อากาศในเดือนเมษายน-พฤษภาคม นั้นร้อนราวกับเตาอบ ทำให้ระบบหล่อเย็น หรือระบบระบายความร้อนในรถยนต์ของคุณต้องทำงานอย่างหนัก ของเหลวในระบบหล่อเย็นเป็นอีกจุดที่ควรตรวจสอบเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นรถใหม่ หรือรถเก่า หากน้ำในหม้อน้ำรถยนต์อยู่ในระดับต่ำ อาจก่อให้เกิดอาการไข้ตัวร้อนของเครื่องยนต์ที่กำลังทำงานท่ามกลางอุณหภูมิที่ร้อนระอุในตอนกลางวัน ควรตรวจสอบระดับน้ำหล่อเย็นในหม้อน้ำ หรือในถังพักน้ำ เมื่อเห็นว่ามีระดับต่ำ ก็เติมให้พอดีกับขีดที่กำหนด การตรวจสอบต้องทำในขณะที่เครื่องยนต์ยังเย็นอยู่ และไม่ได้มีการสตาร์ตเครื่องขณะตรวจสอบระดับน้ำในระบบ

...

ระบบระบายความร้อนเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำให้เครื่องยนต์มีอุณหภูมิคงที่ในการทำงาน หากทำงานผิดพลาด หรือไม่ทำงาน อาจทำให้เครื่องยนต์ได้รับความเสียหาย ควรใส่ใจเปิดฝากระโปรงดูระดับน้ำในระบบหล่อเย็นอยู่เสมอ เมื่อน้ำขาดระบบระบายความร้อนจะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เครื่องยนต์จะมีอุณหภูมิสูงอย่างต่อเนื่อง และเสี่ยงต่อการสึกหรอเสียหายลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่โต หากร้อนจนน้ำแห้งแล้วฝืนขับต่อจนเครื่องดับ ซึ่งอาจทำให้ฝาสูบโก่ง คราวนี้ถึงกับงานเข้ากันเลยทีเดียว เพราะค่าซ่อมไม่ใช่ถูกๆ เมื่อตรวจพบว่าระดับน้ำในระบบหล่อเย็นพร่องลงไปบ่อยครั้ง ให้ตรวจหารอยรั่วจากรอยน้ำที่หยด เมื่อต้องเติมน้ำบ่อยๆ ระบบหล่อเย็นที่มีทั้งท่อทางเดินของหม้อน้ำ วาล์วน้ำและปั๊มน้ำ ถือเป็นงานของศูนย์บริการหากมีชิ้นส่วนดังกล่าวเกิดการสึกหรอเสียหาย ส่งผลให้ระบบหล่อเย็นทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

การตรวจสอบระบบหล่อเย็น ทั้งการดูระดับน้ำจากถังพัก หรือเปิดฝาหม้อน้ำ เพื่อตรวจดูด้วยสายตา ว่าระดับน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ สิ่งที่ควรตรวจต่อไปก็คือ สปริงในฝาหม้อน้ำตายหรือเปล่า หรือเก่าจนแทบจะหมดสภาพ ยางโอริงบริเวณใต้ฝาหม้อน้ำอาจจะหมดสภาพแข็งกระด้าง หรือกรอบจนทำให้น้ำซึมออกมา ดูเหมือนปัญหาไม่ได้ใหญ่โตอะไร แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ ไม่เปลี่ยนฝาหม้อน้ำใหม่ ก็อาจเกิดอาการขึ้นได้ทุกเมื่อที่เอารถออกไปขับใช้งาน พัดลมไฟฟ้าทำงานเต็มกำลังหรือไม่? ลองเอามือบีบท่อยางของหม้อน้ำทั้งเข้าและออก ตรวจดูว่าแตกกรอบหรือเปล่า สายรัดโลหะรัดแน่นหนาดี หรือมีรอยน้ำซึมออกมา ถ้าพบว่าท่อยาง หรือสายรัด ใกล้จะหมดสภาพ ให้รีบหาของใหม่เปลี่ยนทันที

เมื่อระบบระบายความร้อนไม่ทำงานขณะขับเคลื่อน เครื่องยนต์มีอุณหภูมิสูงจนเกินขีดจำกัด หรือร้อนจนดับ เข็มความร้อนชี้ไปที่ H จนสุด สตาร์ตไม่ติด (จริงๆ แล้วไม่ควรสตาร์ตจนกว่าอุณหภูมิความร้อนของเครื่องยนต์จะลดลงมา) หาที่จอด ห้ามขับต่อ และต้องรอให้เครื่องเย็นลงแล้วค่อยเติมน้ำ หรือตรวจสอบการทำงานของพัดลมไฟฟ้า ระดับน้ำในหม้อน้ำรถยนต์ หรือในถังพักว่าแห้งหรือเปล่า ห้ามเปิดฝาหม้อน้ำขณะที่เครื่องยนต์ยังมีอุณหภูมิสูงอย่างเด็ดขาด เพราะอันตราย แรงดันภายในที่พ่นน้ำร้อนๆ ออกมาจะทำให้คุณได้รับบาดเจ็บ ต้องทำใจในการรอ โดยทิ้งไว้จนเข็มวัดอุณหภูมิลงต่ำ เอามือแตะเครื่องแล้วแค่อุ่นๆ (ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง) แล้วค่อยเปิดฝาหม้อน้ำเพื่อเติมน้ำ

...

อาการโอเวอร์ฮีต หรืออาการเครื่องยนต์ร้อนจัด เข็มความร้อนกวาดขึ้นไปจนถึงขีดแดง ตามด้วยอาการเครื่องน็อก หรือดับไปดื้อๆ สตาร์ตเท่าไรก็ไม่ติด เมื่อรอจนเย็นแล้วเติมน้ำ สตาร์ตเครื่องได้เดี๋ยวเดียวก็กลับมาร้อนอีกอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่แค่รถเก่าอายุการใช้งานเยอะ จะเป็นโรคไข้ตัวร้อน รถใหม่ป้ายแดง บางทีหากระบบระบายความร้อนเกิดปัญหาขึ้นมาเพราะขาดการดูแล เห็นว่ายังใหม่เอี่ยมก็เลยไม่ได้เปิดฝากระโปรงเช็กระดับน้ำในหม้อน้ำว่าเพียงพอหรือไม่ เมื่อรถเกิดร้อนรุ่มกลุ้มอุราก็จอดไม่ต้องแจวได้เหมือนกัน ในรถยนต์ยุคใหม่มักไม่ใส่เกจ์วัดความร้อนมาให้ ใช้งานกันเพลินด้วยความวางใจในรถใหม่ป้ายแดง ลืมดูระดับน้ำในหม้อน้ำ รู้ตัวอีกทีหน้าจอก็เตือนเรื่องความร้อนของเครื่องยนต์ พานจะพังกันไปยกใหญ่ เพราะน้ำแห้ง เครื่องยนต์ร้อนจัดควันโขมง น้ำเดือดพล่าน จอดยาวไม่ต้องไปต่อกันเลยทีเดียว

สาเหตุที่ระบบระบายความร้อนเจ๊ง

น้ำในหม้อน้ำ
ระดับน้ำในหม้อน้ำต่ำเกินไปกว่าเกณฑ์ที่กำหนด หม้อน้ำรั่ว หรือท่อยางกรอบแตก ควรตรวจระดับน้ำในหม้อน้ำทุก 3-4 วันต่อครั้ง หรืออย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เปิดดูฝาหม้อน้ำและสังเกตดูว่าน้ำในหม้อพัก น้ำลดระดับลงหรือไม่ เมื่อเห็นว่าระดับน้ำในหม้อน้ำลดลงแต่ไม่มาก ก็เติมน้ำยาหม้อหล่อเย็นผสมน้ำลงไปที่หม้อพักน้ำตามขีดสูงสุดที่กำหนดไว้ หากน้ำหายมากเกินไป ควรให้ช่างหาสาเหตุที่น้ำในหม้อพักน้ำขาด เพื่อทำการแก้ไข

...

สายพานปั๊มน้ำ
สายพานที่คล้องอยู่กับพูเลย์ปั๊มน้ำ เมื่อหย่อน ขาด หรือเกิดอาการลื่น เนื่องจากใช้งานมานาน ทำให้ปั๊มน้ำหยุดทำงานไปด้วย เมื่อปั๊มน้ำหยุดทำงาน ทำให้การหมุนวนน้ำเพื่อระบายความร้อนให้กับเครื่องยนต์หยุดไปด้วย เครื่องยนต์จึงเกิดอาการร้อนจัด เมื่อเห็นว่าสายพานเริ่มแตกลายงาก็ควรจะเปลี่ยน ไม่ปล่อยทิ้งไว้จนเกิดเรื่องเกิดราว

พัดลมไฟฟ้า
พัดลมไม่ทำงาน ใบพัดลมแตกหักเสียหาย หรือทำงาน แต่หมุนเอื่อยๆ ไม่แรงพอ ทำให้แรงลมไม่พอที่จะเป่าหม้อน้ำเพื่อระบายความร้อน พัดลมจู่ๆ ก็หยุดทำงาน ลองเปิดดูที่ฟิวส์ควบคุมพัดลม อาจแค่ฟิวส์ขาดก็ได้ หรือถ้าพัดลมไฟฟ้าพังก็ทำให้เครื่องร้อนจัดได้เช่นเดียวกัน อาการพัดลมใกล้พังจะมีเสียงดังและหมุนช้าลง เมื่อเห็นว่าจวนไปจวนเจ๊งแบบนั้นก็ต้องยอมควักกระเป๋าเปลี่ยนใหม่เถอะครับ

...

ใช้งานมานานจนหม้อน้ำอุดตันจากสนิมในระบบระบายความร้อน
สนิม หรือตะกรัน อาจจับตัวเกาะอุดตันได้ในระบบระบายความร้อน ที่มีทั้งท่อทางเดินของระบบระบายความร้อนที่ทำจากอะลูมิเนียม หรือเหล็ก สนิมอาจเกาะในท่อน้ำ หรือในหม้อน้ำ สนิมจับทางระบายน้ำในเสื้อสูบ ปั๊มน้ำใช้งานมานานจนเกิดตะกรัน หรือเป็นสนิม ใบพัดปั๊มน้ำแตกเสียหายอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ มักจะเกิดขึ้นกับรถยนต์รุ่นคุณปู่ แต่รถใหม่ใช้งานหนักก็เป็นได้เหมือนกัน

วาล์วน้ำ หรือเทอร์โมสตัท
สวิตช์ควบคุมการเปิดปิดของวาล์วน้ำในระบบระบายน้ำร้อนไม่ทำงาน หรือเทอร์โมสตัทเสีย ทำให้เครื่องยนต์ร้อนจัดอย่างรวดเร็ว เมื่อวาล์วน้ำไม่ทำงาน หรือเปิดไม่สุด ระบบน้ำหล่อเย็นไม่หมุนวนเพื่อช่วยลดอุณหภูมิการทำงานของเครื่องยนต์ ทำให้อุณหภูมิเครื่องยนต์สูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนโอเวอร์ฮีต วาล์วน้ำมักไม่มีอาการก่อนลาตาย จู่ๆ ถ้าเจ๊งขึ้นมาความร้อนจะพุ่งปรี๊ดราวกับจรวด

ฝาปิดหม้อน้ำ
ฝาปิดหม้อน้ำเป็นอุปกรณ์ที่ทำงานภายใต้แรงดัน และอุณหภูมิสูงอยู่ตลอดเวลา หากฝาหม้อน้ำชำรุดเสียหาย หรือเกิดสนิม จะทำให้ระบบที่สร้างสุญญากาศในหม้อน้ำไม่ทำงาน น้ำไม่ไหลวนในระบบ จนทำให้ความร้อนขึ้นสูงถึงอุณหภูมิน้ำเดือด

ปะเก็นฝาสูบ
ปะเก็นฝาสูบที่สมบูรณ์ ช่วยทำให้กำลังอัดดีขึ้น หากปะเก็นฝาสูบรั่ว นอกจากกำลังอัดจะตกแล้ว ยังทำให้น้ำในหม้อน้ำไหลเข้ากระบอกสูบอีกด้วย คราวนี้พังกันยาว

น้ำมันเครื่อง
น้ำมันเครื่อง ช่วยทำให้ชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวได้ของเครื่องยนต์ทำงานเคลื่อนที่ได้อย่างสะดวก และช่วยลดอุณหภูมิการทำงานของเครื่องยนต์ เมื่อน้ำมันหล่อลื่นต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด น้ำมันเครื่องรั่วหยดจนเหลือไม่เพียงพอต่อการหล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆ ทำให้การระบายความร้อนทำงานไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถระบายได้ดี เกิดปัญหาที่เพลาข้อเหวี่ยง ทำให้เกิดความร้อนสะสม ตามมาด้วยอาการชาร์ปละลายติดกับเพลาข้อเหวี่ยง.



ผู้เขียน : อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/