การขับรถท่ามกลางสภาพการมองที่ลดลงมากในตอนกลางคืนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุจากหลายปัจจัย ตัวแปรส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความประมาท ขาดความระมัดระวัง หรือระลึกรู้ในเรื่องของความปลอดภัย จากสถิติของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ (Thai RSC) พบว่า จำนวนการแจ้งเหตุผู้ประสบภัยจากรถใน พ.ศ. 2564 ในช่วงเวลา 18.00-02.00 น. มีจำนวนมากกว่า 140,000 ราย ทั้งนี้ เนื่องจากดวงตาของเรา ต้องมีการเพ่งหรือปรับตัวเพื่อการมองเห็นในสภาวะแสงน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ความเร็วในที่มืด การขับรถในเวลากลางคืนจึงอาจทำให้ทัศนวิสัยของผู้ขับขี่ถดถอยลง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการกะระยะ การจำแนกสี หรือประสาทการมองเห็นรอบด้าน รวมถึงตัวแปรอื่นๆ บนถนน เช่น จักรยานยนต์ไม่มีไฟท้าย รถบรรทุกที่จอดเสียบนไหล่ทาง รถอีแต๋นที่วิ่งช้าๆ และไม่มีไฟส่องสว่าง แมวหรือหมาที่เดินหรือวิ่งตัดหน้าเพื่อข้ามถนน 

...

วิธีที่จะทำให้การขับรถในเวลากลางคืนให้มีความปลอดภัย ตั้งแต่การหลีกเลี่ยงไฟสูงจากรถคันอื่น ไปจนถึงการสอดส่องความเร็วของผู้ร่วมถนนที่อาจทำให้เกิดอันตราย สายตาที่ต้องใช้เยอะกว่าตอนกลางวันทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าโดยไม่รู้ตัว ช่วงพลบค่ำก่อนที่จะหมดแสง หรือช่วงโพล้เพล้ มักมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากสายตาของเราจะต้องปรับไปตามสภาพแสงที่ค่อยๆ ลดลง จนมืดสนิท ลดความเร็วทุกครั้งเมื่อขับในช่วงก่อนพลบค่ำ ใช้ความเร็วต่ำ กวาดตามองให้ทั่ว รวมถึงการมองกระจกมองข้างและกระจกหลัง สลับกับการมองไกลไปข้างหน้า 

ไฟหน้า

เมื่อถึงเวลาโพล้เพล้ใกล้ค่ำ ต้องเปิดไฟหน้ารถเสมอ เพื่อให้ตาของเราสามารถปรับให้เข้ากับความมืดในเวลาพลบค่ำได้ ไฟหน้าจะช่วยป้องกันภัยอันตราย ทำให้มองเห็นได้ในที่มืดและเป็นการแจ้งเตือนผู้ใช้ถนนรายอื่นได้ แต่ข้อสำคัญคือ ต้องไม่ใช้ไฟสูงที่จะทำให้คนที่กำลังขับสวนมาตาพร่าจากแสงที่สว่างเกินไป รถยนต์รุ่นใหม่ๆ มักจะมีระบบยกหรือลดไฟสูงอัตโนมัติที่สามารถยกไฟสูงเมื่อทางข้างหน้ามืดสนิท และลดไฟสูงอัตโนมัติเมื่อตรวจจับเจอแสงไฟของรถคันหน้าส่องมา เพิ่มสมาธิให้ผู้ขับขี่สามารถสังเกตเส้นทางในความมืดได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการควบคุมไฟสูง ในขณะที่ไฟตัดหมอก ได้รับการออกแบบมาให้สีเข้มขึ้นเพื่อเพิ่มวิสัยทัศน์และความปลอดภัยในการขับขี่ในเวลากลางคืน หรือในขณะที่มีสภาพอากาศที่ไม่ดี 

...

ทิ้งระยะห่างมากขึ้นกว่าการขับในตอนกลางวัน

เมื่อมีรถวิ่งอยู่ด้านหน้าขณะขับขี่ยามค่ำคืน ทำให้ผู้ขับต้องเพ่งสมาธิไปที่รถคันหน้า ว่าจะเร่งหรือเบรก และด้วยความสามารถในการกะระยะที่ลดลง อาจจะทำให้เกิดความตึงเครียดโดยไม่รู้ตัว เทคโนโลยีช่วยขับ ช่วยเว้นระยะห่างจากรถคันหน้า จึงมีความจำเป็นในสถานการณ์เช่นนี้ ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ (Adaptive Cruise Control) ทำให้คุณไม่ต้องคอยเหยียบเบรกและคันเร่งบ่อยๆ เมื่อเดินทางไกล โดยระบบจะรักษาระยะห่างจากรถคันหน้าให้อัตโนมัติ สามารถตั้งค่าระยะห่างและความเร็วที่พอเหมาะ เมื่อรถคันหน้าชะลอลง ระบบดังกล่าวก็จะช่วยชะลอตามได้แบบอัตโนมัติ และเมื่อถนนโล่งมากขึ้น ทำให้รถคันหน้าเร่งความเร็ว ระบบจะปรับให้รถกลับมาวิ่งที่ความเร็วที่ตั้งค่าไว้ อย่างไรก็ตาม อย่าพึ่งพาระบบช่วยขับมากจนเกินไป ให้รักษากฎของความปลอดภัยเอาไว้เสมอ

...

แจ้งเตือนรถคันอื่นเมื่อเกิดความผิดพลาดในรถของคุณ

ความขัดข้องทางเทคนิคสามารถเกิดระหว่างขับขี่ยามค่ำคืนได้ ไม่ว่าคุณจะตรวจเช็กสภาพรถอย่างรอบคอบแล้วก็ตาม บางครั้งผู้ขับอาจจะลืมเติมเชื้อเพลิง เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง หรือมีเหตุยางแบนกะทันหัน หลังจากวิ่งเหยียบของมีคมที่มองไม่เห็นบนถนน เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินที่ทำให้รถไปต่อไม่ได้ ควรแจ้งเตือนผู้ร่วมทางด้วยการกดสัญญาณไฟฉุกเฉินและนำรถออกห่างจากการจราจรให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ห้ามจอดรถบนไหล่ทาง หลีกให้พ้นจากบริเวณไหล่ทางซึ่งถือเป็นเขตแดนอันตราย ก่อนออกเดินทาง ควรตรวจเช็กทั้งลมยางและของเหลวอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงเติมเชื้อเพลิงให้เต็ม โดยไม่ต้องรอให้ไฟแจ้งเตือนน้ำมันใกล้หมดติดขึ้นมา 

...

ระวังสัตว์วิ่งตัดหน้า

การขับขี่ในบริเวณที่อาจมีสัตว์ข้ามถนน สมาธิการขับที่จดจ่ออยู่กับเส้นทางข้างหน้า กับสภาวะแวดล้อมยามค่ำคืน ที่อาจมีหมาหรือแมววิ่งตัดหน้ารถ โดยเฉพาะการขับผ่านหมู่บ้านบนทางหลวงชนบทในตอนกลางคืน มักมีหมาหรือแมวอยู่ข้างทาง ข้อสำคัญที่ควรใส่ใจก็คือ ปฏิบัติตามกฎจราจร ลดความเร็วเมื่อเห็นเครื่องหมายแจ้งเตือน ถ้ามาไม่เร็วมาก ก็อาจไม่ต้องทำบาปโดยไม่ตั้งใจ ขับไม่เร็วอาจเบรกได้ทันเมื่อสัตว์วิ่งตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด 

จอดพัก

สภาพร่างกายที่อ่อนล้าเมื่อขับตอนกลางคืนเกิดขึ้นช้าๆ โดยที่คนขับส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว อาการหลับในคือหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงบนถนน หากรู้ตัวว่าต้องขับรถในช่วงเวลาที่เป็นเวลานอน ควรมั่นใจว่าพักผ่อนมาแล้วเพียงพอ เปิดวิทยุหรือระบบความบันเทิงในรถ ฟังเพลงที่มีจังหวะ ลดกระจกหน้าต่างลงเพื่อรับลมเย็นจากภายนอก จอดพักตามปั๊มหรือถ้าง่วงมากก็หาที่สว่างๆ ในปั๊มจอดนอนพักจนกว่าจะหายจากอาการง่วงซึม.

ผู้เขียน : อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/