วงจรชีวิตของคนเราคือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ส่วนวงจรชีวิตของรถคือ เปิดตัว ทำยอดขาย อยู่จนคนเลิกเห่อ แล้วหลังจากนั้นจะกลับมาใหม่หรือตายจากไปเลย ก็แล้วแต่วาสนาของรถแต่ละรุ่น แม้ว่าในที่สุดไม่มีรถรุ่นไหนในโลกที่อยู่ยงคงกระพัน แต่ถ้าถามหารถประเภทอยู่ง่ายตายยากรุ่นหนึ่งจากบรรดารถยุโรป ก็คงหนีไม่พ้น Mercedes-Benz 190E ตัวถัง W201 รถที่ดีไซน์ตัวถังเหลี่ยมจัดเสียจนถ้าเหลี่ยมกว่านี้ก็โจรแล้ว แต่ความเหลี่ยมในรูปลักษณ์ที่ยังลามไปถึง W124 E-Class รุ่นที่มีฉายาว่า “โลงจำปา” ด้วยนี่ล่ะ แฝงไปด้วยวิศวกรรมอากาศพลศาสตร์ที่ล้ำสมัยเกินยุค และยังทำให้หน้าตาของรถมีจุดเด่นที่คนเห็นแล้วจำง่ายมาจนทุกวันนี้ คุณอาจมองว่ามันแก่ แต่คุณต้องคิดด้วยนะว่า นี่คือรถที่เปิดตัวในตลาดโลกเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นพ่อของพวกคุณบางคนยังอยู่อนุบาลด้วยซ้ำ ใครเกิดทันอ่านข่าว 190E เปิดตัวบนนิตยสารกรังด์ปรีซ์ตอนนั้น แปลว่าคุณแก่อย่างสมบูรณ์แบบแน่นอน
...
190E นั้น เป็นชื่อเรียกแบบทั่วๆ ไปที่คนพูดปุ๊บก็ร้องอ๋อ แต่แท้จริงแล้ว มันยังมีรุ่น 190 ที่ใช้คาร์บิวเรเตอร์จ่ายน้ำมัน และ 190D ที่เป็นเครื่องดีเซลด้วย ฝรั่งจึงมักเรียกรุ่นนี้ตามรหัสตัวถังว่า W201 หรือไม่ก็ 190 Series สาเหตุที่มันเกิดมานั้น..เบนซ์ไม่พูด แต่เราก็รู้กันว่า ในช่วง 1960s นั้น BMW เริ่มทำตลาดรถรุ่น New Class ที่มีภาพลักษณ์ค่อนไปจับวัยรุ่นมากขึ้น และประสบความสำเร็จอย่างดี พวกเขาก็เลยนำ New Class มาวิจัยพัฒนาให้ตัวรถเล็ก สั้นลง คล่องตัวขึ้น ทำมาขายในราคาที่ชาวเยอรมันยุคนั้นสามารถซื้อหาได้สะดวกจิต นั่นคือจุดเริ่มต้นของ BMW 02 Series หรือที่บ้านเรามักเห็นกับรถรุ่น 1602 และ 2002 เกิดเป็นตลาดเซกเมนต์ “Executive Compact Car” ที่ขายดีมากจน BMW ตัดสินใจให้กำเนิดรถอย่าง 3 Series ต่อมา
ทีนี้นิสัยของเบนซ์คือ “กรูต้องทำเป็นคนแรก” แต่ถ้าไม่ใช่คนแรก ก็ต้อง “กรูมาทีหลังแต่จะดังกว่า” ในขณะที่ BMW คลาสเล็กนั้นมีแต่รถสองประตู เบนซ์ตัดสินใจจะสร้างรถ Executive Compact รุ่นแรกของตัวเองให้เป็นรถ 4 ประตูไปเลย หลังจากที่ลองดีไซน์ต้นแบบเป็นแบบสองประตูแล้วออกมาดูไม่น่ารักเท่าไร ในสายตาของเบนซ์ รถสี่ประตูสามารถจับตลาดได้กว้างกว่า เพราะสามารถเอาใจลูกค้าที่มีครอบครัวได้ด้วย ผลที่ได้หลังจากวิจัยพัฒนาอยู่ 8-9 ปี ก็คือเจ้า W201 ซึ่งเผยโฉมครั้งแรกในเดือนกันยายนปี 1982
คำจำกัดความของ W201 ในวันที่มันเปิดตัวนั้น ต้องเรียกว่าเป็นรถเล็กกะปิ๋ว ที่สร้างด้วยวิศวกรรมและความประณีตระดับเดียวกับรถใหญ่ เป็นรถรุ่นแรกที่ทิ้งดีไซน์แบบคลาสสิกสู่แนวคิดทางการออกแบบใหม่ (ใหม่ของสมัยนั้นนะ) ภายนอกรถ มีแค่ไฟหน้าที่มีกลิ่นอายของ W126 S-Class อยู่เบาๆ ไฟท้ายคล้าย W123 และ 126 แต่ลำตัวช่วงกลางล้ำสมัยขึ้นมาก สังเกตการพยายามเอาโครเมียมซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของรถยุค 70s ออกไปจนเหลือแค่กระจังหน้าเท่านั้นที่ยังเป็นโครเมียมอยู่ เครื่องยนต์และระบบส่งกำลังนั้น เป็นเครื่องที่เอามาจาก W123 รุ่นพี่ แต่มีการอัปเดตรายละเอียดปลีกย่อย ความจุตั้งแต่ 2.0-2.3 ลิตรเสียส่วนใหญ่ ส่วนช่วงล่างนั้น นับเป็นดีไซน์ที่บุกเบิกให้กับเบนซ์รุ่นปัจจุบัน ด้านหน้าเป็นแมคเฟอร์สันสตรัท ด้านหลัง เป็นมัลติลิงก์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ออกแบบให้มีระยะยุบยืดของช่วงล่างที่ยาว และมีการซับแรงกระแทกที่ดีเยี่ยม ถ้าคุณได้ลองนั่ง 190E ช่วงล่างเดิมสภาพดีๆ สักครั้ง ลองสาดโค้งเร็วๆ ดู หรือหวดจัมป์สะพานที่ 160 กม./ชม. แล้วคุณจะทึ่งว่านี่หรือคือรถเล็ก น้ำหนักตัว 1.2 ตัน ยาง 195 มม. ที่ออกแบบโดยวิทยาการยุค 70s ตอนปลาย
...
ผมเคยพารุ่นหลานๆ ที่ปกติจะขับพวกเบนซ์คันเล็กรุ่นใหม่ๆ หน่อย มาลองนั่ง 190E เดิมๆ มาดลุง..ซึ่งก็ใช่แหละเพราะผมซื้อต่อมาจากลุงผมเอง 50,000 บาท แล้วลองพาเขานั่งถนนทุกรูปแบบ ลูกรัง มอเตอร์เวย์ สาดโค้งทางด่วน แล้วเขาก็ขอลองขับดู สรุปว่า รถใหม่ เครื่อง เกียร์ พวงมาลัยดีกว่า 190E เยอะ แต่ช่วงล่างของรถลุง ทั้งนุ่มกว่า เกาะถนนกว่า ทั้งที่ใส่ยางราคาประหยัดไซส์เล็กด้วย ไม่เชื่อก็ต้องหาโอกาสลองครับ รถใหม่ๆ ภาพรวมดีกว่ารถเก่าเสมอ จริง..แต่ไม่ใช่ในทุกเรื่อง
...
190E ขายอยู่ 11 ปี กวาดยอดไป 1.87 ล้านคัน ถามว่าประสบความสำเร็จหรือไม่? ก็ถ้าตั้งเป้าว่าจะฆ่า BMW 3 Series ก็ขอแสดงความเสียใจกับน้องดาวด้วย เพราะน้องใบพัดเขาขายไป 2.4 ล้านคัน ชนะอย่างขาวสะอาด เบนซ์มีตัวถังขายแค่เพียงแบบเดียว ในขณะที่ 3 Series E30 ที่เปิดตัวห่างกันแค่ 2 เดือนนั้น มีครบทุกตัวถังทั้งคูเป้ ซาลูน เปิดประทุน และสเตชั่นแวกอน ส่วนเครื่องยนต์นั้น ทั้งดาวและใบพัด ต่างพยายามทำเครื่องมาแลกคนละหมัดกันชนิดถ้าเป็นมวยก็ลุ้นแบบเขวี้ยงป๊อปคอร์น BMW มีเครื่อง 1.8 เบนซ์ก็ทำ 1.8 มาสู้แต่ออกหมัดช้าไปนิด BMW มีเครื่องหกสูบเรียง 2.0-2.7 ลิตร เบนซ์ก็ไปเอาเครื่อง M103 2.6 ลิตร 158 แรงม้าจาก W124 รุ่น 260E มาทำเป็น 190E 2.6 ทั้งที่ห้องเครื่องของ W201 ไม่ได้ออกแบบมาเผื่อแต่แรก
...
แต่คู่ที่กัดกันมันที่สุดน่าจะเป็น 190E 2.3-16 ที่ใช้ฝาสูบทวินแคม 185 แรงม้า ซึ่ง BMW ก็ทำ M3 E30 ออกมาสู้ด้วย ตัวเครื่อง และแรงม้าใกล้เคียงกัน แถมมีเวอร์ชัน Evolution ที่ปรับกำลังสูงขึ้นตามออกมาทั้งคู่ อย่าง 190E 2.5-16 EVO II ที่มีกำลังแถวๆ 235 แรงม้า ถือว่าไม่ธรรมดาในยุคของมัน และในวันนี้กลายเป็นรถหายากราคาสูงปรี๊ด แม้กระทั่งชุดแต่งอย่างเดียว ถ้าเป็นของแท้ ก็แพงพอจะซื้อรถครอบครัวขนาดกลางจากญี่ปุ่นได้เลย
มาที่เมืองไทย ต้องเล่าก่อนว่าคนไทยยุค 1980s นั้น ใครแตะรถนำเข้าได้ต้องรวยมาก เพราะสมัยนั้นภาษีรถนำเข้าสูงปรี๊ดเพราะรัฐบาลอยากดันให้อุตสาหกรรมรถประกอบในประเทศเกิด 190E พวกรุ่นแรกๆ ที่ยังเป็นรุ่นกันชนดำ แถบกันกระแทกตัวถังด้านข้างสีดำ จึงมีเข้ามาในจำนวนน้อยมาก เป็นรถทูตเกือบทั้งหมด (190E 2.0 สีครีมของพ่อผมก็เป็นหนึ่งในนั้น) รถพวกนี้เวลาไปจอดที่ไหนคนจะรุมดูกันเพราะเป็นรถแปลก คนไม่คุ้นตาเบนซ์คันเล็กแบบนี้ ต้องรอจนปี 1992 เมื่อรัฐบาล ดร.อานันท์ ลดกำแพงภาษีนำเข้าลงประมาณสามเท่าตัว ทำให้รถนำเข้าทั้งคันหลั่งไหลเข้ามาในไทยจนกลายเป็นยุคเฟื่องฟูรถแปลกๆ ที่หลากหลายอีกครั้ง อุตสาหกรรมรถในประเทศก็ต้องปรับตัวพัลวันเพื่อให้มีเทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆ ทัดเทียมรถประกอบนอก
ในปี 1992 นั้นข่าวคราวของ C-Class W202 รุ่นใหม่ว่อนไปทั่วโลกตามนิตยสารต่างๆ เรียบร้อยแล้ว BMW ก็ขาย E36 3 Series ในไทยมาสักพักแล้ว แต่สมัยนั้น บริษัทค้าดาวทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นธนบุรีประกอบยนต์ เบนซ์ทองหล่อ หรือกลุ่มเบนซ์ศรีนครินทร์ ต่างก็พากันกวาด 190E เข้ามาขายในประเทศไทยกันยกใหญ่ ใครจะไปเชื่อว่ารถที่กำลังจะตกรุ่น อายุโมเดล 10 ปีกลับขายดีระดับ 5,000 คัน เรากวาดรถพวงมาลัยขวาที่ยังค้างสต๊อกอยู่มาเกลี้ยง พอรถพวกนี้หมดลง ผู้แทนจำหน่ายต่างๆ ก็ไปเอารถพวงมาลัยขวาจากฮ่องกง กับอังกฤษมาอีก จนภายในเวลาไม่นานก็ทำยอดเกิน 5,000 คัน ทั้งๆ ที่ราคาของ 190E 1.8 นั้นไม่ได้ถูกกว่า 318i E36 และเทคนิคของตัวรถโดยรวมล้าหลังกว่ากันไปหนึ่งเจเนอเรชัน แต่ยอดขายของเบนซ์ในช่วงเวลานั้น ถีบตัวมาอยู่อันดับหนึ่งของแบรนด์ยุโรปได้เพราะ 190E นี่ล่ะครับ นี่คือความน่ากลัวของคนที่ใจบูชาดวงดาว ก่อนหน้านั้น ถ้าคุณอยากได้เบนซ์ป้ายแดง คุณมีทางเลือกแค่ 230E ราคาราวสองล้านกว่าบาท เมื่อ 190E เปิดตัวในราคาเริ่มต้นประมาณ 1.2 ล้านบาท กระแส “เบบี้เบนซ์-ฟีเวอร์” ในยุคนั้นจึงเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครบ่นว่า รถล้านกว่าบาท เบาะหนังเทียม ปรับมือ พวงมาลัยติดตายตัว ไม่มีมาตรวัดรอบ
ถ้าเป็นสมัยนี้ ออปชันแห้งกว่าเพื่อนขนาดนี้ รับรองว่า คดมต. คือ คน-ด่า-มรึง-ตาย ดาวก็ดาวเหอะวะ
พวกที่เข้ามาเยอะสุด ก็คือ 190E 1.8 ซึ่งใช้เครื่องฝาดำ M102 1.8 ลิตร 107 แรงม้า มีทั้งเกียร์ธรรมดาและอัตโนมัติ แต่ 4 จังหวะทั้งคู่ ส่วนรุ่น 190E 2.3 136 แรงม้านั้นเข้ามาน้อยหน่อยเพราะราคาสูงกว่า แต่พลังก็เยอะและอุปกรณ์ครบกว่า นอกจากนี้ไปแล้ว ก็จะมีรถ 2.0 ลิตร 122 แรงม้าเข้ามาบ้างในจำนวนน้อย พวกนี้หลายคันจะเป็นรถสเปกอังกฤษ มาตรวัดความเร็วจะมีหน่วยทั้งไมล์และกม. เบาะเป็นผ้า และมีซันรูฟ ส่วนรุ่นแปลกๆ เช่นพวกเครื่อง 16 วาล์วตัวแรงๆ หรือรุ่น 2.6 ลิตรหกสูบนั้นแทบจะไม่มีเลย ส่วนมากที่วิ่งอยู่ทุกวันนี้มักจะเป็นรถที่เอาอะไหล่นอกยกคันใส่มากกว่า ไม่ต้องถามถึงราคาของพวกรถแท้นะครับว่าจะเท่าไร
กระแสของ 190E ในไทยนั้น พอหลังจาก C-Class W202 เปิดตัว ก็จัดอยู่ในกลุ่มที่คนแก่นิยมมากกว่าพวกวัยรุ่น หลายคนพอแก่เฒ่าลง มีเงินสะสมหลักแสน อยากขี่เบนซ์สักคันก่อนเลิกขับรถก็ไปจับเอา 190E มาใช้ หรือบางคนที่นิยมในทรงรถแบบผู้ใหญ่ และเชื่อในความทนทานของเบนซ์ยุคกลไก (ซึ่งโคตรต่างกับยุคนี้) ก็มักจะเลือกเบนซ์มากกว่า BMW ทำให้กระแสของรถอยู่ในระดับกลางๆ ที่ไม่พุ่งปรี๊ดแต่ไม่เสื่อมความขลัง จนกระทั่งช่วง 5 ปีหลังมานี่ล่ะ ที่พวกรถคลาสสิกยุคเดียวกันชิ้นส่วนปอกแหกแตกเสื่อมหรือกลายเป็นปุ๋ยไปหมดแล้ว แต่ชิ้นส่วนหลายอย่างของเบนซ์ทนกว่าเพื่อนร่วมชาติอย่าง BMW ทำให้ยังมีรถในสภาพที่คุณกล้าใช้เหลือในตลาดมือสองเยอะกว่า
รวมถึงกระแสที่บรรดาคนดังในวงการรถแต่งและโมดิฟาย อย่าง อ.เต้ย OTTO Shop หันมาเล่น 190E ชนิดเอาเป็นเอาตาย ทำให้คนที่ยังไม่เคยรู้ ได้รู้ว่าจริงๆ แล้ว 190E สามารถทำเป็นรถแต่งอย่างเก๋ วางเครื่องได้หลายแบบ แต่ต้องใช้เงินเยอะมากถ้าอยากได้งานที่ดีมาก แต่ทุกสิ่งรวมกันแล้วก็ทำให้ 190E กลายเป็นดาร์ลิ้งของคนที่อยากเล่นรถคลาสสิกแต่ยังอยากขับไปไหนมาไหนได้ด้วย
ถ้าคุณคิดจะเล่น 190E ก็ฟังที่ผมบอกเลยนะครับว่า นี่คือโค้งสุดท้ายแล้วนะถ้าใจคุณอยาก เพราะอะไหล่หลายส่วน เริ่มทยอยหมดโลกไปแล้ว
ผมรับรู้ประสบการณ์ด้วยตัวเอง เพราะพยายามปั้น 190E คันที่ซื้อต่อมาจากลุงให้กลายเป็นรถแต่ง ระหว่างการบูรณะรถนี้ก็ทำให้ทราบว่า แม้อะไหล่พวกไฟหน้า ไฟท้าย และช่วงล่างยังมีให้คุณซื้อได้อีกเหลือเฟือ จะเอาของเทียบหรือของแท้ก็ได้ แล้วแต่สะดวก แต่อะไหล่ของชิ้นส่วนภายใน หลายส่วนเริ่มแพงมาก คุณเชื่อไหมว่าแค่กรอบแอร์ตรงคอนโซลกลางพร้อมช่องแอร์สองช่อง เมื่อสี่ปีก่อนเบิกใหม่ก็สองหมื่นกว่าบาทแล้ว ทำให้บางคนเลือกวิธีซ่อมปะกาว ทำสีใหม่ หรือเอาสติกเกอร์สีดำแปะทับ หรือใครมีเครื่องไม้เครื่องมือ ก็จัดแจงทำชิ้นส่วนใหม่ออกมาขายมาใช้กันในกลุ่ม ชิ้นส่วนภายในหลายส่วน หาเบิกใหม่ได้ยากแล้วครับ ถ้ามีคือต้องไปคัดของมือสอง หรือบางคนที่ตั้งใจบูรณะจริงๆ ต้องยอมซื้อ 190E มาสองสามคัน แล้วดอยเอาอะไหล่ส่วนที่ดีมารวมเป็นรถที่สมบูรณ์หนึ่งคัน
ระบบจ่ายเชื้อเพลิงของ 190E เป็นแบบกลไกยุคเก่า ถ้าชุดควบคุมจ่ายเชื้อเพลิงกับชุดคุมจุดระเบิดพังแล้วคุณอยากเบิกใหม่ตรงรุ่น ของสองอย่างนี้รวมกันก็แพงกว่าเงินที่คุณจ่ายเพื่อซื้อรถมาแล้วครับ ที่สำคัญคือการจูนให้วิ่งได้ดีนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย คนที่ทำได้หลายคนก็แก่ไปหมด หรือไม่ก็เลิกเป็นช่างไปแล้ว แต่ผมเคยเห็น อ.เต้ยทำได้ และแกยังทำชุดสำหรับเปลี่ยนระบบทั้งหมดจากกลไกแบบเก่า เป็นอิเล็กทรอนิกส์แบบรถใหม่ๆ ซึ่งจูนง่าย รถขับเนียนขึ้นแต่ถ้าจำไม่ผิดก็ต้องจ่ายเงินหลายหมื่นอยู่
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ผมไม่พยายามจั่วหัวบทความว่า 190E เป็นรถราคาถูกที่คนเงินน้อย มีรถได้คันเดียว ควรเอามาใช้เป็นรถหลัก เพราะจากที่ประสบมาจริงๆ มันไม่ใช่แบบนั้น คุณสามารถเล่นกับมันแบบประหยัดงบสุดๆ ได้ด้วยการเลือกรถที่เจ้าของเดิมเก็บรายละเอียดมาจบแล้ว มีใบเสร็จให้ดู และลองขับดูแล้วรถวิ่งดี รถพวกที่เจ้าของรักษามาดี ราคาย่อมแพง แต่เชื่อผมเถอะครับ ผมเข็ดแล้วจากการซื้อรถ 50,000 มาทำไปแสนสาม แล้วสภาพรถก็ยังสู้รถเพื่อนอีกคนที่ประกาศขายอยู่แสนสองไม่ได้ นี่คือเทคนิคสัมผัสความคลาสสิกที่ประหยัดเงินสุด ซื้อรถที่สภาพดีสุด รูปแบบรถตรงใจคุณมากที่สุด ต่อให้มันแพงก็ตาม แล้วใช้โดยพยายามไม่ไปปรุงไปแต่งรถให้มันเสียเงินมาก ตอนขายกับตอนซื้ออาจจะต่างกันแค่ยางกับอะไหล่บางตัว แบบนี้เหมาะสำหรับคนงบน้อย
ถ้าคุณอยากแต่งในสไตล์ 90s โดยไม่ถังแตก ก็ไม่ได้ยากนะครับ อย่าลืมว่า 190E ในไทยยุคนั้นจริงๆ พวกรถแต่ง ก็ไม่ได้วางเครื่องแรงๆ หรือแต่งเต็มยศทุกคัน บางทีก็แค่ใส่ล้อ RIAL หรือ BBS สามชิ้น กดโหลดแป้ก แล้วก็มีท่อสวยๆ สักชุด ถ้าอยาก 90s ตอนต้นจริงให้ทำท่อสแตนเลสปลายตัดเฉียงชี้ขึ้นด้วยจะยิ่งใช้เลย พวงมาลัยก็เอา BBS สามสี่ก้าน มีลายไม้ที่พวงมาลัย หรือไม่ก็พวงมาลัยเบเนตองหลากหลายสี 190E ยุคนั้นผมจำได้ว่า เราไม่ได้เล่นพาร์ตพวกสเกิร์ต สปอยเลอร์กัน ตัวรถมันออกทรงมาให้สวยโดยไม่ต้องแต่งเยอะ แค่เปลี่ยนล้อกับโหลดก็ฟีล 90s ได้ครับ
สำหรับคนที่จะเริ่มเข้าขั้น “ของจริง” ก็จะมีแนวที่ไปในเชิง เน้นเครื่องยนต์ กับเชิงเน้นความโรงงาน หรือทั้งสองอย่าง พวกที่เน้นเครื่องยนต์ ก็จะมีการปรุงอรรถรสไปหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการวางเครื่องไม่ข้ามค่าย แต่ไปเอาเครื่องใหม่กว่า อย่าง M111 2.2 ลิตร 150 แรงม้ามาวาง หรือจะข้ามไปฝั่งญี่ปุ่น ก็มีตัวเลือกเพียบ แต่ต้องรู้ไว้ด้วยว่าเครื่องบล็อก JZ ในทุกวันนี้ไม่ว่าจะรุ่นไหน ก็ราคาดีดขึ้นสูงมากและหายากขึ้นทุกวัน คุณอาจจะจบกับเครื่อง SR ของ Nissan ก็ได้ พลังไม่ได้แย่ โมดิฟายไม่ยากและน้ำหนักเครื่องเบาดีด้วย เหมาะในกรณีที่คุณเน้นใช้เดิมๆ ดมแก๊สหรือใช้เทอร์โบและเล็งม้าไว้ไม่เกิน 500 ตัว
ส่วนคนที่อยากทำเครื่องเดิมให้แรง บอกเลยว่า “ทำได้แน่นอน” แต่ค่าทำก็ไม่ถูก งานฝีมือดีๆ ราคาย่อมไม่ถูกครับ แต่ถ้าอยากทำ เครื่อง 1.8 ลิตรเดิม เปลี่ยนระบบจ่ายเชื้อเพลิงเป็นอิเล็กทรอนิกส์ เซตเทอร์โบเพิ่ม ท่อนล่างมันรับ 200 แรงม้าสบายๆ ยิ่งพวก 2.3 ลิตรนั้นสามารถเค้นระดับ 300 แรงม้าได้ถ้าคนทำเขารู้งาน ลูกสูบของพวกเบนซ์ฝาดำเดิมๆ แม้ไม่ใช่เครื่องเทอร์โบโรงงาน แต่ทนทานใช้ได้เลยครับ
ส่วนสายแต่งรถแบบพาร์ตโรงงานเน้นครบ ตรงนี้ล่ะจะแพง เพราะลำพังพาร์ต 190E 16 วาล์วสวยๆ นั้น แทบจะกลายเป็นปุ๋ยหมดแล้ว ก็ต้องพึ่งพาร์ตคนไทยทำ ซึ่งก็มีเจ้าที่ทำงานเนียนใช้ได้อยู่ และทำกันมานาน จะเอาพาร์ตแบบหลุดโลกแบบของ 190E 2.5-16 EVO II คนไทยก็ทำให้คุณได้ แต่ต้องอยู่ในกลุ่มและหารายละเอียดเพิ่มเติมหน่อยก่อนทำ เพราะถ้าคุณมาในแนวนี้ มันเป็นไปได้ที่กว่าจะจบโปรเจกต์บูรณะทั้งวางเครื่อง พาร์ตแต่งและซ่อมสิ่งต่างๆ รอบคัน คุณสามารถหมดเงินสามสี่แสนบาทกับ 190E ได้ง่ายกว่าที่คุณคิดมากครับ
ข้อจำกัดของ 190E เท่าที่ผมหาเจอ ก็คือ การจัดวางเบาะและคอนโซล มาในแนวเบาะนั่งสูง ทัศนะวิสัยดี แต่ปรับอะไรไม่ได้มาก พวงมาลัยปรับสูงต่ำไม่ได้ วงพวงมาลัยมีขนาดโตเกินกว่าจะขับได้คล่อง (เปลี่ยนวงเล็กเอาได้) ห้องเครื่องมีพื้นที่ไม่เยอะเพราะรถออกแบบมาเพื่อรองรับแค่ 4 สูบ ยิ่งวางเครื่องโตยิ่งใช้เงินเยอะ ทางเลือกของช่วงล่างแต่งมีเยอะแต่ราคาก็ไม่ถูก คุณสามารถทำ 190E เป็นรถแข่งสนามหรือรถดริฟต์ได้ แต่ใช้เงินและความสามารถเยอะกว่าพวกรถขับหลังญี่ปุ่นอย่าง Cefiro A31 เพราะนิสัยของรถเดิมทำออกมา เน้นการขับบนถนนที่ดี พวงมาลัยก็ทดช้า เข้าซอยหรือเลี้ยวโค้ง หมุนพวงมาลัยเยอะเหมือนขับรถกระบะ ไม่ไวแบบรถญี่ปุ่น
ดังนั้น ถ้าอยากจะเล่น ผมแนะนำว่า 190E นั้น เน้นใช้เดิมรักษาสภาพ เห็นแล้ว Feel good หรือไม่ก็แต่งแบบแนวซิ่ง หรือวิ่งทางตรง ตัวรถมันจะสามารถตอบโจทย์คุณได้ในงบที่สมเหตุผล ส่วนคนที่อยากเอามาทำเป็น Track day car ไว้ซิ่งเล่นดริฟต์เล่น ถ้าคุณไม่ได้มีเงินพร้อมจะลงกับรถในหลักล้านบาท แนะนำว่าอย่าดีกว่าครับ ไม่ใช่ว่า 190E ทำไม่ได้นะ แต่รถขับหลังอีกหลายรุ่นทำได้จบในงบที่ต่ำกว่าและไปได้เร็วกว่า ถ้าคุณรักความ 190E และมีเงิน ค่อยทำครับ
แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกไปแนวทางไหน 190E ก็คือรถหนึ่งในไม่กี่รุ่น ที่คุณสามารถรับกลิ่นอายผสมผสานระหว่างยุค 80s - 90s ได้เต็มขั้น สามารถขับใช้งานได้อยู่แม้อาจจะไม่ได้ใช้ชีวิตปลอดภัยสบายใจจากรถยกมากเท่ารถญี่ปุ่นอายุ 15-20 ขวบ แต่ก็ไม่เปราะแบบรถบางรุ่นที่แตะตรงไหนก็ปอกแหกแตกร่วงไปหมด และปฏิเสธไม่ได้ว่า ในความเป็นรถเล็กรุ่นแรกที่ Mercedes-Benz สร้างมานั้น พวกเขาได้ใส่ฝีมือในการพยายามสร้างให้เป็นรถที่มอบการขับขี่ที่สบายและเชื่อใจได้อย่างสุดความสามารถวิศวกรเยอรมัน เป็นรถที่ในวันนี้ คุณใช้เดิมๆ คลีนๆ ก็ดูดี หรือจะแต่ง ก็ไปจอดมีตติ้งคนรักรถได้ไม่น้อยหน้ากัน ถ้าไม่เล่นวันนี้แล้ว..อีก 5 ปีคิดใหม่ อาจจะไม่ทันแล้วนะครับ
Pan Paitoonpong