สัปดาห์นี้ ขอเล่นธีมเรื่อง “ความเชื่อ” ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเราพูดถึงหัวข้อแรงม้าเยอะย่อมโลดแล่นไปได้รวดเร็วกว่า ผมคิดว่าสัปดาห์นี้จะพูดถึงเรื่องช่วงล่าง จากความแค้นส่วนตัวที่มีต่อพวกมนุษย์ระบบมโนโทรนิกส์..มโนโทรนิกส์คืออะไร อ๋อ ก็คือพวกที่ฉลาดพอจะใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์แต่ชั่วตรงที่เอาความคิดส่วนตัว ที่คิดว่าสิ่งนั้นต้องเป็นอย่างนั้น สิ่งนี้ย่อมเป็นอย่างนี้ แล้วมาพูดแสดงความเห็นบนโลกโซเชียลเสมือนตัวเองได้ไปขับจัดเต็มมาแล้วนั่นเอง พวกหลานๆ วัยรุ่นที่ใจเริ่มเปิดยอมรับสิ่งใหม่น่าจะเคยมีปัญหากับมนุษย์มโนโทรนิกส์กันมาบ้าง เพราะมันเชื่อแต่ในสิ่งที่มันคิด ถ้าสื่อมวลชนหรือนักวิจารณ์รถพูดไม่ตรงกับสิ่งที่มันคิด มันจะบอกอย่างเดียวว่าบริษัทรถยัดเงินสื่อให้พูด
เกือบสิบปีก่อนหน้านี้ ผมได้มีโอกาสทดสอบขับรถสองรุ่นในเวลาที่ใกล้เคียงกัน รายแรก คือ Mercedes-Benz E 220 d ตัวท็อปนำเข้าราคาแถวสี่ล้าน และรายที่สองคือ Nissan Teana 2.5 ลิตร ตัวถัง L33 ซึ่งในการทดสอบครั้งนั้น ผมได้คอมเมนต์ Nissan ไปว่า ช่วงล่างเซตมาขับบู๊ได้ดีมาก สาดโค้ง จัมป์สะพาน ตัวรถถูกควบคุมได้นิ่งหนึบยิ่งกว่าเบนซ์ E-Class ซึ่งแน่นอนว่า ทันที่ที่ตัวคลิปรีวิวนั้นออกไป ผมก็โดนเอาไปถล่มยับ จากคนที่ดูหน้าตาแล้วชีวิตอย่าว่าแต่ขับ E-Class เลย A-Class ก็ไม่น่าจะเคยขับ กับบรรดาคนใช้เบนซ์รุ่นเก่า ก็ถล่มผมยับเช่นกัน แล้วก็โดนยัดเยียดข้อหารับเงินใต้โต๊ะจาก Nissan อีกต่างหาก
...
แต่หลังจากนั้นราวหนึ่งปี ขณะที่ผมยืนฉี่อยู่ในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง เพิ่งจะล้างมือเสร็จ ก็มีคุณน้าคนนึงทัก แล้วขอคุยด้วย “ผมดูคลิปคุณนะ ตอนแรกผมด่าคุณไว้เยอะ แต่ตอนนี้ผมเชื่อคุณแล้ว” แล้วน้าก็ชี้ไปที่ E-Class คันหนึ่งที่จอดอยู่ใกล้ๆ ตรงนั้น แล้วบอกผมว่าเขาไม่ประทับใจกับช่วงล่างรถรุ่นนี้เท่าไร และได้มีโอกาสไปลอง Teana เทียบแล้ว
นี่ไม่ใช่เรื่องเดียวและครั้งเดียวในชีวิตคนทดสอบรถหรอกครับ ที่พอเราพูดอะไรออกไป จะมีคนชิงด่าก่อนเป็นล้าน แต่มีไม่กี่สิบคนที่จะมาเปิดอกพูดกันภายหลังดีๆ ว่า “โอเค ผมเห็นด้วยตรงนี้ เห็นต่างตรงนี้” ก็ไม่เป็นไรครับ ผมมีหน้าที่แค่บอกสิ่งที่รับรู้จากการลองรถหนึ่งคัน ใครจะคิดอย่างไรต่อ ผมไม่ได้มีหน้าที่ไปบิดหรือเบนความคิดใคร และแม้กระทั่งบทความนี้ ผมก็เขียนเพื่อเรียนแจ้งและแชร์ประสบการณ์ที่พบมา ใครไม่เชื่อ ผมไม่ด่าหรอกครับ
ว่ากันเรื่องช่วงล่าง รถยุโรปช่วงล่างดีกว่าญี่ปุ่นเสมอไปหรือไม่ ถ้าเราเอารถตัวเท่าๆ กันมาเทียบ?
ก่อนจะพูดต่อ คุณต้องแยกก่อนนะครับว่า นิยามของคำว่า “ช่วงล่างดี” คืออะไร เพราะทุกวันนี้คำว่า “ช่วงล่างดี” กับ “เกาะถนน” ก็ยังสื่อความหมายคนละทาง ช่วงล่างดี อาจหมายถึง นุ่มนวล ซับแรงกระแทกได้ดี หรือในอีกทางหนึ่งอาจหมายถึงกระชับ ไม่ย้วยยวบยาบจนแทบอยากจะอ้วก หรือสำหรับบางคน ช่วงล่างดีคือช่วงล่างที่จะแข็งกระด้างบ้างก็ช่างบุพการีมัน แต่เลี้ยวแรงๆ แล้วรถต้องไม่โยกโยก ซัดเข้าโค้งต้องไปตามโค้งเหมือนต๋อง ศิษย์ฉ่อยแทงลูกเช็ดเข้ารู
...
ส่วนคำว่า “เกาะถนน” นั้น พวกคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราชอบเอามาใช้อธิบายความรู้สึกหนักแน่นเหมือนล้อดูดถนนเวลารถวิ่งไปตรงๆ อันที่จริง เกาะถนน คือความสามารถในการเลี้ยวแรงๆ แล้วรถไปตามสั่งได้โดยไม่หลุดออกนอกทางวิ่งที่ตั้งใจไว้ ส่วนการวิ่งตรงๆ แล้วรถนิ่งๆ แน่นๆ ไม่ร่อนไม่ลอย น่าจะเรียกว่าเสถียรภาพมากกว่า ดังนั้น ถ้าใครติดตามคลิปรีวิวของผม จะพบว่าผมไม่ใช้คำว่า ช่วงล่างดี แต่จะบอกว่า นุ่ม หรือแข็ง เวลาเลี้ยวรถยวบนิดๆ หรือยวบเยอะ เพราะโลกนี้จะมีทั้งคนที่ชอบช่วงล่างนุ่มนั่งสบาย และคนชอบบู๊ล้างผลาญ แต่ไม่มีใครชอบรถที่ไม่เกาะถนนยกเว้นว่าคุณเป็นนักแข่งแรลลี่หรือดริฟต์
ต่อมา เมื่อรู้ว่าช่วงล่างแบ่งแยกเรื่องความดีในแต่ละด้านอย่างไรแล้ว ผมก็จะเล่าต่อว่า ในยุค 1970s-1980s นั้น ถ้าคุณพูดว่ารถยุโรปช่วงล่างเกาะถนนกว่า และมีเสถียรภาพมากกว่ารถญี่ปุ่น ถ้าเอารถตัวเท่ากันมาเทียบ ก็จะนับว่าเป็นเรื่องจริงทีเดียวล่ะ คุณลองนึกดูว่าเอาเบนซ์ 190E มาเทียบกับ Corolla หรือ Corona หรือ Civic หรือ Accord ที่ผลิตขายในช่วงปี 1983-1989 ก็จะพบว่าเบนซ์ให้ฟีลช่วงล่างที่หนักแน่นกว่า วิ่งเร็วๆ แล้วดูดถนนดี ทิ้งโค้งแล้วหน้าหรือท้ายไม่ค่อยแหก อันที่จริง ถ้าคุณเอาไปเทียบกับรถญี่ปุ่นคลาสโตไปเลย อย่าง Nissan Cedric หรือ Toyota Crown ในช่วง 80s ตอนต้น สิ่งที่รถใหญ่จากญี่ปุ่นชนะ คือความนุ่มนวลในการซับแรงกระแทกครับ แต่ถ้าเสถียรภาพ ความเกาะถนน และการควบคุมการยวบตัวถัง รถเล็กหนัก 1.15 ตันอย่าง 190E กินรถใหญ่ญี่ปุ่นขาดลอย
...
แต่คำว่ายุโรปนี่ ต้องดูด้วยนะครับว่ามาจากประเทศไหน มันจะมีความแตกต่างในคาแรกเตอร์ช่วงล่างอยู่บ้างระหว่างรถเยอรมัน ซึ่งวิ่งทางตรงโคตรนิ่ง เพราะประเทศเขามีเอาโต้บาห์นให้วิ่งแช่ 200 ได้ ถ้าเป็นรถฝรั่งเศสอย่าง Peugeot หรือ Renault นั้น มักจะไม่ค่อยมีรถใหญ่ เพราะคนในประเทศนี้จริงๆ แล้วชอบรถเล็กคล่องตัว ฝรั่งเศสในยุคนั้นจึงเก่งมากในการทำรถขนาดเล็กขับเคลื่อนล้อหน้า ให้มีช่วงล่างที่บาลานซ์ระหว่างความหนึบและนุ่มลงตัวมาก เช่น Peugeot 205 ซึ่งเป็นรถแฮตช์แบ็กตัวกะเปี๊ยกจากยุค 80s ที่ผมขับแล้วทึ่งจนแทบจะเป็นบ้าตาย รถคันเล็กกว่า Jazz แต่ช่วงล่างมีความหนักแน่นเหมือนรถขับหลังคันโตๆ
...
ชาติยุโรปยังมี อังกฤษ และอิตาลี ซึ่งอุปนิสัยการขับรถของคนในชาตินั้นจะมีส่วนต่อวิธีการพัฒนาบุคลิกของช่วงล่างรถไปด้วย ถ้าพูดแบบลวกๆ ก็คือ รถอังกฤษกับรถฝรั่งเศส เวลาวิ่งบนถนนขรุขระบางทีนุ่มก้นกว่ารถเยอรมันเสียอีก แต่รถเยอรมันวิ่งทางตรงเร็วๆ แล้วมักจะดี คุณดูถนนในประเทศนั้นได้เลยครับ อังกฤษ ฝรั่งเศส พวกถนนสายรองนอกเมืองหรือชนบทนั้นสภาพบางแห่งไม่ได้ดีไปกว่าไทยแลนด์เท่าไร และไม่มีจุดไหนในประเทศอนุญาตให้คุณแช่ 200 กม./ชม. ได้ ช่วงล่างของรถสองประเทศนี้จึงมักเน้นให้ขับสนุกแบบใจร้อน บนถนนที่สภาพไม่ค่อยดี
ส่วนที่ญี่ปุ่นนั้น ต้องยอมรับครับว่าเนื่องจากตั้งตัวในอุตสาหกรรมรถยนต์ช้ากว่าทางฝรั่งมาก ในปีที่เมืองฝรั่งทำซุปเปอร์คาร์ขายแล้ว ญี่ปุ่นยังเพิ่งทำรถสปอร์ตคันแรก และลักษณะภูมิประเทศของญี่ปุ่นก็เป็นเกาะเล็กเกาะน้อย ภูเขาเยอะ ที่ราบน้อย ทางด่วนมีเยอะและพื้นผิวดีจริง แต่ก็จำกัดความเร็วแค่ 80-110 กม./ชม. รถญี่ปุ่นในยุคเก่าๆ จึงมักเน้นเรื่องความนุ่มนวล หรือไม่ก็..ไม่ได้เน้นอะไรเลย เอาแค่คนมานั่งแล้วรู้สึกโอเค คือพอ
แต่ในช่วงหลังๆ มา มันก็เกิดการเดินทางสวนกันระหว่างรถญี่ปุ่นกับรถยุโรปในการเซตช่วงล่างเหมือนกัน
รถญี่ปุ่น เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นจนส่งไปขายในตลาดยุโรปและอเมริกาเป็นวงกว้างในช่วงปลาย 1980s ถึง 90s เมื่อรถพวกนี้ไปถึงเมืองฝรั่งก็โดนตำหนิกลับมาเรื่องช่วงล่าง ทำให้วิศวกร เริ่มคิดแยกว่าจะทำอย่างไรต่อไป บางค่ายใช้วิธีปรับสเปกช่วงล่างไปตามประเทศที่เข้าไปขาย เช่น รถที่ขายในเอเชีย ก็เอาโช้คอ่อนๆ ไป รถที่ขายในยุโรป ก็เอาโช้คอัพกับสปริงแข็งขึ้นหน่อย บางค่ายเลือกวิธีที่จะสร้างรถขึ้นมาตัวถังหนึ่งเพื่อตอบโจทย์ตลาดยุโรปโดยเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น Nissan ในไทย ยุค 90s จะมีรถรุ่น Primera และ Presea ขายคู่กัน Presea คือรถที่มีความเป็นญี่ปุ่นสูงมากทั้งในแง่การออกแบบและช่วงล่าง แต่ Primera คือรถที่ออกแบบและเซตช่วงล่างกับพวงมาลัยมาเอาใจฝรั่งเกือบ 100% จึงมีช่วงล่างที่ขับดีๆ แล้วกระด้างหน่อย แต่พอซัดแล้วมันสะใจ
บางค่ายก็พัฒนาช่วงล่างแบบยกระดับทั้งตลาดโลก เช่น Mazda ซึ่งใครเคยขับ Mazda 323 หรือ 626 TTL ในยุคก่อนมาจนถึงพวก Protégé ในยุคก่อนที่จะมี Mazda 3 คุณจะเข้าใจว่า รถญี่ปุ่นที่ตัวเบาๆ คันไม่โต ยางก็เล็ก แต่เกาะถนนดีมาก โดยที่ช่วงล่างก็นุ่มกระชับสมเหตุสมผล มันมีมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้วล่ะครับ แล้วพอก้าวข้ามศตวรรษใหม่เป็นต้นมา พวกรถญี่ปุ่นระดับชาวบ้านหลายรุ่น ก็พยายามเซตโช้คอัพ ทำช่วงล่างให้แข็งและติดบุคลิกสปอร์ตมากขึ้น พยายามทำตัวรถให้วิ่งด้วยความเร็วสูงแล้วไม่ปลิวร่อนว่อนเวียนหัวมากขึ้น..แต่ถ้าเอาทั้งความนุ่มด้วย และความมั่นใจด้วยไปพร้อมๆ กัน ก็ยังไม่ถึงขนาดนั้น
ส่วนฝั่งรถยุโรป พอเริ่มทำรถมาขายชาวเอเชีย ดินแดนถนนขรุขระและชาวบ้านขับช้าเลนขวา ก็รู้สึกว่า ช่วงล่างหนึบๆ รองรับการขับเร็ว บางทีก็ไม่จำเป็นเสมอไป รถยุโรปบางรุ่นนับตั้งแต่ราวปี 2005-2006 เป็นต้นมา คุณจะสังเกตได้เลยว่า ถ้าไม่ใช่คุณสั่งพวกรุ่นท็อปออปชันเยอะ หรือไม่ใช่พวกรุ่นที่แรงม้าแรงบิดสูง บางทีเซตช่วงล่างมายวบย้วย ขับแล้วเสียวสันหลังไม่ต่างจากรถญี่ปุ่นยุคก่อน ไม่ใช่ว่าเขาทำช่วงล่างดีๆ ไม่เป็นครับ แต่ปรับลดสเปกเพราะลูกค้าไม่ได้ใช้
ในช่วง 5 ปีที่แล้วถึงปัจจุบัน การเดินสวนทางในวัฒนธรรมช่วงล่างก็ยังคงดำเนินต่อไป ในขณะที่ผมทดสอบรถไปมากขึ้น ก็พบว่าในยุคนี้นั้น คุณไม่สามารถมองแค่โลโก้ยี่ห้อรถ หรือดูสัญชาติของรถแล้วเดาได้ว่าช่วงล่างมันจะเกาะถนนไหม นุ่มไหม เสถียรภาพดีไหม
ถ้าคุณซื้อ Toyota ที่ใช้แพลทฟอร์ม TNGA อย่างรุ่น C-HR, Corolla Altis ตัวถังปัจจุบัน และ Camry ตัวถังปัจจุบัน นั่นคือรถญี่ปุ่นภาคชาวบ้านที่ผมให้นิยามว่าช่วงล่างมีบาลานซ์ระหว่างความเกาะถนนที่ขับแบบบ้าเลือดได้ และมีความนุ่มมากพอให้พาพ่อแก่แม่เฒ่านั่งได้ แต่ถ้าคุณไปนั่งรถอย่าง Yaris ATIV ก็จะพบว่าความมั่นใจลดลง โดยที่ความนุ่มนวลก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะ Toyota มองแล้วว่า ลูกค้า ATIV ตัวจริง ไม่ใช่คนเท้าหนัก ส่วนรถกระบะอย่าง Hilux หรือ SUV Fortuner นั้น ก็เรียนตามตรงว่า ถ้าไม่ใช่รุ่นที่ใช้โช้คอัพกับสปริงแบบพิเศษแล้ว ก็ยังกระเด้งเป็นลูกชิ้นนายใบ้อยู่ดีถ้าเทียบกับรถฝรั่งอย่าง Ford Ranger/Everest
ส่วนรถยุโรปอย่าง Mercedes-Benz นั้น ถ้าคุณซื้อรถที่ไม่ใช่ AMG-car ที่รหัสตัวเลขสองหลัก บอกเลยว่า คุณก็จะได้ช่วงล่างในสไตล์ที่ขับใช้งานนุ่มนวล แต่ขับบู๊แล้วไม่ค่อยสนุก ไม่ว่าคุณจะหมายถึง E 300 e, C 350 e หรือ A 200 แต่มีรุ่น C 220 d ที่ผมยกให้สักรุ่นแล้วกันที่เป็นรถซีรีส์ปกติแต่ยังพอขับเอามันได้ ส่วนทาง BMW นั้น 3 Series ตัวถังสั้นทั้งหลาย เซตมาเอาใจคนขับรถเท้าหนักกันหมดแล้ว ในขณะที่ 320 Li และ 330 Li ที่เป็นรุ่นตัวยาวพิเศษ จะเน้นไปที่ความนุ่มนวลมากกว่า ส่วน 220i จะเป็นรถที่ช่วงล่างแข็ง เพราะผู้ผลิตตั้งใจไว้ชัดเจนว่ารุ่นนี้ “คนแก่ไม่ขับ”
ซึ่งถ้าคุณอ่านมาจนบรรทัดนี้ ก็คงจะงงว่า แล้วจะสรุปยังไงล่ะ ว่า พ.ศ. นี้ รถญี่ปุ่นช่วงล่างต้องแพ้รถยุโรป หรือว่ากลับกัน เอาแบบนี้แล้วกันครับ อย่าไปมองว่าชีวิตมันมีแต่ขาวกับดำ มีแต่ Yes กับ No คุณต้องยอมเสียเวลากับการอ่านรายละเอียดเพิ่มสักหน่อย เพราะขนาดรถภายในค่ายเดียวกัน แนวทางการเซตช่วงล่างก็ยังแตกต่างกันเลย ถ้าคุณเอารถบ้านๆ เน้นพ่อบ้านขับจากญี่ปุ่น ไปเจอรถวัยรุ่นเยอรมัน แบบนี้รถวัยรุ่นก็ย่อมขับโหดๆแล้วมันกว่า เอาอยู่กว่า แต่ถ้าดูดีๆ เอารถแบบที่รูปแบบตัวรถใกล้เคียงกันมาลองเทียบ คุณจะพบว่ารถญี่ปุ่นสมัยนี้ก็ร้ายไม่เบานะครับ แน่นอนว่า ถ้าวิศวกร และฝ่ายบริหารมองตรงกันเมื่อไหร่ว่ารถรุ่นไหนจะได้ใช้ช่วงล่างดีๆ พวกเขาสามารถทำออกมาใช้เท่าเทียมหรือชนะรถยุโรป ก็ทำได้ไม่ยาก อย่างที่ผมเคยบอกในปี 2015 ว่า Teana L33 ขับแล้วมั่นใจกว่า E 220 d ใน พ.ศ.นี้ ผมก็พูดได้เหมือนกันว่า Camry ก็ขับเข้าออกโค้งโหดๆ ได้มั่นกว่าเบนซ์ที่ตัวเท่าๆ กัน...ซึ่งถ้าย้อนกลับไปเจเนอเรชันก่อน Camry ไม่ใช่รถที่ทำแบบนี้ได้
ถ้าให้พูดแบบรวบรัดคือ ในยุคก่อน ชาติก่อน รถญี่ปุ่นอาจมีช่วงล่างที่สู้ยุโรปไม่ได้ในหลายเรื่อง แต่ในพ.ศ.นี้ รถญี่ปุ่น สามารถทำให้ขับมั่นกว่า หรือขับนุ่มกว่ายุโรป ก็ทำได้ แล้วแต่ว่าวิศวกรจะมองว่ารถรุ่นไหนควรได้ช่วงล่างแบบไหน และแนวโน้มก็คือ ต่อให้คุณมองไปที่ค่ายที่ไม่ได้มีจุดขายเรื่องช่วงล่าง เช่น Honda ไม่ว่าจะเป็น City, Civic หรือ Accord พวกรถเหล่านี้เมื่อเทียบกับอดีตชาติของมัน ก็จะพบว่า ล้วนมีความสั่นสะเทือนและกระด้างลดน้อยลง แต่มีความเกาะถนนและเสถียรภาพดีขึ้นเรื่อยๆ จนอยู่ในระดับที่ลูกค้า 90% ลองนั่งแล้วไม่รู้สึกสะเทือนไส้กว่ารถยุโรป
นี่คือพัฒนาการ แบบที่ว่า แม้จะฟันธงไม่ได้ 100% แต่ดูในภาพรวมแล้วเราจะเห็นแนวโน้มความเป็นไปได้ครับ ที่แน่ๆ คือ เลิกความคิดว่ารถยุโรปต้องช่วงล่างนิ่งวิ่งนิ่งวิ่งนุ่มกว่ารถญี่ปุ่นไปได้แล้วครับ คุณต้องลองขับสักรอบแล้วค่อยลงความเห็น จะได้ประสบการณ์ที่แม่นยำกว่า
ปล่อยให้เรื่องการไม่ได้ขับจริง แต่ด่าสื่อ ด่าทุกคนที่คิดไม่ตรงกับตัวเอง ให้เป็นหน้าที่ของพวกไดโนเสาร์มโนโทรนิกส์ต่อไปเถอะครับ.
Pan Paitoonpong