ทุกวันนี้รถจีนกำลังเพิ่มปริมาณมากขึ้นมาเรื่อยๆ เราเห็นรถไฟฟ้าที่ผลิตในจีนออกโลดแล่นไปตามท้องถนนทั่วทุกมุมโลก และ SAIC ก็เป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่แพงที่กำลังได้รับความนิยมในไทย ในขณะที่ Geely เพิ่งจะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็นสองเท่า เพื่อการครอบครอง Aston Martin แบรนด์จีนอย่าง Geely ยังเป็นเจ้าของบริษัทรถเก่าแก่อย่าง Lotus, Volvo, แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า Polestar และ LEVC (ผู้ผลิตรถแท็กซี่สีดำในลอนดอน) รวมถึงการข้ามไปถือครองหุ้นในบริษัท Smart ถึงครึ่งหนึ่ง BYD เองก็ประกาศท้าชนกับเทพแห่งรถไฟฟ้าอย่าง Tesla ด้วยผลิตภัณฑ์ยานยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ และ Dolphin ก็เป็นหนึ่งในการนำเสนอของเจ๋งๆ ให้กับลูกค้ายุโรปและเอเชีย

...

เมื่อพูดถึง BYD Dolphin สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงก็คือ รถยนต์ไฟฟ้าจีนที่มีรูปลักษณ์เหมือนโลมา แต่จริงๆ แล้ว Dolphin กลับเหมือนการนำเอา BYD Atto 3 มาย่อสัดส่วนให้เล็กลงนิดหน่อย โดยเฉพาะตัวเลขฐานล้อ 2,700 มิลลิเมตรของเจ้าโลมาที่สั้นกว่า Atto 3 แค่ 2 เซนติเมตร Dolphin คันนี้มีความยาว 4,290 มิลลิเมตร สูง 1,570 มิลลิเมตร และกว้าง 1,770 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,700 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1,405 กิโลกรัม น้ำหนักบรรทุกรวมของมันคือ 1,780 กิโลกรัม ทุกคนที่ลองขับ Atto 3 ต่างยอมรับว่ามันเป็นรถพลังงานสะอาดที่ขับได้ดี แต่ Dolphin ก็เป็นรถรุ่นแรกใน 'Ocean Series' ของ BYD และเป็นรุ่นแรกที่นำเอาแนวคิดการออกแบบที่เรียกว่า 'Ocean Aesthetics' มาใช้ Dolphin อยู่ในกลุ่มแฮตช์แบคไฟฟ้า C-segment ขนาดเล็ก ได้รับแรงบันดาลใจทั้งในเชิงเปรียบเทียบและเชิงจินตนาการจากโลมา แต่เมื่อมองดูแล้วไม่มีส่วนไหนที่คล้ายกับโลมาแสนฉลาดที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอาศัยอยู่ในทะเล จุดที่มองเห็นได้อย่างเด่นชัดว่ามีรูปโลมาอยู่ก็คือแก้มยาง

...

...

แล้วถ้าไม่ใช่โลมา มันคือตัวอะไร?
ความจริงแล้วเจ้าโลมาคือรถยนต์ EV Hatchback ขนาดเล็ก 4 ที่นั่ง เน้นการตกแต่งภายในโดยเฉพาะพื้นที่ใช้สอยกว้างขวาง อุปกรณ์ต่างๆ ให้มาเยอะพอสมควร กับการทำระยะทางที่เหมาะสม… ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงของรถ ดูไม่เหมือนโลมาเลยแม้แต่นิดเดียว ในประเทศไทยมี Dolphin สองรุ่นให้เลือก เริ่มจาก Dolphin Extended Range แบตเตอรี่ขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 60.4kWh ทำระยะทาง WLTP 490 กิโลเมตร ที่ผมทดสอบไปแล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา และมันก็เจ๋งดี ตามด้วยรุ่นที่จะเอามารีวิวในวันนี้ นั่นก็คือรุ่น Standard Range กับความจุแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน 44.9kWh ชาร์จเต็มทำระยะทาง 410 กิโลเมตร น้อยกว่ารุ่นท็อปแค่ 80 กิโลเมตรเท่านั้นเอง 

...

หน้าตาท่าทาง
BYD Dolphin รุ่น Standard Range กับรูปลักษณ์ภายนอกที่แทบจะเหมือนกับรุ่น Extended Range แตกต่างกันท่ีขนาดและลวดลายของล้อ ที่รุ่นประหยัด Standard Range ใช้ล้อขอบ 16 นิ้ว ยาง Linglong Eco Master ไซส์ 195/60R16 ซึ่งขับแล้วลงตัวและประหยัดพลังงานมากกว่าล้อ 17 นิ้วของรุ่นท็อป Extended Range ไฟหน้า LED พร้อมไฟหรี่กลางวัน LED Daytime Running Light สำหรับสีตัวถังของรุ่นประหยัดดูจะหวานแหววแต๋วแตกมากกว่ารุ่นท็อป เช่น สีม่วง Flora Purple สีขาว Coastal Creme สีเทา Alaskan Grey กับสีชมพู Coral Pink ตัดขอบชิ้นส่วนต่างๆ ภายนอกตัวถังด้วยพลาสติกสีดำเงา สำหรับ Dolphin Standard Range สีม่วง Flora Purple กับสีขาว Coastal Creme ใช้โทนสีภายใน Black + Brown ส่วนสีเทา Alaskan Grey ใช้โทนสีภายใน Black + Grey และสีชมพู Coral Pink มีภายในโทนสี Pink + Grey อีกจุดที่เหนือกว่าแมวไฟฟ้าก็คือ ที่ปัดน้ำฝนบนกระจกบานฝาท้ายเอาไว้ขจัดละอองสกปรกที่ปะปนมากับน้ำฝนบนถนน เมื่อขับท่ามกลางสายฝนแล้วมีที่ปัดกับน้ำทำความสะอาดกระจกหลังช่วยเปิดทัศนวิสัยการมองเห็นด้านหลังที่ชัดเจนขึ้น 

Wolfgang Egger ดีไซเนอร์ชาวเยอรมันของ BYD เคยฝากผลงานเจ๋งๆ ในการออกแบบให้กับแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง Audi Alfa Romeo และ Lamborghini หลังจากโดนซื้อตัว Wolfgang Egger ได้ทำการออกแบบงานตกแต่งภายในของ Dolphin ให้แตกต่างจากรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไป การบีบอัดความคิดสร้างสรรค์ทั้งหมดลงในห้องโดยสาร ทำให้ภายในของเจ้าโลมามีโทนสีที่หลากหลายให้เลือก และนั่นเป็นสิ่งที่รถญี่ปุ่นไซส์เล็กไม่เคยมีให้ การตกแต่งภายในออกแนวขี้เล่นผสมกับความน่ารักทันสมัย ด้วยหน้าจอมอนิเตอร์กลาง สั่งงานด้วยระบบสัมผัสขนาด 12.8 นิ้ว ที่ปรับหมุนได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน หน้าจอคนขับขนาดเล็ก รูปทรงของช่องแอร์ กับงานออกแบบแดชบอร์ดคอนโซลด้วยสีและวัสดุที่น่าสนใจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลาสติกและหนังสังเคราะห์

รถ Dolphin Standard Range คันทดสอบ พ่นสีขาว Coastal Creme กับภายในสีดำสลับสีน้ำตาลอ่อนที่ดูดีเลยทีเดียว ความน่ารักของเจ้าโลมาโดยเฉพาะตัวถังสีชมพู ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังขับรถอยู่ในเมืองตุ๊กตาบาร์บี้ แม้แต่ที่จับประตูก็ยังมีรูปทรงโฉบเฉี่ยวเหมือนครีบของโลมา ซึ่งเป็นมือจับที่ดูแปลกตาอย่างมาก คันเกียร์เป็นสวิตช์ทรงกลม ใช้บิดขึ้น-ลงเพื่อเลือกตำแหน่งเกียร์ ว่าจะเดินหน้า เข้าเกียร์ว่าง หรือถอยหลัง ส่วนปุ่ม P เพื่อจอดแบบไม่ต้องเข็นก็อยู่บนหัวสวิตช์เกียร์นั่นเอง พวงมาลัยสามก้านหุ้มหนังแท้ มาพร้อมปุ่มมัลติฟังก์ชัน ทั้งการปรับตั้งระบบรักษาความเร็วอัตโนมัติ Adaptive Cruise Control พร้อมฟังก์ชัน Stop & Go ปุ่มรับโทรศัพท์บลูทูธ ปุ่มควบคุมลำโพง ปุ่มระบบสั่งงานด้วยเสียง สำหรับพื้นที่ใช้สอยภายใน อย่างที่บอกว่า Dolphin Standard Range นั่นกว้างขวางใช้ได้ นั่งกันสบายๆ สี่คน เบาะหลังจะนั่งสามคนก็ได้ แต่ต้องเป็นเด็ก เอาผู้ใหญ่ตัวโตมานั่งเบียดกันที่เบาะหลังสามคนจะอึดอัดเกินไป 

พื้นที่ภายในน่าประทับใจ เมื่อพิจารณาจากการวางเท้า พื้นที่เหนือศีรษะ ไหล่ และข้อศอก สำหรับผู้โดยสารเบาะหลังถือว่าทำออกมาได้ดี ห้องเก็บสัมภาระไม่ใหญ่โตนักที่ความจุ 345 ลิตร แต่ก็ถือว่ามากพอแล้วสำหรับรถขนาดนี้ โดยทั่วไปงานตกแต่งภายในของเจ้าโลมามีพื้นผิวและรูปทรงที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว เบาะที่นั่งด้านหน้าก็สบาย รุ่น Standard Range ใช้เบาะปรับด้วยมือไม่มีระบบไฟฟ้ามาให้เหมือนรุ่นที่แพงกว่า แม้พนักพิงศีรษะของเบาะคู่หน้าจะปรับไม่ได้เนื่องจากเป็นเบาะแบบสปอร์ต แต่พอนั่งขับทางไกลก็มีความสบายใช้ได้เลยทีเดียว หลังคากระจกพาโนรามาขนาดใหญ่ ไม่มีมาให้ในรถรุ่นประหยัด ซึ่งดูๆ ไปแล้วร้อยวันพันปีแทบจะไม่ได้เปิดใช้งาน จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด รวมถึงฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งไม่เหมาะกับการขับรถเปิดกระจกหลังคาแบบกินลมชมวิว 

มีสิ่งที่เหนือกว่ารถคู่แข่งในแง่มุมของฮาร์ดแวร์ BYD เป็นบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศจีนที่มีความเชี่ยวชาญด้านแบตเตอรี่ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ 'Blade' ของ Dolphin แบบ LFP ดังนั้นคุณสมบัติทางเคมีจึงแตกต่างจากแบตฯส่วนใหญ่ (แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะ MG4 รุ่นมาตรฐานก็มีแบตเตอรี่ LFP) และเห็นได้ชัดว่ามันมีความปลอดภัยกว่า สามารถรองรับการชาร์จไฟกระแสตรง DC ที่หนักหน่วงกว่า และมีเสถียรภาพทางความร้อนที่ดีกว่า ซึ่งหมายถึงประสิทธิภาพของแบตฯ ความเสถียรของการให้พลังงานไฟฟ้า และการรักษาอุณหภูมิการทำงานของชุดแบตเตอรี่กับมอเตอร์ขับเคลื่อน 

ก่อนที่จะผลิตรถยนต์ BYD เป็นบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ และมีความภาคภูมิใจกับชุดแบตเตอรี่ Blade สุดไฮเทคของตน ซึ่งพัฒนาขึ้นมาในลักษณะที่ทำให้มีขนาดกะทัดรัดกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบดั้งเดิม และผ่านการทดสอบด้านความปลอดภัยเมื่อเกิดแรงกระแทก โดยไม่ทำให้เกิดประกายไฟและลุกไหม้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในด้านของระบบความปลอดภัย โครงสร้างหรือแพลตฟอร์มไฟฟ้าที่เหมือนกับแผ่นกระดานสเกตบอร์ดของ Dolphin สามารถออกแบบให้ยืดหรือหดได้ เพื่อให้เหมาะกับรถยนต์ไฟฟ้าหลายรุ่น โดยเฉพาะ Atto 3 และ Seal ที่พัฒนามาจากคุณลักษณะด้านความปลอดภัยแบบเดียวกัน ชุดแบตเตอรี่เป็นส่วนประกอบโครงสร้างของรถภายในแพลตฟอร์ม หรือ cell-to-pack technology (ไม่เหมือนกับ Tesla Model 3) ช่วยดูดซับแรงกระแทกจากด้านหน้า เพื่อเพิ่มความปลอดภัย BYD ผลิตส่วนประกอบทุกอย่างของรถยนต์ รวมถึงระบบการจัดการแบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า ตัวควบคุมมอเตอร์ ระบบส่งกำลังและเครื่องชาร์จในตัว ประสิทธิภาพของระบบส่งกำลังนั้นอยู่ในระดับสูงสุด ระบบส่งกำลังไฟฟ้าที่รวม VCU, การจัดการแบตเตอรี่, หน่วยจ่ายพลังงาน, มอเตอร์ขับเคลื่อนและตัวควบคุม, ระบบส่งกำลัง, ตัวแปลง DC และเครื่องชาร์จออนบอร์ด Dolphin ทุกคันมีเทคโนโลยี Vehicle-to-Load ซึ่งหมายความว่าคุณสามารถเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าและใช้รถเป็นพาวเวอร์แบงก์ขนาดยักษ์ได้ นอกจากนี้ยังมีการปรับสภาพแบตเตอรี่ขั้นสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายความร้อนได้อีก 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะสร้างความแตกต่างอย่างมากเมื่อใช้งานในเขตที่มีอากาศร้อนจัดอย่างประเทศไทย 

Dolphin Standard Range วางมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนบนเพลาหน้า (ขับเคลื่อนล้อหน้า) มอเตอร์ขับเคลื่อนให้กำลัง 70 กิโลวัตต์ หรือ 95 แรงม้า แรงบิดสูงสุดทำได้ที่ 180 นิวตันเมตร พร้อมพอร์ตชาร์จ DC CCS 2 ขนาด 60 กิโลวัตต์ BYD ติดตั้งแบตเตอรี่ลิเธียมให้กับ Dolphin Standard Range โดยมีขนาดความจุ 44.9 kWh เคลมระยะทางมา 410 กิโลเมตร ขับจริงก็ใกล้เคียงมาก โดยทำได้ประมาณ 370 กิโลเมตร (ใช้ความเร็วสูงต่อเนื่องในบางช่วงสลับกับขับแบบเรื่อยๆ) อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใน 12.3 วินาที ความเร็วสูงสุด 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ทดสอบจริงทำได้ 158 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) การชาร์จไฟฟ้า AC กระแสสลับขนาด 7 กิโลวัตต์ ใช้เวลา 6 ชั่วโมง 25 นาที ในขณะที่การชาร์จแบบเร็วด้วยไฟกระแสตรง DC ขนาด 60 กิโลวัตต์ จะเติมแบตเตอรี่จากสถานะการชาร์จ (SOC) 30-80% ใน 30 นาที

ระบบรองรับ ช่วงล่างด้านหน้าแบบแมคเฟอร์สัน สตรัท สปริง โช้คอัพและกันโคลง ส่วนด้านหลังคานแข็งทอร์ชันบีม (แตกต่างจาก Extended Range ที่เป็นแบบมัลติลิงก์) ล้ออัลลอยขอบ 16 นิ้ว ยาง 195/60R16 น่าแปลกใจที่ลากไปถึง 158 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แบบสุดคันเร่ง ช่วงล่างของมันก็ยังจัดการกับความนิ่งได้ดี พวงมาลัยไฟฟ้าที่ถูกยกเลิกระบบรักษาช่องทางในฟังก์ชัน ADAS ก็ตอบสนองดีขึ้นเยอะ เหมือนกับรุ่น Extended Range พอปิดตัวช่วยพวงมาลัยเท่านั้น ทุกอย่างของระบบบังคับเลี้ยวจะตอบสนองอย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น 

ความสามารถทางไดนามิกของ Dolphin ประการแรก คุณจะรู้สึกได้ชัดเจนเลยว่ามีการตั้งค่าช่วงล่างเพื่อความสบายในการขับขี่ โช้คและสปริงปรับตั้งมาให้ซึมซับรับแรงกระแทกจากหลุมบ่อ คอสะพาน รอยต่อของผิวถนน ช่วงล่างกรองรายละเอียดแล้วแปลงออกมาเป็นความนวลที่ใช้ได้ มันกำจัดอาการกระด้างออกไปเพื่อไม่ให้มีปัญหาด้านความนุ่มนวล ซึ่งดีมากถ้าใช้งานในเมือง และเมื่อขับเร็วก็ยังนิ่ง มีอาการโคลงตัวน้อย แต่เบรกต้องปรับความรู้สึกให้คุ้นชินกับระยะของแป้นเบรกกับการตอบสนองของคาลิปเปอร์เบรก โดยภาพรวม เจ้าโลมาน้อยพยายามนำเสนอขอบเขตที่สมบูรณ์ของความแปลกประหลาด ผสมผสานกับระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าแบบ FWD และไดนามิกที่ดี โดยเฉพาะการยึดเกาะที่เพียงพอในโค้ง แต่ Dolphin จะมีอาการ understeer ในบางครั้งเมื่อใส่มาเร็วๆ ในโค้งมุมแคบ เมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนมุมแคมเบอร์สลับซ้ายทีขวาที การถ่ายเทน้ำหนักนั้นโอเค เพราะจุดศูนย์ถ่วงที่วางตัวต่ำเหนือกว่ารถน้ำมันไซส์เล็ก มีแค่ชุดมอเตอร์เท่านั้นที่โด่เด่ขึ้นมา นอกจากนั้นมันทั้งแบนและเรียบ แชสซีแแพลตฟอร์ม EV 3.0 ของ BYD แสดงผลงานที่ดีมาแล้วใน Atto 3 และคุณจะไม่รู้สึกว่าผิดหวังกับไดนามิกของเจ้าโลมาน้อยรุ่น Standard Range ลืมอัตราเร่ง 0-100 ใน 12.3 วินาทีไปซะแล้วเพลิดเพลินไปกับไดนามิกที่ปรุงแต่งอย่างลงตัว 

วันเปิดราคา 6 กรกฎาคม 2566 ที่เซ็นทรัลลาดพร้าว คาดเดาว่าถ้าราคาของรุ่น Standard Range ทำได้ไม่เกิน 7 แสนบาท รถญี่ปุ่นเครื่องสันดาปที่ขายกันอยู่ก็น่าจะได้รับผลกระทบไปเต็มๆ แต่ถ้าราคาทะลุ 7 แสน ไปจนถึง 7.5 แสนบาท อาจต้องคิดหนักอยู่เหมือนกัน เพราะไม่ได้ถูกกว่าเจ้าตลาดรถเล็กอย่าง Toyota Yaris Ativ เจ้าโลมาน้อย Dolphin รุ่น Standard Range เร่งไม่จิ้ดเท่ารุ่น Extended Range แต่ความสบายหลังพวงมาลัยแทบจะไม่แตกต่างกัน รวมถึงระยะทางที่น้อยกว่าแค่ 80 กิโลเมตร แต่ถูกกว่ารุ่นท็อป 1 แสนบาท หักกลบลบหนี้แล้วน่าใช้เลยล่ะครับ.

ระบบป้องกันการลื่นไถลขณะขับขี่
ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวของรถ
ระบบเตือนก่อนเปิดประตู
กล้องมองภาพรอบคัน 360 องศา
ระบบความคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน
ระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ
ระบบเตือนเมื่อรถออกจากเลน
ระบบตรวจวัดแรงดันลมยาง
ระบบควบคุมความเร็วอัจฉริยะ
ระบบเตือนการชนด้านหน้า
ระบบเตือนการชนด้านหลัง
ระบบเตือนจุดอับสายตา
ระบบช่วยเบรกเมื่อมีรถผ่านจุดอับสายตาขณะถอยหลัง
ระบบช่วยควบคุมเมื่อรถออกจากเลน
ระบบช่วยควบคุมรถฉุกเฉินเมื่อรถออกจากเลน
ระบบเตือนการชนเมื่อเปลี่ยนเลน
ระบบช่วยคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ
ระบบป้องกันการไหลของรถโดยไม่ต้องเหยียบเบรก
ถุงลมนิรภัย 6 จุด

ประกันภัยชั้น 1 พร้อม พ.ร.บ. ระยะเวลา 1 ปี
รับประกันตัวรถ (Warranty) 8 ปี หรือ 160,000 กิโลเมตร
รับประกันแบตเตอรี่ 8 ปี หรือ 160,000 กิโลเมตร
บริการช่วยเหลือฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง 8 ปี
บริการบำรุงรักษา ค่าแรง ค่าอะไหล่ 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร
โฮมชาร์จเจอร์พร้อมการติดตั้ง
สายต่อพ่วงอุปกรณ์ไฟฟ้า VtoL
สายชาร์จเคลื่อนที่ Portable Charger
ค่าจดทะเบียนรถ
พรมเข้ารูป กรอบป้ายทะเบียน ฟิล์มหน้าจอ