ซาร์ บอมบา (รัสเซีย: Царь-бомба; อังกฤษ: Tsar Bomba) เป็นชื่อที่ใช้เรียกระเบิดไฮโดรเจน AN602 ของสหภาพโซเวียต เป็นอาวุธนิวเคลียร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และมีพลังทำลายล้างรุนแรงที่สุด เท่าที่เคยมีการทดสอบ (ยังไม่เคยถูกนำไปใช้) จัดว่าเป็น "อาวุธที่มีพลังทำลายล้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ" ชื่อนี้เป็นชื่อที่สื่อในโลกตะวันตกตั้งให้ แต่ต่อมาในรัสเซียก็ยอมรับชื่อนี้มาใช้ โดยเรียกในกองทัพแดงว่า ซาร์ บอมบา

...

ระเบิดไฮโดรเจน AN602 พัฒนาขึ้นโดยอดีตสหภาพโซเวียต ในช่วงสงครามเย็นที่มีการแผ่ขยายอำนาจเพื่อคานกำลังของฝั่งตะวันตกซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา ตามแบบแผนที่ออกแบบไว้ เดิมจะมีขนาดเทียบเท่ากับการระเบิดของทีเอ็นที (TNT) ประมาณ 100 เมกะตัน เทียบเท่ากับ 420 PJ (เพตะจูล) แต่มีการปรับลดลงเหลือ 50 เมกะตัน เพื่อลดขนาดของระเบิดลง ให้สามารถบรรทุกด้วยเครื่องบินตูโปเลฟ ตู-95 ที่ได้รับการดัดแปลงเป็นพิเศษ พลังทำลายล้างของระเบิดไฮโดรเจน AN602 หรือ ซาร์ บอมบา คิดเป็น 1,400 เท่าของระเบิดลิตเติลบอย (13-18 กิโลตัน) ที่อเมริกันใช้ถล่มเมืองฮิโรชิมะในสงครามโลกครั้งที่สอง รวมกับแฟตแมน (21 กิโลตัน) ระเบิดปรมาณู ที่อเมริกันบอมบ์ใส่เมืองนางาซากิ 

...

ซาร์ บอมบา มีขนาดความยาว 8 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.1 เมตร น้ำหนัก 27,000 กิโลกรัม (60,000 ปอนด์) ถูกสร้างขึ้นจำนวน 1 ลูก และลูกตัวอย่างอีก 1 ลูกที่สร้างขึ้นเฉพาะโครงสร้างภายนอกขณะทำการวิจัย ลูกระเบิดอานุภาพร้ายแรงนี้ ถูกนำไปทดสอบ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1961 บริเวณเกาะโนวายาเซมลยา ในเขตมหาสมุทรอาร์ติคตอนเหนือของรัสเซีย (Novaya Zemlya archipelago) ระเบิด ซาร์ บอมบา ถูกทิ้งลงจากเครื่องตูโปเลฟ ตู-95 ที่ระดับความสูง 10.5 กิโลเมตร (10,500 เมตร 34,448 ฟุต) เมื่อเวลา 11.32 นาฬิกา ตามเวลาท้องถิ่น ซาร์ บอมบา ได้รับการออกแบบให้จุดระเบิดด้วยเซนเซอร์บารอมิเตอร์ ที่ความสูง 4 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน (4.2 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเล) ระเบิดต้องหน่วงเวลาเพื่อให้เครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินสังเกตการณ์บินห่างออกห่างจากรัศมีของพลังการทำลายล้างในระยะทาง 47 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้ลูกเรือบนเครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินตรวจการณ์ ได้รับผลกระทบจากแรงอัดของระเบิด การทดสอบนี้ ร่มชูชีพขนาดใหญ่ที่ชะลอการร่วงหล่นติดอยู่กับระเบิด เพื่อเพิ่มโอกาสในการบินหลบหนีของเครื่องบิน เครื่องบินทิ้งระเบิด Tu-95 ยังเคลือบด้วยสีสะท้อนแสงสีขาวพิเศษ เพื่อป้องกันการแผ่รังสีความร้อนที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากการระเบิด อย่างไรก็ตาม ความน่าจะเป็นที่จะช่วยเพิ่มความอยู่รอดของนักบิน Andrei Durnovtsev และลูกเรืออยู่ที่ประมาณ 50% เท่านั้น คลื่นกระแทกของการระเบิดทำให้เครื่องบินสูญเสียระดับความสูงหนึ่งกิโลเมตรในทันที แต่ถึงกระนั้นก็ลงจอดอย่างปลอดภัย การระเบิดยังก่อให้เกิดลูกไฟขนาดยักษ์กลางอากาศ ก่อนที่จะตกลงสู่พื้น

...

ซาร์ บอมบา เป็นอาวุธนิวเคลียร์แบบแพร่ความร้อนยิ่งยวด มีการทำงาน 3 ขั้นตอนแบบ Teller–Ulam คือ ขั้นแรก ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันจะทำให้เกิดแรงอัด จากนั้นจึงเกิดปฏิกิริยาเทอร์โมนิวเคลียร์ให้ความร้อนมหาศาล และใช้พลังงานจากการระเบิดนำพาความร้อนให้มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างมากขึ้น จากการทดสอบ ซาร์ บอมบา ทำให้เกิดลูกไฟขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างถึง 8 กิโลเมตรในอากาศ สามารถมองเห็นและรู้สึกถึงคลื่นความร้อนได้ที่ระยะ 1,000 กิโลเมตร จากจุดศูนย์กลางการของการระเบิด มีรัศมีการทำลายในระยะ 100 กิโลเมตร จากศูนย์กลาง โดยทุกอย่างในรัศมี 40 กิโลเมตรได้ระเหยกลายเป็นไอทั้งหมด เมื่อก๊าซที่เกิดขึ้นปะทะกับเมฆ ทำให้เกิดเมฆรูปเห็ดที่มีความสูงประมาณ 64 กิโลเมตร ความกว้างของฐานเมฆประมาณ 40 กิโลเมตร

...

แม้ว่าระเบิดจะจุดชนวนเหนือพื้นดินเกือบ 2.5 ไมล์ (4 กิโลเมตร) แต่คลื่นกระแทกที่เกิดขึ้นได้ทำให้เกาะร้างที่ใช้ในการทดสอบแบนราบราวกับลานสเก็ต ทหารที่สังเกตการณ์ เห็นแสงสว่างที่อยู่ห่างออกไปกว่า 600 ไมล์ (965 กม.) และสัมผัสได้ถึงความร้อนภายในรัศมี 160 ไมล์ (250 กม.) จาก Ground Zero เมฆเห็ดขนาดมหึมาของระเบิดพุ่งขึ้นไปจนถึงขอบของอวกาศ

พลังงานที่ปลดปล่อยออกมาระหว่างการระเบิด เท่ากับ 2.1 x 1017 จูล หรือ 1% พลังงานเฉลี่ยที่ดวงอาทิตย์ที่ส่งมายังโลก การระเบิดในครั้งนั้น ยังได้ส่งแรงอัดมหาศาลสู่ห้วงอวกาศ ทำให้การสื่อสารบริเวณนั้นเป็นอัมพาตไป 1 ชั่วโมง

อานุภาพการทำลายล้างมหาศาลยากเกินควบคุม น้ำหนักที่มากถึง 26 ตัน และขนาดที่ใหญ่เทอะทะ ทำให้ ซาร์ บอมบา ไม่เหมาะสำหรับใช้เป็นอาวุธโจมตี โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่สามารถติดตั้งผ่านขีปนาวุธข้ามทวีปได้ ซาร์ บอมบา จึงไม่เคยถูกนำไปใช้ โดยแสดงความเหนือกว่าระเบิดนิวเคลียร์ของฝั่งตะวันตกเพียงแค่ครั้งเดียวจากการทดสอบ

หลังจากการทดสอบนิวเคลียร์ทั้งหมด 715 ครั้ง สหพันธรัฐรัสเซีย ได้ลงนามในสนธิสัญญาห้ามการทดสอบนิวเคลียร์แบบครอบคลุม (CTBT) เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2539. 


ข้อมูลบางส่วนจาก 
https://www.ctbto.org/specials/testing-times/30-october-1961-the-tsar-bomba