นานมาแล้ว สมัยที่ “น้าชาติ” เป็นนายกรัฐมนตรี เราจะมีคำติดปากว่ายุค NICS ซึ่งหมายถึงสภาพความพร้อมทางเศรษฐกิจของประเทศที่นับได้ว่าไทยเราจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย มันคือยุคที่ความรวยแบบแทบโปรยเงินได้คือความโดดเด่นยิ่งกว่าสมัยก่อน ทว่าในช่วงปลายยุค 70s ถึงต้น 90s นั้น ตัวเลือกของรถยนต์เอาไว้อวดฐานะในบ้านเรามีไม่มาก สำหรับคนที่ไม่ได้รวยแบบล้นฟ้า 300CE คือหนึ่งในรถประกอบในประเทศที่ค่าตัวแพงเสียดฟ้า และมีผลิตขายเป็นจำนวนน้อย คนรวยสมัยนั้นแย่งกันซื้อจนมีการซื้อขายใบจองในราคาหลายหมื่น วันนี้เรามาเล่าเรื่องสั้น ย้อนวัย ย้อนยุคสมัย ไปกับ 300CE บอดี้ C124 นี้
สาเหตุที่ผมคิดเขียนบทความนี้ขึ้นก็เพราะได้ไปงานเปิดตัว Mercedes-Benz CLE รถคูเป้รุ่นใหม่ของค่ายคุณน้าตราดาวมา การได้เห็นความพยายามในการให้ไทยเป็นหนึ่งในโรงงานประกอบรถไลน์ AMG นอกเยอรมนีนั้นน่าชื่นชม เพราะช่วยให้คนรวยในไทยสามารถเป็นเจ้าของรถ AMG พันธุ์แรงได้ในราคาที่ถูกลงโดยอุปกรณ์ก็ไม่ถูกตัดจนเหี้ยน อย่าง CLE 53 AMG นั้น ตั้งราคามา 5.25 ล้านบาท บางคนมองว่าแพงเพราะไปเทียบกับ C 43 รุ่นก่อนที่ราคาสี่ล้านต้น ต้องไม่ลืมนะครับว่า CLE นี้ตัวใหญ่ไซส์ E-Coupe เก่า แล้วยังมีของเล่นครบขึ้น แรงม้าเพิ่มจาก 390 เป็น 449 ตัว แถมมีระบบขับสี่ที่สั่งตัดเหลือ 2 ล้อหลังเพื่อการดริฟท์ได้อีก ผมพูดเรื่องรถใหม่ไว้เท่านี้แล้วกันครับ
...
แต่สิ่งที่ทำให้นึกถึง 300CE ขึ้นมาได้ ก็เพราะระหว่างงานนี่ล่ะ มีการเปิดสไลด์โชว์รูปรถ E-Class บอดี้คูเป้รุ่นเก่าในอดีตก่อนมาถึงรุ่นใหม่ บวกกับคำกล่าวของท่านประธานมาร์ทิน ชเวงค์ที่บอกว่า “เวลาเราอยากขับรถไปเที่ยวไกลๆ ไปแม่ฮ่องสอน ไปตามภูเขากับคนรัก มันต้องเป็นรถแบบ 2 ประตูคูเป้นี่ล่ะที่เหมาะกับงานนี้และรถคูเป้ มักจะเป็นรถที่คนบ้ารถมักชื่นชอบ มีความโดดเด่นแม้เวลาจะผ่านไปนาน” ไม่ต้องคิดอะไรมาก คุณดูตัวถังยุค 123 กับ 124 แล้วพยายามดูราคามือสองดูครับ อย่าว่าแต่เบนซ์เลย Honda Civic ตาโต 4 ประตูกับคูเป้ ราคาและความขลังก็ต่างกันมาก ตอนป้ายแดง รถคูเป้มักแพงกว่าซีดานไม่ถึง 15% แต่ผ่านไป 20-30 ปี ราคามือสองห่างกัน 3-6 เท่าตัว
ในตลาดโลก Mercedes-Benz เปิดตัวบอดี้ C124 คูเป้นี้ตั้งแต่ปี 1987 ซึ่งพวกรถโฉมแรกนี้ สังเกตได้ที่กระจกมองข้างจะเป็นสีดำ รถพวกนี้จะมีกาบข้างในขณะที่รุ่น 4 ประตูจะเป็นแถบกันกระแทกสีดำ แต่กาบของรถ C124 รุ่นแรกๆ จะไม่มีการประดับแถบโครเมียมครับ แล้วพอปี 1989 ตอนที่มีการปรับโฉมบอดี้ 124 ครั้งแรก ทุกรุ่นก็มีกาบข้างหมด และมีแถบโครเมียมที่กาบ กระจกมองข้างเป็นสีเดียวกับตัวรถ ขุมพลังมี 3 ระดับสำหรับรุ่นคูเป้ คือ 230CE 4 สูบ 136 แรงม้า 300CE 6 สูบ 188 แรงม้า และ 300CE-24 ซึ่งจะได้ฝาสูบแบบมัลติวาล์ว 24 วาล์ว 220-231 แรงม้า สมัยนั้นเบนซ์ในไทย ก็คือบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ เลือกรุ่น 300CE มาขาย เพราะสมัยนั้นเบนซ์ไทยก่อน พ.ศ. 2534 ยังไม่มีรถนำเข้า ไม่มีรถรุ่นไหนแชร์พาร์ทเครื่องยนต์ 24 วาล์วได้ แต่เครื่อง 12 วาล์ว มีอยู่แล้วใน 300E ที่ประกอบขายมาก่อนหน้า
...
การเป็นเจ้าของ 300CE ในยุคก่อนทลายกำแพงภาษีรถนำเข้านั้น คุณไม่ใช่แค่รวยแบบเศรษฐีเงินหมุนนะครับ คือยุคนั้นถ้าใช้ศัพท์คุณพ่อผม ท่านบอกว่า “เอ็งต้องเยี่ยวเป็นทองขี้เป็นเงิน” รอบตัวมีแต่เงินๆๆ ถึงจะซื้อไหว ปี 2024 รถ CLE 300 (อีกรุ่นที่เป็นคูเป้แต่ไม่ใช่ AMG) ราคา 3.95 ล้านบาท ก็คือ Honda Accord e:HEV RS สองคันแล้วมีเงินเหลือนิดหน่อย แต่ 31-32 ปีก่อน 300CE มีราคาราว 3.2 ล้านบาท ในขณะที่ Accord EXi ตัวท้อปสมัยนั้น ราคา 792,000 บาท และรถญี่ปุ่นประกอบในประเทศที่แพงอันดับต้นๆอย่าง Toyota Crown Royal Saloon 2.8 ราคา 1.25 ล้านบาท ผมนึกไม่ออกจริงๆครับ แม้ว่าตอนนั้นจะอยู่ประถม 6 แล้ว..แต่นึกไม่ออกจริงๆว่ารถประกอบในไทยมีอะไรแพงกว่า 300CE นั่นอาจจะเป็นภาพลักษณ์ที่ทำให้คนรุ่นพ่อเรามองว่าเบนซ์คือรถคนรวยของจริง
...
สมัยนั้นพอจองเบนซ์ 300CE เสร็จ คุณรอคิวผลิตรถไป อาจจะ 4 เดือนหรือ 6 เดือน พอรับรถเสร็จ ก็จะมีเซลส์หน้าตาหล่อเฟี้ยวอายุ 20 ต้นๆมาเสนอขายจุกปิดหัวล็อคประตูรถสีทองฝังเพชร สมัยนั้นเศรษฐีมีเบนซ์ต้องมีครับ ถ้างบเหลือ เอาหัวเกียร์ลายไม้ด้วยนะ แต่คนที่รวยแบบซูเปอร์รวย ก็จะบินไปเยอรมนี สั่งพาร์ทแต่ง สั่งล้อ AMG เข้ามา สมัยนั้นใครไปถึง Step พาร์ทแท้รอบคันได้ ที่บ้านน่าจะมี Ferrari ไม่ก็ Porsche และนั่งขี้บนโถส้วมทองคำ แต่มันคือเสน่ห์ของสมัยนั้นที่ไม่มี Social Media ใดๆ โทรศัพท์มือถือยังส่งข้อความไม่ได้ คอมพิวเตอร์ยังเปิดภาพถ่ายไม่ได้ อยากได้โบรชัวร์ของแต่ง ต้องส่งเป็นจดหมายอากาศมา หรือส่ง Fax มาแล้วเจอหมึกพิมพ์ส้นเท้า ดูไม่รู้เรื่อง แล้วก็ต้องซื้อตั๋วเรือบินไปดูของจริง สั่งกับฝรั่งหัวทองอยู่ดี
...
ความเด่นของ 300CE คือ นอกจากแก้มหน้า ซีกหน้าของรถ กระจกมองข้าง กับไฟท้าย ล้อ และส่วนควบเล็กๆน้อยๆ บอดี้ภายนอกของเจ้านี่แตกต่างจากรุ่นซีดานไปเลย ถ้ามองจากด้านข้าง จะเห็นกลิ่นอายของ S-Class Coupe C126 ชัดเจนโดยเฉพาะการออกแบบกระจกแบบ Frameless และ Pillarless ไม่มีเสากลาง เอากระจกลงหมด เปิดประตูแล้วดูเท่ ปิดประตูแล้ว ช่องกระจกหน้าหลังต่อเนื่องกันหมด หาใครเหมือนได้ยาก เพราะต้นทุนมันสูง เสาหลังคาต้องปรับความแข็งเหล็กอย่างมากเพื่อชดเชยการไม่มีเสากลาง เข็มขัดนิรภัยของ 300CE จะอยู่ที่แผงข้างด้านหลัง พอเราปิดประตู แขนกลจะยื่นสายเข็มขัดมาข้างหน้า พอเรารับเอาไปคาด แขนกลจะหดตัวกลับ สำหรับยุคนั้น แค่เจอเข็มขัดยืดๆหดๆด้วยไฟฟ้า สาวๆก็กรี๊ดแล้วครับ ไม่ได้กรี๊ดเพราะเท่ แต่กรี๊ดเพราะตกใจอะไรทิ่มแขนตูวะ
ทรงเหลี่ยมของรถ ทำให้ได้ฉายาโลงจำปามาตั้งแต่รุ่นซีดาน บางคนชอบรุ่นนี้เพราะขับไปไหนมาไหน เหมือนโลดแล่นไปในโลง ถือเป็นเคล็ดอายุยืน ไฟเลี้ยวยังเป็นสีส้มตามสไตล์รถยุคนั้น ไฟท้ายเป็นร่องๆถี่ๆ เป็นการออกแบบสำหรับเมืองหนาวเพื่อลดการเกาะค้างของหิมะ ล้ออัลลอยขอบ 15 นิ้ว เป็นเรื่องปกติของสมัยนั้นในรถระดับนี้ ยาง 195/65 ตัวรถไร้บอดี้พาร์ทเสริมแต่งใดๆ สวย สง่า แบบผู้ใหญ่คลีนๆ แต่ถ้าแต่งทรงหน่อยก็พร้อมเป็นแบดบอยได้ทันที มือจับเปิดประตูล้วงง่ายจับมั่นถนัดมือ เพราะไอเดียของคนออกแบบ เขามองเรื่องความปลอดภัย “ถ้าประตูหนีบมือลูกคุณ สิ่งที่คุณต้องการคือประตูที่จับเปิดได้เร็วที่สุด”
เปิดประตู เข้ามาภายใน แผงแดชบอร์ด ไม่ต่างจากรุ่นซีดาน ที่จะต่างคือแผงประตูและทรงเบาะ แต่มันต่างแค่นั้นก็ดีแล้ว เพราะแดชบอร์ดของ 124 คือแดชบอร์ดที่คลีนและหรูหราในสมัยนั้น รถประกอบไทยทุกคัน จากโรงงานมาจะได้เบาะหนังแท้ พร้อมระบบความจำทั้งฝั่งคนขับและคนนั่ง ข้างละ 2 ตำแหน่ง คอพวงมาลัยปรับองศาเอียงไม่ได้ แต่ปรับเข้า/ออกได้ด้วยไฟฟ้า ลายไม้ของรถประกอบไทยจะเป็นลาย Zebrano ที่เป็นแถบเหมือนลายบนตัวม้าลาย ถ้าเป็นรถนอกบางทีจะมีลายไม้วอลนัท เป็นลายควันเหมือนพวกรถอังกฤษ รถไทยจะไม่ค่อยมีภายในสีแปลกๆ ส่วนมากจะเป็นสีเทา สีครีม สีน้ำเงิน ไม่มีภายในสีแดงเข้มหรือสีเขียวแบบรถนอก
ความหรูของรถที่แพงอันดับต้นของรถ CKD สมัยนั้น ก็มีเท่านี้ล่ะครับ เปิดแผงบังแดด มีกระจก มีไฟแต่งหน้า เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบหมุนธรรมดา พร้อมสวิตช์เรียงสามปุ่ม ไอ้ปุ่มกลางถ้าเป็นรูปผลึกหิมะ นั่นคือรถล็อตแรกๆเลยครับ ถ้าเป็นล็อตหลังๆจะเปลี่ยนเป็นคำว่า EC ความต่างคือ ผลึกหิมะ ต้องกดให้ไฟติดเพื่อเปิดคอมเพรสเซอร์แอร์ แต่ปุ่ม EC ถ้ากดไป จะตัดการทำงานคอมเพรสเซอร์แอร์ เครื่องเสียง Becker ที่ผมจำรุ่นไม่ได้ มีแต่ช่องใส่เทปคาสเซ็ตต์ ในรถไม่มีที่วางแก้วสักจุด ถ้าจะมีก็คือต้องเปิดลิ้นชักฝั่งคนนั่ง จะมีเบ้าตื้นๆให้วางได้เฉพาะตอนรถจอด วิ่งเมื่อไหร่แก้วล้มระเนระนาด เอกลักษณ์ของเบนซ์สมัยนั้นอีกอย่างคือ พวงมาลัยวงโตมากถึงมากที่สุด เพราะออกแบบมาเผื่อรถรุ่นย่อยล่างๆที่ไม่มีพวงมาลัยเพาเวอร์ด้วย จะได้หมุนง่าย ในยุคที่เรายังไม่รู้จักคำว่า “Infotainment” มันทำให้มีพื้นที่ทางใจเหลือสำหรับแนวคิดเพื่อการใช้งานและความปลอดภัยแบบนี้ล่ะครับ
และพูดถึงเรื่องความปลอดภัย ถุงลมนิรภัยยังไม่มาใน 300CE คุณจะได้แค่เบรก ABS แต่นั่นก็คือยุคที่รถบ้านเราเน้นขายแต่รถประกอบใน ปิดกั้นเทคโนโลยีจนไม่ได้ใช้ของเหล่านี้ ใช่ครับ ในปีนั้น จะเบนซ์หรือ BMW ก็มีแค่เบรก ABS ไม่มีถุงลมสักใบ รถญี่ปุ่นยิ่งไม่มีเลยทั้งสองอย่าง
คันเกียร์ของ 300CE จะเป็นแบบ Gate type ยึกไปยักมา เป็นแบบที่เราไปเจอใน Lexus และรถญี่ปุ่นรุ่นอื่นๆในเวลาต่อมา และคุณจะไม่สามารถล็อคตำแหน่งเกียร์ “1” หรือ “L” ได้ในเบนซ์ครับ มันมีแค่ P-R-N-D-3-2 โดยการเข้า “3” ก็ให้ผลเหมือนรถญี่ปุ่นเวลากด O/D Off นั่นล่ะครับ ส่วนสวิตช์ E/S ที่ตรงโคนคันเกียร์นั่น E ย่อมาจาก Economy ทำให้เกียร์เปลี่ยนสู่เกียร์สูงเร็ว ใช้รอบต่ำ ประหยัดน้ำมัน ส่วน S นั้นไม่ใช่ Sport แต่เป็น Standard แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกโหมดไหน ถ้าคุณชินกับรถยุคใหม่ ไม่เคยขับเบนซ์ยุคเกียร์โบราณ คุณจะพบว่ามันตอบสนองโง่ๆทั้งสองโหมด
บิดกุญแจ On ก่อน ไฟหน้าปัดจะติดบางดวงเป็นการเช็ค เบนซ์ยุคเก่า มีทั้งไฟเตือนหลอดไฟขาด ไฟเตือนผ้าเบรกหมด ไม่มีคอมพิวเตอร์เป็นจอ แต่ก็พยายามใช้ไฟหลอดดวงนี่ล่ะครับให้คุ้มค่าที่สุด เสียงปั๊มติ๊กจะวี๊ลั่นบ้านแล้วตัด เป็นสัญญาณบอกให้เราสตาร์ทได้ เมื่อเครื่องติด คุณจะได้ยินเสียงหกสูบเรียงแคมชาฟท์เดี่ยว 12 วาล์ว ดังแต๊กๆอยู่ 1 วินาทีก่อนครางนิ่งอย่างที่หกสูบควรเป็น และมีความแน่นของเสียงที่อธิบายยาก เหมือนมันมีเสียงเบสในเครื่องกับท่อ ที่คุณจะไม่พบในเครื่องหกสูบของ BMW หรือ Toyota ใดๆ บ้านคุณจะสั่นนิดๆ แต่เพื่อนบ้านไม่ตื่นมาด่า
หลายคนที่ไม่เคยขับเบนซ์เกียร์ออโต้ จะบอกว่า 300CE นั้นมีหกสูบเสียเปล่า ตีนต้นอืดมาก แล้วก็จะไปเจอคนไม่รู้เรื่อง อ้างว่ารถหนัก แล้วบอกว่าดูตัวเลขน้ำหนักที่คานหน้าสิ (นั่นมันน้ำหนักรวมน้ำหนักบรรทุกย่ะ) ความจริงก็คือ ถ้าคุณไม่กดคันเร่งแบบหนักและลึก เบนซ์จะออกตัวด้วยเกียร์ 2 เกือบตลอดเวลา เพื่อกันล้อหมุนฟรีในเขตเมืองหนาว และทำให้ออกตัวนุ่มผู้ดีขึ้น ถ้าคุณลองกดเต็มตั้งแต่ออกตัว มันก็แรงครับ สมัยวัยรุ่นผมเคยลองหวดเล่น 0-100 กม./ชม. จบภายใน 8.8 วินาทีในรถเดิมที่วิ่งมา 180,000 กิโลเมตร เสียงเครื่องเวลาลาก มันหวานแหลม เหมือนจะบอกว่า เอาอีก กดอีก
และถึงแม้ช่วงต้นกับกลางจะไม่ได้เด่นนัก แต่ความที่มีม้า 188 ตัวและอัตราทดเกียร์ 3-4 จัดกว่ารถญี่ปุ่นเกียร์ออโต้ 300CE จึงเป็นรถผู้ใหญ่ที่ปลายไหลดี ผมเคยเอามันไล่กวด 200SX แบบทีเล่นทีจริงบนทางลอยฟ้าขาออกเมือง ในรถสเป็คโรงงานนี่ล่ะครับ ไหลไปแตะ 240 ก็คือมิดไมล์ได้เลยทีเดียว 200SX ถ้าเป็นเกียร์ออโต้เครื่องเดิม ไม่ต้องมาแหยม ไปใส่เกียร์ธรรมดามาก่อนเบนซ์ถึงจะเหงื่อตก
พวงมาลัย คือสิ่งที่คุณต้องทำใจ มันนิ่ง และแน่น แต่ถ้าเป็นงานมุด งานเลี้ยว อัตราทดมันเฉื่อยมาก พวงมาลัยของ 124 คือสิ่งที่จะทำให้คุณรู้สึกว่าพวงมาลัยของ Fortuner เป็นเหมือนรถสปอร์ต ต้องหมุน ต้องสาวกันเยอะ แล้วก็ไม่ค่อยดีดคืนตัวง่ายๆเสียด้วย แต่ช่วงล่างของ 300CE นั้น เจ๋งสมระดับตำนาน คือนิ่ง แน่น วิ่ง 200 แล้วแทบจะกระดกโค้กดื่มสบายใจ หักเลี้ยวหักหลบฉุกเฉินก็เอาอยู่ รับสาวไปกินข้าว สาวก็บอกว่ารถพี่ดูจะนุ่มกว่าตัวพี่อีก จนผมต้องบอกว่า พูดถูกเรื่องตัวนุ่ม แต่รถคันนี้ของเพื่อนย่ะ ไม่ใช่ของพี่ พี่ยืมมันมา มันคือรถแบบที่คุณอยากจะพามันขับไปไกลๆ ด้วยช่วงล่าง ด้วยพลัง ด้วยคาแร็คเตอร์ของรถที่เกิดจากมันสมองของคนที่ถนนหลังบ้านซัด 200 แช่แล้วตำรวจไม่จับ (เอาโต้บาห์น-ในเขต No limit) แต่ถ้าเอาไปขับเล่นถึงแม่ฮ่องสอนแบบที่ท่านมาร์ทิน ชเวงค์พูด ผมว่าคงไม่ใช่ที่ของเขา
ทุกวันนี้ การจะหารถ 300CE สภาพเดิมๆ หน้าเดิม กระจังเดิม ไฟเลี้ยวสีส้มเดิม ล้อ 15 นิ้วลายร่องเล็กๆถี่ๆเดิมๆให้ได้นั้น เป็นเรื่องยากมากครับ ช่วยไม่ได้นะ ก็รถมันแต่งแล้วดูป๋าได้มาก หลายท่านจึงนิยมนำไปโหลดเตี้ย ใส่ท่อซิ่ง ใส่แม็ก AMG, Brabus หรือ Lorinser ที่นิยมในสมัยนั้น บางคนก็เปลี่ยนเอาหน้าของรุ่นไมเนอร์เชนจ์ “E หน้า” มาใส่ รวมถึงฝากระโปรงท้ายและไฟท้ายรมดำ ซึ่ง 300CE 12 วาล์วจริงๆ จะมีแต่หน้าเก่าไฟเลี้ยวส้มเท่านั้นครับ
การดูแลรักษา ต้องกระทำแบบระดับป๋าหน่อย เพราะป๋านั้นอายุมากแล้ว 32 ปีของรถ ถ้าเป็นคนก็คือ 64 ขวบนั่นแหละ อะไหล่เริ่มหายากหลายชิ้น บางชิ้นยังพอหาจากเมืองนอกได้ ก็ขนาดอะไหล่ตัวซีดานบางชิ้นเริ่มร่อยหรอ ตัวคูเป้ก็ไม่ต้องพูดถึง บางชิ้นเช่นยางขอบประตู กระจก แผงประตู พูดตามตรงว่าให้หาอะไหล่รถแปลกอย่าง Saab 9000 ยังง่ายซะกว่า เครื่องยนต์ จะมีตัวควบคุมการจุดระเบิด และตัวแมงมุมจ่ายน้ำมันเหนือฝาสูบ ที่ชอบพัง และสองอย่างนี้ ถ้าเบิกใหม่ น่าจะใกล้แสนบาท โชคดีว่าตัวจ่ายน้ำมันนั้น มีช่างเบิ้ม KE ซ่อมได้ในงบหมื่นบาทครับ ตัวควบคุมการจุดระเบิดนี่ไม่แน่ใจ ถ้าคุณคิดจะซื้อ 300CE ผมแนะนำว่า ดูเรื่องเครื่องยนต์ให้สภาพดีสุดติ่งเท่าที่จะทำได้ เพราะพาร์ทต่างๆแพงมาก และการจูนเครื่องหัวฉีด KE-Jetronic ก็ไม่ง่ายเหมือนรถสมัยใหม่ หาช่างที่จะตั้งใจเก็บให้จบได้ยาก แต่มีครับ ช่างที่รู้วิธี และรู้จักใช้เครื่องมือ และมีความทุ่มเท เขาก็ทำได้ แต่หลายคนไม่อยากยุ่งเพราะเสียเวลามากและได้ค่าตอบแทนน้อย
ส่วนเกียร์ อันนี้ไม่ต้องห่วง มีคนโอเวอร์ฮอลให้คุณได้เยอะ ในราคาที่ไม่แพง ทำรอบนึง ใช้กัน 10 ปีหรือ 2-300,000 กิโลเมตร ช่วงล่าง ก็ยังหาพาร์ทซ่อมได้ง่าย หาของแต่งได้ และโดยปกติมักจะเป็นส่วนที่ทนมาก ผมกล้าพูดเลยว่าช่วงล่างเบนซ์ยุคโบราณ ทนน้องๆรถกระบะ ไม่เกินความจริง ผมเคยเอา 124 ของตัวเองไปปีนเกาะ แล้วเอาไปให้ร้านช่วงล่างเช็ค ผมถามช่างว่า ปีกนกจะงอไหม ช่างบอกว่า ถ้าปีกนกรุ่นนี้งอได้ พี่ว่าคนขับน่าจะตายรถน่าจะเละไปแล้วน้อง
ถ้าใจคุณยังโหยหาความคลาสสิคแบบเบนซ์ในยุค Over-engineer มีดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ มีช่วงล่างที่ให้ความนุ่มพร้อมแน่นมั่นใจ บาลานซ์ได้อย่างดี มีกลิ่นหนังเก่าๆของภายใน และลายไม้เงาๆตามสไตล์รถยุคพ่อยุคน้า คุณอาจจะอยากลองจับ 300CE สักคัน แต่เตือนไว้ก่อนว่า จับคันที่ทำมาจบ จะดีที่สุด แม้ว่าจะแพงตอนเริ่มต้น แต่ไม่เหนื่อยระหว่างทาง ในทางตรงกันข้าม จับรถสภาพเน่าราคาถูกมา แล้วมาทำเอง บางทีงบรวมๆที่ทำไป แพงกว่าซื้อรถดีๆแต่แรก แถมเสียเวลามาก ตอนขายก็ช้ำใจเพราะลงเงินลงเวลาไปเยอะ แต่จะเลือกทางไหน แล้วแต่คุณเลยครับ บางท่านก็มีความสุขกับการฟื้นฟูสภาพรถ ก็ไปแนวนั้นได้ แต่ถามตัวเองให้แน่ใจก่อนเสมอ ว่าเงิน และเวลาพอนะครับผม
Pan Paitoonpong