้าเบรก สามารถใช้ได้จนกระทั่งเริ่มบางครับ ส่องไฟดู ถ้าเห็นผ้าเบรกไม่ถึง 4 มิลลิเมตร บางทีคุณอาจจะอยากเปลี่ยนใหม่ หรือดึงเวลาให้การเปลี่ยนผ้าเบรก กับเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกเกิดขึ้นพร้อมกันไปเลย และขอช่างให้ช่วยเช็กเรื่องลูกยางเบรกไปด้วยทุกครั้งที่เซอร์วิสระบบเบรก

เพียงแค่นี้ ความปลอดภัย ก็จะมีแก่ชีวิตและทรัพย์สินของตัวเอง กล้วยเบรกแตกน่ะอร่อย แต่รถเบรกแตก งานนี้จะกร่อยเอานะครับ.

Pan Paitoonpong