รถที่ใช้งานเยอะ วิ่งเยอะ ย่อมมีการสึกหรอเร็วเป็นธรรมดา แล้วรถที่ใช้น้อย วิ่งน้อยแปลว่าไม่สึกหรอ? ก็คงจะไม่ใช่ ในรถยนต์หนึ่งคันมีองค์ประกอบหลายอย่างทั้งโลหะ ยาง หนัง พลาสติก ยูรีเธน รวมถึงของเหลวต่างๆ ซึ่งแต่ละอย่างล้วนคล้ายคน สำหรับคน เราเกิด แก่ เจ็บ ตาย สำหรับอะไหล่รถ คือ ผลิต ติดตั้ง พัง และทิ้ง แล้วรถที่ใช้น้อย มีการบำรุงรักษาอย่างไร ต้องดูแลจุดไหน หรือหาทางเซฟเงินจากจุดไหนได้บ้าง วันนี้คอลัมน์รถวันอาทิตย์จะมาให้ไอเดียการดูแลรถสำหรับคุณ

...

บทความนี้ ได้ประกายหัวเทียนจุดบึ้มมาจากคุณน้ำค้าง ผู้อ่านประจำคอลัมน์รถวันอาทิตย์บนไทยรัฐออนไลน์ ซึ่งมีรถอยู่หลายคัน และแต่ละคันใช้ค่อนข้างน้อย จึงส่งข้อความสอบถามมาว่า ต้องดูแลอย่างไร มีเทคนิคอย่างไรบ้าง ผมเลยคิดว่าแทนที่จะนั่งพิมพ์ตอบใน Inbox ให้เมื่อยตุ้ม ผมให้คุณน้ำค้างไปเดินทางรอบโลกสักรอบแล้วค่อยกลับมาอ่านสิ่งที่ผมจะเขียนเป็นบทความเลยน่าจะได้อะไรมากกว่า

คำว่ารถใช้น้อย สำหรับผม แบ่งแบบนี้ครับ ถ้าใช้งานปีละ 20,000 กิโลเมตร ผมถือว่าเป็นการใช้งานปกติ แต่ถ้าน้อยกว่า 15,000 กิโลเมตร อันนี้คือเริ่มใช้น้อย และถ้าไม่เกิน 10,000 กิโลเมตรต่อปี ผมมองว่านั่นคือใช้น้อยของจริง ดังนั้นถ้าใครวิ่งรถปีนึงๆมากกว่า 15,000 กิโลเมตร คุณอาจจะไม่ต้องอ่านบทความนี้ก็ได้ครับเพราะจะเริ่มเข้าข่ายรถใช้งานตามปกติแล้ว และบทความนี้ผมเขียนโดยอาศัยประสบการณ์ส่วนตัวและสอบถามเพื่อนๆที่เป็นช่าง หรือทำกิจการเกี่ยวกับรถยนต์นะครับ ผมไม่มีผล Lab หรืออะไรทำนองนั้นมาให้ดู

คุณผู้อ่านครับ อะไหล่รถและของเหลวต่างๆ มีการเสื่อม 3 ลักษณะหลัก คือ 1)เสื่อมตามกิโลเมตร 2) เสื่อมตามกาลเวลา และ 3) เสื่อมตามลักษณะการใช้งานและการทรมานรถ ดังนั้น เมื่อเราพูดถึงอะไหล่หรือของเหลวสักอย่าง การเสื่อมสภาพของสิ่งเหล่านั้นอาจขึ้นอยู่กับการขับขี่ และสถานที่ที่รถนั้นจอด หรือที่ที่มันใช้วิ่ง มันจึงไม่มีคำตอบแบบ Absolute หรือตอบสั้นฟันธงลงไลฟ์แล้วแยกย้าย มันเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความเข้าใจและพิจารณาตามสภาพความเป็นจริง

อย่างแรก พวกน้ำมันต่างๆ

น้ำมันเครื่อง ปกติเรามักถูกสอนกันมาแค่ว่า น้ำมันเครื่องธรรมดาที่กลั่นมาจากซุปซากไดโนเสาร์ใต้ดิน 5,000 กิโลเมตรถ่ายทิ้ง น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ 10,000 กิโลเมตรก็เปลี่ยนถ่ายใหม่ แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงว่าถ้าปีนึงแล้วยังขับรถไปไม่ถึง 10,000 กิโลเมตรต้องเปลี่ยนใหม่หรือเปล่า ถ้ารถคุณยังมีสมุดรับประกัน/อยู่ในช่วงรับประกัน ค่ายรถจะบอกเลยว่าต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องที่กี่กิโลเมตรหรือทุกกี่เดือน ส่วนมาก สำหรับคนที่ใช้รถน้อย จะต้องเปลี่ยนทุก 6 เดือนจึงจะอยู่ในเงื่อนไขรับสิทธิ์ประกันคุณภาพได้

...

แต่ถ้าไม่แคร์เรื่องนั้น เอาแบบที่พวกผมใช้สูตรดูแลรถพรรคพวกกันเอง น้ำมันเครื่องแบบธรรมดา 1 ปีมันก็สามารถคงประสิทธิภาพไว้ได้ครับ และน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ก็สามารถอยู่ได้ 2 ปี แต่ในเงื่อนไขนี้ คุณต้องขับรถแบบปกติมนุษย์ ไม่ซัดโหด และที่สำคัญคือรถไม่ไปเจอความชื้นบ่อย ของเหลวในรถที่มีคำว่าน้ำมัน ล้วนเสื่อมเมื่อเจอความชื้นครับ ดังนั้นประเทศไทย ชื้นแฉะและน้ำท่วมบ่อย ผมจับหารครึ่งหมด ให้น้ำมันธรรมดาเป็น 6 เดือนเปลี่ยน และน้ำมันสังเคราะห์ 1 ปีเปลี่ยน อีกเงื่อนไขที่ต้องพิจารณาคือความหนักหน่วงในการขับขี่ และถึงน้ำมันเป็นสังเคราะห์ แต่ก็มีน้ำมันเครื่องสังเคราะห์เกรดที่ใช้กับรถซิ่งรถแข่งบางแบบที่คลายร้อนเก่ง หล่อลื่นดี แต่แพ้ความชื้น พวกนี้มักจะเสื่อมตามเวลาเร็วครับ พวกที่ขับโหดและใช้น้ำมันแบบนี้ 6 เดือนหัวเด็ดตีนขาดต่อให้วิ่งมาแค่ 4,000 กิโลเมตรผมก็จับเปลี่ยนหมด ถ้าเป็นพวกเท้าผีวิญญาณซาตานซิ่งแบบนี้

...

สำหรับคนขับเท้าไม่หนัก คุณจะใช้น้ำมันเครื่องธรรมดาที่ราคาถูกแล้วเปลี่ยนถ่ายทุก 6 เดือนก็ได้ ส่วนกรองน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนทุก 1 ปีก็ได้เพื่อประหยัดเงิน กรองน้ำมันเครื่องส่วนมากมันไม่ได้เสื่อมตามความชื้นขนาดนั้น แต่ก็ไม่ควรใช้เกินสองปีครับ น้ำมันเครื่องแบบธรรมดา ราคามักจะถูก เหมาะสำหรับคนมีเงินน้อยและต้องหมุน แต่ถ้าไหวกับน้ำมันสังเคราะห์แกลลอนละ 2,000 กว่าบาท ก็เอาครับ มันก็ลดการเสียเวลาเปลี่ยนถ่ายไปได้ครึ่งนึง

...

พวกน้ำมันเกียร์อัตโนมัติ น้ำมันเฟืองท้าย โดยปกติเรามักจะเปลี่ยนกันแถว 40,000 กิโลเมตร แต่ในรถใช้น้อย คุณไม่ควรรอ 8 ปีแล้วค่อยเปลี่ยนนะครับ ตัวอย่างเช่นรถพ่อผมเอง ด้วยความที่เป็นลูกอกตัญญู ชวนป๋วยปีแป่ผ่ากอ ไม่ดูแลรถพอ มัวแต่ไปดูแลเด็ก รถพ่อผมเลยไม่ได้เปลี่ยนน้ำมันเกียร์มา 6 ปี แต่ 6 ปีนี้นั้นวิ่งไปแค่ 35,000 กิโลเมตรครับ ถ้าเป็นรถปกติถ่ายออกมาน่าจะเห็นสีแดงเหมือนแฟนต้าผสมโค้ก แต่น้ำมันเกียร์รถพ่อผมออกมา ดำเป็นหมึกเลยครับ เอาน้ำมันเกียร์ใหม่ถ่ายวนไป 12 ลิตร จึงค่อยกลายเป็นสีแดงตุ่นๆ รถเกียร์ธรรมดา ก็มีน้ำมันนะครับ และก็ไม่ได้ใช้ไปตลอดอายุรถด้วย ระยะการเปลี่ยนถ่ายสำหรับคนใช้รถน้อย ผมจับให้จำง่าย ทั้งน้ำมันเกียร์ธรรมดาและอัตโนมัติ และน้ำมันเบรก..อันนี้ก็สำคัญ อย่างน้อย 2 ปีควรเปลี่ยนถ้าทำได้ ส่วนน้ำมันเฟืองท้ายถ้าเป็นรถขับหลัง เฟืองท้ายแยก ก็มากสุด 4 ปี แต่ถ้าลุยน้ำบ่อย ประจำลดเหลือ 3 ปีครับ

พวกกรองต่างๆ บางส่วนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับของเหลว เช่นกรองน้ำมันเกียร์ กรองเบนซิน ไปจนถึงกรองอากาศ พวกนี้ไม่ได้แพ้ความชื้นแบบตัวน้ำมันเอง จึงไม่จำเป็นต้องรีบเปลี่ยนเร็วมากนัก แต่ถ้ามีโอกาส ทุกๆ ปีควรถอดมาตรวจสอบสภาพครับ กรองน้ำมันเกียร์ บางรุ่นมี แต่คนไม่รู้ว่ามี พวกนี้สำหรับรถใช้น้อย ยังไง 4 ปีก็ควรเปลี่ยนครับ กรองเบนซิน ต่อให้วิ่งมาไม่ถึง 40,000 กิโลเมตร แต่ถ้าครบ 4 ปีก็ควรเปลี่ยน

ส่วนกรองอากาศ ถ้าไม่มีหนูมุดเข้าไปทำรัง ไปแทะ คุณวางไว้เฉยๆ 5 ปีมันก็ไม่ได้ย่อยสลายตัวเองเร็วขนาดนั้น ใช้กรองอากาศแบบธรรมดา ไม่ต้องแฟนซีเอากรองซิ่ง กรองแต่ง พวกกรองแต่งที่เป็นฟองน้ำ เวลาเสื่อม มันจะหลุดเข้าไปในเครื่องได้ เขามีไว้สำหรับพวกทำเครื่องซิ่ง ถ้าเราไม่ซิ่งก็ไม่จำเป็น หรือกรองรักโลก ประเภทล้างซักแล้วตาก พ่นน้ำยาเคลือบ ถ้าคุณไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร ก็อย่าไปใช้ น้ำยาพ่นกรอง ถ้าคุณบ้าพลังสเปรย์มันเยอะๆ ไอ้น้ำยานี่ล่ะจะเข้าไปจับตามขดลวดเซนเซอร์และมิเตอร์ต่างๆจนรถทำงานเพี้ยนได้ ถ้าไม่ได้ซิ่ง กรองผ้าธรรมดาๆเบิกศูนย์นี่แหละครับ ถอดเช็คทุกหมื่นกิโลเมตร หรือทุกปี และเปลี่ยนเมื่อมีอาการฉีกชำรุดหรือตัน บางทีมันอยู่ได้ 5-6 ปีด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับกรองแอร์ ที่ใช้กรองฝุ่นก่อนเป่าลมในห้องโดยสาร ก็ตรวจสอบและเปลี่ยนตามเงื่อนไขคล้ายกัน

แบตเตอรี่ ถ้ารถวิ่งน้อย แต่มีโอกาสวิ่งประจำ เช่น วิ่งปีละ 5,000 กิโลเมตร แต่ได้สตาร์ททุกสัปดาห์ คุณไม่มีอะไรต้องห่วงครับ ถ้าถึงจุดไหนที่มันเสื่อม พวกรถวิ่งเยอะก็เสื่อมพร้อมคุณนั่นล่ะ แบตเตอรี่โดยส่วนมากเท่าที่ผมสังเกตมา จะวิ่งเยอะหรือน้อย แต่ถ้าได้สตาร์ทแล้ววิ่งอย่างน้อยสัปดาห์ละ 40-50 กิโลเมตร มันจะเสื่อมตอนหลัง 2 ปีไป ไม่ว่ารถวิ่งเยอะหรือน้อย ถ้าจะเน้นไม่ตายกลางทาง 2 ปีผมให้จับเปลี่ยนหมดล่ะครับ เพราะค่ารถยกแพงเท่าค่าแบตเตอรี่ แต่รถที่วิ่งน้อยมากจริงๆหรืออาจจะสตาร์ทเดือนละครั้ง ผมแนะนำให้ถอดขั้วแบตเตอรี่ (ขั้วลบ) ไว้ครับ เพราะถึงแม้รถเราไม่ได้สตาร์ท แต่บางทีมันจะมีระบบไฟทำงานค้างอยู่ รถบางคันที่มีพวก SIM Card มีระบบสื่อสาร ระบบกล้อง ถึงรถล็อคแล้ว ก็จะยังมีอุปกรณ์ที่ดูดไฟไปใช้ บางทีผ่านไป 2-3 สัปดาห์ ไฟก็เกลี้ยงหม้อครับ รถพวกที่เอา OBD Meter มาเสียบเข้าปลั๊ก OBD ก็ควรระวัง ถ้าคิดจะจอดนานเกิน 7 วัน ถอดปลั๊ก OBD ไว้ด้วยก็ดี เพราะบางทีตัว OBD Meter มันไม่ได้ปิดการสื่อสารตัวเองตอนเราดับเครื่อง ถ้าเจอจังหวะนั้นมันจะดูดไฟน้อยๆแต่ดูดตลอดจนกว่าแบตเตอรี่จะหมดไฟ การเช็คน้ำกลั่น ทำตามปกติครับ รถใช้น้อยใช้เยอะก็เช็คบ่อยเท่ากัน

สำหรับเรื่องยาง ยางรถยนต์นี่ ตัวมันเองไม่ได้แพ้ความชื้น จึงไม่ได้จำเป็นต้องเปลี่ยนบ่อยแบบน้ำมันหรือของเหลวต่างๆ ยางรถยนต์ถ้าวางไว้เฉยๆไม่มีน้ำหนักกดทับด้านใดด้านหนึ่ง มันสามารถคงประสิทธิภาพเท่าเดิมได้นาน 5 ปีสบายๆ แต่สำหรับรถที่คุณใช้ น้ำหนักของรถจะกดทับไปบนยาง ดังนั้นต่อให้ใช้รถน้อยแค่ไหน อย่างน้อยเดือนละครั้ง ก็ควรมาสตาร์ทและเลื่อนจับขยับรถบ้าง ไม่เช่นนั้นเวลานำไปวิ่ง รถจะสั่นเพราะยางมันถูกกดทับที่เดียวจนเสียรูป แต่ถ้ายังไม่ซวยจัด มันจะสั่นอยู่ราว 30-40 กิโลเมตรแล้วก็ถูกนวดให้กลับมากลมตามเดิมได้ครับ ถ้า 50 กิโลยังไม่หายสั่น คือเปลี่ยนใหม่ได้เลย ก็ใช้วิธีขับให้ได้อย่างน้อยเดือนละครั้ง และถ้าครบ 5 ปีแล้วยังไม่ถึง 50,000 กิโลเมตร ก็เปลี่ยนยางมันเถอะ ถือว่า 5 ปีใช้คุ้มแล้วแม้ว่าคุณจะใช้มาแค่ 25,000 กิโลเมตรก็ตาม

ส่วนแรงดันลมยาง ต่อให้รถใช้น้อยหรือเยอะ ก็ใช้วิธีเดินเช็ครอบคันว่าเส้นไหนฟีบแบนผิดปกติ และตรวจสอบแรงดันลมยางอย่างน้อยทุก 2-3 สัปดาห์เหมือนกันหมดครับ บางคนบอกรถวิ่งน้อยควรเติมลมยางแข็ง ผมคิดว่าถ้ากะจะจอดแช่เป็นเดือน ค่อยทำแบบนั้น ถ้าวิ่งสัปดาห์ละ 50 กิโลเมตรได้ ไม่ต้องเต็มแข็ง เติมปกติได้เลย

ชิ้นส่วนในระบบช่วงล่าง อย่างเช่นลูกหมาก ลูกยางต่างๆ โช้คอัพ พวกนี้มักเป็นสิ่งที่พังตามระยะกิโลเมตร ระยะทางที่วิ่ง กับลักษณะการใช้งานมากกว่าการพังด้วยระยะเวลา และตัวมันเองก็ไม่ได้แพ้ความชื้นมากนัก ดังนั้นรถใช้น้อยอาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอวัยวะเหล่านี้ทุกๆ 2-3 ปี รถพ่อผม อายุ 14 ปี โช้คอัพเดิมแกนยังใสไร้ตามดน้ำมันไม่รั่วครับ แต่ถ้าเอาตามจริง ลูกหมาก ลูกยางและโช้คอัพ ถ้าคุณจอดรถทิ้งไว้เป็นปีแล้วมาขยับอีกที บางครั้งยางเวลาไม่ได้ถูกขยับ มันจะแข็งตัว แล้วพอมีกระแทกเข้า มันก็จะแตกร่วนไป นึกถึงคนที่ชอบเอา Casio G-Shock สายยางใส่ลิ้นชักไว้บ้านแล้ว 2-3 ปีไม่เคยใส่ พอจะเอามาใส่ สายยางละลาย หักคาข้อมือ นั่นล่ะครับ คือนิสัยของยาง ถ้าไม่ได้ขยับ..มันพัง นั่นก็เป็นเหตุผลดีๆที่คุณควรนำรถไปขับอย่างน้อยเดือนละ 40-50 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ชิ้นส่วนประกอบบางส่วนของรถ เราใช้วิธี ตรวจสอบทุก 1 ปี หรือทุก 6 เดือนแล้วแต่ความขี้เกียจกับความขยัน และเปลี่ยนเมื่อเห็นการสึกหรอ หรือเมื่อเริ่มมีอาการผิดปกติ อย่างโช้คอัพ แม้ไม่มีน้ำมันรั่ว ไม่มีตามดขึ้นแกน แต่ในโช้คอัพก็มีน้ำมันอยู่ข้างใน บางครั้งน้ำมันตัวนี้เสื่อมสภาพ โช้คอัพก็จะอ่อนย้วยไปเลยก็ได้ แต่มักจะเกิดกับรถอายุ 8-9 ปีขึ้นไปในกรณีรถวิ่งน้อยนะครับ ส่วนหัวเทียนและคอยล์จุดระเบิด พวกนี้บางที 5 ปี 8 ปีก็ยังเป็นชุดเดิม ไม่เสียง่ายๆ หัวเทียนแพลทตินั่มกับอิริเดียมสมัยใหม่ อยู่ได้แสนกิโลเมตร อิริเดียมในรถของผมคันที่แต่งซิ่ง อยู่มา 10 ปี วิ่งไป 40,000 กิโลเมตร ขับโหดด้วย ยังไม่พังเลยครับ แค่ต้องขันออกมาตรวจเช็คปีละครั้ง ผ้าเบรก อันนี้ รถใช้น้อย ก็จะเสื่อมช้า และถ้าไม่ได้สึกจนบาง ก็ไม่ต้องเปลี่ยน ใช้ไปยาวๆ

รถที่ใช้น้อย วิ่งน้อย แต่วิ่งทุกวัน พวกนี้มักไม่ค่อยเจอโบนัส แต่รถใช้น้อยแบบขยับสัปดาห์ละครั้ง ผมแนะนำว่า ทุกครั้งก่อนสตาร์ทขับ ให้เคาะและตบตามฝากระโปรง หรือเปิดกระโปรงเช็คหน่อยก็ดี ไม่มีอะไรพังหรอกครับ แต่น้องแมว โดยเฉพาะแมวบักจรตัวเล็ก ชอบเข้าไปนอนในห้องเครื่อง แมวมีความสามารถในการหาที่นอนที่สงบปราศจากศัตรู ขนาดแมวบ้านผม กลางวันผมสงสัยว่ามันหายหัวไปไหนของมัน มาได้คำตอบตอนเอารถพ่อไปซ่อมครับ น้องที่ซ่อมชี้ให้ดูเลย ขนแมวเต็มฝาเครื่องเลยพี่ ปาดออกมาได้ขนปริมาณเท่ากระปุกแม่ประนอม ลองนึกดูว่าถ้าเราสตาร์ทแล้วขับออกไป แมวบางตัว แค่เราสตาร์ทมันก็วิ่งหนี แต่บางตัวเวลากลัว กลับยิ่งขดตัวถอยเข้ามุมมืด ไอ้พวกอย่างหลังนี่ บางทีเข้าไปซุกในกรองอากาศ แล้วกลับออกมาไม่ได้ สักพักได้กลิ่นเหม็น เพราะน้องเข้าไปจากโลกในหม้อกรอง ก็มีครับ

รถใช้น้อย วิ่งน้อย กิโลน้อย แต่การดูแลไม่ได้น้อยลงครับ มองรถให้เป็นคน คนใช้รถเยอะ ก็เหมือนคนที่กินอยู่กับแฟน 24 ช.ม. ต่อวัน คนใช้รถน้อย ก็เหมือนคนที่อาจจะเจอแฟนสัปดาห์ละ 24 ช.ม. ไม่เกินนั้น เจอกันน้อย แต่การดูแล ยังต้องถึงเหมือนเดิม แค่ปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับชีวิต แค่นั้น

Pan Paitoonpong