- รวมเทคนิคเข้าโค้งแบบปลอดภัยฉบับมือใหม่ควรฟัง มือเก๋าควรระวัง
- สูตรพื้นฐานขับเข้าโค้งปลอดภัยคือ เข้าช้า ออกเร็ว
- ปัจจัยอื่นๆในการเข้าโค้งก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เช่น ความเร็วรถ รถรอบข้าง และระยะการมองเห็นของผู้ขับขี่
จุดจำกัดของทางโค้ง คือจุดที่มีสิ่งหรือวัตถุบดบังสายตาหรือการมองเห็น ทำให้ไม่สามารถมองฝ่าออกไปเพื่อให้เห็นทางออกจากโค้งได้ เป็นจุดอับที่ไม่สามารถมองเห็นลักษณะความเป็นไปของถนนข้างหน้า โดยเฉพาะในช่วงที่จะต้องออกจากโค้งว่าทางข้างหน้านั้นเป็นอย่างไร
จุดจำกัดที่ว่านี้ จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เมื่อขับรถเข้าไปใกล้ และจุดจำกัดดังกล่าวจะหายไปก็ต่อเมื่อคุณขับรถพ้นออกจากทางโค้ง จุดจำกัดที่ว่านี้ มีผลต่อการประเมินลักษณะของทางโค้ง และไม่สามารถใช้ความเร็วสูงได้หากจุดจำกัดนั้นมีรัศมีแคบ หรือมองเห็นได้ในระยะสั้น เพราะมันคือโค้งที่อาจหักศอกหรือพับไปพับมา โดยเฉพาะเส้นทางบนภูเขา มีข้อแนะนำสำหรับการใช้ความเร็วในโค้งที่มีจุดจำกัดดังกล่าว ให้ใช้ความเร็วเท่าที่คุณจะสามารถหยุดรถได้อย่างปลอดภัย ในระยะที่คุณมองเห็นได้อย่างชัดเจน พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่เข้าโค้งตาบอด หรือโค้งที่มีจุดจำกัดด้วยความเร็วที่สูงมากจนเกินไป
...
มีเทคนิคการขับที่จะช่วยขยายขอบเขตของการมองเห็นจุดออกจากโค้งให้กว้างมากยิ่งขึ้น คือ การวางแนวเข้าโค้งที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น การขับรถเข้าโค้งขวา
1 - การขับรถเข้าโค้งขวา ก็ให้ขับรถชิดขอบทางด้านซ้าย
2 - ซึ่งคุณจะเห็นว่ารัศมีในการมองเห็นทางข้างหน้าในโค้งนั้นขยายกว้างมากขึ้น ทำให้คุณสามารถตรวจการณ์ต่างๆได้ดีขึ้น และปรับเปลี่ยนแผนการขับของคุณไปตามสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไปได้อย่างมั่นใจ
3 -ในทำนองเดียวกัน แต่กลับกันสำหรับการขับรถในโค้งซ้าย เปลี่ยนมาขับให้ชิดเส้นแบ่งกึ่งกลางถนน คือออกมาทางขวามือของคุณ แต่ไม่เกินจากเส้นแบ่งช่องทาง รัศมีของจุดจำกัดหรือจุดบอด ก็จะขยายกว้างขึ้นเช่นกัน
...
การขับรถเข้าโค้งหรือวงเลี้ยวที่ปลอดภัย ด้วยเหตุผลและข้อจำกัดที่กล่าวมา อาจพูดได้ว่า การขับเข้าโค้งหรือในวงเลี้ยวเป็นวิธีการขับที่ไม่ควรประมาท ความพลาดพลั้งอาจนำพาคุณและคนที่โดยสารในรถเข้าสู่กับดักของอุบัติเหตุได้ง่ายๆ เทคนิคดังต่อไปนี้ จะช่วยทำให้คุณสามารถเข้าและออกจากโค้งหรือวงเลี้ยวได้อย่างปลอดภัย โดยมี 5 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
1-การสังเกตการณ์ และการคาดการณ์ล่วงหน้า
2-การวางแนวเข้าโค้งหรือการวางตำแหน่งรถในการเข้าโค้ง
3-ความเร็วที่ใช้
4-ตำแหน่งเกียร์
5-ปฏิบัติการ
...
การสังเกตการณ์ และการคาดการณ์ล่วงหน้า
เป็นขั้นตอนแรก และเป็นขั้นตอนของการเก็บข้อมูล วิเคราะห์สถานการณ์และคาดการณ์ล่วงหน้าในสิ่งที่จะเกิดขึ้น กวาดสายตามองดูให้ทั่วและมองให้ไกล ตรวจดูรถทั้งข้างหน้าและข้างหลังว่ามีรถคันไหนอยู่ในตำแหน่งใด สภาพผิวถนนเป็นอย่างไร ลักษณะของโค้ง ความลาดชันของเส้นทาง ป้ายบังคับ ป้ายแจ้งเตือน รัศมีจุดจำกัดของการมองผ่านโค้งอยู่ในลักษณะไหน พยายามมองไปหาจุดที่คุณจะต้องขับออกจากโค้ง ซึ่งอาจมองเห็นได้โดยการมองลอดผ่านช่องว่างของทิวไม้ เรียกได้ว่า ทำทุกทางเท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อทำให้มองเห็น หรือรับรู้
ทั้งนี้ ก็เพื่อการเก็บข้อมูลรายละเอียดของโค้งให้ได้มากที่สุด ยิ่งใช้ความเร็วมากเท่าไหร่ คุณก็จะทำในสิ่งที่ช่วยเสริมความปลอดภัยได้ลดลงมากเท่านั้น ขับเร็วแทบจะไม่มีเวลามองให้ไกล หรือคิดวิเคราะห์และแยกแยะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้าได้เท่ากับการใช้ความเร็วก่อนเข้าโค้งตามที่กฎหมายกำหนด
...
วางแนวเข้าโค้งหรือการวางตำแหน่งรถ ก่อนการเข้าโค้ง
ในขั้นตอนนี้ คุณจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ให้ใช้ความระมัดระวัง ทั้งรถที่อยู่ข้างหน้า และรถที่อยู่ข้างหลัง หรือรถที่กำลังแล่นสวนทางมา รวมไปถึงการเอาใจใส่คนเดินเท้าและรถจักรยาน ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนตำแหน่งรถไปซ้ายหรือขวา การขยับไปซ้ายหรือขวา เพื่อหาจุดออกจากโค้ง หรือขยายจุดดังกล่าวให้สามารถมองได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น จะออกไปทางไหน มากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับลักษณะของโค้งและความปลอดภัยเป็นเกณฑ์หลักที่จะลืมไม่ได้เด็ดขาด
ความเร็วที่ใช้
ปรับความเร็วให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะของโค้ง เป็นขั้นตอนที่ทำหลังจากปรับตำแหน่งรถให้เหมาะสม ใช้จุดจำกัดในโค้ง เป็นแนวทางในการปรับสปีดความเร็ว ถ้าเข้าโค้งที่มีรูปแบบปกติธรรมดา จุดบอด หรือจุดจำกัดก็จะเคลื่อนหนีไปในระยะที่มีความสม่ำเสมอ ขณะที่คุณขับเข้าหาโค้ง ใช้อัตราความเร็วที่ได้เลือกก่อนเข้าวงในของโค้งต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนความเร็ว ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นโค้งรูปตัวเอส หรือโค้งต่อเนื่องซ้าย-ขวา - ซ้าย สลับไปมา หรือเป็นโค้งแบบหักศอก จุดจำกัดจะไม่เคลื่อนหนีหรือเคลื่อนไปอย่างช้าๆ ถ้าเป็นในลักษณะดังกล่าว ต้องลดความเร็วลง และต้องใช้ความเร็วเท่าที่พอจะหยุดได้อย่างปลอดภัย ในระยะที่มองเห็นเท่านั้น
ตำแหน่งเกียร์
เมื่อลดความเร็วในอัตราที่มีความเหมาะสมกับสภาพโค้งและความปลอดภัยแล้ว ถ้าใช้รถเกียร์ธรรมดา ควรเปลี่ยนเกียร์ให้มีความสอดรับกับความเร็วที่ใช้ก่อนขับเข้าโค้ง ตรงจุดนี้ หมายความว่า ต้องเปลี่ยนเกียร์ หรือลดเกียร์ให้เรียบร้อยก่อนขับเข้าโค้ง การเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ในโค้งเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ การเลือกเกียร์ก่อนเข้าโค้ง นอกจากต้องทำให้เกียร์มีตำแหน่งที่สอดคล้องกับความเร็วแล้ว ควรเลือกตำแหน่งเกียร์ที่มีความยืดหยุ่นได้ดี ใกล้เคียงกับความเร็วที่กะจะใช้เมื่อขับออกจากโค้งด้วย เช่น ถ้าเลือกเกียร์ 1 หรือเกียร์ L สำหรับรถเกียร์อัตโนมัติในการเข้าโค้ง แล้วกะว่า จะใช้ความเร็วในช่วงที่ออกจากโค้งสัก 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แบบนี้น่าจะขาดความยืดหยุ่นที่ดี ลองเปลี่ยนมาใช้เกียร์ 2 นอกจากจะพิจารณาถึงความเร็วแล้ว การเลือกใช้เกียร์ ต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น สภาพผิวถนน ทัศนวิสัยการมองเห็น ระดับของความชันหรือความลาดเอียง ที่อาจต้องการกำลังจากเครื่องยนต์ การเลือกใช้เกียร์ต่ำ เพื่อขับเข้าโค้งบนเส้นทางภูเขา จะช่วยทำให้เกิดการหน่วงความเร็ว จากเกียร์ต่ำหรือ Engine Brake มาช่วย
ปฏิบัติการ
เมื่อเตรียมการตามลำดับในข้างต้น ก็มาถึงขั้นตอนของการขับเข้าโค้ง สูตรขั้นพื้นฐานทั่วไป ที่ใช้ขับเข้าโค้งให้มีความปลอดภัยก็คือ เข้าช้า ออกเร็ว เริ่มต้นจากการลดความเร็วให้สอดคล้องกับลักษณะของทางโค้ง หรือใช้ความเร็วตามป้ายแจ้งเตือน สำหรับนักขับที่มีความชำนาญ ก็สามารถใช้ความเร็วเกินจากป้ายแจ้งเตือนได้บ้าง แต่ไม่ใช่ยัดมาเต็มเหนี่ยวแบบขาดสติ การปรับลดความเร็วให้ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือลดความเร็วอย่างนิ่มนวลก่อนถึงหัวโค้ง ควรลดความเร็วจนอยู่ในอัตราที่เหมาะสมกับโค้งก่อนที่จะขับเข้าสู่หัวโค้งเสมอ
ขณะขับในโค้ง ให้ใช้ความเร็วคงที่ตามอัตราที่ได้เลือกเอาไว้ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่หัวโค้งหรือจุดกึ่งกลางของโค้ง ณ จุดกึ่งกลางของโค้ง ให้แตะคันเร่งเพื่อขึ้นอีกนิดเพื่อรักษาความเร็วตรงบริเวณหัวโค้งให้คงที่ (เนื่องจากความเร็วจะลดลงเพราะความฝืดของยางที่กระทำกับผิวถนนในวงเลี้ยวช่วงหัวโค้ง) ในช่วงที่เริ่มลดความเร็วลงมาจนถึงอัตราที่ใช้ในโค้ง เราเรียกช่วงนี้ว่า ระยะเข้าช้า และเมื่อหัวรถเริ่มเบนเข้าหาทางตรง ก็เพิ่มความเร็วให้มากขึ้น โดยกดคันเร่งแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้ความเร็วค่อยๆเพิ่มขึ้นอย่างนิ่มนวล ถ้าเป็นเกียร์ธรรมดา เปลี่ยนเกียร์ให้สอดรับกับความเร็วที่เพิ่มขึ้นขณะออกจากโค้ง ในช่วงที่เริ่มเพิ่มความเร็ว ไปจนถึงความเร็วสุดท้ายที่ออกจากโค้ง เราเรียกการขับออกจากโค้งในตอนนี้ว่า ช่วงออกเร็ว
สูตรการเข้าโค้งขั้นพื้นฐานดังกล่าว เหมาะกับโค้งทั่วไปที่มีรัศมีของจุดจำกัดกว้างๆ สามารถสำรวจสถานการณ์ข้างหน้า ณ บริเวณจุดออกจากโค้งได้อย่างถนัด ยกเว้นโค้งที่มีรัศมีจุดจำกัดแคบ และหาจุดออกจากโค้งไม่เจอ ก็ไม่ควรใช้สูตรนี้ ยึดกฎเกณฑ์การใช้ความเร็วในระดับที่สามารถหยุดรถได้อย่างปลอดภัยในระยะที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน.
อ้างอิงจาก
ขับปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ Defensive Driving
สมพงษ์ ใจซื่อ
ผู้เขียน : อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/