ถ้าเป็นอายุของคนเลข 40 นั้นอาจหมายถึงคุณกำลังเริ่มต้นชีวิตที่งานและความรับผิดชอบหนักขึ้น แต่สำหรับรถ ถ้าไม่ใช่ว่าโชคดีจริง มันคืออายุของรถที่น่าจะเตรียมพัง (เว้นแต่เจอเจ้าของที่ดูแลรักษาดีมากๆ) เมื่อ Ferrari เปิดตัว F80 รถรุ่นสูงสุดของค่าย ผลิตจำนวนจำกัดที่มาพร้อมกับรูปทรงที่ล้ำสมัย แต่หลายคนบอกว่าไม่ได้มีมนตราในความเซ็กซี่แบบ Ferrari ยุคก่อนๆ รถทั้งคันดูจะถูกกลืนกินโดยหุ่นยนต์และวิทยาศาสตร์ ในวันนี้ไทยรัฐวันอาทิตย์จึงขอนำเสนอ 288 GTO หรือที่ Ferrari เรียกอย่างเป็นทางการสั้นๆว่า GTO อันเป็นรถจากยุคที่ศิลปะบนเรือนร่างยังสะท้อนถึงความเซ็กซี่เหมือนอันเชิญร่างสตรีมาสิงสู่ในรถ และเป็นจุดที่ Ferrari เริ่มนำเทอร์โบชาร์จมาใช้จนกลายเป็นรถ V8 เทอร์โบรุ่นแรกของค่ายตั้งแต่ยุค 80s ก่อนที่จะหวนกลับมาใช้รูปแบบนี้ในทศวรรษหลัง

GTO ในชื่อของรถรุ่นนี้ เป็นคำย่อมาจาก Grand Turismo Omologata ซึ่งหากเป็นภาษาอังกฤษ ก็คือ Grand Touring Homologation เพราะรถรุ่นนี้ เกิดขึ้นมาจากความต้องการของ Enzo Ferrari ในการสร้างรถไปแข่งในรายการมอเตอร์สปอร์ตซึ่งตามกฎ Homologation ของคลาสที่จะเข้าแข่ง รถรุ่นนั้นๆต้องมีการผลิตจำหน่ายจริงไม่น้อยกว่า 200 คันจึงจะสามารถเข้าร่วมแข่งขันได้

...

อย่างไรก็ตาม ในยุค 80s กฎ กติกาในการแข่งมอเตอร์สปอร์ตเปลี่ยนแปลงไปเยอะ กว่าที่ GTO จะพร้อมลงขายจริง คลาสแรลลี่ที่ Enzo Ferrari ต้องการส่งมันเข้าแข่ง ก็ถูกยกเลิกไป แต่การที่เป้าหมายถูกยกเลิก ก็ไม่ได้หยุดความดังของ GTO เพราะจากจำนวนรถที่ตั้งใจจะผลิตแค่ 200 คัน กลับโดนลูกค้าบารมีสูงขอซื้อจนต้องดันยอดผลิตไปจบที่ 272 คัน และมันทำให้ Enzo (ผู้ก่อตั้ง Ferrari) เริ่มปิ๊งไอเดียว่า ยิ่ง Ferrari ทำรถแรงๆแล้วขายจำนวนน้อยๆ ลูกค้ายิ่งถวิลหา โดยเฉพาะลูกค้าที่เงินหนามากๆ นี่คือจุดเริ่มต้นประเพณีของ Ferrari ในการสร้างซูเปอร์คาร์ตัวท้อป ที่พลังสูงและผลิตจำนวนจำกัด เป็นตัวตั้งต้นให้กับรถอย่าง F40, F50, Enzo, LaFerrari และ F80 ที่ตามมา ในภายหลัง เซียนรถฝรั่งก็ตั้งชื่อ 288 GTO ให้ เพราะกลัวว่าเรียก GTO เฉยๆแล้วจะไปสับสนกับรถ 250 GTO ที่ออกมาก่อนหน้าหลายปี 28 ในชื่อ มาจากความจุเครื่องยนต์ (2,855 ซี.ซี.) และ 8 ตัวต่อมาคือจำนวนลูกสูบ

ตัวรถนั้นมีพื้นฐานเริ่มต้นมาจาก 308 ซึ่งเป็นรถสปอร์ตรุ่นค่อนข้างพื้นฐานของ Ferrari ซึ่งไปโด่งดังในอเมริกาจากซีรีส์ Magnum PI ที่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับไอศกรีม Wall แต่เพื่อการปรุงแต่งจากรถสปอร์ตตัวระดับเบสิกของค่ายให้กลายเป็นตัวโหดราคาแพงระยับแล้วมีลูกค้าซื้อนั้น คงไม่สามารถเปลี่ยนแค่ล้อแล้วคาดสติกเกอร์ทำเป็นซิ่งแล้วเพิ่มราคาเลยได้ Ferrari เองก็มีโจทย์ภาคบังคับ คือ ต้องรีบทำ รีบสร้างให้เสร็จเร็ว ก็เลยต้องใช้บอดี้หลักจาก 308 ซึ่ง Pininfarina ออกแบบเอาไว้สวยแล้ว แต่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มบางจุด เช่นลักษณะการวางเครื่องยนต์ จากเดิมพวก 308, 328 จะเป็นเครื่องวางกลางลำแบบวางขวาง (เหมือนพวก Toyota MR2) ก็เปลี่ยนเป็นเครื่องแบบวางตามยาวไป

...

จากตำแหน่งการวางเครื่องแบบนี้ทำให้ฐานล้อต้องยาวขึ้นจาก 2,340 เป็น 2,450 มม. ซึ่งก็ทำให้ Ferrari ต้องออกแบบส่วนท้ายใหม่ และเพิ่มการดัดแปลงส่วนหน้าของรถให้มีสัดส่วนความกว้างสมดุลกัน ส่วนที่จะทำให้ Ferrari 288 GTO แตกต่างจาก 308 ธรรมดานั้น ก็อยู่ที่โป่งหน้าและหลังที่ขยายกว้างมากเพื่อรับยางหน้ากว้างขนาดโต ช่องระบายอากาศด้านข้างตรงเหนือโป่งหลัง ซึ่งนอกจาก 288 GTO แล้ว ยังปรากฏใน 208 GTB/GTS เทอร์โบ ซึ่งเป็นรถรุ่นประหยัดของ 328 ในตลาดอิตาลี รถรุ่นนี้ทำมาเพื่อตอบโจทย์ด้านภาษีซึ่งในอิตาลีรถเครื่องโตกว่า 2.0 ลิตรต้องเสียภาษี 38% แต่รถความจุต่ำกว่านั้น เสียแค่เพียง 18% แต่ 208 จะไม่มีโป่งขนาดใหญ่ ไม่มีลิ้นหน้าทรงกว้างแหลมพร้อมกวาดหิมะ ไม่มีหางหลังที่งอนขึ้นเป็นตูดเป็ดขนาดโต และไม่มีไฟหน้าที่เรียงคล้ายสปอตไลท์เหลี่ยม 4 ดวง และไม่มีแถบร่องระบายลม 3 แถบที่ตอนท้ายรถด้านข้าง

ในภายหลัง เมื่อรถใกล้เสร็จ ชิ้นส่วนต่างๆที่ใช้ร่วมกับ 308/328 ก็ทยอยถูกเปลี่ยนไปทีละชิ้น เนื่องจากลูกค้าจะด่าเอาว่าคิดราคาตั้งแพงแล้วยังใช้อะไหล่ร่วมกับรุ่นถูก ในภายหลังโครงสร้างของรถก็เปลี่ยนไปมาก ประตูรถยังเป็นเหล็ก แต่บอดี้ภายนอกในส่วนอื่น กลายเป็นไฟเบอร์กลาสน้ำหนักเบา ฝากระโปรงหน้า/หลังทำจากเคฟลาร์ และหลังคาทำจากเคฟลาร์ผสมกับคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งมาตรการรีดน้ำหนักที่ Ferrari ทำไปนั้น ทำให้น้ำหนักตัวเปล่าแบบไม่รวมของเหลวของ 288 GTO นั้นเบาหวิวแค่ 1,160 กิโลกรัม ซึ่งนั่นก็เบากว่า 308/328 ราว 100-150 กิโลกรัมเห็นจะได้

...

หัวใจของ 288 GTO คือเครื่องยนต์ Tipo F114 B000 ซึ่งถูกพัฒนาไปพร้อมๆกับเครื่อง 2.6 ลิตรตัวแข่งมอเตอร์สปอร์ตของ Lancia แต่ Ferrari ใช้ความจุ 2,855 ซี.ซี.ตามกฎของการแข่ง Group B (ซึ่งรถมีเทอร์โบ ต้องเอาความจุคูณ 1.4 แล้วได้ออกมาไม่เกิน 4.0 ส่วนรถไม่มีเทอร์โบใช้ 4.0 ลิตรได้) มีการติดตั้งเทอร์โบชาร์จเจอร์คู่ ต่อแบบ Parallel คือใช้เทอร์โบ 2 ตัวที่เหมือนกันเด๊ะ แต่ละตัวรับผิดชอบ 1 ฝั่งของเครื่อง V8 ซึ่งมี 32 วาล์ว มีแคมชาฟท์คู่ในฝาสูบแต่ละฝั่ง เทอร์โบที่ใช้เป็นของ IHI จากค่ายญี่ปุ่น ซึ่ง Ferrari มองว่ามีประสิทธิภาพดีและทนความร้อนสูงกว่าเทอร์โบ KKK ที่เคยใช้ในรถแข่งของพวกเขา ระบบจ่ายน้ำมันหัวฉีด Weber-Marelli

...

และเนื่องจากตัวเครื่องต้องรับบูสท์เทอร์โบสูง 1 บาร์ ในยุคที่ระบบจุดระเบิด/จ่ายน้ำมันยังไม่มีความแม่นยำแบบปัจจุบัน อัตราส่วนกำลังอัดของเครื่อง F114 จึงต่ำเพียงแค่ 7.6:1 เท่านั้น ก็คือขนาดห้องเผาไหม้ตอนลูกสูบเคลื่อนที่ขึ้นตำแหน่งบนสุดนั้นใหญ่โตมาก ทำให้ในช่วงที่ไร้บูสท์เครื่องยนต์ตอบสนองไม่ค่อยดี เร่งแล้วไม่มีกำลัง นี่คือสิ่งที่ทำให้คนรุ่นลุงๆเรียกว่าเทอร์โบแล็ก (Lag ไม่ใช่ Lack) ซึ่งรถในปัจจุบัน อัตราส่วนกำลังอัดสูงปรี๊ด มีเทคโนโลยีเยอะแยะเข้ามาช่วย เทอร์โบแล็กจึงมีน้อยกว่ารถสมัยก่อนๆมาก

ผลที่ได้คือพลัง 400 แรงม้าที่ 7,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 496 นิวตันเมตรที่ 3,800 รอบต่อนาที พลังขนาดนี้บนตัวถังที่เบากว่า Civic 1.5 Turbo รุ่นปัจจุบัน ทำให้ออกฤทธิ์ได้เยอะมาก แล้วต้องบอกว่าสมัยก่อน รถ 400 ม้า ซูเปอร์ตัวท้อปของค่าย ล้อแม็กมีขนาดจิ๋วแค่ 16 นิ้วเองนะครับ ล้อหลังใช้ยางกว้าง 265/55 ล้อหน้า 225/50 แล้วก็ไม่มีระบบช่วยเหลือใดๆในการออกตัว Ferrari เคลมอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 4.9 วินาที วิ่งควอเตอร์ไมล์ได้ภายในเวลา 12.7 วินาที และความเร็วสูงสุด 305 กม./ชม. ซึ่งในสมัยนั้น ตัวเลข 300 มีรถเพียงไม่กี่รุ่นที่ทำได้

ทว่า 288 GTO ไม่ใช่รถขับง่ายขนาดนั้น สื่อฯฝรั่งเจ้าดังหลายเจ้ามาขับ บางคันวิ่งควอเตอร์ไมล์เข้าไป 14 วินาที ยังกับกระบะเปลี่ยนเทอร์โบรีแมพปี 2024 แต่นั่นเพราะมันไม่ใช่รถที่ออกตัวง่ายขนาดนั้น ถ้าทำถูก ล้อจะฟรีกำลังดีและรอบไม่เหี่ยว ถ้าออกตัวผิดจังหวะ รอบร่วงไปอยู่ในจุดที่ไม่มีบูสท์ รถก็ไปแบบไม่มีพลัง

ภายในของ 288 GTO ก็ได้บรรยากาศดิบแบบรถแข่ง ถึงแม้จะเป็นรถราคาแพงระยับในยุคนั้น แต่คุณได้เบาะสปอร์ตปรับด้วยมือ กระจกแต่ละบ้านไม่มีระบบไฟฟ้านะครับ เชิญท่านหมุนออกกำลังแขนตามสบาย (F40 และ F50 ที่ตามมาหลังจากนั้นก็ใช้กระจกมือหมุน) แดชบอร์ดนี่มีให้ก็บุญแล้ว และความที่รถสมัยนั้นไม่มีปุ่มให้ปรับอะไรมากนัก ก็จะมีแต่ชุดแผงมาตรวัดที่จำเป็น และใช้ฟอนต์ตัวเลขสีส้มบนพื้นดำแบบธรรมดา ซึ่งสมัยนี้หาดูดีไซน์แบบนี้ได้ยากแล้ว คันเกียร์ Ferrari ยุคคลาสสิค ฐานคันเกียร์ต้องเป็นเหล็ก หัวเกียร์ทรงลูกปิงปองทำมาจากโลหะ ที่ดูดีทุกเวลา และมือพองจนแทบเป็นบ้าเมื่อเผลอไปจับหลังรถจอดตากแดดมาค่อนวัน (คนขับ Ferrari อาจจะไม่ได้ต้องจอดตากแดดทุกคน) อย่าถามหาความหรู หรือความพิถีพิถันในงานประกอบ เพราะมันคือรถที่เกิดมาเพื่อ “รีบๆขายให้ครบแล้วไปทำรถแข่งกันเถอะ” อันเป็นสไตล์ของท่าน IL COMMENDATORE คุณ Enzo Ferrari นักสร้างรถแข่งฝีปากคมที่เป็นบิดาแห่งค่ายม้าป่า และเป็นคนที่ทำให้โลกนี้มี Lamborghini กับ Ford GT40 ด้วยปากของเขานั่นล่ะครับ

ในโลกนี้ มี 288 GTO ทั้งหมด (ตามข้อมูลของ Ferrari 272 คัน) ทุกคันเป็นสีแดง Rosso และเป็นรถพวงมาลัยซ้ายทั้งหมด แต่ในปี 1990 ท่านสุลต่านบรูไน ซึ่งเป็นเจ้าของ GTO รุ่นนี้กับเขาด้วยนั้น ได้ส่งรถไปให้ Ferrari จัดการแปลงเป็นพวงมาลัยขวาให้ท่านทรงรถได้สะดวกพระทัย ซึ่งพอเห็นตัวเลขเช็คที่ท่านสุลต่านยอมจ่าย Ferrari ก็ยินยอมทำให้แต่โดยดี

แต่ประเด็นหลักที่อยากนำ 288 GTO มาให้ดูกันในวันนี้ ก็คือ มันเป็น Ferrari รุ่นหนึ่งที่ผมชอบที่สุด แต่ไม่เคยคิดอยากเป็นเจ้าของ ไม่เคยคิดแม้แต่จะอยากขับ เพราะจำนวนของ GTO รุ่นนี้บนโลก น้อยกว่า Ferrari ตัวเทพทุกรุ่น หายากกว่า F40 หรือ F50 เสียอีก และเมื่อมีการขายทอดตลาด ถ้ารถสภาพดี คนซื้อก็แย่งกันซื้อในราคาที่ค่าตัวตอนป้ายแดงของพวก Enzo, LaFerri กลายเป็นเรื่องกระจอกไปได้เลยเหมือนกัน เหนืออื่นใด 288 GTO คือรถจาก Ferrari ในยุคที่ความหลงใหลในมอเตอร์สปอร์ต ความกล้าสร้างรถที่มีพลังสูง เครื่องยนต์มัลติวาล์ว V8 เทอร์โบ มาบรรจบพบกับความสวยงามสไตล์คลาสสิคดุจนางแบบกำลังนอนตะแคง ที่รังสรรค์โดยอาจารย์ปู่ Sergio Pininfarina นี่คือยุคที่ความสวยยังมีความขลังในค่ายม้าป่าผยองนี้

ยุคปัจจุบันเป็นยังไง? แหม ก็ไม่ได้แย่ครับ แต่รู้สึกแค่ว่าแอโร่ไดนามิกส์มันมีความสำคัญมากกว่าความสวยจนบอดี้รถดูเหมือน Transformer ที่ยังแปลงร่างไม่เสร็จ ก็เท่านั้น

Pan Paitoonpong