Yamaha เป็นหนึ่งในชื่อของผู้ผลิตที่มีความสามารถรอบด้านมากที่สุด ไม่เพียงแต่ในโลกของยานยนต์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงธุรกิจที่ทำเงินอย่างจักรยานยนต์ มารีนและเครื่องดนตรี Yamaha มีผลิตภัณฑ์มากมายหลากหลายประเภท เช่น มอเตอร์ไซค์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า สกู๊ตเตอร์ รถ UTV รถ ATV รถตะลุยหิมะสโนว์โมบิล รถโกคาร์ตสำหรับกีฬากอล์ฟ เรือเร็ว เจ็ตสกี เวฟรันเนอร์ Yamaha Corporation ยังเป็นผู้นำระดับโลกในด้านเครื่องดนตรี เครื่องเสียงระดับไฮเอนและเครื่องมือบันทึกเสียง ทุกวันนี้ยังคงไม่มีผู้ผลิตรายใดที่มีผลงานหลากหลายและประสบความสำเร็จเท่ากับบริษัท Yamaha

...

ในโลกแห่งอุตสาหกรรมยานยนต์ Yamaha เคยสร้างเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์สปอร์ต เริ่มจาก Toyota 2000GT รวมถึงเครื่องยนต์ 3S-GE Beam เครื่องยนต์ V10 ที่ทรงพลังสุดๆของ Lexus LFA โดยเฉพาะเครื่องยนต์สำหรับผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota และ Lexus แบรนด์ระดับโลกที่บริษัท Yamaha เคยร่วมงานด้วย ได้แก่ Volvo, Ford, Lotus กับกีฬาท้าความเร็วระดับโลก Formula 1 โดย Yamaha ตัดสินใจก้าวเข้าสู่วงการแข่งความเร็วและสร้างรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ Formula One โดยมีการตั้งชื่อรถตามเครื่องยนต์

คนที่ชอบกีฬามอเตอร์สปอร์ตต่างก็ใฝ่ฝันถึงรถฟอร์มูล่าวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดของโลกแห่งการแข่งรถ Yamaha ได้สร้างประวัติศาสตร์ในวงการแข่งรถอย่างต่อเนื่องผ่านการแข่งขันฟอร์มูล่าวัน และ F3000 ในปี 1988 Yamaha ร่วมมือกับบริษัทในเยอรมนีตะวันตก Zakspeed Formula Racing ทำการก่อตั้งทีมแข่งรถฟอร์มูล่าวัน ภายใต้ชื่อ West Zakspeed Yamaha Team และลงทำการแข่งขันฟอร์มูล่าวันกรังด์ปรีซ์ ด้วยรถแข่งรุ่นใหม่ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ Yamaha OX88 DOHC V-8 5 วาล์ว 75 องศา ปริมาตรกระบอกสูบ 3,489 ซีซี สร้างกำลังสูงสุดได้มากกว่า 600 แรงม้า โดยเปิดตัวเครื่องยนต์รุ่นใหม่ในฤดูกาลแข่งขันของปี 1989

...

หลังจากทำงานร่วมกับผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำและสร้างเครื่องยนต์สำหรับรถสูตร 1 แล้ว Yamaha ตัดสินใจสร้างรถยนต์สมรรถนะสูงของตนเองขึ้นมาหนึ่งคัน โดยนำเครื่องยนต์ OX99 ที่เพิ่งสร้างขึ้นสำหรับทีมแข่ง Brabham มาใช้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการออกแบบรถยนต์ซูเปอร์คาร์คันนี้ IDA สำนักแต่งอิสระในเยอรมนีได้รับสัญญาจ้างให้ออกแบบรถยนต์รุ่นนี้เป็นครั้งแรก หลังจากนั้น  โปรเจ็กต์รถแข่งในคราบรถถนนรุ่นนี้จึงถูกส่งไปที่ International Automotive Design (IAD) ในสหราชอาณาจักร

...

ปี 1992 IAD ออกแบบรถรุ่นใหม่ของ Yamaha เสร็จสิ้นภายในเวลาแค่ 12 เดือน รถรุ่นนี้ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของ Yamaha ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ตัวถังสไตล์รถสูตร 1 แสดงให้เห็นถึงความบ้าระห่ำของ Yamaha ในขณะที่ชิ้นส่วนคาร์บอนไฟเบอร์ครอบคลุมส่วนประกอบที่ใช้งานส่วนใหญ่ เพียงแค่มองดู Yamaha 0X99-11 ก็รู้ได้ทันทีว่ามันเป็นเครื่องจักรสุดโหดที่เหมาะสำหรับการแข่งขันในสนามแข่งมากกว่า แต่ OX99-11 กลับถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานบนท้องถนนโดยเฉพาะ มีการสร้างรถต้นแบบขึ้นมาสามคันเพื่อการทดสอบเพิ่มเติมและพัฒนาให้สามารถใช้งานได้จริง 

...

หลังจากนั้นเกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับงบประมาณของโครงการ ทำให้ Yamaha ต้องสร้างมันขึ้นมาเอง  หลังจากIDA ล้มเลิกงานที่กำลังสานต่อ โครงการจึงนี้ถูกส่งมอบให้กับ Ypsilon Technology ซึ่งเป็นแผนกแข่งรถของ Yamaha ตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร รับหน้าที่ในการสร้างและซ่อมบำรุงรถแข่ง Formula One  เป็นการรับงานยากเพื่อสานต่อและทำสิ่งที่ IAD เริ่มต้นเอาไว้ให้เสร็จสิ้น ช่างและวิศวกรมีเวลาเพียงแค่หกเดือนในการทำให้โครงการนี้เสร็จสมบูรณ์

แต่แรก Yamaha ต้องการให้รถมีสองที่นั่งและยังคงการออกแบบในสไตล์รถแข่งเอาไว้ วิธีแก้ปัญหาคือให้มีตำแหน่งที่นั่งแบบเรียงแถวคล้ายกับเครื่องบินขับไล่หรือมอเตอร์ไซค์ แต่รถต้นแบบที่ออกมากลับเป็นรถที่นั่งเดี่ยวที่มีตำแหน่งการขับอยู่ตรงกลางเช่นเดียวกับรถแข่ง Formula One ช่องระบายอากาศ และการออกแบบาสัดส่วนต่างๆ ตัวถังเพิ่มการไหลของอากาศในระดับสูงสุดเพื่อสร้างแรงกดและการระบายความร้อน OX99-11 ใช้โครงสร้างที่นั่งเดี่ยว ใต้ตัวถังมีโครงสร้างแบบเดียวกับรถแข่ง Brabham Formula One บานประตูออกแบบให้เปิดได้ด้านเดียว ฝากระโปรงท้ายเปิดได้หมดเพื่อเผยให้เห็นเครื่องยนต์ ภายในเรียบง่ายสุดๆ สำหรับรถแข่งที่สามารถใช้งานบนถนนสาธารณะ มีพวงมาลัยแบบฐานตัด สวิตช์เปิดปิดต่างๆ และแผงหน้าปัดแบบรถแข่ง

ปี 1991 Yamaha พัฒนาเครื่องยนต์ V12 รุ่นใหม่สำหรับส่งลงทำการแข่งขันให้กับทีม Brabham Formula One  เครื่องยนต์ V12 มีกำลังประมาณ 560 แรงม้า ถูกปรับลดกำลังลงเหลือ 400 แรงม้า แต่ยังคงเร่งได้ถึง 10,000 รอบต่อนาที Yamaha ปรับจูนการตอบสนองของเครื่องยนต์โดยลดระดับความรุนแรงลงมา เพื่อให้ควบคุมบนถนนสาธารณะได้ง่าย เป็นไปตามกฎหมายจราจร เครื่องยนต์ V12 พร้อมระบบเกียร์ธรรมดา 6 สปีด ส่งกำลังไปที่ล้อหลัง 100%

การผสมผสานระหว่างแผงตัวถังน้ำหนักเบา แชสซี และเครื่องยนต์ทำให้รถคันนี้มีน้ำหนักเบามาก โดยมีน้ำหนัก 1,100 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าหนักมากสำหรับรถแข่ง แต่เบาสุดๆสำหรับรถที่ใช้บนถนนปกติ กำลัง 400 แรงม้า เทียบตัวเลขแรงม้าต่อน้ำหนักแล้วสูสีกับ McLaren F1 จากวิชาตัวเบาและเครื่องยนต์ V12 ที่แรงสุดกู่ในแง่ของอัตราเร่งและประสิทธิภาพ

น่าเสียดายที่ OX99-11 เป็นหนึ่งในโครงการที่ไม่เคยไปถึงสายการผลิต งบประมาณมหาศาลที่จ่ายให้กับ IAD ทำให้ต้นทุนการผลิตของ OX99-11 บานเบอะสูงยันเพดานจนสร้างความปวดกระบาลให้กับผู้บริหาร เครื่องยนต์ Formula One V12 ก็ไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในสายการผลิตเช่นกัน นอกจากนี้  OX99-11 ยังคลอดออกมาในห้วงเวลาที่ย่ำแย่ เพราะโครงการใหญ่ยักษ์ขนาดนี้ ดันเกินขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นตกต่ำสุดขีดในยุคฟองสบู่ นั่นกลายเป็นช่วงเวลาที่แย่ที่สุดสำหรับโครงการใหญ่ที่ต้องใช้เงินมหาศาล

รถต้นแบบทั้งสามคันที่สร้างด้วย IAD ยังคงอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ และ Yamaha ก็ภูมิใจกับมัน นานมาแล้วที่บริษัทรถญี่ปุ่นส่วนใหญ่ด้ริเริ่มโครงการที่กล้าหาญมากมายในยุค 90 บางโครงการก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่บางโครงการก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า รถที่ประสบความสำเร็จและได้ไปต่อก็คือ Toyota Supra, Nissan GTR, Mitsubishi 3000GT และรถยนต์ JDM อื่นๆ ถูกสร้างขึ้นตามมาตรฐานสูงสุดและได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในช่วงปี 1990-1999 

ทุกวันนี้ แนวคิดเทคโนโลยี Formula One สำหรับใช้งานบนท้องถนนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป รถยนต์ไฮเปอร์คาร์ระดับไฮเอนด์หลายรุ่นของฝั่งยุโรปได้นำวิศวกรรมแนวนี้มาใช้กับรถสปอร์ตที่สามารถขับใช้งานบนท้องถนนได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย รถเจ็บๆอย่าง Aston Martin Valkyrie / Mercedes AMG One / BAC Mono / KTM X-Bow และ Czinger 21C เป็นรถสปอร์ตที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งมีการผสมผสานเทคนิคของรถแข่งและรถบ้านที่ใช้บนท้องถนน แต่รถอย่าง Yamaha OX99-11 นั้นลืมตาดูโลกมาก่อนหน้านานแล้ว แต่ดันโผล่ออกมาในเวลาที่ไม่ใช่เท่านั้นเอง

ตัวอย่างความล้มเหลวในยุคนั้นก็คือ Mazda และแผนกรถหรู Amati ซึ่ง Mazda พยายามปฏิเสธที่จะยอมรับว่ามีรถรุ่นนี้อยู่ แต่ต่างจาก Mazda ตรงที่ Yamaha ดูเหมือนจะเฉลิมฉลองให้กับ OX99-11 และยังคงนำไปจัดแสดงในงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และถ้ามันถูกสร้างขึ้นมาจริงๆ  Yamaha OX99-11 น่าจะเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่แปลกประหลาดที่สุดชิ้นหนึ่งในยุค 90 และมีราคาที่แพงมาก

Yamaha เคยวางแผนที่จะผลิต OX99-11 ประมาณ 20 ถึง 30 คันต่อปี ที่โรงงาน Brabham ในประเทศอังกฤษ และตั้งราคาขายอยู่ที่ 800,000 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยยังไม่รวมอัตราภาษีนำเข้าจะอยู่ที่ 27,583,000 บาท เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับราคาของ McLaren F1 เมื่อตลาดพังทลายและเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เศรษฐีส่วนใหญ่ไม่เต็มใจที่จะจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อแลกกับรถญี่ปุ่นราคาเฉียด 30 ล้านบาท หลังจากโครงการนี้  Yamaha ล้มเลิกความพยายามที่จะผลิตยานพาหนะแบบอื่นจนถึงปี 2013

ในปี 2013 Yamaha เปิดตัวรถแนวคิด Sports Ride ออกแบบโดยปรมาจารย์ Gordon Murray ซึ่งรูปแบบของรถรุ่นนี้ยังคงยึดโยงการเป็นรถสปอร์ตขนาดเล็กน้ำหนักเบา มีฐานล้อเท่ากับ Mazda MX-5 Miata ระบบส่งกำลังแบบไฮบริด แต่รถคันนี้ยังคงเป็นเพียงยานยนต์ต้นแบบ และไม่เคยก้าวข้ามไปยังสายการผลิต

Yamaha OX77
OX77 เป็นเครื่องยนต์เบนซินกระบอกสูบรูปตัววี แบบ V8 ความจุ 3.0 ลิตร หายใจเองแบบดูดอากาศเข้าตามธรรมชาติโดยไม่พึ่งพาระบบอัดอากาศใดๆทั้งสิ้น พัฒนาและสร้างโดย Yamaha สำหรับการแข่งขันฟอร์มูล่า 3000 โดยเฉพาะการแข่งขันชิงแชมป์ในรายการ Japanese Formula 3000 ระหว่างปี 1987 ถึง 1988 เครื่องยนต์รุ่นนี้ พัฒนามาจากเครื่องต้นแบบ Cosworth DFV แต่ใช้กลไกแบบ 5 วาล์วต่อกระบอกสูบ แทนที่จะเป็น 4 วาล์วต่อสูบ Yamaha OX77 ชนะการแข่งขันชิงแชมป์ Japanese Formula 3000 ในปี 1988 โดยนักแข่ง Aguri Suzuki 

Yamaha OX10A 3.5L V10 F1 เปิดตัวในปี 1993 เป็นเครื่องยนต์ที่เคยโลดแล่นอยู่ในโลกของการแข่งรถสูตร 1 ออกแบบโดย Yamaha ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความทะเยอทะยานในการเข้าสู่ตลาดเครื่องยนต์ F1 ที่มีการแข่งขันสูง OX10A เป็นเครื่องยนต์แบบ V10 ดูดอากาศหรือหายใจเองตามธรรมชาติโดยไม่พึ่งพาเทอร์โบ ปริมาตรความจุ 3.5 ลิตร สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามกฎข้อบังคับของ F1 FIA ในขณะนั้น ซึ่งกำหนดให้เครื่องยนต์ต้องมีขนาดกระบอกสูบไม่เกิน 3.5 ลิตร OX10A ผลิตกำลังได้ประมาณ 700-800 แรงม้า ขึ้นอยู่กับการปรับแต่ง ถูกออกแบบให้ตอบสนองต่อการอัดอย่างเต็มที่ มีประสิทธิภาพด้านอัตราเร่ง เหนียวแน่นคงทนไม่พังง่าย OX10A มีรอบสูงสุดที่ 13,500 รอบต่อนาที หรือสูงกว่านั้น ชิ้นส่วนต่างๆ ใช้หลักวิศวกรรมที่ซับซ้อน Yamaha เน้นที่โครงสร้างน้ำหนักเบา ประสิทธิภาพของแรงบิด และความสมดุลระหว่างกำลังและความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขัน F1 แม้ว่าจะเป็นเครื่องน้องใหม่ในวงการ F1 ปี 1993 แต่เครื่องยนต์ Yamaha OX10A ได้รับความนิยมจากทีมแข่งหลายทีม โดยเฉพาะ Brabham และ Tyrrell ในปี 1994 ซึ่งทั้งสองทีม ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แม้ว่าเครื่องยนต์จะไม่สามารถเอาชนะทีมดัง อย่างเช่น Ferrari, Mercedes หรือ Honda แต่เครื่องยนต์ตัวนี้ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถทางเทคนิคและความมุ่งมั่นในการทำงานของ Yamaha

เครื่องยนต์ Yamaha OX11C ปี 1997 ซึ่งเป็นขุมกำลังของ Judd JV เป็นเครื่องยนต์ V10 ความจุ 3.5 ลิตร สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการแข่งขันฟอร์มูล่าวันสำหรับทีม Tyrrell ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 เครื่องยนต์รุ่นนี้พัฒนาขึ้นโดยเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง Yamaha และ Judd ต่อยอดจากการออกแบบเครื่องยนต์ Judd JV รุ่นก่อนหน้า OX11C มีศักยภาพในเรื่องการส่งกำลังที่นุ่มนวล ความสามารถในการเร่งสูง พร้อมโครงสร้างน้ำหนักเบาแต่แข็งแกร่ง Yamaha OX11C ผลิตกำลังได้ประมาณ 750-800 แรงม้า ที่ 15,500 รอบต่อนาที สามารถแข่งขันในสภาพแวดล้อมการเร่งความเร็วอย่างต่อเนื่องของรถแข่งฟอร์มูล่าวันในยุคนั้น ระบบเชื้อเพลิงแบบดูดอากาศตามธรรมชาติ ในฤดูกาลแข่งขันของปี 1997 OX11C ไม่โดดเด่นเท่ากับเครื่องยนต์บางรุ่นซึ่งกลายเป็นที่รู้จักเพราะชนะในวันอาทิตย์ เช่นส Ferrari หรือ Honda แต่ทางเลือกสำหรับเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้กับทีม Tyrrell ในแง่ของการออกแบบ เครื่องยนต์ OX11C ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในยุคนั้น มี 4 วาล์วต่อกระบอกสูบ OX11C มีความแม่นยำทางวิศวกรรม แม้ว่าจะถือว่ามีกำลังน้อยกว่าเครื่องยนต์ชั้นนำใน F1 ในยุคนั้นเล็กน้อยก็ นอกจากนี้ เครื่องยนต์ Yamaha OX11C ยังถูกนำมาใช้ในรูปแบบต่างๆ โดยมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยสำหรับทีมเฉพาะหรือเงื่อนไขการแข่งขัน โดยรวมแล้ว เครื่องยนต์ Yamaha OX11C แม้จะไม่ได้มีความโดดเด่นเท่ากับเครื่องยนต์ F1 อื่นๆ ในยุคนั้น แต่ก็ยังคงถือเป็นต้นกำลังรถแข่งที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์ของ Formula 1 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมืออันเป็นเอกลักษณ์ระหว่าง Yamaha และ Judd


เครื่องยนต์ Yamaha F1 ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเฉลียวฉลาดและองค์ความรู้ทางวิศวกรรมอันหลากหลายของ Yamaha ความพยายามที่จะเอาชนะเพื่อสร้างสิ่งที่ดีที่สุด ทั้งเครื่องดนตรี จักรยานยนต์ เรือและเครื่องยนต์เรือ รวมถึงการปรับแต่งฝาสูบที่มีความเชี่ยวชาญระดับโลก