ย้อนกลับสู่เส้นทางแห่งอดีตเมื่อ 16 ปีก่อน ในปี 1993 กับเจ้าของสถิติแห่งความเร็วประเภทรถยนต์สี่ล้อทั้งในสนามแข่งขันและบนถนน นี่คือ McLaren F1 ปีศาจความเร็ว ที่มาพร้อมกับการทำลายสถิติต่างๆมากมาย อัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตรใน 3.4 วินาที ทำสถิติสูงสุดในด้านรถยนต์ที่มีสมรรถนะจากเครื่องยนต์แบบไม่มีระบบอัดอากาศ โค่นบันลังก์ของ Ferrari F40 ลงอย่างราบคาบ ครองตำแหน่งเจ้าแห่ง Roadcar ยาวนานตั้งแต่ปี 1997 จนถึงปี 2005 กว่าที่รถ Bugatti Veyron จะมาแย่งตำแหน่งนี้ไป แนวคิดในการสร้างรถ McLaren F1 เกิดจากความต้องการที่จะผลิตรถยนต์ที่มีสมรรถนะเทียบเท่ารถแข่ง Furmula 1 แต่สามารถนำมาวิ่งบนถนนสาธารณะทั่วไปได้

...

Gordon Murray ผู้ให้กำเนิดรถ McLaren F1 มีความคิดตั้งแต่ในวัยเด็กว่า สักวันหนึ่ง จะต้องสร้างรถสปอร์ตที่มีสมรรถนะสูงกว่า และมีความเหนือกว่ารถสปอร์ตทุกคันที่วิ่งอยู่บนโลก หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในวงการแข่งรถของอังกฤษนานหลายปี เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และบ่มเพราะความรู้เรื่องราวต่างๆ ในการสร้างรถยนต์ที่เป็นที่สุดของโลกแห่งยนตรกรรม McLaren F1 คือรถยนต์คันสุดท้ายของโลกที่ถูกออกแบบโดยการใช้ดินสอร่างขึ้นบนกระดาษ แตกต่างจากการออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ที่มีโปรแกรมอันทันสมัยในยุคนี้ ทุกๆ ชิ้นส่วนไม่ว่าจะเป็นโครงรถ แชสซี กระปุกเกียร์ เฟือง เพลาทุกชิ้น กรวยซิงโครเมซ ถูกเขียนด้วยดินสอลงบนกระดาษจากมันสมองของชายผู้ ซึ่งหายใจเข้าออกแทบจะเป็นกลิ่นของน้ำมันเบนซินออกเทนสูง ความที่เป็นคนชอบวาดรูปและมีทักษะในการออกแบบสูงมากคนหนึ่งในวงการรถยนต์ของอังกฤษ ความสามารถในการสร้างรถของ Murray อยู่ในระดับแนวหน้าของยุโรป ทำให้ความเป็นไปได้ของจุดกำเนิดแห่งความเร็วระดับตำนานเริ่มต้นขึ้น

...

ในตอนแรก ความคิดในการสร้างรถ McLaren F1 เริ่มขึ้นโดยไม่มีจุดประสงค์ใดๆ ที่จะทำลายสถิติ ของ Ferrari F 40 ซุปเปอร์คาร์เครื่องยนต์ทวินเทอร์โบวางกลางลำ ที่ครองความเป็นเจ้าแห่งความเร็ว ทั้งในสนามแข่งขันและบนถนน ในยุค 1987-1992 Gordon Murray ตั้งใจว่าจะให้ F1 มีแรงม้าเพียง 450 ตัวเท่านั้น เพื่อการควบคุมที่ดี และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดของตัวรถ หลังจาก Honda สร้างความผิดหวังให้กับ Murray ด้วยการปฏิเสธที่จะรับหน้าที่ในการสร้างต้นกำลังของรถ McLaren F1 แต่เพื่อนร่วมงานของ Murray ที่ใช้โรงงานเล็กๆ ของ McLaren ให้กลายเป็นศูนย์รวมของบรรดามันสมองชั้นหัวกะทิที่มีความรู้อย่างลึกซึ้งด้านวิศวกรรมเครื่องยนต์ Paul Rosche ผู้ซึ่งทำให้ BMW มีเครื่องยนต์ที่เต็มไปด้วยศักยภาพ สำหรับลงทำการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบในยุโรป Rosche เป็นผู้ลงมือออกแบบและสร้างเครื่องยนต์ V12 ตัวแรงให้กับรถ McLaren F1 การถกเถียงกันในเรื่องของแรงม้าและแรงบิดรวมไปถึงท็อปสปีดที่รถสามารถวิ่งไปถึง Paul Rosche ให้ความมั่นใจว่ารถ McLaren F1 จะมีเครื่องยนต์ที่มีกำลังถึง 630 แรงม้า จากเครื่อง V12 แบบไม่มีเทอร์โบ พ่อมดแห่ง BMW Motorsport ยังบอกอีกด้วยว่า McLaren F1 จะไปได้ถึง 235 ไมล์ต่อชั่วโมง ถ้ามีทางตรงยาวมากพอ และถ้าจะเอาเครื่อง V12 ตัวนี้มาติดเทอร์โบ มันก็จะเหนียวพอที่จะรองรับแรงม้า 1,000 ตัวได้อย่างสบาย แต่ใครกันล่ะที่จะบ้าและมีเงินมากพอที่จะซื้อมันไปขับ

...

Murray คิดว่าแชสซีที่ดีที่สุดต้องมีความแข็งแกร่งและน้ำหนักเบา เขาจึงเริ่มมองไปที่วัสดุผสมแบบคาร์บอนไฟเบอร์ซึ่งในยุคนั้น ถือเป็นวัสดุผสมน้ำหนักเบาและมีราคาแพงเหมือนดั่งทองคำ ทุกชิ้นส่วนในรถ McLaren F1 มีจุดประสงค์เพื่อเร่งความเร็ว จะต้องมีน้ำหนักเบา ซึ่งเป้าหมายในการลดทอนน้ำหนักของตัวรถลงเพื่อให้เครื่องยนต์สำแดงสมรรถนะอันสุดยอดของมันออกมาได้อย่างเต็มที่ ด้วยการใช้วัสดุผสมแทบทกจุดของตัวรถ การให้ตำแหน่งของผู้ขับขี่อยู่ตรงกลาง โดยมีที่นั่งขนาดเล็กขนาบทั้งสองข้างเป็นเรื่องของการกระจายน้ำหนักเพื่อทำให้รถ F1 มีความสมดุล แม้จะผ่านเวลามาถึง 26 ปีแล้วก็ตาม McLaren F1 ยังคงเป็นรถสปอร์ตที่มีรูปทรงสวยงามทันสมัย ตำแหน่งของการติดตั้งเครื่องยนต์ รูปแบบของตัวรถ โครงแชสซีและชิ้นส่วนต่างๆ ที่ทีมของ Gordon Murray ลงมือในรถ McLaren F1 ทุกวันนี้ ก็ยังถูกนำไปลอกเลียนแบบ สามารถเห็นได้ในรถยนต์ซุปเปอร์คาร์หลายๆ รุ่นของยุคนี้

...

รูปทรงของ McLaren F1 มี ลักษณะคล้ายลิ่ม เพื่อแหวกอากาศขณะวิ่งด้วยความเร็วสูง ทรงลิ่มและช่องอากาศต่างๆ ออกแบบเพื่อสร้างแรงกดหรือลดแรงต้านทานของอากาศ ไฟหน้าแบบคู่ฝั่งละสองดวงอยู่ในกรอบพลาสติกใส ด้านหน้าทำมุมลาดเอียงมากขึ้นเพื่อเพิ่มทัศนวิศัยให้ผู้ขับขี่ ฝากระโปรงไฟเบอร์แบบเซาะร่องและกันชนหน้ามีช่องดักอากาศเข้าอยู่ใต้ตำแหน่ง ของไฟเลี้ยวบวกกับแผ่นรีดอากาศแบบคาร์บอนสีดำติดอยู่ใต้กันชน ทำให้รถ F1 ดูทันสมัยอยู่ตลอดเวลา และมีความดุดัน ซุ้มล้อขนาดใหญ่มีล้ออัลลอยของ OZ ลายห้าก้านต่างขนาดกัน ด้านหน้ามีขนาด 10.85x18 นิ้ว ด้านหลังขนาด 13.0x18 นิ้ว เบรก Brembo แบบหกสไลส์ลูกสูบ พร้อมด้วยจานเบรกขนาด 332 มิลลิเมตรในล้อคู่หน้า และ 305 มิลลิเมตร ในล้อคู่หลัง บานประตูเปิดออกแบบทรงกันไกรที่ใช้โช้คยาวและผู้ขับต้องดันมือจับประตูขึ้นเหนือศีรษะ บานประตูถูกทำเป็นร่องนำอากาศขนาดใหญ่และมีรูปแบบที่เข้ากันได้ดีกับตัวรถด้านข้าง ด้านท้ายมีทรงมนเล็กน้อยติดตั้งไฟท้ายแบบโดนัททรงกลมฝั่งละสองดวง เหนือฝากระโปรงหลังคือหางหลังสไตล์ GT ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ สามารถปรับแต่งมุมเพื่อเพิ่มแรงกดให้กับส่วนท้ายของรถ หลังคารถมีท่อรับอากาศเข้าสู่เครื่องยนต์ และมีความยาวลงไปจนจรดกับฝากระโปรง หลังทำให้การมองด้วยกระจกมองหลังแทบเป็นไปไม่ได้ ความสูงของตัวรถเพียง 1,200 มิลลิเมตร ทำให้ตำแหน่งของการขับขี่ที่อยู่ตรงกลางเหมือนกับนั่งอยู่บนพื้นถนน ส่งผลต่อการถ่ายทอดความรู้สึกของพวงมาลัย ช่วงล่าง และตัวผู้ขับ ให้รวมกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อความมั่นคงในการควบคุมเครื่องจักรแห่งพลังคันนี้

ภายใต้เปลือกตัวถัง ห้องโดยสารแบบรถแข่ง ด้วยตำแหน่งของเบาะคนขับที่อยู่ตรงกลาง ระหว่างเบาะคนนั่งทั้งสองที่ ทำให้ผู้โดยสารของ McLaren F1 มีตำแหน่งของการนั่งร่นไปด้านหลังคนขับเล็กน้อย นับเป็นซุปเปอร์คาร์เครื่องยนต์วางกลางลำคันแรกของโลกที่มีเบาะนั่งของผู้โดยสารแบบสามที่นั่ง (รวมคนขับ) คอนโซลถูกหุ้มด้วยหนังกลับ Alcantara เพื่อความนุ่มนวลและให้ผิวสัมผัสที่ดี ไม่ลื่น วงพวงมาลัยขนาดเล็ก ทรงสามก้านของ Momo หุ้มด้วยหนัง Alcantara มีก้านแพ็ตเดิ้ลเล็กๆอยู่ด้านหลัง เข็มขัดนิรภัยแบบสี่จุดยึด เวลาใส่แล้วเหมือนกับนั่งอยู่ในเครื่องบินรบความเร็วเหนือเสียง มาตรวัดความเร็วขนาดใหญ่อยู่ใจกลางของหน้าปัดวงกลมสีขาว แสดงตัวเลขของความเร็วถึง 220 ไมล์ต่อชั่วโมง (350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ด้านขวา เป็นมาตรวัดรอบซึ่งมีขนาดลดหลั่นลงมาเล็กน้อย แป้นคันเร่ง คลัตช์ และเบรก ทำออกมาในแนวทางของรถแข่ง ตำแหน่งของกระปุกเกียร์ ถูกย้ายมาอยู่ด้านขวาของคนขับและย้ายตำแหน่งของด้ามเบรคมือไปไว้ด้านซ้าย แยกกับคันเกียร์อย่างสิ้นเชิง เพื่อกันความสับสน หัวเกียร์สีดำโผล่ขึ้นมาเป็นแท่นตรงให้สับเปลี่ยนเกียร์และออกแบบมาให้ดูดิบโหด ภายในเน้นสีโทนเทาและดำเพื่อลดการสะท้องแสง รวมถึงความเคร่งขรึมของงานตกแต่งภายในสไตล์รถแข่ง

เครื่องยนต์ ของ McLaren F1 กลาย เป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าของเครื่องยนต์ V12 หลังจากให้เวลากับพ่อมดของ BMW Motorsport ในการออกแบบและสร้างเครื่องยนต์ต้นกำลังรถ McLaren F1 อีก10 เดือนต่อมา ความฝันของ Murray ก็กลายเป็นความจริง เครื่องยนต์ V12 6.1 ลิตร ที่ถูกทดสอบอย่างหนักก็เสร็จสูมบูรณ์ โครงสร้างแบบอลูมิเนียมผสมแม็คนีเซียม ระบบวาล์วแปรผันแบบ Vanos (ซึ่งต่อมา กลไกลของวาล์วแบบยกตัวแปรผันได้ตามความเร็วรอบ ถูกนำมาพัฒนาและติดตั้งในรถ BMW ทุกรุ่นในปัจจุบัน) รวมถึงท่อไอดีขนาดใหญ่สองท่อคู่ ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ วางอยู่เหนือฝาสูบ การตอบสนองในรอบต่ำของเครื่องอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม ผนังของห้องเครื่องทั้งหมดถูกหุ้มเอาไว้ด้วยวัสดุที่ทนความร้อน ด้วยฟอยล์ที่ทำมาจากทองคำแท้ ไม่ไช่เพื่อแสดงให้เห็นว่ามันใช้ของคุณภาพสูงเพื่ออวดอ้างตัวเอง แต่เพื่อป้องกันความร้อนในห้องเครื่องยนต์ที่มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ เครื่องยนต์ V12 รอบจัด วางกลางลำ ต้องการการระบายความร้อนที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเครื่องยนต์ที่วางอยู่ด้านหน้า เครื่องยนต์วางกลางลำของ McLaren F1 สร้างความแตกต่างในด้านวัสดุที่นำมาประกอบ กลไกลทุกชิ้นส่วนสามารถทำงานสอดประสานกันเป็นหนึ่งเดียวได้ด้วยการติดตั้ง เซนเซอร์ตรวจสอบนับร้อยตัวที่มีอยู่แทบทุกจุดของตัวรถ ปริมาตรความจุที่ 6064 c.c. 626 แรงม้า เป็นตัวเลขแท้จริงที่ได้จากการวิ่งทดสอบในสนามทดสอบ เครื่องยนต์ของ BMW มีความยืดหยุ่นและเหนียวพอที่จะแช่คันเร่งกันแบบสุดๆ ได้นานนับชั่วโมง โดยไม่มีอาการน็อกปรากฏให้เห็น ทำให้รายการ LeMans ในยุค 1994-1999 จะเห็น McLaren F1 วิ่งนำหน้ารถแข่งในรุ่นเดียวกันเสมอ

เดือนสิงหาคมปี 1993 McLaren F1 ได้รับการบันทึกให้เป็น Worlds Fastest Production Road Car หรือรถยนต์ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้งานบนถนน ในการวิ่งเพื่อบันทึกสถิติโลก บริเวณสนามทดสอบทางตอนใต้ของประเทศอิตาลี McLaren F1 สามารถทำความเร็วสูงสุด (ท็อปสปีด) ได้ถึง 370 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และวิ่งจากจุดหยุดนิ่งไปถึง 100 ไมล์ต่อชั่วโมงแล้วเบรกเต็มกำลังเพื่อกลับมาสู่จุดหยุดนิ่ง (0-160-0 กิโลเมตร) โดยทำเวลาไปเพียง 11 วินาที ซึ่งยากมากที่จะหารถยนต์ที่มีสมรรถนะใกล้เคียงกับมันแม้แต่ในยุคนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 16 ปีที่ McLaren F1 ครองความเป็นเจ้าแห่งสถิติต่างๆ ของความเร็วในประเภทรถยนต์สี่ล้อเครื่องยนต์ วี 12 ทำให้มันขึ้นสู่ทำเนียบรถ Road Car ที่ดีที่สุดในโลก

การมาถึงของ McLaren F1 ทำให้ Ferrari ต้องลงมือปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงแบบของเครื่องยนต์รวมถึงตัวรถขึ้นใหม่ทั้งหมด เพื่อชิงความเหนือกว่าทางกลไกของตลาด แต่ Ferrari ก็ไม่เคยทำได้ แม้จะสร้างนวัตกรรมแห่งรูปทรงและพลังที่ใช้ชื่อของ Enzo มาตั้งเป็นชื่อรุ่นก็ตาม มันอาจจะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า มีรูปทรงที่ล้ำไปในอนาคตมากกว่าและสามารถทำความเร็วได้ใกล้เคียงกับ McLaren F1 แต่สุดท้ายแล้ว การควบคุม ฟีลลิ่งที่ยอดเยี่ยม กำลังของเครื่องยนต์ รวมไปถึงสมรรถนะอันสุดยอดทั้งในทางโค้งและทางตรงคง ต้องยกให้กับ McLaren F1 GTR เนื่องจากสาเหตุบางประการของความนิยมในตัวรถ F1 เกิดขึ้นมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างบนโลกแห่งยนตรกรรม เสน่ห์แห่งความเป็นอมตะของมันไม่ได้อยู่แค่ความเร็ว แต่อยู่ในตำนานที่ถูกบันทึกในยุค 1989-1999 นั่นเอง.

McLaren F1 Specifications
ประเภท......................................สปอตร์สองประตู เครื่องยนต์วางกลาง ขับเคลื่อนล้อหลัง
เครื่องยนต์..................................วี 12 สูบ ดับเบิลโอเว่อร์เฮดแคมชาร์ฟ (DOHC)
ปริมาตรความจุ...........................6064 c.c.
กระบอกสูบxช่วงชัก....................86.0x87.0 มิลลิเมตร
วาว์ล...........................................48 วาล์ว 4 วาล์วต่อสูบ
อัตราส่วนกำลังอัด......................11:0:1
ระบบจ่ายเชื้อเพลิง.....................ฟลู-อินเจกชั่น
แรงม้าสูงสุด...............................626 แรงม้าที่ 7500 รอบต่อนาที
แรงบิดสูงสุด..............................651.0 นิวตัน-เมตร ที่ 5600 รอบต่อนาที
อัตราเร่ง.....................................0-100 กิโลเมตรใน 3.2 วินาที
ความเร็วสูงสุด............................370 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เร่งจากจุดหยุดนิ่ง.......................0-160-0 (กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ใช้เวลา 11.0 วินาที
ระบบบังคับเลี้ยว........................เรดแอนพีเนียน
ระบบเกียร์..................................แมนนวล 6 จังหวะ/หรือเซมิออโตเมตริกในรถที่ใช้แข่งขัน
รอบวงพวงมาลัย (Lock-to-lock)..2.0 รอบ

ระบบกันสะเทือน

ด้านหน้า.....................................ดับเบิลวิชโบน คอยสปริง แอนตี้โรบาร์
ด้านหลัง.....................................ดับเบิลวิชโบน คอยสปริง
ล้อและยาง
ขนาดล้อหน้า..............................10.85x18 นิ้ว
ขนาดล้อหลัง..............................13.0x 18 นิ้ว
ขนาดยางล้อหน้า.......................275/45/Zr 18
ขนาดยางล้อหลัง.......................345/35/Zr 18
ระบบเบรก.................................ดิสก์เบรกทั้งสี่ล้อ พร้อมคาร์ลิปเปอร์แบรมโบ้แบบหกลูกสูบ
จานเบรกหน้า............................332 มิลลิเมตร
จานเบรกหลัง............................305 มิลลิเมตร
มิติของตัวรถ
ความกว้าง................................1940 มิลลิเมตร
ความยาว..................................4928 มิลลิเมตร
ความสูง....................................1200 มิลลิเมตร
น้ำหนัก......................................1220 กิโลกรัม
ราคา (1997)...............................800,000 - 1,000,000 เหรียญ
ราคาปัจจุบัน (2023).....................20,500,000 เหรียญ