ปัจจุบัน ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดรอบสอง การจะตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์สักคัน โดยเฉพาะรถราคาประหยัด ที่มีขายอยู่ในตลาดรถใหม่ของไทย ผู้คนส่วนใหญ่จะใส่ใจในเรื่องของความคุ้มค่ากับราคาที่ไม่แพง เป็นรถที่มีพื้นที่ใช้สอยพอเพียง และเหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพราะผู้คนจำนวนมากที่อยากถอยรถใหม่ ไม่สามารถหาเงินได้เท่าเดิม เพื่อใช้จ่ายเงินจำนวนมากสำหรับการเลือกซื้อรถราคาแพง รถอีโคคาร์ราคาประหยัดในยุคนี้ ถูกทำออกมาดีพอใช้ เนื่องจากการแข่งขันในกลุ่มรถเล็กทำให้เกิดการพัฒนาระบบขับเคลื่อนที่รุดหน้าทันสมัย รถเล็กราคาประหยัดนั้นไม่จำเป็นจะต้องห่วยเสมอไป Mazda 2 กลายเป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จของค่ายรถเล็กที่ได้รับความนิยมจากการวิจัยและพัฒนาอย่างเข้มข้น กลายเป็นรถที่ขายดี และทำให้เจ้าตลาดอย่าง Honda City ต้องหันกลับมาพัฒนารถรุ่นใหม่ให้ดีกว่าเดิม การทำทุกอย่างที่ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้นไปอีก ล้วนแล้วแต่มีต้นทุน แต่คนของ Honda ก็ฉลาดมากพอที่จะปรับปรุงสมรรถนะของรถเล็ก ให้มีการขับขี่ที่ดีขึ้น รวมถึงการทำราคาไม่ให้แพงมากจนเกินไป New City Hatchback RS น้องใหม่รุ่น 5 ประตูมีขนาดที่สั้นกว่ารุ่นซีดานสี่ประตูเล็กน้อย แม้ความต้องการในรถเล็ก 5 ประตูสไตล์ Hatchback จะไม่สูงเท่ากับรุ่นสี่ประตู แต่จากความพยายามในการเอาชนะคู่แข่งของผู้บริหารจากค่าย Honda ทำให้รถเล็กเครื่องจิ๋วเวอร์ชั่นห้าประตูถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงปลายปี 2020 นับเป็นรถคันเล็กที่มีการขับดีงามแทบจะไม่แตกต่างไปจาก City ซีดาน สำหรับเจนเนอเรชั่นที่ 5 ของโมเดล City ที่โผล่โฉม 5 ประตู Hatchback พร้อมความสดใหม่ออกมาให้เห็นในวันที่ 24 เดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นการเปลี่ยนแปลงเรือนร่างครั้งใหญ่โดยยังคงใช้เครื่องยนต์ 3 สูบ ขนาด 1.0 ลิตร เทอร์โบ ระบบส่งกำลัง CVT แปรผัน ชุดบังคับเลี้ยวไฟฟ้าที่มาดมั่นและช่วงล่างแจ่มๆ รวมถึงงานตกแต่งภายในจาก City รุ่นสี่ประตูทั้งหมด 

Honda City Hatchback รุ่นและราคา
Honda City Hatchback รุ่น RS ราคา 749,000 บาท (คันทดสอบ)
Honda City Hatchback รุ่น SV ราคา 675,000 บาท
Honda City Hatchback รุ่น S+ ราคา 599,000 บาท

...

...

Honda City Hatchback ออกแบบภายใต้แนวคิด Energetic Hatchback วางเส้นสายต่อเนื่องรอบคัน ส่วนท้ายที่ลาดเท พร้อมฝาท้ายหรือประตูบานที่ห้า ในสไตล์แฮตช์แบค ไฟหน้า กระจังหน้า กันชนหน้า เหมือนกับ City RS เวอร์ชั่นสี่ประตูแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไฟหรี่กลางวัน LED Daytime Running Light ไฟท้าย LED มีรูปทรงที่สอดรับกับฝากระโปรงท้าย เสาอากาศแบบครีบฉลาม ล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้วในรุ่น RS

...

...

ไฟท้ายทรงใหม่ของ Hatchback สวยงามและเข้ากับบั้นท้ายสไตล์แฮตช์แบค ส่วนท้ายของมันที่ไปคล้ายกับท้ายของ Mercedes-Benz new A-Class Hatchback แบบช่วยไม่ได้ หลังจากที่รุ่นซีดาน 4 ประตู มีทรงของไฟท้ายคล้าย BMW Series-3 G20 ว่ากันไปนั่นเลยทีเดียว จริงๆ แล้ว งานออกแบบส่วนท้ายของรถแฮตช์แบค 5 ประตูนั้นทำให้สวยงามลงตัวยากอยู่เหมือนกัน แต่รถอย่าง City Hatchback กลับทำได้ดี สปอยเลอร์หลัง Gloss Black พร้อมสัญลักษณ์ RS ล้ออัลลอยลายใหม่สีเงินสลับดำ ขอบ 16 นิ้ว ยางหน้าแคบสำหรับลดแรงต้านและช่วยทำให้ประหยัดเชื้อเพลิง City RS ยัดยาง YOKOHAMA BluEarth A ไซส์ 185/55R16 มิติตัวถัง มีความยาว 4,349 มิลลิเมตร กว้าง 1,748 มิลลิเมตร สูง 1,488 มิลลิเมตร ความยาวฐานล้อ 2,589 มิลลิเมตร ระยะห่างล้อหน้า 1,497 มิลลิเมตร ระยะห่างล้อหลัง 1,483 มิลลิเมตร ความสูงจากพื้นถึงใต้ท้องรถ 135 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1,179 กิโลกรัม

เทียบกับสัดส่วนของ Honda City รุ่นซีดานสี่ประตู ที่มีขนาดความยาว 4,553 มิลลิเมตร กว้าง 1,748 มิลลิเมตร สูง 1,467 มิลลิเมตร ความยาวฐานล้อ 2,589 มิลลิเมตร ระยะห่างล้อหน้า 1,497 มิลลิเมตร ระยะห่างล้อหลัง 1,483 มิลลิเมตร ความสูงจากพื้นถึงใต้ท้องรถ 135 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1,165 กิโลกรัม

จะเห็นตัวเลขมิติตัวถังของ City Hatchback รุ่น 5 ประตูนั้นสั้นกว่า 203 มิลลิเมตร กว้างเท่ากัน และสูงกว่า 30 มิลลิเมตร ส่วนตัวเลขความยาวฐานล้อ และระยะห่างล้อหน้า - หลัง รวมถึงความสูงจากพื้นจนถึงใต้ท้องรถก็เท่ากันทั้งหมด สำหรับน้ำหนักรถทั้งคัน รุ่น 5 ประตู Hatchback หนักกว่ารุ่นสี่ประตูซีดาน 14 กิโลกรัม  

ห้องโดยสารของ New City Hatchback 1.0 Turbo RS เหมือนกับตัวซีดานทุกประการ มันอุดมไปด้วยพลาสติกและไวนิลที่ Honda ใช้ความพยายามในการตกแต่งให้มันมีห้องโดยสารที่ดูดีสมราคา อย่างที่เคยบอกว่า ภายในของ new City Series ยังคงตามหลังภายในของ Mazda 2 ในด้านของวัสดุและรูปแบบ ใน City Hatchback แดชบอร์ดทำจากพลาสติกฉีดขึ้นรูปเชื่อมต่อกับคอนโซลกลาง ช่องแอร์ทรง 5 เหลี่ยมล้อมกรอบด้วยพลาสติกสีเงินเพื่อยกระดับความหรู เบาะนั่งปรับด้วยมือหุ้มด้วยหนังและผ้าเนื้อดีตัดเย็บอย่างละเอียดด้วยการโชว์ตะเข็บด้ายสีแดง เบาะคู่หน้าหนังกลับปรับด้วยมือ ส่วนเบาะหลังก็ยังมีพื้นที่กว้างมากพอสำหรับผู้ใหญ่ตัวโตๆ สองคน หรือคนที่มีรูปร่างไม่อวบอ้วนก็ยังนั่งได้ถึง 3 คน จุดเด่นของ City Hatchback ก็คือช่องเก็บของ ที่วางแก้ว ทั้งบริเวณแผงประตูทั้งสี่บานและที่คอนโซลกลาง พนักเท้าแขนกึ่งกลางระหว่างเบาะคู่หน้าแม้จะทำให้รู้สึกสบายแต่ถ้าผู้โดยสารด้านข้างคนขับวางแขนลงไปบางทีก็จะโดนแขนคนขับแบบไม่ตั้งใจ! ตำแหน่งที่สบายก็คือเบาะหลังสำหรับคนที่มีรูปร่างปกติ พื้นที่วางขาและพื้นที่เหนือศีรษะ ในจุดนี้ City Hatchback สามารถเอาชนะ Mazda 2 ไปได้แบบขาดลอย 

สำหรับรูปแบบของการปรับพื้นที่เบาะหลัง มีทั้งหมดสี่แบบคือ

Utility Mode: เบาะด้านหลังทั้ง 2 ด้านปรับพับเรียบ เพิ่มพื้นที่เก็บของด้านหลัง
Long Mode: เบาะด้านหน้าและด้านหลังปรับพับ เพิ่มพื้นที่เก็บของในแนวยาว
Tall Mode: เบาะด้านหลังพับขึ้น เพิ่มพื้นที่เก็บของในแนวสูง
Refresh Mode: เบาะด้านหน้าพับเชื่อมต่อกับเบาะด้านหลัง 

มาตรวัดทรงกลมเรืองแสงสีแดง ออกแบบให้อ่านค่าได้ง่ายทั้งวัดรอบและวัดความเร็วมีขนาดเท่ากัน กึ่งกลางมาตรวัดคือจอแสดงข้อมูล MID multi information display ใช้การสั่งงานด้วยปุ่มกดข้างๆ มาตรวัดด้านซ้าย เลือกดูการแสดงผลของอัตราสิ้นเปลือง ระดับเชื้อเพลิงในถังต่อระยะทางที่สามารถวิ่งไปถึง เวลาแบบตัวเลข อุณหภูมิภายนอกห้องโดยสาร สเกลวัดการใช้พลังงาน ทริปมิเตอร์ A-B ตำแหน่งเกียร์ออโต้

จอแสดงผลกลางสั่งงานด้วยระบบสัมผัส ขนาด 8 นิ้ว เป็นจอภาพแบบใหม่ที่มีความคมชัดใช้ได้ สามารถใช้งานระบบเครื่องเสียง 8 ลำโพง (หน้า 4 หลัง 4) ผ่านจอภาพ รวมถึงการเชื่อมต่อต่างๆ เช่น Apple CarPlay Google Maps เชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือด้วยระบบบลูทูธ เล่นเพลงผ่าน USB วิทยุ AM/FM iPod เป็นหน้าจอมอนิเตอร์ระบบสัมผัสแบบใหม่ที่ใช้งานง่าย แถมยังมีกล้องมองหลังที่คมชัดมากติดมาให้ กล้องมองหลังทำงานร่วมกับตำแหน่งเกียร์ถอยหลัง เมื่อขับในตอนกลางคืนตัวเลนส์ก็ยังให้ภาพที่ค่อนข้างคมชัดแม้จะถอยหลังในที่มืดแต่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน เป็นอีกจุดที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยเวลาขับถอยหลังเพื่อจอดในพื้นที่คับแคบ

หน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID (Multi-Information Display) พร้อมมาตรวัดเรืองแสงสีแดง พวงมาลัยแบบมัลติฟังก์ชั่น พร้อมปุ่มควบคุมระบบเครื่องเสียงและปุ่มรับ-วางสายโทรศัพท์ ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ เครื่องเสียงหน้าจอสัมผัสขนาด 8 นิ้ว แบบ Advanced Touch รองรับ Apple CarPlay ระบบสั่งการด้วยเสียง SIRI 
ปุ่มสตาร์ตเครื่องยนต์ One Push Ignition System ระบบควบคุมประตู Honda Smart Key System

พวงมาลัยทรงสามก้านหุ้มหนังแท้เกรดดี พอจับพวงมาลัยก็จะรู้สึกได้ถึงหนังที่ใช้หุ้ม ความนุ่มกระชับด้วยการออกแบบรอบวงที่พอดีไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไปจนจับถือไม่ถนัดมือ พวงมาลัยทรงสปอร์ตของ Honda New City RS มีการติดตั้งสวิตช์มัลติฟังก์ชั่นคอยสั่งงานระบบต่างๆ เช่น ปรับแต่งระบบเสียงหรือเลือกเล่นเพลงผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ปุ่มรับหรือวางสายโทรศัพท์ระบบบลูทูธ ปุ่มปรับตั้งความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control แป้นเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ Paddle Shift มีขนาดเล็กแต่อยู่ในตำแหน่งที่ใช้นิ้วกดเพื่อเปลี่ยนเกียร์ได้ง่าย หนังชั้นดีที่ใช้หุ้มรอบวงเย็บเดินตะเข็บด้วยด้ายสีแดงตามลักษณะของรถยนต์ Honda ในเวอร์ชั่น RS

ขุมกำลังแบบใหม่ซึ่งกลายเป็นที่มาของความแรงในรุ่นซีดาน เคยสร้างความประทับจิตมาแล้วเมื่อผมลองเอาไปลากขึ้นเขาที่ด่านช้าง แรงจริงหรือแค่โม้ก็ต้องมาดูกันใกล้ๆ พร้อมกับการขับลากยาวเพื่อลองสมรรถนะของเครื่องยนต์ตัวเล็กแบบ 3 กระบอกสูบ อัดอากาศด้วยหอยเล็กเด็กอนุบาลในระบบ Turbo Charger หอยจิ๋วที่มีกำลังบูสเหมาะสมกับเครื่องยนต์สามสูบ รับหน้าที่อัดอากาศเข้าสู่ห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์ได้เร็วขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ได้อย่างรวดเร็ว มีสมรรถนะและแรงบิดเทียบเท่าเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร ระบบส่งกำลังใช้เกียร์อัตโนมัติ CVT พร้อมระบบควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย เป็นเกียร์ CVT แปรผัน 7 สปีด เครื่องยนต์ผ่านมาตรฐานไอเสีย EURO 5 New City มาพร้อมหัวใจใหม่ล่าสุด เป็นขุมกำลังที่เน้นความเล็กกะทัดรัดและเบา มีแรงบิดพอตัวและปล่อยมลพิษต่ำ City การหันไปคบกับเครื่องยนต์เบนซินแถวเรียง วางตามขวางขับเคลื่อนล้อหน้าแบบ 3 สูบ เพื่อลดตัวเลขการปล่อย CO2 ความจุของเครื่องไซส์เล็กไม่ได้มากมายอะไรเพราะต้องทำตัวให้สะอาดและประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยปริมาตรความจุเครื่องยนต์แค่ 1.0 ลิตร ระบบวาล์วแปรผัน VTEC พร้อมระบบอัดอากาศเทอร์โบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านของแรงบิดให้กับเครื่องยนต์ตัวเล็ก

เครื่องยนต์ใหม่ เบนซิน 3 สูบ ฝาสูบแบบทวินแคมดับเบิ้ลโอเวอร์เฮดแคมชาร์ป DOHC 4 วาล์วต่อสูบ = 12 วาล์ว 998 ซีซี. ความกว้างกระบอกสูบ 73.0 มิลลิเมตร ช่วงชัก 78.7 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.0:1 ระบบแปรผันวาล์ว ทั้งแบบ VTEC และ Dual VTC ระบบอัดอากาศเทอร์โบ Single Scroll ให้กำลังสูงสุด 122 แรงม้า ที่ 5,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 173 นิวตันเมตร ที่ 2,000–4,500 รอบต่อนาที ระบบส่งกำลังใช้เกียร์อัตโนมัติ CVT พร้อมแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift โดย Honda แจ้งว่าเครื่องยนต์ตัวเล็กรุ่นนี้มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 23.8 กิโลเมตรต่อลิตร (ขับจริง ในเมืองทำได้ 12.8 กิโลเมตรต่อลิตร นอกเมือง 14.5 กิโลเมตรต่อลิตร) ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ 99 กรัม/กิโลเมตร รองรับน้ำมัน E20

จากข้อมูลของ Honda แจ้งว่า เครื่องยนต์ VTEC 1.0 Turbo มีประสิทธิภาพเหนือกว่าเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร แบบไม่มีระบบอัดอากาศ และมีแรงบิดเทียบเท่าเครื่องยนต์ขนาด 1.8 ลิตรรุ่นเก่า ระบบส่งกำลังออกแบบให้มีการผ่องถ่ายอัตราทดที่นิ่มนวลไหลลื่นด้วยเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่อง (CVT) Honda เคลมอัตราสิ้นเปลืองที่ 23.3 กิโลเมตรต่อลิตร เมื่อนำไปทดสอบบนเส้นทางภูเขา ทำได้ 13.8 กิโลเมตรต่อลิตร ส่วนจุดเด่นของเครื่องใหม่แบบ 3 กระบอกสูบ ขนาด 1.0 ลิตร อัดอากาศด้วยเทอร์โบ มีดังนี้ 

ระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงแบบฉีดตรง (Direct Injection) เป็นระบบฉีดตรงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ด้วยปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงแรงดันสูง 

Dual VTC ระบบแคมชาฟท์ เพิ่มหรือลดองศาของแคมชาฟท์ในการเปิดปิดวาล์วไอดีและไอเสีย 

ระบบแปรผันระยะยกของวาล์ว VTEC เป็นการแปรผันระยะยกของวาล์วไอดี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประจุไอดีจำนวนมากเข้าสู่ห้องเผาไหม้ โดยจะแปรผันการทำงาน เพื่อตอบสนองได้รวดเร็ว เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลไก VTEC

อินเตอร์คูลเลอร์แบบน้ำ (Water-Cooled Type Intercooler) เป็นการระบายความร้อนอากาศที่มาจากการบูสของเทอร์โบด้วยน้ำ ติดตั้งมากับเครื่องยนต์ 1.0L VTEC TURBO ช่วยให้การระบายความร้อนเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและยังลดระยะทางในการประจุไอดีให้สั้นลง

ระบบรองรับด้านหน้าแบบแมคเฟอร์สัน สตรัท สปริง โช้คอัพและเหล็กกันโคลง ด้านหลังใช้แบบทอร์ชั่นบีม ระบบเบรก ด้านหน้า ดิสเบรกแบบมีช่องระบายความร้อนด้านหลังยังคงใช้ดรัมเบรกเหมือนเดิม (รุ่นสูงสุด ควรจะเปลี่ยนเป็นดิสเบรกได้แล้ว) สำหรับระบบความปลอดภัยของ Honda City ติดตั้งโครงสร้างตัวถังนิรภัย G-Force Control หรือ G-CON ถุงลม 6 ตำแหน่ง ระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (ABS) ระบบกระจายแรงเบรก (EBD) ระบบช่วยควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง (Vehicle Stability Assist - VSA) ระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (Hill Start Assist - HSA) กล้องมองภาพด้านหลังปรับมุมมองได้ 3 ระดับ (Multi-angle Rearview Camera)


ระบบความปลอดภัย โครงสร้างตัวถังนิรภัย G-Force Control หรือ G-CON 
ถุงลม 6 ตำแหน่ง ถุงลมคู่หน้า (Dual SRS) ถุงลมด้านข้าง (Side Airbags) และม่านถุงลมด้านข้าง (Side Curtain Airbags)

กล้องส่องภาพด้านหลังปรับมุมมอง 3 ระดับ (Multi-angle Rearview Camera) ช่วยเพิ่มทัศนวิสัยในการถอย โดยสามารถเลือกดูมุมกล้องที่แตกต่างกันได้ทั้งแบบ 130 องศา 180 องศา และมุมมองจากด้านบน ในจังหวะที่เกียร์ถูกเปลี่ยนมาอยู่ในตำแหน่งเกียร์ถอยหลัง

ระบบป้องกันล้อล็อก (ABS)
ระบบกระจายแรงเบรก (EBD)
ระบบกระจายแรงเบรก (EBD)
ระบบช่วยควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง (Vehicle Stability Assist - VSA)
ระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (Hill Start Assist - HSA) 
สัญญาณไฟฉุกเฉินอัตโนมัติขณะเบรกกะทันหัน (Emergency Stop Signal - ESS) เป็นระบบที่ทำงานโดยอัตโนมัติ โดยสัญญาณไฟฉุกเฉินจะทำงานเมื่อมีการเหยียบเบรกกะทันหัน เป็นการแจ้งเตือนรถที่ตามมาข้างหลัง

บรรยายรายละเอียดของตัวรถเรียบร้อยแล้วก็มาถึงช่วงการนำออกมาลากทางไกลเพื่อทดสอบประสิทธิภาพการวิ่ง จากกรุงเทพมหานคร ผมใช้เส้นทางบางบัวทอง-สุพรรณบุรี ต่อเชื่อมกับอำเภอเลาขวัญไปยังอำเภอบ้านไร่ ในจังหวัดอุทัยธานี โดยเฉพาะทางขึ้นเขาลงห้วยเพื่อไปยังอุทยานแห่งชาติพุเตย แล้วขับออกไปทางอำเภอบ้านไร่ วกกลับรถแถวๆแก่นมะกรูดที่อุดมไปด้วยธรรมชาติสองข้างทางซึ่งมีความสงบและสวยงาม ห่างไกลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 

การแข่งขันอย่างดุเดือดในตลาดรถเล็กนั้นไม่เคยน่าจับตามองขนาดนี้มาก่อน ผู้เล่นหลักอย่าง Mazda 2 และ Honda City Hatchback นอกจากจะเป็นรถเล็กที่ขับสนุกแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็งัดเอาอาวุธหลักออกมาถล่มกันซึ่งหน้า City Hatchback ผู้ท้าชิงนั้นมาพร้อมระบบส่งกำลังแบบใหม่ล่าสุด ทั้งเครื่องยนต์ตัวเล็กแค่ 1 ลิตร ขนาด 3 สูบ ระบบอัดอากาศเทอร์โบ กลไกวาว์ลแปรผัน VTEC เกียร์ CVT ส่วนรถคู่แข่งที่ถูกกว่าอย่าง Nissan New Almera นั้น ขายได้เรื่อยๆ แต่ตัวเลขยอดขายยังคงตามหลัง City ไกลลิบ รถทดสอบ City Hatchback 1.0 Turbo RS มีจุดเด่นในเรื่องของ Dynamic หลังพวงมาลัยที่ปรับมาดี (มาก) การปรับปรุงที่ดีขึ้นผิดหูผิดตาของ CityHatchback โดยเฉพาะฟิลลิ่งและแฮนด์ลิ่ง สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในวงการรถเล็ก จากการออกแบบที่เชื่อมโยงกับรถรุ่นพี่ภายในค่ายวิศวกรของ Honda ให้ความสนใจกับแชสซีในอันดับแรก G-CON แบบใหม่กลายเป็นแชสซีของ City ที่มีความแข็งแกร่ง เหมาะกับการนำเอาเครื่องยนต์ขนาดเล็กที่เป็นขุมกำลังใหม่ลงไปวาง เป็นการเข้ามาแทนที่เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร รุ่นเก่าของ Honda ที่เดินมาถึงทางตัน ทั้งค่ามลพิษและประสิทธิภาพของแรงบิด นอกจากนั้น Honda ยังมุ่งไปที่การควบคุมหลักนั่นก็คือ ช่วงล่างและระบบบังคับเลี้ยวให้ทำหน้าที่ได้ดีขึ้นกว่าเดิม ทำให้ City ใหม่ทั้งรุ่น 4 และ 5 ประตู มีประสิทธิภาพด้านการทรงตัวมากกว่ารุ่นเดิม City Hatchback ถูกพัฒนาให้มีน้ำหนักเบาลง แต่มันยังหนักกว่ารุ่น 4 ประตู 10 กิโลกรัม เครื่องยนต์ที่มีขนาดกะทัดรัด และใหญ่กว่าเครื่องรถตัดหญ้าแค่นิดเดียว รวมไปถึงการปรับปรุงห้องโดยสารให้มีความน่าใช้งานในด้านการเก็บเสียง ส่วนกำลัง 122 แรงม้า กับแรงบิด 173 นิวตัน-เมตร ก็เป็นตัวเลขที่ดูน้อยไปนิดแต่เมื่อลองเอาไปวิ่งจริงๆ จังๆ บนเส้นทางภูเขาก็พบว่า แรงบิดระดับนั้นสามารถผลักดันตัวรถขึ้นภูเขาสูงชันได้อย่างสบายๆ 1 ปีที่ผ่านมา ขุมกำลังขนาด 1 ลิตร เทอร์โบของ Honda กลายเป็นจุดเด่นของ New City เครื่องยนต์มีแรงบิดมากพอที่จะออกตัวด้วยความรวดเร็วพร้อมกับการทรงตัวในย่านความเร็วสูงที่ดีจนทำให้รู้สึกแปลกใจ! 

City Hatchback ให้ความรู้สึกเบาและคล่องตัวเมื่อขับในเมืองหรือขับบนทางหลวงชนบทที่อุดมไปด้วยเนินเขาแบบนี้ ทุกอย่างในกลไกของไดนามิกไม่ว่าจะเป็น พวงมาลัย ช่วงล่าง แป้นคันเร่ง และการถ่ายเทน้ำหนักต่างตอบสนองได้ดีอย่างชัดเจน ความเบาแค่ 1175 กิโลกรัม ทำให้เครื่องตัวเล็กไม่ต้องรับภารกรรมมากนัก ช่วงล่างหน้าแมคเฟอร์สัน หลังทอร์ชั่นบีม ล้อและยางเนื้อนิ่มของ YOGO ขอบ 16 นิ้ว ถูกปรับให้เกาะกับถนนและวิ่งได้นุ่มนวล แม้จะใช้ยางหน้ากว้างแค่ 185 แต่ก็ถือว่าทำออกมาได้ดีสำหรับแรงยึดเกาะในโค้งมุมแคบขณะไต่ขึ้นเนิน พวงมาลัยไฟฟ้าหนักแน่นและแม่นยำ หนังที่ใช้หุ้มรอบวง ให้สัมผัสดีเหมือนหนังของพวงมาลัยใน BMW 116i น้ำหนักของพวงมาลัยไฟฟ้าที่ถูกปรับให้ตึงไม้ตึงมือ สอดรับกับเส้นทางที่อุดมไปด้วยโค้งหลายคนจะชอบความเบาของพวงมาลัยใน City รุ่นที่แล้ว แต่ถ้าเป็นคนที่ชอบขับเร็ว หรือชีวิตประจำวันต้องผจญกับเส้นทางที่มีโค้งเยอะทุกวัน พวงมาลัยที่ถูกปรับหน่วงให้มีน้ำหนักมากขึ้นดูจะเหมาะสมที่สุดแล้ว เมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูง น้ำหนักที่เคยตึงมือจะกลายมาเป็นพอดิบพอดี ทำให้การควบคุมทิศทางในย่านความเร็วสูงนั้นดีกว่าเดิม ผมชอบอาการที่ค่อนข้างเป็นกลางในโค้งสำหรับรถขับหน้าอย่าง City Hatchback มันให้ความรู้สึกที่ตรงไปตรงมา ถ้าหน้าเริ่มดื้อ เลี้ยวแล้วไม่ค่อยจะเข้าหรืออยู่ในตำแหน่งที่เล็งเอาไว้ ก็แสดงว่าเข้ามาเร็วเกินไป แต่ถ้าความเร็วที่ใช้ สอดรับกับสภาพโค้ง City Hatchback จะเป็นรถที่ควบคุมทิศทางในโค้งได้ง่ายดายมาก ในจุดนี้ ทำให้คู่แข่งอย่าง Mazda 2 ต้องเก็บเอาไปทำเป็นการบ้าน ว่าจะปรับพวงมาลัยยังไงให้แม่นเหมือน City Hatchback ? 

หัวใจในการขับเคลื่อน คือเครื่องยนต์ตัวจิ๋ว รหัส P10A6 แบบเบนซินแถวเรียง 3 กระบอกสูบ ดับเบิ้ลโอเวอร์เฮดแคมชาร์ป DOHC 4 วาว์ลต่อสูบ = 12 วาล์ว ปริมาตรความจุจี๊ดเดียวแค่ 988 ซีซี.ใช้หัวฉีดแบบตรง Direct-Injection ระบบวาล์วแปรผันสองฝั่ง Dual VTC ทำหน้าที่แปรผันมุมและองศาของแคมชาฟท์ ทั้งฝั่งไอดีและฝั่งไอเสีย กลไกวาล์วแปรผัน VTEC เฉพาะที่ฝั่งไอดี ระบบอัดอากาศ Turbocharger ของ Borg-Warner พร้อมชุดลดอุณหภูมิของไอดี นั่นก็คือ อินเตอร์คูลเลอร์ขนาดเล็ก เครื่องยนต์มีเรี่ยวแรงไม่มากแค่ 122 แรงม้า เมื่อลากไปจนสุด 5,500 รอบต่อนาที แรงบิดจิ๋มๆ ปล่อยมาพอแค่ใช้งานที่ 173 นิวตันเมตร ในย่าน 2,000 – 4,500 รอบต่อนาที ดูจากตัวเลข ถ้าคิดจะออกตัวเร็วๆ จากจุดหยุดนิ่งก็ต้องกดคันเร่งลงจนสุด มันถึงจะพุ่งออกไปข้างหน้าตามต้องการ และถ้าจะเร่งความเร็วเพื่อแซงรถช้า เมื่อเล็งและมองแล้วว่ามีระยะแซงมากพอ ก็ขอให้กดคันเร่งให้มิด เนื่องจากการตอบสนองของเกียร์ CVT จะมีอาการย้วยติดเป็นนิสัย

การส่งกำลังจากเครื่องยนต์ถ่ายเทมาสู่เกียร์ ด้วย Torque Converter เกียร์ CVT ลูกนี้ จูนให้สามารถแปรผันได้ 7 สปีด แป้นเปลี่ยนเกียร์หลังพวงมาลัย Paddle Shift ใช้งานได้ดี ในบางโอกาสก็รู้สึกสนุกแต่ไม่ควรใช้บ่อย หรือกดเล่นสนุกๆ เพื่อลดการสึกหรอของเกียร์ เมื่อไหร่ก็ตามที่คันเร่งโดนจมลงไปจนมิด เสียงเครื่องยนต์ 3 สูบจะร้อนครวญครางออกมาทันที รอบสูงสุดลากได้ยัน 5,000 รอบ พร้อมกับเสียงการทำงานในรอบสูงของเครื่องตัวจ้อยที่แหกปากร้องอย่างดัง ถ้าชอบเร็วและไม่สนอัตราสิ้นเปลือง บนเส้นทางภูเขา ผมยัดเกียร์ไปที่ตำแหน่ง S ในช่วงขาขึ้น เนื่องจากต้องเรียกแรงบิดในการไต่ขึ้นสู่เนินสูงนั่นเอง และถ้าเจอเนินที่ชันมากๆ หากไม่ได้มีสัมภาระมากมายอะไรมันก็สามารถเอาตัวรอดได้อย่างสบายๆ ถ้าบรรทุกทั้งคนและของมาเต็มคันรถ ก็จะพบกับอาการอืดอยู่บ้าง เมื่อพยายามผลักดันเจ้า Hatchback ขึ้นสู่ยอดภู สำหรับตัวเลขสมรรถนะ มันเร่งจาก 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใน 11.4 วินาที โดยมีความเร็วสูงสุด เฉียดๆ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ไม่ควรใช้ความเร็วสูงมากเกินไป เนื่องจากผิดกฎหมายและอันตราย เพราะระบบเบรกของหนูเล็ก 5 ประตู ไม่ได้ดีขนาดนั้น ใช้เบรกแบบปกตินั้นเอาอยู่ แต่ถ้ายัดมาใกล้ 200 แม้จะยังทรงตัวนิ่งใช้ได้ แต่ถ้าเกิดอะไรตัดหน้าแล้วต้องกระทืบเบรกละก็ อาจเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาได้เลยละครับ!  

ยังคงยืนยันว่า Mazda 2 ดีเซล 1.5 XDL เป็นรถที่ให้อารมณ์ร่วมมากที่สุดเมื่อใช้ความเร็ว แต่ City Hatchback RS น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ สวนกลับด้วยหมัดฮุกขวาอันหนักหน่วง นั่นก็คือ นอกจากความแม่นของพวงมาลัยแล้ว มันยังมีความสบายและผ่อนคลาย จากช่วงล่างที่เซตมาอย่างนวล ซับแรงสั่นสะเทือนได้ดีตามประสารถเล็ก ในจุดนี้ คนส่วนใหญ่ ก็มักเทใจไปให้ City สำหรับชุดบังคับเลี้ยว ซึ่งใช้พวงมาลัยไฟฟ้าแปรผันน้ำหนักไปตามความเร็ว อย่างที่บอกไปว่ามันถูกปรับให้มีน้ำหนักมากขึ้น ขณะควงเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง พวงมาลัยจะมีอาการต้านมือเล็กน้อย โดยพยายามสื่อสารกับยางแล้วถ่ายตรงสู่มือคนขับ ถ้าคุณเริ่มได้ยินเสียงยางดังเข้ามาในห้องโดยสาร แสดงว่ามันกำลังงัดข้ออยู่กับโค้งมุมแคบที่ทำให้เกิดอาการหน้าดื้อ

เมื่อขับเร็ว City Hatchback นั้น ให้อารมณ์และแฮนด์ลิ่งคล้ายกับรุ่นซีดาน มันจะเปิดโอกาสให้คุณได้ซิ่งอย่างมันมือ การเร่งความเร็วด้วยการทำงานอย่างขยันขันแข็งของเครื่องยนต์ตัวเล็ก มีการตัดรอบสูงสุดที่ 5,500 รอบ ทุกเกียร์ ความเร็วจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป เกียร์ CVT ทำงานเนียน ไหลลื่น ตามสไตล์ของเกียร์สายพานที่ไร้การกระตุกหรือรอยต่อระหว่างเกียร์ บางคนบอกว่าน่าเบื่อ แต่มีความเหมาะสมกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน ที่ต้องขับในเมืองบ่อยครั้ง เกียร์ที่ทำงานได้ราบเรียบและมีราคาไม่แพงมากจนเกินไปอย่าง CVT จึงเหมาะสมกับการเป็นระบบส่งกำลังของรถอีโคคาร์

สรุปตรงประเด็น!

ข้อดี

-City Hatchback สวยงาม น่าใช้ ขับดี และมีราคาไม่แพง

-เครื่องยนต์เล็กแต่มีประสิทธิภาพ กินเชื้อเพลิงเท่าที่จำเป็น บนเส้นทางภูเขาที่ผมใช้ความเร็วสูงอย่างต่อเนื่องเพื่อรีดประสิทธิภาพ มันทำอัตราสิ้นเปลืองได้ 13.8 กิโลเมตร ต่อลิตร ถือว่ารับได้ เพราะไม่ได้ขับทางราบ และเมื่อขับแบบปกติ ความเร็ว 90-110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตราสิ้นเปลือง อยู่ในเกณฑ์ปานกลางที่ 17.5 กิโลเมตรต่อลิตร ประหยัดใช้ได้ถ้าคุณจะขับมันให้ช้าลงกว่านี้!

-เกียร์ดี ไหลลื่นและตอบสนองต่อการถ่ายเทแรงบิดได้ดี

-จุดที่ชอบมากที่สุดก็คือ ช่วงล่างและพวงมาลัย ทำให้การควบคุมทิศทางและการทรงตัวในย่านความเร็วสูง ไม่น่ากลัวเท่ากับการขับเร็วใน City รุ่นที่แล้ว ขับเร็วรู้สึกมั่นใจโดยเฉพาะย่าน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้นรถยังนิ่งสนิท มีเป๋บ้างเมื่อโดนลมแรงๆ ปะทะด้านข้าง แต่นั่นก็คืออาการปกติของรถเล็กที่หนักแค่ตันเดียว 

-ทรงของรถดูดี แม้ตัวถังจะแคบไปนิดโดยมีขนาดความกว้างแค่ 1748 นี่ถ้าปรับขนาดความกว้างเป็น 1850 ทรงของรถจะดูดีกว่านี้มาก

-เบาะนั่งสบาย พื้นที่ใช้สอยพอเพียง ห้องเก็บสัมภาระใต้ฝาท้าย เมื่อพับเบาะตามรูปแบบของการใช้งานจะทำให้มีความจุเพิ่มขึ้น

ข้อเสีย
-ในจุดอื่นๆ น่าจะเป็นเรื่องออปชั่นหรือของที่ให้มา ซึ่งยังตามหลัง eHEV อยู่พอสมควร และยังคงเป็นเรื่องของเบรกหลังที่ทำไมถึงยังใช้ดรัมเบรก ไม่อยากให้ Honda มาลดต้นทุนในจุดนี้ ผมอยากได้ดิสเบรกหลัง และจานทั้งหน้า-หลังที่ใหญ่กว่าเดิม เพื่อทำให้ประสิทธิภาพในการลดความเร็วดีขึ้น 

-พลาสติกภายใน น่าจะปรับชิ้นงานพลาสติก โดยใช้ของให้มีคุณภาพมากกว่าเดิม หรือดูดีสูสีกับคู่แข่งอย่าง Mazda 2 1.5 XDL 

City Hatchback ใหม่ รุ่น RS ราคา 749,000 บาท แพงกว่ารุ่นซีดาน RS 10,000 บาท เท่านั้นเอง และน่าจะเป็นรถแฮตช์แบคที่แต่งขึ้นเอามากๆ เนื่องจากส่วนท้ายออกแบบได้ดี รุ่น 5 ประตู ก็ยังขับได้ดีเหมือนเดิม เป็นพัฒนาการที่รุดหน้าของรถเล็กชั้นดี จากผู้ผลิตอย่าง Honda ที่ปรับไดนามิกของรถ จนเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น สำหรับการเก็บเสียง ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากความพยายามในการใช้ยางเนื้อนิ่มซึ่งมีส่วนช่วยได้เยอะ ในด้านของการควบคุม อย่างที่เคยบอกว่า Honda City ทั้งซีดานและแฮตช์แบค กลายเป็นคู่ต่อสู้ที่ยืนแลกหมัดกับ Mazda 2 ได้อย่างสบายๆ แถมยังมีบางจุดที่กลายเป็นหมัดเด็ดอีกต่างหาก เช่น ช่วงล่างและพวงมาลัย เป็นจุดที่สามารถสร้างผลงานได้อย่างน่าประทับใจ บนถนนที่คดเคี้ยวขององคต-พุเตย แก่นมะกรูด เป็นการวิ่งทดสอบทับเส้นทางของ Subaru XV และ City ก็มอบความบันเทิงได้อย่างน่าเหลือเชื่อ เป็นรถที่ตอบสนองต่อการควบคุมได้เร็วและมีความแม่นยำ ขับสนุกอย่างพอดิบพอดี ทำให้ช่วงเวลาที่รีบเร่งของการทดสอบรถไม่น่าเบื่อจนเกินไป ในที่สุด Honda ก็สามารถสร้างรถเล็กดีๆ อย่างที่เคยมีมาแล้วในอดีตให้กลับมาสู่ปัจจุบันได้อีกครั้งอย่างน่าชื่นชม.

สีและรุ่น

Honda City Hatchback 6 สี ได้แก่
สีแดงอิกไนต์ (เมทัลลิก) เฉพาะรุ่น RS
สีใหม่ สีเทาเมทิเออรอยด์ (เมทัลลิก)
สีขาวแพลทินัม (มุก) เฉพาะรุ่น RS และ SV
สีดำคริสตัล (มุก)
สีเทาโซนิค (มุก)
สีขาวทาฟเฟต้า เฉพาะรุ่น S+


ราคา
Honda City Hatchback รุ่น RS ราคา 749,000 บาท (คันทดสอบ)
Honda City Hatchback รุ่น SV ราคา 675,000 บาท
Honda City Hatchback รุ่น S+ ราคา 599,000 บาท



เครื่องยนต์ แบบ ดับเบิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ (DOHC) 3 สูบ 12 วาล์ว VTEC TURBO
ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง หัวฉีดมัลติพอยท์ PGM-FI
ประเภทน้ำมัน E20
ความจุ 988 ซีซี.
เส้นผ่านศูนย์กลางกระบอกสูบ 73.0 มิลลิเมตร ช่วงชัก 78.7 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด 10.0 : 1
กำลังสูงสุด 90 กิโลวัตต์ 122 พีเอส ที่ 5,500 รอบต่อนาที  
แรงบิดสูงสุด 173 นิวตัน-เมตร (17.6 กก.-เมตร) ที่ 2,000 - 4,500 รอบต่อนาที  
ระบบควบคุมการเปิด-ปิดลิ้นปีกผีเสื้อแบบอิเล็กทรอนิกส์ (DBW)
ระบบส่งกำลัง ระบบเกียร์ CVT (Continuously Variable Transmission)
อัตราทดเกียร์ 2.544 ~ 0.402
เกียร์ถอยหลัง 2.726 ~ 1.543
เฟืองท้าย 4.992
ระบบพวงมาลัย แบบ แร็คแอนด์พิเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า (EPS) อัตราทดทั้งหมด 13.55
พวงมาลัยหมุนสุด 2.81 รอบ
รัศมีวงเลี้ยว 5 เมตร 
ระบบเบรก หน้า ดิสก์เบรกแบบมีช่องระบายความร้อน
หลัง ดรัมเบรก
ระบบกันสะเทือน
หน้า แม็คเฟอร์สัน สตรัท อิสระ พร้อมเหล็กกันโคลง
หลัง ทอร์ชั่นบีม
มิติ
ความยาว 4,345 มิลลิเมตร
ความกว้าง 1,748 มิลลิเมตร
ความสูง 1,488 มิลลิเมตร
ฐานล้อ 2,589 มิลลิเมตร
ระยะห่างระหว่างล้อคู่หน้า / คู่หลัง 1,497 / 1,483 มิลลิเมตร
ความสูงใต้ท้องรถ 135 มิลลิเมตร
น้ำหนักรถ 1,179 กิโลกรัม
ขนาดล้อ 16 x 6J
ขนาดยาง 185 / 55 R16
ยางอะไหล่ T135 / 80 D15
ความจุถังน้ำมัน (ลิตร) 40


ภายนอก
ไฟหน้า LED
ระบบปิดไฟหน้าอัตโนมัติ เมื่อดับเครื่องยนต์
ไฟส่องสว่างสำหรับการขับขี่ในเวลากลางวันแบบ LED
ไฟท้ายแบบ LED
กระจังหน้า Gloss Black
กันชนหน้า และกระจังหน้าสไตล์สปอร์ตแบบ RS
สปอยเลอร์หลัง ตกแต่งสีดำแบบสปอร์ต
มือจับเปิดประตูด้านนอก สีเดียวกับตัวรถ 
ไฟตัดหมอกคู่หน้าแบบ LED
สีกระจกมองข้าง สีดำแบบสปอร์ต
กระจกมองข้าง ปรับและพับไฟฟ้าพร้อมไฟเลี้ยวในตัว
ระบบปัดน้ำฝนแบบหน่วงเวลา 
ระบบปัดน้ำฝนด้านหลัง
เสาอากาศแบบครีบฉลาม
ไล่ฝ้ากระจกหน้า-หลัง
ล้ออัลลอย 16 นิ้ว

ภายใน
สีภายใน สีดำ
วัสดุหุ้มเบาะ  ผ้า / หนังสังเคราะห์ ตกแต่งแถบสีแดง
วัสดุตกแต่งคอนโซลหน้าแบบ Piano Black 
มือจับเปิดประตูด้านในตกแต่งโครเมียม
เบาะนั่งคนขับปรับระดับสูง-ต่ำได้
ระบบปรับอากาศ อัตโนมัติ
ระบบสตาร์ตเครื่องยนต์ (One Push Ignition System)
ระบบควบคุมประตู (Honda Smart Key System)
ระบบ Idle Stop พร้อมสวิตช์ เปิด-ปิด
พวงมาลัยปรับระดับ 4 ทิศทาง 
ระบบควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย (Paddle Shift) 
ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (Cruise Control System) 
หน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ (Multi-Information Display)
มาตรวัดเรืองแสงสีแดง
ไฟแสดงผลการขับขี่แบบประหยัด (Eco Indicator)
ปุ่ม ECON 
ช่องจ่ายไฟสำรองด้านหน้า 1 ตำแหน่ง และด้านหลัง 2 ตำแหน่ง
กระจกมองหลังแบบตัดแสง 
แผงบังแดดคู่หน้าพร้อมกระจกแต่งหน้าแบบมีฝาปิด ด้านคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า
ไฟอ่านแผนที่ด้านหน้า
พนักเท้าแขนด้านหน้า
พนักเท้าแขนด้านหลังพร้อมที่วางแก้ว 
ช่องเก็บของหลังเบาะนั่งผู้โดยสารด้านหน้า 
ไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสาร
ราวมือจับ 4
ไฟส่องสว่างห้องสัมภาระท้าย 
เบาะนั่งด้านหลังแบบอัลตราซีทแยกพับแบบ 60:40
ระบบเครื่องเสียง หน้าจอสัมผัสขนาด 8" แบบ Advanced Touch รองรับ Apple CarPlay(1)
ระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์แบบไร้สาย Bluetooth
พวงมาลัยแบบมัลติฟังก์ชั่น พร้อมปุ่มควบคุมระบบ เครื่องเสียง และปุ่มรับ-วางสายโทรศัพท์
รองรับการเชื่อมต่อ Smartphone
รองรับระบบสั่งการด้วยเสียง Siri
ช่องเชื่อมต่อ USB  2
จำนวนลำโพง 8
ระบบเชื่อมต่อ Honda CONNECT 

ระบบความปลอดภัย
ถุงลมคู่หน้า 
ถุงลมด้านข้างคู่หน้า 
ม่านถุงลมด้านข้าง
ระบบเตือนคาดเข็มขัดนิรภัยผู้โดยสารด้านหน้า 
ระบบป้องกันล้อล็อก (ABS)
ระบบกระจายแรงเบรก (EBD) 
ระบบช่วยควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง (VSA) 
ระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (HSA)
สัญญาณไฟฉุกเฉินอัตโนมัติขณะเบรกกะทันหัน (ESS) 
กล้องส่องภาพด้านหลังปรับมุมมอง 3 ระดับ 
เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบดึงกลับอัตโนมัติ 
เข็มขัดนิรภัยด้านหน้าแบบ 3 จุด 2 ตำแหน่ง 
เข็มขัดนิรภัยด้านหลังแบบ 3 จุด 3 ตำแหน่ง 
ระบบกุญแจนิรภัย Immobilizer
ระบบสัญญาณกันขโมย
ระบบล็อกประตูรถอัตโนมัติ (Auto Door Lock by Speed) 
จุดยึดเบาะนั่งสำหรับเด็ก (ISOFIX & Child Anchor) 
กุญแจแบบ Wave Key 
ไฟเบรกดวงที่ 3


อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-5253692475053