Mazda CX-3 ครอสโอเวอร์รุ่นเล็กคลอดออกมาเมื่อช่วงกลางปี 2015 ตามมาด้วยการปรับโฉมในช่วงต้นปี 2018 CX-3 เป็นครอสโอเวอร์ไซส์เล็กที่เข้ามาสานต่อความสำเร็จของ Mazda CX-5 เอสยูวีรุ่นพี่ วิถีทางของงานออกแบบที่เชื่อมโยงจิตวิญญาณระหว่างคนขับกับรถยนต์หรือ KODO Design แพลตฟอร์มที่ใช้ร่วมกับ Mazda 2 แต่มีการขยับขยายขนาดของตัวถัง (ส่วนหน้า) ให้ใหญ่ขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์หลักของการขับใช้งาน คนที่เลือกรถ CX-3 นอกจากจะเป็นพวกคนรุ่นใหม่ที่ชอบขับรถแล้ว ยังชอบรูปลักษณ์และอุปกรณ์ภายในที่มีความทันสมัย Mazda CX-3 พยายามเอาชนะรถคู่แข่งอย่าง Honda HR-V Nissan Juke และ Toyota AC-HR ด้วยเครื่องยนต์สมรรถนะสูงในรุ่นดีเซล 1.5 Skyactiv-D เป็นรถครอสโอเวอร์จากญี่ปุ่นรุ่นแรกในประเทศไทยที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ของเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็กความจุ 1.5 ลิตร อัดอากาศด้วยเทอร์โบ
รุ่นและราคา Mazda CX-3 2018 คอลเลกชั่น
รุ่น 2.0 E เครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV-G ขนาด 2.0 ลิตร ราคา 879,000 บาท
รุ่น 2.0 C เครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV-G ขนาด 2.0 ลิตร ราคา 955,000 บาท
รุ่น 2.0 S เครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV-G ขนาด 2.0 ลิตร ราคา 1,029,000 บาท
รุ่น 2.0 SP เครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV-G ขนาด 2.0 ลิตร ราคา 1,083,000 บาท
รุ่น 1.5 XDL เครื่องยนต์คลีนดีเซล SKYACTIV-D ขนาด 1.5 ลิตร ราคา 1,189,000 บาท (คันทดสอบ)
...
CX-3 XDL SkyActiv-D รุ่นดีเซลเวอร์ชั่นปรับโฉมคันทดสอบ มีราคาจำหน่ายอยู่ที่ 1,189,000 บาท เทียบกับคู่แข่งอย่าง Honda HR-V รุ่นปรับโฉม RS ราคา 1,119,000 บาท Toyota C-HR Hybrid MID มีราคาค่าตัว 1,159,000 บาท ราคาที่แพงกว่ารถคู่แข่งของ CX-3 SkyActiv-D รุ่นปรับโฉม 2018 เกิดจากเทคโนโลยีของเครื่องยนต์ดีเซล ระบบส่งกำลังออโต้ 6 สปีด กับอุปกรณ์ภายในและระบบความปลอดภัยแบบใหม่ ทรงแบบรถยนต์อเนกประสงค์ของ CX-3 มีความสวยงามสมส่วนแต่หลังคาที่ลาดลงต่ำทำให้พื้นที่ส่วนท้ายเหลือน้อย โดยเฉพาะพื้นที่เบาะโดยสารตอนหลังกับพื้นที่เก็บสัมภาระที่เสียเปรียบรถคู่แข่งอย่างชัดเจน แนวทางการออกแบบที่แอบอิงกับสปอร์ตครอสโอเวอร์ทำให้ Mazda CX-3 มีรูปลักษณ์ที่ปราดเปรียวเพรียวลม มิติตัวถังมีขนาดความยาวรวม 4,275 มิลลิเมตร กว้าง 1,765 มิลลิเมตร และสูง 1,550 มิลลิเมตร ฐานล้อวัดจากดุมล้อหน้าไปถึงดุมล้อหลัง 2,570 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถึงใต้ท้อง 160 มิลลิเมตร
ทำไมถึงขายไม่ดี ทั้งๆ ที่ขับได้ดี
1 พื้นที่ภายในห้องโดยสาร
รถคู่แข่งมีขนาดห้องโดยสารที่ใหญ่กว่าและมีราคาถูกกว่า แม้จะขับได้ไม่ดีเท่าแต่ราคาและพื้นที่ภายใน คือหัวข้อหลักของการตัดสินใจ
2 พื้นที่เบาะหลังเล็ก
ถ้าผู้โดยสารที่เบาะหน้ารวมถึงคนขับมีรูปร่างไม่สูงใหญ่อ้วนท้วน เบาะหลังก็สามารถนั่งโดยสารทางไกลได้อย่างสบาย แต่ถ้าหากคนขับและคนนั่งหน้ามีรูปร่างสูงหรือตัวอ้วนกลมก็จะต้องร่นเบาะถอยหลังจนไปกินพื้นที่วางเท้าของผู้โดยสารที่เบาะหลังพอสมควร และเมื่อพับเบาะหลังแล้ว CX-3 ก็ยังมีพื้นที่เก็บสัมภาระด้อยกว่ารถคู่แข่งอยู่ดี
3 ราคาแพงเกินไป โดยเฉพาะรุ่นดีเซล
เรื่องของราคานั้นก็เป็นอีกประเด็นสำคัญในการตัดสินใจของลูกค้า แม้จะอยากได้เหลือกำลังลาก แต่ถ้าราคาเกินเอื้อมก็คงต้องหันไปหารถที่มีราคาถูกกว่า แม้จะจัดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและระบบความปลอดภัยที่ให้มามากกว่ารถคู่แข่ง แต่ค่าตัวไม่ได้สูสีหรือถูกกว่ารถคู่แข่งก็ทำให้ Mazda ขาย CX-3 ได้น้อยกว่าคู่ต่อสู้อยู่พอสมควร
4 คู่แข่งทำได้ดีกว่าด้านพื้นที่
MG ZS ทำยอดแซงหน้า CX-3 ขึ้นไปติด Toyota C-HR แม้จะเป็นรถจีนแต่พื้นที่ห้องโดยสารกับงานตกแต่งภายในรวมถึงราคานั้นโดนใจผู้คนเป็นจำนวนมาก ส่วน Honda HR-V เจ้าตลาดครอสโอเวอร์เล็กที่ขายดิบขายดีจนขึ้นนำอีกครั้งเมื่อรุ่นปรับโฉมถูกส่งออกขาย ไม่ใช่เพราะการขับขี่ของ H-RV ที่ยังเป็นรอง Toyota C-HR แต่เป็นพื้นที่ของห้องโดยสารและรูปลักษณ์ที่ต้องตาต้องใจลูกค้าเก่าของ Honda ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วน Toyota C-HR ถ้าไม่ติดที่ห้องโดยสารด้านพื้นที่เบาะหลังเล็กและมีกระจกประตูบานหลังที่ค่อนข้างสร้างความอึดอัดให้กับคนนั่งหลังแล้วก็ถือว่าเป็นรถที่ขับได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับ CX-3 และ HR-V
...
...
KODO Design และการออกแบบสไตล์ Sport Crossover ทรง Coupe ทำให้หลังคาของ CX-3 ลาดเทลงไปยังส่วนท้าย การออกแบบในลักษณะดังกล่าวทำให้พื้นที่เบาะหลังคับแคบลงแต่แลกคืนด้วยมุมมองภายนอกที่ดูเพรียวลม มุมของเสาหน้าที่เอียงลาดช่วยเพิ่มทัศนวิสัยการมองเห็นได้ดี แต่มุมของเสาท้ายกลับบดบังมุมมองด้านข้าง การวางกระจกมองหลังด้านนอกตรงแผงตัวถังด้านข้างประตูเพิ่มประโยชน์ด้านมุมมองระหว่างกระจกหน้ากับกระจกมองหลัง ทำให้ง่ายต่อการมองเห็นคนเดินเท้ารวมถึงเด็กเลือกและวัตถุกีดขวาง กระจังหน้าทรงสูงกับไฟหน้าที่เฉียบคมมีขนาดใหญ่มากกว่า Mazda 2 ตำแหน่งของไฟหน้ามีไฟเลี้ยวอยู่ภายในกรอบเดียวกัน ไฟ LED Daytime Running สว่างคมชัดช่วยเพิ่มความปลอดภัยแม้ขับในตอนกลางวัน โคมไฟหน้าแบบ LED มีคุณภาพสูง และให้แสงสว่างที่คมชัดแม้จะขับขี่ในที่ที่ไม่มีแสงสว่าง
...
ด้านข้างตัวถังจากแนวเส้นข้างแบบทแยง โครงสร้างภายนอกเรียบง่าย ลดรายละเอียดที่ไม่จำเป็นออกไปจนหมด เสาหน้าที่ลาดเอียงกลมกลืนกับแนวหลังคาที่ค่อยๆ ลดระดับความสูงลงไปทางส่วนท้าย บานประตูหลังมีขนาดเล็กแต่พื้นที่ของกระจกไม่เล็กเหมือน C-HR ทำให้ผู้โดยสารตอนหลังไม่รู้สึกอึดอัดเมื่อนั่งโดยสารทางไกล Mazda CX-3 ติตตั้งพลาสติกกันกระแทกสีดำบริเวณซุ้มล้อคล้ายกับ MINI Countryman ล้ออัลลอยขอบ 18 นิ้วสีเทาดำในรุ่นปรับโฉมเป็นล้ออัลลอยลายใหม่ล่าสุดที่สวยงามและล้างทำความสะอาดได้ง่าย ล้อวงสวยห่อรัดด้วยยาง TOYO รุ่น PROXES R40 ไซส์ 215/50/18 เท่ากันทั้งสี่ล้อ แนวหลังคาด้านหลังมีเสาอากาศทรงครีบปลาฉลามที่ช่วยเพิ่มมุมมองด้านความโฉบเฉี่ยวทันสมัย บั้นท้ายกลมมนสอดรับกับไฟท้ายทรงรีขนาดเล็ก ไฟท้ายแบบใหม่ในรุ่นปรับโฉมของ Mazda CX-3 ใช้หลอดไฟท้ายแบบผสม มีทั้งหลอด LED และหลอดไฟท้ายแบบปกติ ฝาท้ายเปิดออกได้ด้วยมุมที่กว้างสำหรับการขนของ เบาะหลังที่สามารถปรับพับได้อย่างหลากหลายทำให้สามารถขนจักรยานหรือกระเป๋าเดินทางหรือถุง Golf
แนวคิดการออกแบบภายในที่แตกต่างของ Mazda ทำให้ CX-3 มีภายในที่ไม่เหมือนกับรถญี่ปุ่นทั่วไป ภายในของรถยนต์จากแบรนด์ Mazda ในปัจจุบันคือความแตกต่างด้านดีไซน์ Mazda CX-3 แชร์ชิ้นส่วนภายในร่วมกับรถ Mazda หลายรุ่น แดชบอร์ดแบบพลาสติกฉีดขึ้นรูปหุ้มด้วยหนังสังเคราะห์ แดชบอร์ดทรงสปอร์ตมีขนาดกะทัดรัดเหมาะกับรูปแบบสปอร์ตครอสโอเวอร์ ช่องแอร์ทรงกลม ล้อมกรอบช่องแอร์ด้วยพลาสติกสีแดง ปุ่มหมุนเพื่อเปิดหรือปิดช่องลมแอร์ออกแบบอย่างสวยงามและใช้งานได้ดี เป็นงานดีไซน์ที่ทำให้อุปกรณ์ดังกล่าวมีความกลมกลืนกับชิ้นส่วนต่างๆ
คอนโซลของ CX-3 โค้งเว้าเล็กน้อยเพื่อให้เข้ากับกระจกบังลมบางหน้า พื้นที่หัวไหล่ถูกออกแบบให้ผู้โดยสารตอนหน้าและคนขับ คอนโซลตกแต่งด้วยผ้าแบบ Alcantara โทนสีเทา รู้เสาหน้ามีขนาดที่ไม่ใหญ่โตมากจนเกินไป แต่ก็เข้ามาบดบังมุมมองด้านหน้าโดยเฉพาะด้านที่ใกล้กับกระจกมองข้าง การวางตำแหน่งมาตรวัดและอุปกรณ์ต่างๆ มีจุดประสงค์เพื่อการใช้งานที่ง่ายและสะดวก มิเตอร์ มาตรวัด จอแสดงผลกลางพร้อมปุ่มควบคุมสั่งการอยู่บนพื้นฐานแนวคิด Head-up Cockpit ตามปรัชญาพื้นฐานการเชื่อมต่อประสานกันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร (HMI) ของ Mazda
จุดที่ไม่ค่อยจะโดนใจลูกค้าก็คือเบาะคู่หน้าหุ้มหนังที่สวยงามแต่ดันใช้การปรับด้วยมือ ส่วนแผงประตูที่หุ้มหนังและผ้า ทำออกมาสวยงามดูดีมีราคา พลาสติกภายในพวกพลาสติกคอนโซลกลาง ซึ่งเป็นที่อยู่ของแผงควบคุมอุณหภูมิแบบสวิตช์ทรงกลมสามตำแหน่งจัดวางคล้าย Audi ทำให้ง่ายต่อการใช้งาน แผงคอนโซลกลางหุ้มหนังสีแดงสลับสีดำ ใต้แผงควบคุมอุณหภูมิเป็นช่องใส่ CD พร้อมช่องเชื่อมต่อ USB/AUX และช่องจ่ายไฟสำหรับการชาร์จอุปกรณ์ต่างๆ คันเกียร์สั้นกุดแต่จัดวางอยู่ในตำแหน่งที่พอดิบพอดีกับการยึดจับคันเกียร์ ก้านเกียร์หุ้มหนังแท้สีดำคาดแดง เกียร์ออโต 6 สปีดของ Mazda สามารถผลักคันเกียร์ไปด้านขวาเพื่อชิพเกียร์เองแบบ Trip-Tronic
คันเบรกมือหายไปใน CX-3 รุ่นปรับโฉมแล้วแทนที่ด้วยสวิตช์เบรกมือไฟฟ้ากับสวิตช์ Auto Brake Hold ตำแหน่งของแป้นทรงกลมที่ใช้ควบคุมจอแสดงผลกลางมีการออกแบบคล้ายกับสวิตช์ 5 ทิศทางในระบบ iDRIVE ของ BMW จอแสดงผลหรือมอนิเตอร์กลางขนาด 7 นิ้ว สั่งงานผ่านสวิตช์ควบคุมส่วนกลาง หรือใช้การสัมผัสที่หน้าจอก็ได้
จอกลางแบบ 7 นิ้ว สามารถมองในมุมที่แคบมากถึง 17.2 องศา มาตรวัดแบบสปอร์ตโดยใช้มาตรวัดรอบเครื่องยนต์ขนาดใหญ่กับมาตรวัดความเร็วเป็นแบบตัวเลข จอ Head-up Display ยกขึ้นอัตโนมัติเมื่อสตาร์ตเครื่องยนต์ คอยแจ้งเตือนคนขับด้วยตัวเลขความเร็วของรถและระบบรักษาช่องจราจร lane keeping assist system รวมถึงการขับเข้าไปใกล้ท้ายรถคันหน้ามากเกินไป ระบบจะส่งสัญญาณเสียงเตือนเมื่อรถเบี่ยงเบนออกจากช่องทางโดยไม่ได้ยกสัญญาณไฟเลี้ยวหรือขับเข้าไปใกล้กับรถคันข้างหน้า รวมถึงยังส่งเสียงเตือนเมื่อมีรถจักรยานยนต์ขับจากด้านหลังเข้ามาใกล้ๆ รุ่นปรับโฉมของ CX-3 ยังติดตั้งกล้องมองรอบตัวถังหรือ around view monitor ช่วยทำให้การเคลื่อนตัวออกจากที่คับแคบมองเห็นได้รอบคัน
ระบบเชื่อมต่อกับโลกภายนอกกลายเป็นของที่จำเป็นสำหรับรถยนต์สมัยใหม่ Mazda Connect เป็นระบบการเชื่อมต่อในรถที่ง่ายและปลอดภัยจากฟังก์ชั่นการใช้งาน ไม่ว่าจะต่ออินเทอร์เน็ต การเข้าถึงเครือข่ายสังคมในโลกโซเชียล ชุดควบคุมและจอแสดงผลรองรับการทำงานของระบบต่างๆ เช่น ระบบโทรศัพท์ไร้สาย การสั่งงานด้วยเสียง รองรับการเล่นของอุปกรณ์เสริมจากภายนอกเช่น iPOD CD/DVD/USB/AUX รวมถึงฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มใหม่เพื่อเข้าถึงและรองรับความต้องการของลูกค้า ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน
พวงมาลัยหุ้มหนังแท้แบบใหม่ทรงสามก้านมีสวิตช์ควบคุมความเร็วอัตโนมัติมาให้ พร้อมสวิตช์ปรับตั้งในระบบเครื่องเสียง สวิตช์สั่งงานด้วยเสียงกับปุ่มรับหรือวางสายโทรศัพท์บลูทูธ แป้นเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ Paddle Shift วัสดุพวกหนัง โลหะอัลลอยสีเงินกับพลาสติกเกรดดีที่ใช้ตกแต่งภายในทำให้ห้องโดยสารของ Mazda CX-3 รวมถึง Mazda ทุกรุ่นในปัจจุบันมีความน่าใช้น่าสัมผัสจากรูปแบบ ผิวสัมผัสและการเลือกใช้โทนสีที่ลงตัวเกือบทุกจุดยกเว้นความคับแคบของเบาะหลัง
เครื่องยนต์ดีเซลเทคโนโลยี SkyActiv-D เป็นการยกเครื่องยนต์ดีเซลมาจาก Mazda 2 เครื่องยนต์ SkyActiv-D ขนาด 1.5 ลิตร อัดอากาศด้วยเทอร์โบแปรผันพร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ ปริมาตรความจุเครื่องยนต์ 1,499 ซีซี เป็นแบบแถวเรียงสี่กระบอกสูบวางตามขวางขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หน้า แบบ 4 วาล์วต่อสูบหรือ 16 วาล์ว, จ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบดีเซลคอมมอลเรล อัตราส่วนกำลังอัด 14.8:1 สร้างแรงม้าสูงสูดได้ 105 แรงม้า ที่ 4,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 270 นิวตันเมตร ในย่าน 1,600-2,500 รอบต่อนาที มาตรฐานมลพิษของเครื่องยนต์ดีเซล 1.5 ลิตร SkyActiv-D ใน CX-3 XDL คันทดสอบทำค่ามลพิษได้ถึง EURO-6 ซึ่งในประเทศไทยมีบริษัทผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นเพียงไม่กี่รายรวมถึงบริษัท Mazda ที่สามารถผลิตเครื่องยนต์ดีเซลที่มีมลพิษต่ำในระดับค่าตัวที่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท เนื่องจากเครื่องยนต์ของรถญี่ปุ่นยี่ห้ออื่นนั้น ส่วนใหญ่มีมาตรฐานไอเสียอยู่แค่ EURO-4-5 เท่านั้น สำหรับอัตราสิ้นเปลืองของเครื่องยนต์ดีเซลใน CX-3 SkyActiv-D เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด เชื้อเพลิง 1 ลิตรไปได้ไกล 19.5 กิโลเมตร หนึ่งถัง 48 ลิตร ไปไกลประมาณ 650 กิโลเมตร ค่าไอเสีย Co2 136 กรัมต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร
ระบบส่งกำลังหรือเกียร์ถือเป็นหัวใจหลักในการถ่ายเทแรงบิดลงไปยังเพลาขับเคลื่อน เกียร์ที่ใช้เทคโนโลยี SKYACTIV Drive ของ Mazda CX-3 เป็นเกียร์อัตโนมัติกลไกฟันเฟืองแบบ 6 สปีด มีการจูนอัตราทดให้มีทั้งพลังและความประหยัดตามความชอบและความถนัดของลูกค้าที่มักจะชอบขับเร็วมากกว่าซื้อเอามาคลานเล่น เกียร์ออโตแบบใหม่มีกลไกที่คนขับสามารถชิพเกียร์เองได้ทั้งการผลักคันเกียร์ไปทางขวาหรือการกดที่แป้น Paddle หลังพวงมาลัย เป็นการเพิ่มทางเลือกที่กว้างและครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่ชอบสับเกียร์เองหรือพวกรักความสบายปล่อยให้เกียร์ทำงานเองแบบออโตก็ได้ทั้งนั้น จุดเด่นของเกียร์อัตโนมัติแบบทอร์คคอนเวอร์เตอร์ เกียร์มีการตัดต่อที่นุ่มนวล กระชับและไหลลื่นว่องไว ความนวลในการเปลี่ยนเกียร์คล้ายกับเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT ชุดเกียร์ทั้งออโตและแมนนวลมีการทำงานเชื่อมต่อกับระบบประหยัดพลังงาน i-ELOOP ตัดการทำงานของเครื่องยนต์เมื่อจอดรอสัญญาณไฟ และสั่งให้เครื่องยนต์ทำงานอย่างรวดเร็วในเวลา 0.40 วินาทีในเครื่องยนต์ดีเซล SKYACTIV-D ระบบ i-LEOOP หรือโหมด Auto-start/stop แตกต่างจากรถยนต์รุ่นใหม่ทั่วไปที่มีและใช้ระบบนี้
คาปาซิเตอร์ถูกติดตั้งอยู่ในเครื่องเป็นอุปกรณ์เสริมการทำงานของแบตเตอร์รี่ในการเก็บกระแสไฟฟ้า และป้อนกระแสไฟฟ้าให้กับระบบไฟทั้งหมดของตัวรถเมื่อ i-LEOOP ทำงาน การกักเก็บกระแสไฟฟ้าเกิดขึ้นในขั้นตอนของการเบรก ชะลอความเร็วโดยชุดไดชาร์จจะผลิตกระแสไฟป้อนกลับคืนสู่ระบบเฉพาะสภาพการขับขี่แบบในเมือง ส่วนสภาพการขับขี่ปกติ ไดชาร์จจะลดการทำงานลงเพื่อลดภารกรรมให้กับเครื่องยนต์ i-LEOOP ประหยัดเชื้อเพลิงถึง 10% ทั้งดีเซลและเบนซิน SKYACTIV D / G
ระบบรองรับหรือช่วงล่างอันเป็นหัวใจของรถ Mazda ทุกโมเดล ซึ่งเป็นจุดเด่นของ Mazda ใช้เทคโนโลยี SKYACTIV Chassis โดยมีการปรับการจัดวางรูปทรงทรงเรขาคณิตใหม่หมด เพื่อลดน้ำหนักใต้สปริง ออกแบบให้ช่วงล่างยุบหรือเต้นช้าลง และส่งผลไปถึงการควบคุมกับการนั่งที่สบายตัว แขนยึดทั้งหมดของช่วงล่างจะรักษาการตั้งฉากของหน้ายางกับผิวถนนให้มากที่สุด ไม่ว่าล้อจะเต้นขึ้นลง กันสะเทือนหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตัรท สปริง โช็คอัพและเหล็กกันโคลง ส่วนกันสะเทือนหลังที่ใช้แบบทอร์ชั่นบีม เนื่องจากต้องการเพิ่มพื้นที่ของห้องเก็บสัมภาระ ช่วงล่างแบบทอร์ชั่นบีมที่ไม่กินพื้นที่จึงถูกนำมาปรับใช้กับ Mazda CX-3 ทอร์ชั่นบีมที่ส่วนหลังมีการออกแบบแขนยึดของกันสะเทือนหลังใหม่หมด การกระจายแรงสเทือนของแขนลิงก์เปลี่ยนไป โดยช่วงล่างของ CX-3 ที่ด้านหลังจะมีการให้ตัวมากกว่าปกติ สามารถดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน โช้คอัพยังรับแรงกระแทกได้ดีขึ้นจากการคำนวณค่าความแข็ง-อ่อนของสปริงได้อย่างสมบูรณ์แบบ ช่วยยืดอายุการใช้งานของลูกหมากลูกยางต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้นจากการออกแบบในลักษณะดังกล่าวของเทคโนโลยี SKYACTIV Chassis สำหรับชุดบังคับเลี้ยวไฟฟ้าของ Mazda ในปัจจุบันคืองานวิศวกรรมที่ก้าวไกลในการบังคับควบคุมที่ให้ความรู้สึกของการสื่อสารระหว่างตัวรถและคนขับ พวงมาลัยไฟฟ้าแบบมีมอเตอร์ที่ปลายของแรคพวงมาลัย มอเตอร์จะแปรผันไปตามความเร็วของตัวรถ เมื่อขับเร็วขึ้น มอเตอร์จะทำงานน้อยลงจนน้ำหนักของพวงมาลัยในย่านความเร็วสูงส่งถ่ายความมั่นคงให้กับผู้ขับขี่ พวงมาลัย EPSA- Electric Power Steering Assist ของ Mazda ผ่านนวัตกรรม SKYACTIV Chassis ทำให้ Mazda CX-3 มีความฉลาดกว่าพวงมาลัยไฟฟ้าแบบอื่น ซึ่งให้น้ำหนักที่เบาหวิวตั้งแต่เริ่มออกตัวไปจนถึงความเร็วสูง จนออกอาการไร้สัมผัสที่ดีในการตอบสนอง
ระบบความปลอดภัย เทคโนโลยี i-ACTIVSENSE
ระบบ Advanced Blind Spot Monitoring (ABSM) & Rear Cross Traffic Alert (RCTA)
ระบบตรวจจับยานพาหนะจากด้านข้างและด้านหลังที่กำลังใกล้เข้ามาบริเวณจุดบอด พร้อมทั้งเตือนเมื่อผู้ขับขี่จะทำการเปลี่ยนเลน RCTA จะช่วยเตือนผู้ขับขี่เมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง
ระบบ Lane Departure Warning System (LDWS) ระบบคาดการณ์การเบี่ยงออกนอกเลน และเตือนผู้ขับขี่ถึงอันตรายผ่านทางเสียง
ระบบ Adaptive LED Headlamps (ALH) ระบบปรับการทำงานของไฟหน้าสูง-ต่ำ แยกอิสระซ้ายขวาอัตโนมัติ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพถนน ตำแหน่งรถคันหน้า รวมถึงรถที่วิ่งสวนมา เพิ่มความปลอดภัยขณะขับขี่
ระบบ Driver Attention Alert (DAA) ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุจากความเมื่อยล้า โดยส่งเสียงและสัญญาณไฟเตือนให้หยุดพัก เมื่อตรวจพบพฤติกรรมเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่
ระบบ Mazda Radar Cruise Control (MRCC) ช่วยควบคุมความเร็ว และรักษาระยะห่างจากรถคันข้างหน้าอัตโนมัติ
ระบบแสดงภาพ 360 องศา รอบทิศทาง หรือ 360o View Monitor พร้อมมุมกล้องในแบบ Top View ช่วยให้การขับขี่ทำได้อย่างมั่นใจ และปลอดภัยยิ่งขึ้น
ระบบ Smart City Brake Support (SCBS) และระบบ Smart City Brake Support-Reverse (SCBS-R) ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติขณะเดินหน้าและถอยหลัง ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุจากการชน
ระบบ Smart Brake Support (SBS) ระบบเตือนการชนด้านหน้าและช่วยเบรกอัตโนมัติ เมื่อพบความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อลดโอกาสในการชนรถคันหน้า
ระบบความปลอดภัยมีการติดตั้งกล้องมองภาพรอบคัน 360 View Monitor พร้อมเซนเซอร์กะระยะรอบคัน กล้องมองภาพรอบคันถูกเพิ่มเติมเข้ามาเพื่อความปลอดภัยในการขับเคลื่อน
ความคล่องตัวคือสัญชาตญาณของรถ Mazda แนวคิด SkyActiv-KODO Design ไล่เรียงจากโครงสร้างไปจนถึงระบบความปลอดภัย น้ำหนัก 1,266 กิโลกรัม Mazda ใช้ความพยายามในขั้นตอนของการพัฒนา CX-3 จนออกมาเป็นครอสโอเวอร์ทรงสปอร์ตที่มีทั้งความกระชับฉับไวและความคล่องตัวเมื่อขับใช้งานในเมือง คันเร่งไฟฟ้ามีน้ำหนักที่เบาเหมือนรถญี่ปุ่นทั่วไป คันเร่งตอบสนองได้ดีโดยมีอาการรอรอบเล็กน้อยตามประสาเครื่องยนต์ที่ติดตั้งระบบอัดอากาศ ศักยภาพของเครื่องยนต์ดีเซลตัวเล็กถูกปรับให้มีแรงบิด 270 นิวตันเมตรทำให้การขับใช้งานในชีวิตประจำวันเหลือเฟือสำหรับขับในและนอกเมือง CX-3 ยังได้เปรียบรถซีดานตรงที่มีความสูงจากพื้นถึงใต้ท้องรถมากกว่า ความสูงที่มากกว่ารถเก๋งเล็กของ CX-3 ยังใช้ลุยทางขรุขระได้ดี เหมาะกับการขับไปในทางที่ทุรกันดาร หรือทางแบบสมบุกสมบันแต่ก็ต้องระวังเนื่องจากมันไม่ใช่รถขับเคลื่อน 4 ล้อ เหมือนรุ่นพี่อย่าง Mazda CX-5
จุดด้อยของ CX-3 ที่ Mazda ต้องแก้ใขก็คืออาการโช้คยันเมื่อวิ่งผ่านตัวหนอนที่กั้นถนนหรือคอสะพานชันๆ คอสะพานคอนกรีตบางจุดที่มีความชันในระดับไม่ธรรมดา ส่งผลให้เจ้า CX-3 ออกอาการโช้คอัพหน้ายันเสียงดังกึงอยู่เหมือนกัน อาการยันดังกล่าวเกิดจากโช้คหน้าและสปริงหน้าที่มีการปรับค่าการยืดหรือยุบให้มีความนิ่มนวลเมื่อวิ่งบนทางขรุขระ แต่พอมาเจอเข้ากับคอสะพานชันๆ แล้วขับมาเร็ว ในย่าน 130-140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้โช้คหน้าออกอาการยันหรือกระแทกอาการดังกล่าวแก้ง่ายๆ ด้วยการลดความเร็วก่อนที่จะทะยานขึ้นสู่ตัวสะพาน หรือหากชอบวิ่งเร็วต่อเนื่องรูดคอสะพานแบบไม่มีเบาก็ต้องหาโช้คหน้าที่มีระยะยุบน้อยกว่าโช็คเดิมมาใส่ รวมถึงยางที่มีแก้มสูงกว่าของเดิมติดรถ
การทรงตัวของ Mazda CX-3 ในย่านความเร็วสูงก็ยังถือว่านิ่งใช้ได้ ใต้ท้องรถที่สูงกว่า Mazda 2 และ Mazda 3 ส่งผลกระทบบ้างแต่ไม่ได้มากจนทำให้รู้สึกแย่ ขับเร็วๆ ก็ยังนิ่งและทรงตัวได้ดีแม้จะมีกระแสลมปะทะด้านข้าง ยาง TOYO รุ่น PROXES R40 ไซส์ 215/50/18 ทำหน้าที่สอดรับกับช่วงล่างด้วยกริ้บที่สดใหม่ทำให้การยึดเกาะกับผิวถนนอยู่ในเกณฑ์ดี และง่ายต่อการควบคุมพวงมาลัย ชุดบังคับเลี้ยวแบบไฟฟ้าของ Mazda นั้นถือว่าทำออกมาได้ดี เนื่องจากเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ที่ให้ความใส่ใจกับความรู้สึกของคนขับ พวงมาลัยไฟฟ้าแปรผันน้ำหนักไปตามความเร็วของ CX-3 คือแรคพวงมาลัยแบบเดียวกับ Mazda 2 มันมีให้คุณทั้งความแม่นยำเที่ยงตรง (ซึ่งรถทั่วไปควรจะมี) กระชับและว่องไว หักพวงมาลัยไปทางไหนก็ไปทางนั้นทันทีไม่มีอาการยักแย่ยักยัน พวงมาลัยไฟฟ้าของ Mazda ปรับแต่งมาดี ทำให้การควบคุมเมื่อขับเร็วมีความมั่นคงใช้ได้ ระบบรองรับด้านหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัทเชื่อมโยงกับการทำงานของชุดบังคับเลี้ยวได้ดี
เครื่องดีเซลตัวเล็กความจุ 1.5 ลิตร อัดอากาศด้วยเทอร์โบเดี่ยวแบบแปรผัน ใน CX-3 รุ่นสูงสุด XDL ส่งถ่ายแรงบิด 270 นิวตันเมตรตั้งแต่ย่าน 1,600-2,400 รอบต่อนาที เป็นแรงบิดที่เทออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่แรงเท่ากับเครื่องดีเซลขนาด 2.2 ลิตรของ CX-5 แต่ย่านของกำลังกลับพอดิบพอดีกับขนาดและน้ำหนักของ CX-3 อาการทอร์คสเตียร์ หรืออาการดึงที่พวงมาลัยขณะออกตัวแรงๆ พอให้ได้สัมผัสแต่ไม่มากจนทำให้รู้สึกแย่ ส่วนอาการโคลงตัวเกิดขึ้นบ้างเมื่อต้องผจญกับผิวถนนที่ไม่ค่อยจะสม่ำเสมอแถบบ้านบึง-แกลง ทางลาดยางที่เพิ่งจะเสร็จใหม่ๆ ยังไม่มีการตีเส้นเลนให้ชัดเจนทำให้คนที่จะใช้ถนนเส้นนี้ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากเข้าไว้ การเก็บเสียงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เสียงลมและยางเริ่มดังที่ความเร็ว 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คล้ายกับ Mazda 3 แต่ไม่ได้ดังจนรู้สึกรำคาญ ที่ความเร็ว 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เสียงลมและยางจะเพิ่มมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเสียงของยางที่บดลงไปบนพื้นถนน
เมื่อลองเอาลงไปวิ่งบนทางขรุขระ เจ้า CX-3 ก็ยังสามารถรับมือได้ดี ช่วงล่างถูกปรับมาให้รองรับกับสภาพทางที่ไม่เรียบอยู่แล้ว จังหวะจะโคนของการขับแบบตะลุยทางโหดนั้นช่วงล่างของมันรับมือกับสภาพทางแบบนั้นได้ดีพอสมควร การถ่ายเทน้ำหนักอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ รวมถึงการเบรกก็มีประสิทธิภาพมากพอที่จะหยุดยั้งเมื่อห้อมาเต็มเหนี่ยว อาการหน้ายุบเมื่อลงเบรกหนักๆ เกิดขึ้นบ้าง ส่วนอาการหน้าเชิดเมื่อออกตัวแรงๆ นั้นไม่ปรากฏออกมาให้เห็น
Mazda CX-3 รุ่นสูงสุด XDL SkyActiv -D เป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้าที่มีความคล่องตัว กำลังจากเครื่องยนต์ถือว่าใช้ได้และมีความประหยัดที่น่าพึงพอใจ ช่วงล่างและพวงมาลัยรวมถึงระยะของโอเวอร์แฮงค์ด้านหน้าทำให้ควบคุมได้ง่าย ตำแหน่งของเครื่องยนต์ก็ยังถูกขยับร่นให้เข้าไปใกล้กับจุดกึ่งกลางของตัวรถ ส่งผลต่อการกระจายน้ำหนักที่ดีทำให้รถมีความเสถียรเมื่อใช้ความเร็ว เครื่องยนต์ดีเซล 1.5 ลิตรเทอร์โบ มีระบบ Auto Start/Stop มาให้จากโรงงาน เป็นเครื่องยนต์สูบเรียงแบบ 4 กระบอกสูบ ที่มีอัตราสิ้นเปลืองประหยัดใช้ได้อยู่ในเกณฑ์ 19-21 กิโลเมตรต่อลิตร เชื้อเพลิงหนึ่งถัง (48 ลิตร) ไปได้ไกลประมาณ 650 กิโลเมตร
แม้ยอดขายจะตามหลัง H-RV และ C-HR รวมถึง MG ZS อยู่พอสมควรแต่คนที่เลือกซื้อ CX-3 เกิดจากความชอบในรูปทรงและสมรรถนะของการใช้งาน มันเป็นรถที่ขับได้ดียกเว้นอาการโช้คยันเมื่อรูดผ่านคอสะพานในย่านความเร็วสูงซึ่งแก้ได้ไม่ยาก รุ่นปรับโฉมที่เติมอุปกรณ์อย่างเต็มสูบโดยเฉพาะงานตกแต่งห้องโดยสารและระบบความปลอดภัยถือว่าไม่เป็นสองรองใคร แม้จะขายไมค่อยดีนักแต่ก็มีลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่ยังคงจงรักภักดีต่อแบรนด์ Mazda อย่างไม่เสื่อมคลาย.
Mazda CX-3 XDL SkyActiv-D A/T
แบบเครื่องยนต์.....................SkyActiv-D 1.5 เทอร์โบแปรผัน 4 สูบ
วาล์ว................................DOHC 4 วาล์วต่อสูบ
กระบอกสูบxช่วงชัก................76.0 มิลลิเมตร x 82.6 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด..................14.8:1
ปริมาตรความจุ......................1,499 ซีซี
กำลังสูงสุด...........................77 กิโลวัตต์ 105 แรงม้า ที่ 4,000 รอบต่อนาที
แรงบิดสูงสุด.........................270 นิวตันเมตร ที่1,600-2,500 รอบต่อนาที
ความจุถังเชื้อเพลิง..................48 ลิตร
ระบบส่งกำลัง........................SkyActiv-Drive 6 Speed
อัตราทดเกียร์
เกียร์ 1...............................3.552
เกียร์ 2...............................2.023
เกียร์ 3...............................1.452
เกียร์ 4...............................1.002
เกียร์ 5...............................0.708
เกียร์ 6...............................0.599
เกียร์ถอย.............................3.893
ระบบบังคับเลี้ยว...................พวงมาลัยแรคแอนพีเนียนพร้อมเพาว์เวอร์ไฟฟ้าผ่อนแรงหมุน
รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด..................5.3 เมตร
ระบบรองรับ
ด้านหน้า..............................แมคเฟอร์สันสตรัท สปริง โช้คอัพ เหล็กกันโคลง
ด้านหลัง..............................ทอร์ชั่นบีม
ระบบเบรก
ด้านหน้า.............................ดิสเบรกพร้อมครีบระบายความร้อน
ด้านหลัง.............................ดิสเบรก
ล้อและยาง...........................7Jx18" ยาง TOYO รุ่น PROXES ไซส์ 215/50/18
มิติตัวถัง
ความกว้าง............................1,765 มิลลิเมตร
ความยาว.............................4,275 มิลลิเมตร
ความสูง...............................1,550 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ...........................2,570 มิลลิเมตร
ระยะห่างล้อหน้า.......................1,525 มิลลิเมตร
ระยะห่างล้อหลัง.......................1,520 มิลลิเมตร
ระยะห่างจากพื้นถึงใต้ท้อง............160 มิลลิเมตร
น้ำหนักตัวรถทั้งคัน....................1,266 กิโลกรัม