ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว Lexus ประกาศความเป็นตัวตนของแบรนด์หรูจากญี่ปุ่น และท้าทายรถซุปเปอร์คาร์จากฝั่งยุโรปด้วยความสดใหม่ผนวกเทคนิคล้ำยุคจากทีมแข่ง F1 ของ Toyota กับราคาที่แพงมหาศาล ทะลุเพดานรถยนตร์จากแดนปลาดิบทุกคันที่ว่าแพงแสนแพง โครงการออกแบบและผลิตรถสปอร์ตสมถรรนะสูงของค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota เริ่มขึ้นในปี 2005 หลังจากนั้นก็เริ่มปรากฏโฉมของ Concept Sport Car ในปี 2007 เพื่อแสดงให้เห็นว่า Toyota ตั้งใจที่จะผลิตมันออกขายอย่างจริงจัง ตามมาด้วยรถ Concept Roadster ที่นำออกโชว์ในงาน Tokyo Motor Show 2008 ประธานบริษัท Akio Toyoda ซึ่งก้าวเข้ามารับบทบาท CEO ของ Toyota เป็นบุคคลที่มีส่วนในการทำให้โครงการผลิตรถซุปเปอร์คาร์คันแรกของ Toyota เป็นจริงขึ้นมา Akio มีลักษณะคล้ายกับ Enzo Ferrari และ Ferdinand Piech คือหลงใหลในกีฬา Motorsport และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการส่งทีมแข่งของ Lexus โดยใช้รถต้นแบบ LFA ลงทำการแข่งขันในรายการ Nurburgring การบริหารทีมแข่ง F1 ของ Toyota และอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการแข่งรถทั่วโลกของบริษัท Toyota ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ถึงแม้ทีม Toyota จะถอนตัวจากการแข่งขัน F1 ในปี 2009 ไปแล้วก็ตาม แต่การผลิตซุปเปอร์คาร์ให้ดีที่สุดทั้งๆ ที่ Toyota ไม่เคยผลิตรถสปอร์ตประสิทธิภาพสูงมาก่อน นับว่าเป็นภารกิจที่ประธานบริหาร Akio Toyoda และทีมงาน Lexus ต้องเตรียมการและใช้ความมุ่งมั่นตั้งใจจนเกิดผลสำเร็จ LFA ถูกส่งออกขายทั่วโลกในจำนวนการผลิตเพียง 500 คัน ด้วยงบลงทุนในโครงการมหาศาลจนอาจยากที่จะมีรถโมเดลใดในค่ายของ Toyota ที่ใช้เงินลงทุนสูงจนเป็นประวัติการณ์เท่ากับโครงการสร้างรถ Lexus LFA เพื่อเข้ามาเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ Lexus ให้มีความมั่นคง

...

หลังจากเดินหน้าโครงการจนสายการผลิตจำนวน 500 คันของ Lexus LFA ครบจำนวนที่ผู้บริหารได้กำหนดไว้แล้ว ที่โรงงาน Miyoshi ของ Toyota - Lexus ในญี่ปุ่น มาตรฐานการผลิตซุปเปอร์คาร์คันแรกของค่ายหัวลูกศรเต็มไปด้วยความละเอียด ประณีต จากอะลูมิเนียมเหลวในขั้นตอนการหล่อบล็อกเครื่องยนต์แบบ V10 ส่วนที่เป็นแม่พิมพ์แบบสามมิติทรายถูกทาเอาไว้ด้วยเรซิน บล็อกเครื่องยนต์ทำจากทราย 37 ส่วน ใช้เวลาและขั้นตอนต่างๆ สำหรับการขึ้นรูปนานประมาณ 1 อาทิตย์ เมื่อบล็อกเครื่องยนต์ทั้งหมดถูกประกอบเข้าด้วยกัน แม่พิมพ์หล่อบล็อกเครื่องยนต์จะถูกเทลงไปด้วยอัลลอยหลอมเหลวอุณหภูมิ 750 องศาเซลเซียส สิ่งปนเปื้อนต่างๆ จะถูกตักออกมาในขั้นตอนของการหล่อบล็อกเครื่องยนต์ โลหะอัลลอยหลอมเหลวจะไหลลงไปตามแม่พิมพ์ ขณะเดียวกัน ตัวดูดสุญญากาศจะทำการดูดสิ่งที่ปนเปื้อนออกมาทั้งหมด สองชั่วโมงหลังจากอัลลอยเหลวเย็นตัวลง แม่พิมพ์ที่เป็นทรายจะถูกแกะออกมาและเผยให้เห็นบล็อกเครื่องยนต์ที่อยู่ด้านใน หลังจากนั้นบล็อกเครื่องยนต์ดังกล่าวจะถูกส่งไปที่แผนกผลิตเครื่องยนต์ของรถสูตรหนึ่งของ Toyota ซึ่งเป็นแผนกที่มีความลับระดับสูงสุดของบริษัท

...

พื้นที่ในโรงงานที่เป็นส่วนประกอบเครื่องยนต์ของ LFA เป็นเขตหวงห้ามที่ไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาเยี่ยมชมแต่อย่างใดทั้งสิ้น เป็นเวลากว่า 1 ทศวรรษมาแล้วที่ Toyota พยายามทุ่มเทให้กับการแข่งรถสูตรหนึ่ง แต่เมื่อไปประสบความสำเร็จเท่าที่ควร Toyota Motorsport GmbH หรือ TMG จึงถอนตัวออกมาในปี 2009 จนโรงงานไฮเทคแห่งนี้ไม่มีงานทำ สำหรับทีมช่างของ LFA แล้ว เป็นโอกาสอันดีที่วิศวกรและช่างเครื่องยนต์ของ Toyota-Lexus จะได้กลับมาสำแดงฝีมือในการผลิตเครื่องยนต์กำลังสูงอีกครั้ง โรงงานผลิตเครื่องยนต์รถสูตรหนึ่งของ Toyota จึงมีความเหมาะสมในการประกอบเครื่องยนต์ V10 ของ Lexus LFA บล็อกเครื่องยนต์ที่เพิ่งจะผ่านกระบวนการผลิตด้วยการหล่อจะถูกขัดแล้วเจาะรูตามแบบ ด้วยเครื่องขัดเจาะซึ่งผ่านการคำนวณอันแม่นยำของคอมพิวเตอร์ ก่อนจะเสร็จออกมาเป็นบล็อกเครื่องที่ถูกต้องตามแบบ หลังจากนั้นหุ่นยนต์จะส่งบล็อกเครื่องให้กับมนุษย์ ในห้องที่ถูกปิดผลึกไว้เป็นอย่างดี ช่างเครื่องจะใช้เครื่องมือลบส่วนที่มีความแหลมคมที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการหล่อออกไปจนหมด เป็นการใช้เครื่องมือขัดที่มีความแม่นยำสูง หลังจากนั้นมันจะถูกประกอบขึ้นเป็นบล็อกเครื่องยนต์เพื่อตรวจดูว่าชิ้นส่วนและรูที่ทำการเจาะทั้งหมดเข้ากันได้ตามแบบหรือไม่ บล็อกเครื่องและส่วนที่เป็นนอตยึดจะถูกประกบเข้ากันเป็นครั้งแรก เมื่อถูกถอดอีกครั้ง เครื่องยนต์จะถูกนำไปยังโรงงาน Iwata City ของ Yamaha ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ห่างออกไป 90 กิโลเมตรทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโรงงาน Toyota

...

...

ห้องผลิตเครื่องยนต์ใน Iwata City ของ Yamaha มีความเข้มงวดสูงมากสำหรับขั้นตอนในการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ห้องเหล่านี้มีการป้องกันฝุ่นละอองอย่างสูงสุด เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีสิ่งแปลกปลอมใดๆ หลุดรอดเข้าไปในห้องอย่างเด็ดขาด ห้องประกอบเครื่องยนต์ของ LFA ยังถูกควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อรับประกันการขยายตัวของโลหะจากความร้อนให้มีค่าตามที่กำหนด ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ 2,200 ชิ้น ถูกแบ่งออกเป็น 61 ชุดเพื่อประกอบตามหมายเลข วิศวกรที่มีทักษะสูง 4 คน แต่ละคนรับผิดชอบเครื่องยนต์ 1 ตัวที่จะประกอบชิ้นส่วนตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนแล้วเสร็จ เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดช่างเครื่องเหล่านี้ต้องทำตามคำสั่งบนหน้าจอ ควบคุมอย่างเคร่งครัด เครื่องยนต์ของ LFA แต่ละตัวจะใช้เวลาประกอบนานประมาณ 3 วัน เครื่องยนต์ที่ถูกประกอบด้วยมือจึงเป็นผลงานชิ้นเอกของช่างเครื่องแต่ละคนที่ลงมือประกอบ ก่อนที่จะถูกวางลงในห้องเครื่องของ LFA เครื่องยนต์จะถูกทดสอบอย่างหนักในห้องทดสอบที่อยู่ใกล้ๆ กับห้องประกอบ เครื่องยนต์ในโรงงาน Yamaha Iwata City เครื่องยนต์ขนาด 4.8 ลิตร V10 สูบตัวนี้ มีการออกแบบให้ตอบสนองต่อการเร่งความเร็วในทุกระดับ ใช้เวลาเพียงครึ่งวินาทีในการพุ่งทะยานไปถึง 9,000 รอบต่อนาที หมายรวมถึงการเร่งความเร็วแบบกะทันหันไม่ว่าผู้ขับจะอยู่ในเกียร์อะไรก็ตาม

เครื่องยนต์ V10 ของ LFA มีการตอบสนองที่ยอดเยี่ยมตามแบบอย่างของขุมกำลังซุปเปอร์คาร์เทคนิคของรถแข่ง F1 ทำให้เครื่อง V10 มีความเร็วรอบมากกว่าเครื่องยนต์ทั่วไป ระยะเวลาในการตอบสนองที่รวดเร็วและมีการทำงานที่แม่นยำ จำเป็นที่จะต้องใช้มาตรวัดแบบดิจิตอลในการวัดรอบเครื่องยนต์ที่กวาดไปมา อย่างรวดเร็วตามระดับของการกดคันเร่ง หากใช้มาตรวัดแบบเข็มซึ่งเป็นมาตรวัดแบบเก่า รอบเครื่องยนต์ที่ขึ้นเร็วมากของ LFA ไม่สามารถใช้ระบบการวัดรอบเครื่องยนต์แบบเก่าได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรวัดแบบดิจิตอล TFT LCD ส่วนเสียงความถี่สูงอันเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องแบบ V10 หายใจเองโดยไม่พึ่งพาระบบอัดอากาศ ถูกปรับแต่งในแผนกพิเศษของ Yamaha เพื่อที่จะสร้างเสียงของเครื่องยนต์อันเป็นเอกลักษณ์นี้ ค่าย Lexus ต้องพึ่งพาความเชี่ยวชาญของช่างปรับแต่งเสียงจาก Yamaha บริษัทแห่งนี้มีความเชี่ยวชาญระดับแนวหน้าในการผลิตฝาสูบ รถจักรยานยนต์พลังสูง เครื่องยนต์ของรถแข่งและเครื่องดนตรี สำหรับการปรับแต่งเสียงแล้ว บริษัท Yamaha คือผู้เชี่ยวชาญตัวจริงเสียงจริง ความสำคัญระหว่างรถซุปเปอร์คาร์และคนขับเหมือนกับความสัมพันธ์ของนักดนตรี และเครื่องดนตรีที่ใช้เล่น เมื่อนักดนตรีเล่นเพลงออกไป พวกเค้าจะฟังเสียงของเครื่องดนตรีที่ใช้เล่น และใช้เสียงนั้นพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ที่สำคัญก็คือเสียงเครื่องยนต์ของ LFA มีความแตกต่างกันถึงสองรูปแบบ คือ ท่อไอเสียที่จะทำให้คนทั่วไปรู้ว่ากำลังได้ยินอะไร และเสียงจากท่อไอดีที่คนขับจะได้ยินไปตลอดการขับขี่ LFA และเพื่อที่จะให้เสียงทั้งหมดออกมามีความสมบูรณ์แบบอย่างสูงสุด ผู้จัดการทั่วไปของแผนกปรับแต่งเสียงเครื่องยนต์ Maruyama Haji ของ Yamaha Motor ต้องปรับแบบส่วนประกอบของท่อไอดีที่อยู่ด้านบนของเครื่องยนต์ V10 ที่ถูกเรียกว่า Surge Tank Yamaha Sound Engine หลักการทำงานของ Surge Tank คือการส่งอากาศให้มีปริมาณเท่าๆ กันไปยังสูบทั้งสิบของเครื่องยนต์ V10 ใน LFA เสียงทั้งหมดนี้จะเข้าไปลดเสียงของชุดดูดอากาศเข้าท่อร่วมไอดี วิศวกรเสียงของ Yamaha พยายามคิดค้นรูปแบบของเสียงที่มีความแตกต่างกันออกไป อุปกรณ์ Surge Tank เข้ามาช่วยในการขยายเสียงเพื่อที่จะส่งต่อเสียงที่ถูกปรับแต่งแล้วมายังคนขับโดยตรง

Maruyama Haji ปรับแต่งช่อง Surge Tank ด้วยการปรับพื้นผิวด้านบนทั้งหมด โดยเพิ่มความสั่นสะเทือนที่อยู่ด้านบนของ Surge Tank การทำแบบนี้คล้ายกับการผลิตเครื่องดนตรีที่มีเอกลักษณ์ทางเสียงที่ไม่เหมือนใคร ทีมวิศวกรของ Yamaha ได้ส่งเสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนกลับไปยังห้องโดยสารด้วยการใช้ช่องเสียงสองช่อง คลื่นเสียงความถี่ต่ำจะถูกส่งไปยังบริเวณส่วนเท้าของคนขับใกล้กับคันเร่ง ส่วนคลื่นเสียงความถี่สูงจะถูกส่งตรงไปยังหูของคนขับตามลักษณะของการออกแบบ ช่องเสียงใน LFA ผู้ขับขี่จึงกำลังฟังเสียงแบบ Surround Sound ไปตลอดเวลาที่กำลังขับขี่ เครื่องยนต์ที่ปรับแต่งแล้วเสร็จจะถูกยกขึ้นไปวางลงในห้องเครื่อง เพื่อที่จะส่งต่อไปยัง LFA Work ที่นี่ เมื่อชิ้นส่วนของระบบขับเคลื่อนทั้งหมดถูกประกอบเสร็จสิ้นแล้ว มันจะถูกประกอบเข้ากับตัวถังโดยใช้สายตาของมนุษย์ในขั้นตอนของการยึดขันน็อต เมื่อขุมกำลังทั้งหมดเข้าที่ ของเหลวที่ใช้ในการหล่อลื่นเครื่องยนต์เช่น น้ำมันเครื่องและน้ำมันไฮดรอลิกต่างๆ จะถูกท่อปั๊มเข้าไปยังระบบ ปั๊มอัตโนมัติจะฉีดจ่ายน้ำมันเครื่อง น้ำมันเบรก น้ำหล่อเย็นลงไปในเครื่องยนต์ เมื่อทุกอย่างถูกเติมลงไปในปริมาณที่ถูกต้องแล้ว แผ่นไฟบอร์กลาสที่ถูกผลิตจากภายในสำหรับใช้ประกอบเป็นตัวถังด้านข้างและบานประตู (สาเหตุที่ต้องใช้ไฟเบอร์กลาสเนื่องจากคาร์บอนไฟเบอร์ไม่สามารถทำสีแบบ 4 ชั้นได้ตามมาตรฐานของ Lexus) วัสดุชนิดนี้ แม้จะมีราคาต่ำกว่าคาร์บอนคอมโพสิตแต่มันมีความแข็งแรงและมีน้ำหนักที่เบามาก หากรถประสบอุบัติเหตุการซ่อมบำรุงจะมีราคาที่ต่ำกว่าชิ้นงานคาร์บอนไฟเบอร์มาก

โรงพ่นสี LFA ตั้งอยู่ที่เดียวกันกับโรงงานประกอบของ Lexus ห้องพ่นสีของ LFA Work มีขั้นตอนส่วนใหญ่ผ่านการทำงานอันละเอียดซับซ้อนของหุ่นยนต์พ่นสี วิศวกรของ Lexus เชื่อว่าการใช้หุ่นยนต์พ่นสีจะมีความสม่ำเสมอมากกว่ามือมนุษย์ แต่มนุษย์ก็ยังคงทำงานร่วมกันกับหุ่นยนต์พ่นสีในการควบคุมดูแลฝุ่นละอองที่เป็นศัตรูอันร้ายกาจของห้องพ่นสีจะถูกกำจัดออกไปทั้งหมดจากห้องที่ปิดผลึกอย่างดี หากฝุ่นติดลงไปในพื้นผิวขณะทำการพ่น เมื่อถูกความร้อนในขั้นตอนของการอบ สีจะบวมพองขึ้นมาทันที บรรยากาศภายในโรงพ่นสีของ LFA Work จึงต้องสะอาดอยู่เสมอ พนักงานทุกคนจะถูกทำความสะอาดชุดก่อนเข้าไปทำงาน สีจำนวน 5 ชั้นจะถูกพ่นลงไปบนตัวถังของ LFA และจุดใดที่หัวพ่นของหุ่นยนต์เข้าไปไม่ถึง มนุษย์จะเข้าไปทำงานแทนเพื่อเก็บรายละเอียดทั้งหมดของการพ่นสีให้มีความสมบูรณ์สูงสุด เมื่อขั้นตอนการพ่นสี 4 ชั้นแล้วเสร็จ รถ LFA จะถูกนำเข้าไปยังเตาอบ แล้วอบสีด้วยอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นตัวถังจะถูกยกไปที่แผนกตรวจสอบคุณภาพสี หัวฉีดน้ำจะพ่นละอองน้ำไปในอากาศเพื่อป้องกันไม่ให้ฝั่นละอองตกลงไปยังเนื้อสี ผู้ตรวจสอบใช้แสงแบบพิเศษเพื่อตรวจหาริ้วรอยต่างๆ หากพบก็จะทำการขัดให้เรียบร้อยอีกครั้ง รถ LFA ที่พ่นสีเสร็จเรียบร้อยจะถูกลากออกไปจากโรงพ่น ไปยังโรงประกอบชิ้นงานส่วนที่ 3 เพื่อติดตั้งชิ้นส่วนที่เป็นคาร์บอนคอมโพสิตซึ่งเป็นโซนสุดท้าย ภายในของห้องโดยสารพวกคอนโซล เบาะและพรมจะถูกติดตั้งที่นี่ทั้งหมด รวมถึงล้ออัลลอยและยาง Bridgestone RE070 ล้อหน้าขนาด 265/35/ZR 20 95Y และล้อหลังขนาด 305/30/ZR 20 99Y เป็นยางชนิดพิเศษที่ Bridgestone ออกแบบให้กับ Lexus LFA

ปี 2011 รถ LFA รุ่นพิเศษถูกเปิดตัวภายใต้ชื่อ Nurburgring Edition เพื่อเป็นเกียรติแก่สนามแห่งนี้ สนามแข่ง Nurburgring ในเยอรมนีคือจุดกำเนิดของรถสปอร์ตสมรรถนะสูง LFA Nurburgring เครื่องยนต์ V10 ที่ถูกปรับแต่งให้มีกำลังมากยิ่งขึ้น แรงม้าเพิ่มเป็น 571 แรงม้า พลังที่เพิ่มขึ้นนี้ต้องอาศัยแรงกดตัวถังหรือ downforce มากยิ่งขึ้นเพื่อให้รถยึดเกาะกับผิวถนนได้ดีขึ้นกว่ารุ่นปกติ สปอยเลอร์หลังหรือวิงหลังขนาดใหญ่จึงถูกนำมาติดตั้ง ปีกที่ด้านหน้ากันชนซ้ายและขวาเข้ามาช่วยเพิ่มแรงกดให้มากขึ้นโช้คอัพที่เตี้ยลงอีก 10 มิลลิเมตร (จากสปริงแบบพิเศษ) และมีค่าที่แข็งกว่าสปริงของ LFA รุ่นมาตรฐาน ช่วยทำให้ LFA Nurburgring มีความเหมาะสมกับการขับในสนามแข่งความเร็วสูง เมื่อรถรุ่นพิเศษคันนี้มีแรงบิดเพิ่มขึ้น ระบบส่งกำลังซึ่งเป็นเกียร์อัตโนมัติควบคุมด้วยระบบไฟฟ้าจึงถูกปรับแต่งให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นตามไปด้วย การปรับแต่งเพื่อลดระยะเวลาในการเปลี่ยนถ่ายอัตราทดขึ้น-ลงให้เหลือน้อยที่สุด ชุดเกียร์ของ LFA Nurburgring มีการทำงานที่ว่องไวมาก การปรับเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ ขึ้น-ลงได้ในเวลาเพียง 0.2 วินาที (ในรุ่น Nurburgring เกียร์จะเปลี่ยนไวขึ้นอีก 0.15 วินาที) การผลิตรุ่น Nurburgring เพียงแค่ 50 คันเท่านั้น แต่ละคันมีราคาสูงกว่า LFA รุ่นมาตรฐาน 70,000 เหรียญ

เบาะหนังในรุ่นมาตรฐานถูกยกออกไปแล้วแทนที่ด้วยเบาะแข่งของ Recaro ยาง Bridgestone Potenza RE070 มีขนาดใหญ่ขึ้นและถูกออกแบบมาสำหรับลงทำการแข่งขัน ความสูงของช่วงล่างลดลง 10 มิลลิเมตรจากโช้คอัพเดิมและสปริงแบบใหม่ แผ่นสปลิตเตอร์ที่ใหญ่ขึ้นและปีกเล็กที่ด้านข้างของกันชนหน้าที่เรียกว่า Canard ทำจากคาร์บอน ทั้งหมดทำให้น้ำหนักตัวของ LFA Nurburgring ลดลงอีก 10 กิโลกรัม เกียร์เปลี่ยนได้เร็วขึ้นจาก 0.20 วินาที มาเป็น 0.15 วินาที เร็วพอๆ กันกับเกียร์ของ Ferrari FF

การนำเอาวัสดุผสมประเภทเส้นใยคาร์บอน และอะลูมิเนียมมาใช้ถือเป็นเรื่องปกติที่วงการซุปเปอร์คาร์นิยมนำมาประกอบ ขึ้นเป็นตัวรถโดยมุ่งเน้นไปที่การลดน้ำหนัก แต่มีความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น ตัวถังของ Lexus LFA มีความเบามากกว่าทั้ง Aston Martin DBS และ Ferrari 599 ซึ่งรถสปอร์ตจากฝั่งยุโรปทั้งสองค่ายใช้อะลูมิเนียมมาทำเป็นโครงรถ แต่ Lexus LFA ใช้ทั้งคาร์บอนคอมโพสิตและอัลลอยส่วนผสมพิเศษมาขึ้นรูปเป็นแซสซี โครงสร้างตัวถังและชิ้นส่วนต่างๆ มากถึง 65% จากน้ำหนักของตัวรถ โดยมีอัตราการกระจายน้ำหนักที่เกิดจากการวิเคราะห์ในสนามแข่งขันจนมีค่าที่ เหนือกว่าทั้ง Porsche 911/997 Turbo และ Ferrari 599 GTB จากข้อมูลในการประมวลผลที่ได้รับในการวิ่งทดสอบในสนามแข่งรถของเยอรมนี ที่ Nurburgring ระบบแอร์โรไดนามิกที่เกิดจากการทดสอบทางอากาศพลศาสตร์ของ Lexus LFA เกิดขึ้นจากความคิดที่เรียบง่ายด้วยการทำให้อากาศไหลผ่านบริเวณใต้ท้องรถ เคลื่อนที่ได้เร็วกว่าอากาศที่ไหลผ่านตัวถังด้านบนด้วยการใช้หลักการ "ล่างไหลเร็วกว่าบน" ผลที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือแรงกดหรือค่า Down force ที่สูงขึ้นเมื่อวิ่งด้วยความเร็ว ซีลปิดใต้ท้องเพื่อลดกระแสหมุนวนของอากาศช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความเสถียรให้กับ Lexus LFA 

อากาศที่ไหลผ่านตัวถังด้านบนทั้งหมด ถูกทำให้เคลื่อนที่ช้าลงเพื่อนำมาสู่แรงกดของตัวรถ ซึ่งเป็นหน้าที่ของครีบและท่อดักอากาศที่ทำเป็นพอร์ตอยู่ในบริเวณทั่วทั้งคัน เช่น สปอยเลอร์หน้าขนาดใหญ่และมีช่องทางนำอากาศเข้าถึงสามช่อง ช่องตรงกลางที่มีขนาดใหญ่สุดใช้ในการนำเอาอากาศเข้าไประบายความร้อนให้กับเครื่องยนต์และนำส่วนหนึ่งไปที่ท่อไอดี ส่วนสองช่องทางด้านซ้ายและขวาทำหน้าที่ระบายความร้อนให้กับ Oil Cooler ของระบบหล่อลื่นแบบ Dry Sump และเป่าลมเย็นให้กับจานดิสแบบคาร์บอนเซรามิก ชายล่างของประตูและมุมขอบเสาหลังมีปล่องดักอากาศที่ใช้ทั้งการเพิ่มแรงกด และการระบายความร้อนให้กับชุดเบรกหลังและหม้อน้ำที่อยู่ในตำแหน่งประหลาดที่สุด (หม้อน้ำทั้งคู่อยู่หลังซุ้มล้อหลัง) วิงหลังอัตโนมัตที่มีการทำงานร่วมกันระหว่างมอเตอร์ขนาดจิ๋วและตัวตรวจจับสปีดของรถ ในสภาวะการวิ่งปกติที่ใช้ความเร็วต่ำ วิงหลังหรือ Active Rear Wing ของ Lexus LFA ในรุ่นปกติจะถูกพับเก็บอยู่บนขอบของฝาท้าย และจะทำงานด้วยการยกตัวขึ้นทันทีที่ความเร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมการทำงานในระบบอัตโนมัติด้วยการแปรผันองศาของ Wing ไปตามความเร็วของตัวรถเพื่อเพิ่มหรือลดค่าแรงกดของอากาศด้วยการใช้งานอย่างสูงสุดในทุกย่านความเร็ว ส่วนวิงหลังของรุ่นพิเศษ LFA Nurburgring ซึ่งทำจากคาร์บอนคอมโพสิต จะถูกยึดติดตายกับฝาท้ายแบบของรถแข่ง

เครื่องยนต์วางด้านหน้าตามยาว V10 สูบ ขนาด 4.8 ลิตร 4,805 ซีซี. ตำแหน่งของเครื่องยนต์ถูกร่นให้เข้าหากึ่งกลางของตัวรถมากที่สุดเพื่อการกระจายน้ำหนักที่ดี เครื่องตัวนี้เลียนแบบเครื่องยนต์ V10 ของรถแข่ง F1 โดยไม่มีระบบอัดอากาศ เครื่องยนต์จะหายใจด้วยตัวเองโดยนำเทคโนโลยีที่ใช้ในรถแข่ง F1 ของทีม Toyota เข้ามาผนวกกับการออกแบบชิ้นส่วนทั้งภายนอกและภายในตัวเครื่อง รวมถึงระบบนำอากาศเข้าสู่ไอดี แคมชาร์ป วาล์วไอดีระบบแปรผันแบบใหม่ล่าสุดทั้งสองฝั่ง Dual VVT-i และระบบระบายความร้อนที่ใช้หม้อน้ำสองใบที่ติดตั้งอยู่ใกล้กับซุ้มล้อหลัง ระบายพร้อมกันทั้งสองฝั่ง ต้นกำลังของ LFA Nurburgring Edition สร้างแรงม้าได้ถึง 571 ตัวพร้อมแรงบิด 500 นิวตันเมตร แรงบิดของมันยังคงด้อยกว่า Ferrari California อยู่เล็กน้อย ทั้งที่ความจุของเครื่องยนต์วี 8 ใน Ferrari California ต่ำกว่า Lexus LFA อยู่ถึง 300 ซีซี. ระบบส่งกำลังเกิดจากเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ASG ที่สามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ขึ้น-ลงได้ในเวลาเพียง 0.2 วินาที (ในรุ่น Nurburgring เกียร์จะเปลี่ยนไวขึ้นที่ 0.15 วินาที) เกียร์ทั้งยวงถูกนำไปรวมอยู่กับชุดเฟืองท้ายเหมือนกับ Aston Martin DBS โดยมีเพลากลางคาร์บอนเชื่อมต่อกับเครื่องยนต์ที่ด้านหน้าเพื่อเหตุผลของการเฉลี่ยและลดน้ำหนักให้มีความสมดุลทั่วทั้งคัน หม้อน้ำอะลูมิเนียมทั้งสองใบมีพัดลมไฟฟ้าขนาดใหญ่เมื่อบวกกับดีไซน์ประหลาดใน การนำมันมาไว้ด้านหลังเนื่องจากการใช้ประโยชน์ของพื้นที่โครงสร้าง และการนำเอาอากาศความเร็วสูงท่ีไหลมายังส่วนบนช่วยระบายความร้อน ในขณะเดียวกัน ท่อเพื่อปลดปล่อยกระแสลมให้ออกไปทางด้านหลังสามารถถ่ายเทลมได้อย่างไร้ขีดจำกัด น้ำหนักรวมทั้งคันประมาณ 1,580 กิโลกรัม ตามระดับของการตกแต่งที่สามารถเลือกออปชั่นระบบอำนวยความสะดวกได้อีกเพียบ โครงสร้างรอบห้องโดยสารประกอบขึ้นจากวัสดุ CFRP หรือ Carbon Fiber Re-Inforced Plastic โดยนำเส้นใยเหล่านั้นมาถักทอขึ้นเป็นรูปทรงของชิ้นส่วนตามต้องการ มีคุณสมบัติในการรับแรงไม่แตกต่างไปจากเหล็กกล้า จากนั้นจึงนำเอาชิ้นส่วนที่ขึ้นรูปมาเชื่อมต่อกันเป็นโครงรถด้วยการประกอบด้วยมือของช่าง แทนที่การประกอบด้วยหุ่นยนต์เพื่อความละเอียดและแม่นยำประณีตสูงสุด

ชุดบังคับเลี้ยวมีการพัฒนาพวงมาลัยที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าควมคุมด้วยสมองกลไฟฟ้าถูกนำเข้ามาติดตั้งในรถทดสอบ และสามารถทำได้ตามค่าที่วิศวกรของ Toyota ตั้งไว้ Lexus LFA จึงใช้มันแทนพวงมาลัยพาวเวอร์ที่ใช้ระบบน้ำมันไฮดรอลิกแรงดันสูง เนื่องจากปัญหาของการกินกำลังจากเครื่องยนต์และชิ้นส่วนต่อเชื่อมรวมถึงน้ำหนักที่มากกว่าพวงมาลัยไฟฟ้า การทำงานของพวงมาลัยไฟฟ้าในรถ LFA แบบอัตราทดคงที่สื่อสารกับผู้ขับได้ในระดับที่ดีสามารถถ่ายทอดความรู้สึกและสัมผัสจากผิวถนนได้ดีกว่า เนื่องจากมันมีระบบช่วยทรงตัว ESP ที่จะทำงานในระดับสูงสุดทุกครั้งที่ตัวรถเสียอาการ ทำให้พวงมาลัยพาวเวอร์แบบเก่าหมดความหมายไปโดยปริยาย ส่วนระบบกันสะเทือน ด้านหน้าของ Lexus LFA ใช้แบบปีกนกคู่อะลูมิเนียมดับเบิ้ลวิชโบนพร้อมเหล็กกันโคลงที่มีการปรับตั้งให้ทำงานประสานไปกับ พวงมาลัยไฟฟ้าได้ดี ส่วนด้านหลังจะใช้แบบมัลติลิงก์ โดยชิ้นส่วนของช่วงล่างจำนวนมากใน Lexus LFA จะทำจากอะลูมิเนียมและสามารถปรับตั้งได้ถึงสามระดับ

งานประกอบที่เน้นความละเอียดประณีตสูงสุด ทำให้เกิดความล่าช้า แต่ไม่ใด้ก่อปัญหาใดๆ ในขั้นตอนของการทำงาน หัวหน้าวิศวกรของ Lexus Mr. Yamanaka อบรมพนักงานและช่างทุกคนให้ทำงานช้าๆ ด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงความแม่นยำเป็นหลัก เนื่องจากพนักงานทุกคนในโรงงานแห่งนี้กำลังประกอบจักรกลที่มีคุณภาพ และเพื่อเป็นการรับประกันคุณภาพของงานที่ออกมาจึงจำเป็นต้องใช้เวลามากกว่าปกติ ซึ่งหมายถึงการทำงานล่วงเวลาเพื่อให้สายการผลิตเป็นไปตามที่ผู้บริหารกำหนดคือ รถ LFA หนึ่งคันต่อหนึ่งวันที่จะต้องวิ่งออกจากโรงงานไปยังบ้านของลูกค้า การผลิตออกมาเพียงแค่ 500 คัน ทำให้รถ Lexus LFA ต้องยุติสายการผลิตลงเมื่อครบสองปี และทำให้มันกลายเป็นรถที่มีความพิเศษมาก ผู้บริหารของค่ายหัวลูกศรไม่มีแผนที่จะผลิตเพิ่ม ราคาของ LFA อยู่ที่ 375,000 เหรียญยูเอส หรือคิดเป็นราคารวมอัตราภาษีของประเทศไทยจะอยู่ที่ประมาณ 53 ล้านบาท (เมื่อ 15 ปีก่อน) เป็นเรื่องยากหากคิดจะหากำไรจากการผลิตรถยนต์ในรูปแบบลิมิเต็ดอิดิชั่นเพียงแค่ 500 คัน และแต่ละคันมีต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาสูงกว่ารถ Lexus ทั่วไปหลายสิบเท่า ซุปเปอร์คาร์ LFA ถือเป็นรถถนนที่แพงที่สุดของญี่ปุ่น แม้จะมีราคาแพงระยับ แต่เมื่อคิดต้นทุนของการวิจัย พัฒนา และสร้างขึ้นมาทั้งคันแล้ว งานนี้ขอบอกว่า Lexus ขาดทุนย่อยยับแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำกันเลยทีเดียว แต่การผลิต LFA ออกมาได้ยกระดับแบรนด์ Lexus ให้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก ตำนานของ LFA จะทำให้ลูกค้าพึงพอใจอย่างมากกับรถทุกคันของ Lexus ที่ผลิตออกขาย.


Lexus LFA Specifications
แบบ.............................................. สปอร์ตสองประตูสองที่นั่ง
ลักษณะการวางเครื่องยนต์.............. เครื่องยนต์วางด้านหน้าทำมุม 70 องศา ขับเคลื่อนล้อหลัง
เครื่องยนต์....................................V10 สูบ 40 วาวล์ 4วาว์ลต่อสูบ ดับเบิ้ลโอเวอร์เฮตแคม
ปริมาตรความ จุ..............................4,805 ซีซี.
แรงม้า สูงสุด..................................552 แรงม้าที่ 8800 รอบต่อนาที
แรงบิด สูงสุด..................................480 นิวตันเมตรที่ 6800 รอบต่อนาที
ปริมาณแรงม้าต่อลิตร......................114.6 แรงม้า/ลิตร
อัตราส่วน กำลังอัด..........................12:0:1
ระบบจ่ายเชื้อ เพลิง..........................หัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์
ฝา สูบ/ลูกสูบ..................................อะลูมินัมอัลลอย
อัตราเร่ง........................................0-100 กิโลเมตรใน 3.8 วินาที
ความเร็ว สูงสุด...............................325 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ระบบส่ง กำลัง................................เกียร์เซมิออโต้ ASG 6 สปีด

ระบบ กันสะเทือน
ด้านหน้า.......................................ดับเบิ้ลวิช โบน คอยสปริง เหล็กกันโคลง
ด้าน หลัง.......................................มัลติลิงก์ คอยสปริง เหล็กกันโคลง
ล้อและยาง
ด้าน หน้า.......................................265/35/ZR 20 95Y Bridgestone RE070
ด้านหลัง.......................................305/30/ZR20 99Y Bridgestone RE070

ระบบเบรก
ด้านหน้า.......................................จานดิสเบรกคาร์บอน 390 มิลลิเมตร คาร์ลิปเปอร์ 6 สไลส์ลูกสูบ
ด้านหลัง.......................................จานดิสเบรกผสม 360 มิลลิเมตร คาร์ลิปเปอร์ 4 สไลส์ลูกสูบ

มิติตัวถัง
ความกว้าง....................................1,895 มิลลิเมตร
ความยาว......................................4,505 มิลลิเมตร
ความสูง........................................1,220 มิลลิเมตร
น้ำหนัก.........................................1,480.73 กิโลกรัม
จำนวนการผลิต..............................500 คัน
ราคา...........................................ประมาณ 53 ล้านบาท