ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของ MINI เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2507 (ค.ศ.1964) เมื่อ Paddy Hopkirk นักแข่งชาวไอร์แลนด์เหนือ ควบรถ MINI ที่อัปเกรดเป็น MINI Cooper S เครื่องยนต์ 1,071 ซีซี กำลัง 70 แรงม้า ทำความเร็วสูงสุดได้ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เร่ง 0-100 ใน 13 วินาที ลงแข่งในรายการ Monte Carlo Rally โดยใช้เบอร์ข้างรถหมายเลข 37 และคว้าแชมป์ครั้งแรกให้กับ MINI ได้สำเร็จ เป็นที่มาของหมายเลข 37 ที่ MINI ใช้ระลึกถึงแชมป์ Monte Carlo Rally ประจำปี 1964 นับเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในสนามแข่งแรลลี่ระดับโลกที่ Monte Carlo ซึ่งมีที่มาจากการที่รถจิ๋วคันนี้ต้องต่อสู้ในสนามแข่งกับแบรนด์รถสปอร์ตชั้นนำที่ดีที่สุดของยุโรป เช่น Porsche, Mercedes Benz, BMW, Lancia รวมถึงรถ Ford คันโตกับเครื่องยนต์ V8
แม้จะมีอายุถึง 87 ปีแล้ว แต่ดวงตาของ Paddy Hopkirk ยังคงสดใสส่งประกายของความมุ่งมั่นออกมาให้เห็น เมื่อนึกถึงอดีต จากการขับอันยิ่งใหญ่ของรถที่ได้รับชนะ แม้ว่า Mini จะเป็นเพียงรถครอบครัวขนาดเล็ก แต่ในทางเทคนิคแล้ว MINI มีข้อดีมากมาย ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า เครื่องยนต์วางตามขวาง ที่ติดตั้งอยู่ด้านหน้า กลายเป็นข้อได้เปรียบอย่างมากในยุคนั้น จากความจริงที่ว่ารถมีขนาดเล็กและเบากว่าคู่ต่อสู้ รวมถึงตัวแปรสำคัญ นั่นก็คือถนนที่ใช้ในการแข่งขันตลอดเส้นทาง มีสภาพค่อนข้างแคบและขรุขระ ซึ่งเหมาะสมกับประสิทธิภาพของรถเล็กเป็นอย่างยิ่ง
...
มันคือตำนาน "Night of the Long Knives" เมื่อรถ Mini Cooper S พร้อมหมายเลข 37 และป้ายทะเบียน 33 EJB คว้าชัยชนะในฤดูหนาวปี 1964 Hopkirk วิ่งข้ามเส้นชัยก่อนหน้ารถคู่แข่งเพียงแค่ 17 วินาที ก่อนที่ Bo Ljungfeldt นักแข่งที่อยู่ในรถ Ford Falcon V8 ซึ่งมีเครื่องยนต์ที่ทรงพลังกว่ามากจะวิ่งตามหลังเข้าวินมาแบบโดนทิ้งไม่เห็นฝุ่น สูตรแฮนดิแคปในเวลานั้นของ FIA กำหนดกฏกติกาของการแข่งขัน เพื่อเพิ่มความแตกต่างของน้ำหนักและกำลัง ระหว่างรถรุ่นต่างๆ หมายความว่า MINI เป็นผู้นำในอันดับโดยรวม เมื่อควบรวมกับการจบอันดับที่สี่ของ Timo Mäkinen และอันดับที่ 7 ของ Rauno Aaltonen ในรถ Cooper S ที่วิ่งตามหลังมาติดๆ ถือเป็นการตอกย้ำความสำเร็จของ MINI และนำมาสู่ยุคของ“ Three Musketeers” ในสนามแข่งแรลลี่ Monte Carlo
...
ข่าวชัยชนะในรายการใหญ่ครั้งแรกของ MINI แพร่กระจายไปทั่ว และมีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ในเกาะอังกฤษ ด้วยความตื่นเต้นของผู้คนในสหราชอาณาจักร ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของแบรนด์ MINI หลังจากขึ้นรับถ้วยรางวัล Hopkirk ได้รับโทรเลขแสดงความยินดีจากรัฐบาลอังกฤษ รวมถึงวงเดอะบีเทิลส์ที่โด่งดังมากในขณะนั้น ก็ยังส่งโทรเลขไปแสดงความชื่นชม ตามด้วยรูปถ่ายของวงสี่เต่าทองพร้อมลายเซ็น ซึ่งมอบให้กับ Hopkirk สิ่งที่น่าจดจำมากที่สุดก็คือ ตัวอักษรที่เขียนอยู่หลังภาพถ่ายใบนั้น โดยมีใจความสั้นๆว่า ‘ตอนนี้คุณเป็นหนึ่งในพวกเราแล้ว Paddy’
...
...
ชัยชนะของอันยิ่งใหญ่ของ Cooper S No. 37 ในรายการมอนติคาร์โลแรลลี่ปี 1964 ได้รับการยกย่องจากแฟนมอเตอร์สปอร์ตทั่วโลก MINI Cooper เป็นรถยนต์ขนาดเล็ก พัฒนาโดย Alec Issigonis รองผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของ British Motor Corporation ซึ่งมีพรสวรรค์ด้านมอเตอร์สปอร์ตมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ส่วนคนสำคัญในวงการรถแข่งที่มองเห็นศักยภาพของรถรุ่นนี้เป็นคนแรกก็คือ John Cooper นักออกแบบรถสปอร์ตและผู้ผลิตรถแข่ง F1 ทั้งสองคน เป็นแรงผลักดันสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการสร้างรถ MINI ที่ทรงพลังกว่ารุ่นมาตรฐาน ซึ่งเคยมีกำลังเพียงแค่ 34 แรงม้า จากไดนามิกส์ที่เหมาะสมกับการแข่งรถในยุคนั้น ด้วยระบบขับเคลื่อนล้อหน้า น้ำหนักที่เบาหวิว แทร็กกว้าง และฐานล้อที่ค่อนข้างยาว ทำให้ MINI เป็นรถสี่ที่นั่งขนาดเล็กที่ว่องไว สามารถปรับแต่งได้อีกมากเพื่อส่งลงทำการแข่งขัน
ในช่วงต้นปี พ.ศ.2503 นักแข่งรถชื่อดังอย่าง Graham Hill, Jack Brabham และ Jim Clark ได้ทดสอบความสามารถในการเข้าโค้งของ MINI ที่ได้รับการปรับแต่งจากสำนัก John Cooper ในสนามแข่งรถสูตรหนึ่ง Silverstone อย่างไรก็ตาม MINI ในยุคแรกเริ่ม ยังคงเน้นการใช้งานในครอบครัว ด้วยรถจิ๋วที่มีความคล่องตัวสูง หลังจากนั้น Patt Moss น้องสาวของนักขับรถแข่งระดับกรังด์ปรีซ์ Sir Stirling Moss ขับ MINI คันเล็กลงแข่ง และสามารถคว้าชัยชนะในการแข่งขัน Tulip Rally และ Baden-Baden Rally เมื่อปี 1962 ในปีถัดมา รถขนาดเล็กสัญชาติอังกฤษ ที่ได้รับการปรับแต่งเป็นพิเศษจากสำนัก John Cooper ก็พร้อมที่สำแดงประสิทธิภาพให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของสาธารณชน ในรายการแข่งรถระดับโลก Monte Carlo Rally ก่อนหน้านั้น ประสบการณ์ที่สะสมในการแข่งขัน การเรียนรู้เทคนิคต่างๆ ของทีมงาน แปรเปลี่ยนมาเป็นการปรับจูนรถจนลงตัว MINI Cooper S No.37 สามารถทำให้ผู้คนทั้งหมดบริเวณจุดเข้าเส้ยชัยลุกขึ้นยืนเชียร์อย่างตื่นเต้นเร้าใจ เมื่อมันสามารถโค่นรถแข่งที่ใหญ่กว่าได้อย่างราบคาบ
เห็นได้ชัดว่า MINI ที่ผ่านการปรับแต่ง คล่องตัวและอึดกว่ารถแข่งคันอื่น ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2502 John Cooper ส่ง MINI ต้นแบบที่ผ่านการปรับแต่งมาเป็นอย่างดีสำหรับลงแข่ง ให้กับนักแข่งรถชื่อดัง Roy Salvadori โดยขับรถต้นแบบคันดังกล่าวเพื่อลงแข่งในรายการใหญ่อย่าง อิตาเลียนกรังด์ปรีซ์ ในสนามมอนซา การเดินทางเพื่อไปถึงสนามมอนซาอย่างเร็วที่สุด กลายเป็นการแข่งขันระหว่าง MINI และ Aston Martin Salvadori และเพื่อนนักแข่งรถชื่อ Reg Parnell ซึ่งอยู่ในรถ Aston Martin DB4 ออกสตาร์ตจากเมืองด้วยความเร็วสูงแบบผลัดกันแซง แต่สุดท้าย ผลลัพธ์ที่ได้ ยืนยันถึงสิ่งที่ Cooper ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า MINI Cooper คันต้นแบบ มาถึงสนามมอนซาเร็วกว่ารถ Aston DB4 ประมาณหนึ่งชั่วโมง!
56 ปีผ่านไป แต่ความทรงจำเกี่ยวกับชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของรถแข่งคันเล็ก ที่ประสบความสำเร็จในการเอาชนะรถแข่งคันโตเครื่องใหญ่ ยังคงตราตรึงอยู่ในหัวใจของนักขับสายมอเตอร์สปอร์ต จากรถ MINI Cooper คันจิ๋วที่แปะหมายเลข 37 ในอดีต กลายเป็นความทรงจำในประวัติศาสร์ของแบรนด์ ปี พ.ศ. 2507 เป็นปีที่ MINI Cooper S คว้าชัยชนะในรายการใหญ่ครั้งแรก และหลังจากนั้นก็ขึ้นแท่นแชมป์อีกสามครั้งถัดมา ในการแข่งขัน มอนติคาร์โล แรลลี่ ซึ่งกลายเป็นตำนานของการซิ่งรถ ด้วยฝีมือในการควบคุมรถของ Paddy Hopkirk นักแข่งชาวไอร์แลนด์เหนือวัย 30 ปี และเพื่อเป็นการย้อนรำลึกถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่ MINI ได้นำเสนอโมเดล Cooper S รุ่นพิเศษ ที่มีการออกแบบให้คล้ายกับรถ MINI ที่ Paddy Hopkirk ขับ โดยมีการปรับจูนคุณสมบัติของระบบส่งกำลัง ช่วงล่าง และอุปกรณ์ตกแต่งต่างๆ เพื่อแสดงถึงหนึ่งในความสำเร็จที่น่าประทับใจในประวัติศาสตร์การแข่งรถยนต์ สิ่งเตือนใจที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับความสามารถในการควบคุมรถแข่งของ Hopkirk ก็คือ หมายเลขรถ MINI Cooper S นัมเบอร์ 37 ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งบนประตูคนขับและประตูผู้โดยสารของ MINI Cooper S รุ่น Paddy Hopkirk Edition
ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของรถคันเล็กในแรลลี่มอนติคาร์โล ทำให้ Paddy Hopkirk กลายเป็นนักแข่งรถแรลลี่ที่มีชื่อเสียงที่สุดของสหราชอาณาจักรในเวลาเพียงแค่ข้ามคืน ในขณะเดียวกัน MINI No.37 กลายเป็นรถแข่งที่นักสะสมหมายปอง สถานะนี้ได้รับการสนับสนุนจากแฟนๆมอเตอร์สปอร์ตในช่วงหลายปีต่อมา เมื่อ Cooper S ยังครองแชมป์มอนติคาร์โลแรลลี่หลังจากนั้นติดกันอีกสองปี ด้วยฝีมือของนักขับที่ชื่อ Timo Mäkinen และ Rauno Aaltonen เพื่อนร่วมทีมชาวฟินแลนด์ เป็นการคว้าชัยต่อเนื่องตามมาในปี 1965 และ 1967 (พ.ศ. 2508-2510) การกระทำอันยิ่งใหญ่ใน Monte Carlo Rally ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับแฟน MINI ทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบัน สำหรับนักขับที่ต้องการรำลึกถึงอดีตอันยิ่งใหญ่ ที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ของแบรนด์ รถเล็กรุ่นพิเศษที่ใช้ระบบส่งกำลังแบบเกียร์ธรรมดา 6 สปีด ถูกผลิตขึ้นอีกครั้ง ในเวอร์ชั่น Cooper S Paddy Hopkirk Edition
MINI Cooper S Paddy Hopkirk Edition รุ่นพิเศษ ฉลองวาระครบรอบ 56 ปี ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ในมอนติคาโลแรลลี่ เกียร์ธรรมดา 6 สปีด ชุดแต่ง Paddy Hopkirk Edition นำเข้าราคา 2,555,000 บาท มาพร้อม MSI standard 3 ปี / 60,000 กิโลเมตร หรือจ่ายเพิ่มเพื่อซื้อ MSI 10 ปี /100,000 กิโลเมตร
ในยุคที่เกียร์อัตโนมัติมีประสิทธิภาพมากกว่าเกียร์ธรรมดา นั่นหมายความว่า คุณจะหารถเกียร์ธรรมดาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ (ยกเว้นกระบะและรถบรรทุกเล็กบางรุ่น) โดยเฉพาะรถยนต์สมรรถสูงและรถสปอร์ตที่มักจะมีแค่เกียร์ออโต้ให้เลือก ส่วนรุ่นเกียร์ธรรมดาก็จะผลิตออกมาในจำนวนเพียงน้อยนิด แถมยังมีราคาแพงแสบไส้ เพื่อเอาใจคนที่ยังรักการขับรถในรูปแบบของระบบส่งกำลัง ที่ขึ้นตรงกับการตัดสินใจของตัวเอง นักขับแนวบู๊ล้างผลาญที่ชอบยัดเกียร์เอง และรังเกียจความสบายของเกียร์ออโต้เริ่มเหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ นักขับเกียร์ธรรมดาในอดีต รุ่นคุณลุง คุณป้า คุณปู่หรือคุณพ่อ เริ่มล้มหายตายจากไปตามกาลเวลา เหมือนเกียร์แมนนวลที่ค่อยๆ สูญสลายหายไปแล้วถูกแทนที่ด้วยเกียร์อัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่า ทุกวันนี้ นักขับรุ่นเก่าที่ชอบเกียร์ธรรมดายังคงหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ขับรถไม่ไหวกันแล้ว ปัจจุบัน การขับรถเกียร์แมนนวลอาจไม่สะดวกสบายเท่ากับเกียร์อัตโนมัติ แต่อารมณ์ ความรู้สึกและความบันเทิงในด้านการทำงานของกลไกนั้น รถเกียร์ธรรมดากินขาด โดยเฉพาะเกียร์ธรรมดาที่เซ็ดอัตราทดมาแบบรถแข่งอย่างเจ้าหนูแดงคันนี้ หลังจากรับ Cooper S Paddy Hopkirk Edition ที่แวร์เฮ้าส์ของ BMW / MINI แถวสุขาภิบาล 3 ผมรีบขับกลับบ้านทันที โดยตั้งใจจะขับใช้งานในเมืองแค่สั้นๆ แล้วตะบันขับออกทางไกลไปประจวบฯเพื่อทดสอบการวิ่งของหนูเล็กเด็กขี้โมโหคันนี้
Cooper S รุ่นนี้ผสมผสานการทำสีภายนอกเหมือนกับ MINI คันแรกที่วิ่งนำหน้าอยู่ในแรลลี่ประวัติศาสตร์มอนติคาโล ลักษณะเฉพาะของรถรุ่น Edition ประกอบด้วย ล้ออัลลอยด์สีดำเงา ขนาด 17 นิ้ว John Cooper Works ดีไซน์ Track Spoke Black โครงแนวนอนของกระจังหน้าใช้สีดำเงา เช่นเดียวกับชิ้นส่วนสำหรับตกแต่งช่องรับอากาศด้านล่าง ช่องรับอากาศบริเวณฝากระโปรงหน้า กรอบกระจกมองข้าง มือจับประตู ฝาปิดช่องเติมน้ำมัน ที่จับประตูท้าย โลโก้ MINI สีดำ ที่ด้านหน้าและด้านหลัง รวมถึงชิ้นงานสีดำเงาบริเวณโดยรอบไฟหน้าและไฟท้าย หมายเลข 37 ของ MINI คันที่กลายเป็นตำนานแห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ ยังปรากฏบนตัวถังด้านข้าง ไฟหน้า LED ไฟท้ายแบบยูเนี่ยนแจ็ค สติกเกอร์ที่มีคำว่า Paddy Hopkirk Monte Carlo และแถบฝากระโปรงสีขาวแถบเดียว ติดตั้งบริเวณที่ตรงกับคนขับ ซึ่งเหมือนกับประตูท้ายของรุ่นอิดิชั่น ลายเซ็นของผู้ชนะ “Monte” ในปี 1964 นอกจากนี้ ยังมีการผสมตัวเลขและตัวอักษรที่มีชื่อเสียง 33 EJB ของป้ายทะเบียนรถยนต์ที่ชนะแรลลี่หฤโหด Monte Carlo ในปี 1964 แสดงอยู่บนแถบฝากระโปรงโดยใช้เอฟเฟกต์ผิวนูนแบบสามมิติ 3D
ลายเซ็นของ Hopkirk ยังไปปรากฏอยู่บนแถบตกแต่งด้านข้างบริเวณกลางคอนโซล อยู่ตรงหน้าเบาะผู้โดยสาร เป็นส่วนหนึ่งของพื้นผิวด้านในแบบไฮกลอส Piano Black กาบประตู MINI LED Paddy Hopkirk นอกจากนี้ MINI Exciting Package และ Comfort Access จะรวมอยู่ใน MINI Paddy Hopkirk Edition ด้วย ฝาครอบกุญแจ หมายเลขสตาร์ท 37 และขอบสี Piano Black สำหรับแถบตัดระหว่างตัวถังและกระจก นอกจากนี้ Paddy Hopkirk Edition รุ่นพิเศษนี้ยังสามารถปรับแต่งให้เข้ากับสไตล์ส่วนตัวของผู้ขับได้อีกด้วย
มิติตัวถัง มีขนาดเท่ากับ Cooper S F56 LCI โดยมีความยาว 3,821 มิลลิเมตร กว้าง 1,727 มิลลิเมตร สูง 1,414 มิลลิเมตร ความยาวฐานล้อ 2,495 มิลลิเมตร ส่วนฝาท้ายมีพื้นที่เก็บสัมภาระเมื่อยังไม่พับเบาะหลัง 211 และเมื่อพับเบาะหลังจะเพิ่มเป็น 731 ลิตร ความจุถังน้ำมัน 44 ลิตร MINI Cooper S Paddy Hopkirk Edition มาพร้อมความแตกต่างจาก Cooper S รุ่นมาตรฐานคือ ระบบส่งกำลังใช้เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ สติ๊กเกอร์หมายเลขรถแข่งในอดีต No. 37 ด้านข้างบานประตู ตัวถังแบบทูโทน รอบคันพ่นสีแดง Chili Red หลังคาสีขาว สติ๊กเกอร์คาดฝากระโปรงหน้าขาว ชุดไฟ Spotlight ติดตั้งที่บริเวณกระจังหน้า ลายเซ็น Paddy Hopkirk บริเวณสติ๊กเกอร์คาดฝากระโปรงหน้าสีขาว กาบบันไดพร้อมลายเซ็น Paddy Hopkirk แดชบอร์ดหน้าก็มาพร้อมลายเซ็น กุญแจรีโมท 3D Printer หมายเลข 37
ดูงานตกแต่งภายนอกไปแล้ว คราวนี้ มุดเข้ามาดูภายในห้องโดยสารของ Cooper S Paddy Hopkirk Edition กันบ้างครับ หนูแดงคันเก่ง ถูกปรับปรุงสำหรับการขับขี่ที่เน้นบรรยากาศสนุกสนานออกแนววัยรุ่น พร้อมการย้อนรำลึกถึงวันอันยิ่งใหญ่ในการวิ่งเข้าเส้นชัยที่มอนติคาโล Cockpit ของ Cooper S รุ่นฉลองชัยชนะ เกิดจากแรงบันดาลใจที่จะผลิตงานดีไซน์แนวๆ ที่โดนใจวัยแรง ในรูปแบบที่เชื่อมโยงกับสไตล์อันทันสมัยและรูปแบบของดีไซน์ย้อนยุค MINI จัดวัสดุและอุปกรณ์ที่หรูหรามากกว่า Cooper S รุ่นแรกๆ ที่ผลิตโดยคนอังกฤษ โดยเฉพาะงานประกอบที่เน้นความประณีตคอนโซลมาตรวัดและแผงควบคุมต่างๆ แปลกแยกไปจากรถเล็กยี่ห้ออื่น จอแสดงผลส่วนกลางล้อมกรอบด้วยหลอด LED ที่ปรับเปลี่ยนสีไปตามฟังก์ชั่นและโหมดของการใช้งาน
MINI Cooper S Paddy Hopkirk มีเบาะนั่งสีดำนุ่มนิ่มน่านั่ง เบาะสามารถปรับให้ท่านั่งขับต่ำเตี้ยติดพื้นแบบสปอร์ต เบาะคนนั่งและคนขับใช้การปรับเบาะด้วยมือ ผ่านกลไกการปรับเบาะสำหรับการเลื่อนเดินหน้า ถอยหลัง หรือยกขึ้นลงออกมาในแนวดิบๆ ตำแหน่งของการนั่งใน MINI Cooper S เวอร์ชั่นพิเศษ ให้สัมผัสที่พอดิบพอดีสำหรับคนที่มีรูปร่างปกติ เบาะแบบสปอร์ตหุ้มผ้าไมโครไฟเบอร์และหนังแท้สีดำ ตัวเบาะออกแบบให้โอบรัดแผ่นหลัง ทำให้รู้สึกถึงความกระชับยามนั่ง การออกแบบใหม่ในบางจุดโดยยังคงการจัดวางแบบเดิม ทำให้ห้องโดยสารของ Cooper S เพียงพอต่อคนขับและผู้โดยสารตอนหน้า ทรงของตัวรถที่สั้นและมีฐานล้อไม่ยาวเกินไป ทำให้ความรู้สึกไม่ว่าจะขับช้าหรือขับเร็ว ล้วนแล้วแต่ตอบสนองออกมาในแนวคล่องตัวว่องไว เหมาะกับการซอกแซกไปบนถนนเส้นเล็กๆ ในเมือง หน้าจอมอนิเตอร์แสดงผลส่วนกลางระบบสัมผัสที่หน้าจอ เป็นเอกลักษณ์ของ MINI รุ่นใหม่ที่ออกแบบให้เจ้าของรถสามารถเลือกการแสดงผลในฟังก์ชั่นต่างๆ ได้ โดยที่ MINI Cooper S มาพร้อมหน้าจอสีขนาด 7 นิ้ว แสดงผลที่เกี่ยวกับฟังก์ชั่นกับสภาวะการปรับตั้งระบบต่างๆ ของรถ สาระความบันเทิง ระบบนำทางด้วยดาวเทียม และการเชื่อมต่อ MINI Connected มีฟังก์ชั่นระบบควบคุมให้ใช้งาน นั่นก็คือ MINI Touch Controller ที่ทำงานโดยใช้ระบบสัมผัสปลายนิ้วลงไปบนแป้นควบคุม เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถป้อนข้อมูลได้จากการเขียนด้วยนิ้วมือลงบนปุ่ม Controller ได้โดยตรง
หลอดไฟ LED ล้อมกรอบจอภาพ มีฟังก์ชันพิเศษ สามารถเปลี่ยนสีของแสงไฟรอบวงแหวนหน้าปัดแสดงผลส่วนกลางไปตามสถานะ ไม่ว่าจะเป็นการขับขี่บนถนน หรือการทำงานของฟังก์ชั่นต่างๆ ขึ้นตรงกับความพึงพอใจของผู้ขับ ที่สามารถปรับแต่งสีสันของไฟ LED เช่น ขณะที่ระบบควบคุมระยะการจอด (PDC) ทำงาน วงแหวนไฟเรืองแสงแบบ LED ที่เป็นลูกเล่นใหม่ของ New MINI จะแสดงระยะห่างระหว่างรถกับสิ่งกีดขวางด้านหลังรถ ด้วยการแสดงผลในสีต่างๆ ตามระยะความใกล้กับสิ่งกีดขวางหลังรถ ได้แก่ สีเขียว เหลือง หรือแดง นอกเหนือจากการแสดงผลกราฟิกบนหน้าจอ รวมถึงการเปลี่ยนโหมดการขับขี่ที่สามารถเห็นได้จากสีต่างๆ ได้แก่ สีเขียว สีส้ม หรือสีแดง นอกจากนี้ หน้าจอแบบใหม่ล่าสุดของ New MINI Cooper S Minorchange ยังแสดงไฟสถานะสำหรับแนะนำเส้นทางของระบบแผนที่นำทาง MINI Navigatio ซึ่งเมื่อรถเข้าใกล้จุดหมายปลายทางมากขึ้น แถบไฟบนวงแหวนก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย ผ่านซอฟแวร์ควบคุมการทำงานของเทคโนโลยีแผนที่นำทาง MINI Navigation
วัสดุและอุปกรณ์ภายในของ Cooper S Paddy Hopkirk Edition มีรูปแบบที่ไม่เหมือนใคร เป็นจุดขายที่ MINI ต้องการนำเสนอ พร้อมไปกับฟิลลิ่งการควบคุมสไตล์โกคาร์ท เครื่องเสียง Haman และลำโพงคุณภาพดี Hi-fi loudspeaker system harman/kardon (12 speaker system with DSP amplifier) ปุ่มสตาร์ตเครื่องยนต์ใช้สวิตช์สีแดงวางตำแหน่งอยู่ตรงกึ่งกลางของสวิตช์ควบคุมต่างๆ เพื่อเน้นความสำคัญ พวงมาลัยสามก้านวงเล็กจับถนัดมือแต่ไม่มีแป้นเปลี่ยนเกียร์มาให้เนื่องจากเป็นระบบเกียร์แมนนวล แป้นแตรทรงกลม มาตรวัดความเร็วและวัดรอบตรงหน้าคนขับ เปลี่ยนจากมาตรวัดแบบเข็มมาเป็นจอภาพ TFT LCD แสดงผลการวัดรอบเครื่องยนต์และความเร็วด้วยรูปแบบดิจิตอล มาตรวัดระดับของเชื้อเพลิงถูกย้ายมาอยู่ในจอภาพมาตรวัดหลัก เบาะครึ่งผ้าครึ่งหนังสีดำ ใช้การปรับตั้งด้วยการดึงก้าน เพื่อยกหรือกดเบาะโดยยังคงไม่มีเบาะปรับไฟฟ้ามาให้เหมือนเดิม หัวเกียร์ธรรมดา หน้าตาคล้ายลูกกอลฟ์ ออกแบบมาให้ยึดจับเพื่อโยกใช้งานได้อย่างสะดวกและวางอยู่ในตำแหน่งที่สอดคล้องกับการใช้มือซ้ายยัดเกียร์ เช่นเดียวกับแป้นคันเร่งและแป้นเบรกกับที่พักเท้าที่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องตามการออกแบบอันเชี่ยวชาญบนงานวิศวกรรมของพวกเยอรมันที่ครอบครองแบรนด์รถอังกฤษยี่ห้อนี้มาตั้งแต่ปี 1999
คุณภาพของวัสดุที่ใช้ตกแต่งห้องโดยสารของ Cooper S อยู่ในระดับที่ดี จากการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและการจัดวางที่ลงตัว สวิตช์เปิดปิดกระจกบานประตูบริเวณแผงประตูทำให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น แป้นควบคุม ที่ใช้ระบบสัมผัสซึ่งออกแบบโดย BMW Group ทำให้เข้าและออกจากเมนูต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เบาะหลังยังคงคับแคบเหมือนเดิม และเหมาะกับเด็กตัวเล็กๆ มากกว่า โดยเฉพาะเบาะหลังของ Cooper S แต่เบาะคู่หน้ามีพื้นที่บริเวณไหล่เพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้เวลานั่งหรือขับนั้นรู้สึกโปร่งโล่งมากกว่า Cooper S R56 รุ่นที่แล้ว อุปกรณ์ที่เจ้าของรถจะต้องยึดจับไปตลอดการขับขี่ก็คือพวงมาลัย วงพวงมาลัยมีขนาดที่พอดี ทำงานขึ้นตรงกับโหมดของการขับเคลื่อน 3 รูปแบบ (Green mode / Mid Mode / Sport Mode) ก้านวงของพวงมาลัยติดตั้งสวิตช์มัลติฟังก์ชั่นสั่งงานระบบเครื่องเสียงและระบบโทรศัพท์แบบบลูทูธ แต่ไม่มีแป้นเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ Paddle Shift มาให้เหมือนกับ Cooper JCW พวงมาลัยหุ้มด้วยหนังแท้เย็บเดินตะเข็บด้วยด้ายสีเทา
เหยียบคลัตช์ โยกคันเกียร์เพื่อตรวจดูว่าอยู่ในตำแหน่งเกียร์ว่าง แล้วก็กดปุ่มสตาร์ตเครื่องยนต์ ผ่านสวิตช์สีแดงบริเวณแผงคอนโซลกลาง ปุ่มสตาร์ทเครื่องออกแบบคล้ายปุ่มปล่อยขีปนาวุธหน้าตาเข้าที MINI มีการป้องกันเมื่อจะสตาร์ทเครื่องในรถรุ่นเกียร์ธรรมดา ก็ต้องออกแรงเหยียบคลัตช์ก่อน ไม่งั้นสตาร์ทไม่ได้ เครื่องยนต์ 2 ลิตร MINI TwinPower Turbo ติดขึ้นมาอย่างเร็ว ผมโยกคันเกียร์ไปที่ตำแหน่งเกียร์ 1 ปล่อยคลัตช์โดยค่อยๆ ถอนเท้าซ้ายออกจากแป้นคลัตช์ และแทบจะไม่ได้แตะคันเร่ง ค่อยๆ เคลื่อนเจ้า MINI มุ่งหน้าไปทางทิศใต้ของกรุงเทพมหานคร บนเส้นทางเพชรเกษม พระรามสอง คลองโคน ชะอำ บายพาสปราณบุรี โดยมีจุดหมายอยู่ที่หาดทรายของอุทยานสามร้อยยอด
หลังจากปรับความคุ้นชิน เนื่องจากเพิ่งจะลงจากรถเกียร์อัตโนมัติแสนสบายอย่าง A5 Sportback 40TFSi กำลังที่ส่งถ่ายออกมาจากเครื่องยนต์ผ่านระบบเกียร์ธรรมดาในโหมด MID MODE เป็นหน่วยขับเคลื่อนเริ่มต้นของ Cooper S ทุกครั้งที่สตาร์ตเครื่องยนต์ ความเนียนจากการทำงานของเครื่องยนต์และอัตราทดที่จัดจ้านของเกียร์ธรรมดา ส่วนหนึ่งเกิดจากผลพลอยได้ของการเปลี่ยนชุดส่งกำลังมาเป็นเกียร์แมนนวล 6 สปีด ใน Cooper S Hatch และ Convertible ส่วน Cooper SD เครื่องยนต์ดีเซล ใช้เกียร์ออโต้แบบ 8 สปีด สำหรับเกียร์ธรรมดาที่ใส่เข้ามาใน Cooper S เครื่องยนต์เบนซิน เพื่อความบันเทิงในการเปลี่ยนอัตราทดล้วนๆ ช่วยทำให้การเร่งแซงรถช้า หรือการขับขึ้นภูเขาชันๆ กลายเป็นเรื่องที่สนุกสุดๆ Cooper S เครื่องเบนซิน 2 ลิตร 4 สูบ เทอร์โบแปรผันแบบ Twin Scroll วางตามขวางขับเคลื่อนล้อหน้าระบบอัดอากาศเทอร์โบเดี่ยวลูกเดียวโดดๆ กับฟังก์ชั่น Overboost ทำงานได้อย่างไร้ที่ติ เป็นรถที่มีอัตราเร่งอย่างจิ้ดถ้าคุณมีมือและขาซ้ายที่ไวมากพอ มันจะกระชากลากถูจนทำให้รู้สึกเมามันในอารมณ์และฟิลลิ่งที่ครอบคลุมอาการกระด้าง กำลังในรูปของแรงฉุดลากอาจไม่มุทะลุเหมือน Cooper JCW แต่ความสนุกนั้นเหนือกว่า JCW รุ่นเกียร์อัตโนมัติ จากการที่คุณจะต้องยัดเกียร์เหยียบคลัตช์และควบคุมอัตราทดให้เหมาะสมกับเส้นทางและรอบเครื่องยนต์ไปตลอดทาง
นับตั้งแต่ปี 2001 จนมาถึงปี 2021 MINI ภายใต้ร่มเงาของ BMW Group ส่วนใหญ่ มีพัฒนาการที่ดีขึ้น แม้ขนาดของตัวถังจะใหญ่ขึ้นมาก เมื่อเทียบกับ MINI เมื่อกว่า 56 ปีก่อน แต่ความสามารถที่เพิ่มขึ้น ในด้านสมรรถนะ พร้อมรูปแบบที่โดนใจวัยรุ่น ทำให้ MINI ที่มีเจ้าของเป็นเยอรมันคันนี้ขายดีทั่วโลก คุณจะพบเห็นรถ MINI ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป แต่ Paddy Hopkirk Edition เป็น Cooper S ที่พยายามลอกเลียนแบบความสนุกของ MINI ในอดีต แพลตฟอร์ม เครื่องยนต์ ช่วงล่าง เกียร์ เบรก หรือเทคโนโลยีใหม่ของระบบสื่อสารที่ถูกใส่เข้ามาในรถคันนี้ ทำให้มันมีคุณลักษณะที่แตกต่างไปจาก MINI เมื่อ 50 ปีก่อน อย่างสิ้นเชิง เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความสำเร็จที่มักจะเดินตามรอยรถรุ่นพี่ด้วยประวัติศาสตร์อันน่าจดจำ การเปลี่ยนแปลงหลักๆ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากแบบสอบถามของศูนย์บริการที่ส่งให้กับลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าในอเมริกาและยุโรป
ขุมกำลังของ Cooper S รุ่น Paddy Hopkirk Edition วางเครื่องยนต์เบนซินแบบแถวเรียง 4 สูบ ความจุ 2.0 ลิตร พลาสติกครอบฝาสูบแบบใหม่ เครื่องยนต์ติดตั้งระบบอัดอากาศแบบเทอร์โบแปรผัน หรือ Twin Scroll Turbocharger เป็นเครื่องยนต์แบบ 4 กระบอกสูบ เทคโนโลยี MINI TwinPower Turbo มีปริมาตรความจุ 1,998 ซีซี กำลังสูงสุด 141 กิโลวัตต์ หรือ 192 แรงม้า ที่ 4,700-6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด (Overboost) 280-300 นิวตันเมตร ที่ย่าน 1,250-4,750 รอบต่อนาที อัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใน 6.7 วินาที ความเร็วสูงสุดตะกายไปได้ถึง 230 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย 14.5 กิโลเมตร/ลิตร ระดับการปล่อย CO2 เท่ากับ 122 กรัม ต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร มาตรฐานมลพิษระดับ EURO-6 ส่วนระบบส่งกำลังซึ่งเป็นท่ีมาของความบันเทิงท่ามกลางความทรมาน เกียร์ธรรมดา 6 สปีด มีอัตราทดที่จัดจ้านเอามากๆ เมื่อลองถอนคลัตช์-สับเกียร์เร็วจี๋ ที่เกียร์ 3 เจ้าหนูแดงตัวแสบคันนี้ก็ยังมีอาการฟรีทิ้ง ส่วนอาการทอร์คสเตียร์ได้รับการแก้ใขให้ดีขึ้น และสามร้อยยอดก็เป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสมกับการขับทดสอบรถเล็กรุ่นนี้ ส่วนอัตราทดสุดจิ้ดมีตัวเลขดังต่อไปนี้
MINI Cooper S 6 speed manual gear ratio
Transmission Relations
1st Gear Ratio: 8.1
2nd Gear Ratio: 14.8
3rd Gear Ratio: 22.7
4th Gear Ratio: 29.1
5th Gear Ratio: 35.5
6th Gear Ratio: 41.9
Reverse Gear Ratio: 9.0
ภายใต้เครื่องหมายการค้าของ BMW Group การเปลี่ยนไฟท้ายเป็นลายธงอังกฤษแสดงออกถึงความพยายามในการบ่งบอกผู้คนทั่วไปว่ามันคือรถอังกฤษ แต่แท้ที่จริงแล้วมันคือรถเยอรมัน ไม่ว่าจะย่องอยู่ในเมืองหรือโลดแล่นเต็มฝีเท้าในการขับทางไกล ทุกครั้งที่ขับ MINI หมายถึงการผญจภัยที่โลดโผน ไม่ว่าคุณจะขับมันไปช็อปปิ้งในเมืองหรือเอาออกมาขับกินลมชมวิวตามอุทยานแห่งชาติของประเทศไทย Cooper ถือว่าเป็นรถที่เหมาะสม การเลือกซื้อรถเล็กราคาแพงจาก MINI หมายถึงการเลือกของเล่นที่ถูกใจในวัยเด็กและของเล่นที่ถูกใจนั้นส่วนใหญ่มีราคาแพงทั้งสิ้น! การยัดเกียร์เร็วๆ ถอนคลัตช์แบบดีดๆ เจ้า Paddy Hopkirk Edition จะถลาไปข้างหน้าอย่างมุ่งมั่นและรวดเร็ว แรงบิดที่เทออกมาให้ใช้งานมีความต่อเนื่องจากอัตราทดที่เน้นความดิบตั้งแต่เกียร์ 1-6 ที่ความเร็ว 100 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง ในตำแหน่งเกียร์ 6 รอบเครื่องยนต์ปาเข้าไปถึง 2,700 รอบต่อนาที นับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้ลอง MINI เกียร์ธรรมดา หลังจากที่เคยเดินทางไปขับบนเกาะมายอร์ก้าในช่วงการเปิดตัวของ MINI เวอร์ชั่น LCI แล้วมีรถเกียร์แมนนวลให้ลองขับด้วยอีกตะหาก แต่ผมกลับรักความสบาย และชอบการเฉิดฉาย ด้วยการเดินไปที่ Cooper S Convertible เกียร์ออโต้ทวินคลัตช์ แทนที่จะสนุกกับความดิบของหนูเล็กเด็กแสบที่ใช้เกียร์แมนนวลสุดจิ้ด
ผลพวงจากอัตราทดของเกียร์ทำให้ผมกระหน่ำเจ้า Paddy Hopkirk Edition อย่างไม่ยอมลดราวาศอก อัตราทดเฟืองเกียร์ของมันถูกปรับให้มีความสปอร์ตมากขึ้น จนหนูแดงคันนี้ไม่ใช่รถเล็กที่จะมาล้อเล่นได้ง่ายๆอีกต่อไป ความเร็วที่เกียร์หนึ่งไปสุดแค่ 70 กิโลเมตร ส่วนเกียร์สามสามารถลากไปได้ถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นเร็วมากและแทบจะไม่มีอาการห้อย ที่เกียร์หก ผมยกคันเร่งเพราะมันเร็วเกินไปจนอาจก่อให้เกิดอันตราย เครื่อง 2.0 ลิตร เทอร์โบที่เสียบเข้ากับระบบส่งกำลังแบบธรรมดา ปรับเปลี่ยนสมรรถนะด้านการทำความเร็ว ด้วยความรู้สึกที่เชื่อมโยงระหว่างรถและคนขับ การตอบสนองของคันเร่งไม่ได้ด้อยไปกว่ารุ่นเกียร์อัตโนมัติ มันขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนเกียร์ของตัวคุณเอง ว่าจะเร็วมากพอจนทำให้รถไปไวขึ้นได้หรือไม่ พวงมาลัยเมื่อขับเร็วมีการกรองน้ำหนักให้เพิ่มขึ้นเพื่อความแน่นอนและมั่นคงในย่านความเร็วสูง เมื่อหักหัวเข้าโค้งมุมแคบบนทางหลวงชนบทแถบประจวบฯ คุณจะรู้สึกได้อย่างชัดเจนถึงแรงยึดเกาะและความสามารถของยาง Goodyear ในการเทโค้ง พวงมาลัยคมกระชับ ยางสปอร์ตรันแฟลตมีกริ้บที่ดีงาม นำพาหน้ารถไปยังทิศทางที่ต้องการได้อย่างเที่ยงตรง ในโหมดสปอร์ต พวงมาลัยจะตึงมือขึ้นมาอีกนิด ไม่ได้หนักมากเกินไปและอยู่ในระดับที่พอดิบพอดีกับการขับเร็ว อาการดีดดิ้นเกิดขึ้นเฉพาะในจังหวะที่ลงคันเร่งสับเกียร์เร็วๆเท่านั้น ถ้าขับปกติมันก็ทำตัวเป็นเด็กที่มีความเรียบร้อยน่ารักได้ดีพอสมควร แต่เมื่อไหร่ที่เกิดอาการคันขึ้นมา MINI Paddy Hopkirk Edition ก็พร้อมกลายร่างเป็นเด็กแก่นจอมแสบที่วิ่งฉิวราวกับลมพายุพัดแรง
ความคล่องแคล่วว่องไวในรถขนาดเล็กอย่าง MINI ยังมีความกระด้างของช่วงล่างเป็นของแถม Paddy Hopkirk Edition ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนค่าการยึดและยุบของโช้คกับสปริง ทุกสิ่งทุกอย่างในระบบรองรับของมันยังคงเหมือนเดิม ช่วงล่างและพวงมาลัยมีส่วนอย่างมากกับความคล่องและเร็ว เป็นเครื่องมือสำคัญที่พาผมโลดแล่นจากชายฝั่งทะเลของเพชรบุรีจนมาถึงประจวบคีรีขันธ์ ที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีรถน้อย เหมาะกับคนชอบขับรถแบบกินลมชมทิวทัศน์ แม้จะมีแสงแดดจัดในบางวัน แต่มีลมทะเลคอยพัดไล่ความอบอ้าว ล้อ 17 นิ้วสีดำ ห่อรัดด้วยยางสปอร์ต Goodyear eagle f1 ขนาด 205/45R17 88W เป็นยางที่เอื้ออำนวยต่อการทำความเร็ว แก้มยางแบบรันแฟลตหนาและแข็งแรงกว่ายาง Pirelli Cinturato P7 Runflat ซึ่งอยู่ใน Cooper S Convertible ผมเคยขับเจ้า MINI เปิดหลังคาแล้วตกหลุมด้วยยางรุ่นนี้เมื่อช่วงฤดูหนาวในปี 2019 สุดท้ายพอกลับถึงกรุงเทพฯ แก้มยางก็ปูดบวมออกมาด้านข้างคล้ายลูกมะนาว eagle f1 Runflat มีแก้มยางที่แข็งแรงกว่ามาก รองรับการขับเทโค้งได้ในระดับที่น่าประทับใจ แถมยังรีดน้ำได้ดีอีกด้วย แต่ก็ควรจะลดความเร็วลงมาทุกครั้งเมื่อฝนตก ไม่ว่ายางของคุณจะดีเลิศขนาดไหน ก็ไม่สามารถหลีกหนีอาการเหินน้ำไปได้เลย
โดยภาพรวม Paddy Hopkirk Edition เป็นรถที่มีกลิ่นของความเป็น MINI ที่คุ้นเคยในอดีต ปรากฏอยู่ทั่วไปหมด อุปกรณ์และเทคนิคใหม่ๆ ถูกปรับปรุงให้มีเหตุผลของการใช้งานดีกว่าเดิม การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดทั้งปวง ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการที่จะรำลึกถึงอดีตที่ยิ่งใหญ่ของ Cooper S ช่วงล่างที่หนึบแน่น เกาะถนน เครื่องเทอร์โบและเกียร์แมนนวล ทำให้มันเป็นรถที่แปลกแยกแตกต่างไปจากพี่น้อง Cooper S รุ่นมาตรฐาน สำหรับคนที่ยังกล้าๆ กลัวๆ ขอบอกว่า ช่วงล่าง MINIในทุกวันนี้ก็ไม่แข็งกระด้างมากจนนั่งไม่สบาย การเซ็ตช่วงล่าง ออกมาในลักษณะของรถโกคาร์ท แต่ไม่สะเทือนจนทำให้รู้สึกไม่สบายตัว แม้จะเป็นเพียงแค่รถคันเล็ก แต่ใช้ขับออกทางไกลได้ดี และไม่ทำให้คุณต้องพบกับความผิดหวังในด้านของความบันเทิงหลังพวงมาลัย การเข้าโค้งที่แม่นยำ ถ่ายเทน้ำหนักดีและความสบายพอใช้ได้ เมื่อวิ่งผ่านผิวถนนไม่เรียบ ตัวเลขความเร็วในการตะกายจาก 0 ไปจนถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อยู่ที่ 6.8 วินาที ส่วนหนึ่งเป็นผลลัพธ์จากเทอร์โบ TwinScroll และอัตราทดที่จัดจ้านของเกียร์ 6 สปีด Paddy Hopkirk Edition จะทำให้คุณรู้สึกได้ถึงสมรรถนะที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อ MINI หันมาใช้เกียร์ธรรมดาแทนเกียร์ออโต้ จริงอยู่ที่ว่าเกียร์อัตโนมัติสมัยใหม่นั้นเปลี่ยนเกียร์ได้เร็ว ช่วยลดเกียร์ลงต่ำเมื่อคาอยู่ในโหมด Sport แล้วต้องใช้เบรกหนักๆ แต่รถ MINI เกียร์อัตโนมัติ ไม่มีวันทำได้เหมือนกับอารมณ์และฟิลลิ่งในรุ่นเกียร์แมนนวล กดสวิตช์ปรับโหมดไปที่ Sport เตรียมความพร้อมให้กับมือซ้ายและขวาซ้าย ที่จะอยู่ไม่สุขไปตลอดการขับ เป็นรถเล็กที่ปราดเปรียวว่องไวจนบางครั้งก็เกินงามมากไปหน่อยหากใส่มาแบบไม่ยั้ง ฐานล้อที่สั้นกุดทำให้มันเป็นรถที่ไวในย่านความเร็วสูงและอาจทำให้เสียการควบคุมได้ถ้าสบัดพวงมาลัยเร็วเกินไป เป็น Cooper S คันแรกที่เอาชนะ John Cooper Works ในด้านความมันหลังพวงมาลัย
56 ปีที่แล้ว Ford Falcon เครื่องยนต์ V8 ใช้เวลาถึง 17 วินาที เพื่อไล่ตามหลัง Cooper S ที่ขับโดย Paddy Hopkirk ปี 1964 กับการแข่งขัน Monte Carlo Rally สำหรับนักแข่งรถที่เข้าแข่งขันในรายการนี้ทุกคน นับเป็นการผจญภัยอย่างแท้จริง เป็นการแข่งรถแรลลี่ที่ได้รับการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ไปทั่ว นับเป็นยุคที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลก ต่างก็ค้นพบว่า การแข่งรถยนต์รายการใหญ่ จะเป็นเวทีที่ใช้โชว์ความสามารถของรถที่สมบูรณ์แบบ เป็นการนำเสนอประสิทธิภาพของรถอย่างโจ่งแจ้ง (และมีต้นทุนในการปรับแต่งมหาศาล) ช่วงต้นทศวรรษ 1970 Paddy Hopkirk เกษียณตัวเองจากการแข่งขันแรลลี่และประกอบสอาชีพใหม่ ด้วยการนำ MINI เข้าไปขายในบ้านเกิดของตนเองที่ไอร์แลนด์เหนือ การขายผลิตภัณฑ์เสริม พวกอุปกรณ์ตกแต่งรถ ที่จำหน่ายภายใต้แบรนด์ Paddy Hopkirk ซึ่งมีการใช้ชื่อเสียงที่โด่งดังของ Paddy เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ปัจจุบัน Hopkirk มีอายุ 87 ปี ยังคงมีส่วนร่วมในการสร้างแบรนด์ MINI อีกครั้ง ในฐานะที่ปรึกษาของ BMW Group นักแข่งแรลลี่รุ่นเก๋าคนนี้ยังคงมีส่วนร่วมในกิจกรรมขับรถโชว์ในสนามแข่งแบบกิตติมศักดิ์หลายครั้ง จนถึงทุกวันนี้ ในระหว่างอาชีพนักแข่งที่กระตือรือร้น Hopkirk ได้สนับสนุนแคมเปญด้านความปลอดภัยทางถนนจำนวนมาก มีส่วนร่วมในฐานะทูตขององค์กรการกุศล IAM RoadSmart ความมุ่งมั่นของเขายังรวมถึงการทำงานในคณะกรรมการบริหารของ British Racing Drivers' Club และสนับสนุน WheelPower ซึ่งเป็นสมาคมที่อุทิศตนเพื่อส่งเสริมกีฬาวีลแชร์ ในปี 2559 Paddy Hopkirk ได้รับรางวัล Member of the Order of the British Empire จากเจ้าฟ้าหญิงแอนของอังกฤษอีกด้วย.
อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/