Toyota Crown Sport SUV รถตรามงกุฎสไตล์สปอร์ตที่เน้นความ Luxury นี่คือ Crown เจเนอเรชันที่ 16 ตัวรถพัฒนาบนแพลตฟอร์ม TNGA (GA-K) มีการปรับแต่งรายละเอียดเพื่อเน้นไปที่ไดนามิกและความสะดวกสบาย อุปกรณ์ตกแต่งแบบสปอร์ตรอบคัน พร้อมกับประสิทธิภาพ รวมถึงเสถียรภาพในการขับขี่ขั้นสูง นวัตกรรมระบบความปลอดภัย TSS เทคโนโลยีความปลอดภัยแบบใหม่ Toyota Safety Sense 3.0 ระบบช่วยเหลือการขับขี่ของ Toyota เวอร์ชันล่าสุด 

...

Toyota Crown รุ่นที่ 16 มีตัวถังให้เลือกถึง 4 แบบ ทีมพัฒนาของ Toyota ได้ผลักดันองค์ประกอบหลักของ "Crownness" ให้มีความสมบูรณ์แบบ นั่นก็คือ เงียบ ปราศจากเสียงรบกวนจากภายนอกที่ความเร็วต่ำ สะดวกสบาย และคุณภาพงานประกอบภายนอกภายในมาตรฐานเรือธงของ Toyota การใช้งานในแต่ละรุ่นที่คล้ายคลึงกัน แต่แตกต่างด้วยคุณลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละรุ่นที่ใช้สไตล์ไม่เหมือนกัน

“เราตั้งใจที่จะพัฒนารถยนต์ที่น่าตื่นตาตื่นใจเมื่อได้มอง สัมผัส และทดลองขับ” Yuji Honma ผู้ดูแลการวางแผนผลิตภัณฑ์สำหรับ Crown Sport กล่าว

Yuji Honma รับหน้าที่ด้านการออกแบบตัวถังรถเมื่อเข้าร่วมงานกับ Toyota โดยออกแบบระบบกันสะเทือนและปรับแต่งสัมผัสของพวงมาลัยพาวเวอร์ไฟฟ้าในรถยนต์รุ่นต่างๆ เช่น Lexus GS และ RX ในฐานะหัวหน้าวิศวกรของ Crown รุ่นที่ 16 ปัจจุบัน  Honma ทำหน้าที่ประสานงานการพัฒนารถยนต์ทั้งคัน

"เราต้องการสร้างสิ่งที่ทุกคนสามารถเพลิดเพลินได้ แทนที่จะเป็นรถสปอร์ตแบบฮาร์ดคอร์ Crown Sport ไม่ใช่แค่รถสปอร์ตธรรมดาๆ เท่านั้น แต่ยังมีชีวิตชีวาเมื่อโลดแล่นอยู่บนถนนโล่งๆ นั่นคือเป้าหมายของ Toyota

Shinichiro Matsumiya วิศวกรจากแผนกพัฒนาแพลตฟอร์ม MS เป็นผู้นำในการออกแบบและพัฒนาประสิทธิภาพของตัวถังของ Crown Series หลังจากออกแบบตัวถังครอสโอเวอร์เสร็จแล้ว Matsumiya เล่าว่า เขาต้องเผชิญกับภารกิจอันน่าท้าทายในการปรับปรุงความสำเร็จดังกล่าวสำหรับการปรับแต่ง Crown Sport 

...

"เราเริ่มต้นด้วยการสร้างรถที่พัฒนาขึ้นโดยมีฐานล้อที่สั้นลง อ้างอิงจากตัวเลขฐานล้อของรถ Crossover การทำงานร่วมกับ Katayama นักขับทดสอบ เพื่อปรับแต่ง Crown Sport ให้มีความลงตัว มีการติดตั้งสปริงที่แข็งขึ้นและเหล็กกันโคลงหนาขึ้น รวมถึงยังปรับการตอบสนองของโช้คอัพให้เหมาะสมกับสไตล์ของรถ คุณไม่สามารถสร้าง Crown ได้โดยการเสริมความแข็งแกร่งให้กับช่วงล่างของรถเพียงอย่างเดียว ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับไดนามิกที่บ่งบอกถึงความเป็น Crown"

...

Tomoyuki Katayama นักขับทดสอบของ Toyota Motor จากแผนก Advanced Technical Skills Institute  แจงรายละเอียดของการปรับแต่ง Crown รุ่นล่าสุด ว่า "มีองค์ประกอบบางอย่างที่ Crown จะต้องคงไว้ นั่นก็คือความหรูหราและสะดวกสบาย นิ่มนวล เงียบและคล่องตัว"

...

มาที่ Toyota Crown Crossover รถอเนกประสงค์แบบยกสูงสไตล์ครอส ถูกปรับแต่งให้มีการขับขี่ที่นุ่มนวล ให้ความรู้สึกพรีเมียมตั้งแต่ความเร็ว 0 ไปจนถึง 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง Katayama บอกกับทีมพัฒนาว่า แม้รถรุ่นนี้จะถูกระบุว่าเป็นรุ่นสปอร์ต แต่ Crown ทุกคันก็ต้องใส่ใจในรายละเอียดดังกล่าว

Kazuma Terao จากแผนก TC Vehicle Evaluation & Engineering เป็นหนึ่งในทีมวิศวกรที่ร่วมพัฒนาเสถียรภาพการควบคุมและความสบายในการใช้งาน เมื่อมีโจทย์ตั้งเอาไว้แล้วว่า Crown Sport จะต้องสมบูรณ์แบบทั้งรูปลักษณ์และฟิลลิ่งหลังพวงมาลัย ชื่อรุ่น “Sport” แน่นอนว่าจะต้องเป็น Crown ที่สามารถสร้างสัมผัสพิเศษเชื่อมโยงกับฟิลลิ่งมอเตอร์สปอร์ต สำหรับลูกค้าที่เน้นความโฉบเฉี่ยว 

น้ำหนักเพียงนิดเดียว สามารถสร้างความแตกต่างด้านฟิลลิ่ง นอกจากความรู้สึกในการควบคุมแล้ว รถที่พัฒนาขึ้นในช่วงแรก ยังสร้างความกังวลให้กับทีมวิศวกรก็คือ ความสมดุลระหว่างช่วงล่างหน้าและหลัง Katayama กล่าวว่า "ช่วงล่างหน้าให้ความรู้สึกแข็งเกินไป  เมื่อเหยียบคันเร่งหรือเหยียบเบรก น้ำหนักจะถ่ายเทไปที่ล้อหน้า ต้องทำให้ผู้ขับเลี้ยวได้ตามต้องการ Toyota Crown ที่พัฒนาขึ้นในช่วงแรกไม่มีปัญหาในการเบรกอย่างรุนแรงและเกิดแรง G สูง เช่นเดียวกับการเข้าโค้งบนสนามแข่ง แต่ในสภาพการขับขี่ในเมืองที่คนขับมักผ่อนคันเร่งและเหยียบเบรกเบาๆ ที่ทางแยก ช่วงล่างหน้าที่แข็งจะทำให้ถ่ายเทน้ำหนักไปที่ล้อหน้าได้ไม่ดี ทำให้มุมเลี้ยวโป่งออกด้านนอกมากกว่าที่ผู้ขับตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นรถสปอร์ตหรือรถบ้านๆ ผมต้องการให้แน่ใจว่าแม้ในย่านความเร็วต่ำในเขตเมือง น้ำหนักจะถ่ายเทไปมาได้อย่างเหมาะสมตามความคาดหวังของผู้ขับ ทำให้ควบคุมได้ง่าย ไม่มีอาการโคลงตัวหรือย้วยยวบยาบ

Masao Tsukada ทำหน้าที่เป็นหัวหน้านักขับทดสอบของ Toyota Crown Sport มีส่วนร่วมในการพัฒนายานยนต์ขั้นสูง ตลอดระยะเวลาที่ทำงานอยู่ใน Toyota ปี 2019 Tsukada ถูกย้ายไปที่แผนกพัฒนาวิศวกรรมยานยนต์ (DTG) โดยเข้าไปทำหน้าที่กำกับดูแลการพัฒนายานยนต์ Toyota รุ่นใหม่ เช่น Camry, RAV4, Harrier และ Crown Sport

การเข้าโค้ง เกี่ยวข้องกับฟังก์ชันหลักทั้งหมดของรถ วิศวกรตัวถังและระบบกันสะเทือนทำงานร่วมกับสมาชิกในทีมเพื่อควบคุมการเร่งความเร็วและประสิทธิภาพของระบบเบรก โดยปรับแต่งหลายครั้งจนได้ค่าที่ลงตัว เพื่อให้รถส่งถ่ายสัมผัสในแบบที่ Tomoyuki Katayama ตั้งเป้าหมายไว้

ในอดีต พนักงานของ  Toyota จะถูกแบ่งออกไปตามสายงานที่มีความถนัด เจ้าหน้าที่ที่ปรับแต่งระบบรักษาเสถียรภาพของรถ จะทำงานเฉพาะหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ส่วนเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านสมรรถนะของเครื่องยนต์ก็จะเน้นไปที่เครื่องยนต์แต่เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวทางดังกล่าว จึงยากที่จะปรับประสิทธิภาพโดยรวมให้เหมาะสม ทั้งหมดประกอบไปด้วยการขับ เร่ง เลี้ยว และหยุดรถ

ปัจจุบัน ทีมงานของ Toyota มีการปรับโครงสร้างการทำงานไปตามรถแต่ละรุ่น เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะแบบไดนามิกจะร่วมมือกันพัฒนาเป็นกลุ่มก้อนเพื่อความหลากหลายในด้านแนวคิด เมื่อปรับแต่งโช้คอัพให้ละเอียดขึ้น เพื่อแก้ปัญหาระบบกันสะเทือนหน้าที่กระด้างเกินไป ความต่างศักยของแรงหน่วงระหว่างสเปกที่ Katayama กำหนดและสเปกที่เขาปฏิเสธ มีค่าแตกต่างกันเพียง 3 นิวตันเท่านั้น

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆก็คือ  รถยนต์น้ำหนัก 1,800 กิโลกรัม 3 นิวตันเท่ากับน้ำหนักแค่ 300 กรัมเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การลดความต้านทานของโช้คอัพลงสามนิวตัน ทำให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของรถไปอย่างสิ้นเชิง โดยค่าเฉลี่ย สามนิวตันนั้นน้อยเกินไปที่จะแสดงตัวเลขบนกราฟ ด้วยการได้สัมผัสกับการทดสอบบนถนนจริงและทำความเข้าใจค่าความแตกต่างทางตัวเลขเพียงเล็กน้อย วิศวกรของ Toyota ที่ทำงานร่วมกับ Katayama และนักขับทดสอบคนอื่นๆ ทำให้การพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ดีขึ้น

Crown รุ่นที่ 16 มีตัวถังให้เลือก 4 แบบ ได้แก่ Crossover, Sport, Sedan และ Estate ความหลากหลายถูกปรับให้เหมาะกับลูกค้าในยุคที่ค่านิยมมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ถึงแม้จะมีตัวถังที่แตกต่างกัน แต่ Crown ทั้ง 4 รุ่น ให้ความรู้สึกในการควบคุมที่เป็นเอกลักษณ์ ด้วยวิวัฒนาการจากรุ่นสู่รุ่น “Crownness” ผสมผสานความเงียบ ความสะดวกสบาย และคุณภาพเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน

Crown รุ่นที่ 16 เปิดตัวครั้งแรกในโลกในปี 2022 แต่ละรุ่นก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันไปสำหรับสไตล์ของตัวถัง ทุกคันมีบุคลิกเฉพาะตัว สร้างขึ้นจากความรู้สึกแบบ Crown นักขับทดสอบปรับแต่งอย่างละเอียดโดยเฉพาะค่าของโช็คอัพและสปริง รวมถึงการเลือกขนาดของล้อและยางที่มีความสมดุล เพื่อสร้างความรู้สึกมั่นใจ การทดสอบรถที่อยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาโดยใช้ความสามารถในการตรวจจับค่าความแตกต่างเพียงแค่นิดเดียว ซึ่งค่าดังกล่าวไม่ปรากฏอยู่ในข้อมูลที่บันทึกขณะขับทดสอบ เหมือนกับการพัฒนายานยนต์ Lexus ค่าที่เปลี่ยนแปลงเพียงนิดเดียวอาจทำให้ดีขึ้นหรือแย่ลง การหาจุดสมดุลสูงสุดของรถจึงเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนมากกว่าผู้คนส่วนใหญ่จะเข้าใจ

ในช่วงเริ่มต้นการพัฒนา Crown รุ่น Crossover หัวหน้าทีมวิศวกร Akihiro Sarada ซึ่งดูแลโครงการนี้ และ Keiichi Yoneda ผู้จัดการทั่วไปของโครงการ ซึ่งรับผิดชอบการพัฒนาแพลตฟอร์ม เดินทางมาที่แผนก Advanced Technical Skills Institute เพื่อทำการเสนอแนะ หนึ่งในพนักงานของ Toyota เพียง 12 คนที่ได้รับตำแหน่งทาคูมิ (ช่างฝีมือระดับปรมาจารย์) คาตายามะเป็นตัวแทนของ “ทักษะทางเทคนิคขั้นสูง” ที่เป็นที่มาของชื่อแผนก เขาเป็นส่วนหนึ่งของทีม FD ซึ่งดำเนินการตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานแบบไดนามิกของรถยนต์สำหรับการพัฒนาขั้นสุดท้าย

Tomoyuki Katayama ทุ่มเทให้กับการพัฒนาทักษะควบคุมรถยนต์ Toyota ผ่านมอเตอร์สปอร์ต โดยเข้าร่วมการแข่งขันในรายการ 24 Hours of Nürburgring Endurance Race ในปี 2016 Katayama มีส่วนร่วมในการพัฒนา Crown ตั้งแต่รุ่นที่ 9 ซึ่งเปิดตัวในปี 1991 สำหรับ Crown รุ่นล่าสุด Katayama เข้ามารับผิดชอบดูแลการควบคุมพลวัตการขับขี่ของทั้งสี่รุ่น รวมถึงให้คำแนะนำแก่นักขับทดสอบที่กำลังปรับแต่งรถ Crown ละรุ่นในเก็มบะ และดำเนินการตรวจสอบในขั้นตอนสุดท้าย ในบรรดานักขับทดสอบ Tomoyuki Katayama ถือเป็น Crown Meister ตัวจริง 

Toyota Crown เป็นยานยนต์รุ่นเรือธงของแบรนด์สามห่วง มีประวัติศาสตร์ย้อนหลังยาวนาน เป็นโมเดลที่คน Toyota มีความภาคภูมิใจในการนำเสนอยานยนต์ที่ถือเป็นที่สุดของแบรนด์สามห่วง เมื่อพิจารณาจากสถานะและระดับราคาแล้ว ลูกค้ามีความคาดหวังที่สูงมาก ความท้าทายก็คือ การพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ โดยอิงจากแพลตฟอร์ม TNGA รถ Crown รุ่น ใหม่ต้องมีเสถียรภาพที่ความเร็วสูง หลังจากที่ได้เปลี่ยนแนวทางให้รถมีความสปอร์ตขึ้น การพัฒนาที่ Nürburgring ในประเทศเยอรมนี ทำให้ Crown Crossover วิ่งได้อย่างที่ทีมวิศวกรต้องการ

การสร้างรถทดสอบ ใช้พื้นฐานมาจาก Lexus ES ซึ่งใช้แพลตฟอร์ม TNGA โดยมีตัวถังที่ยกสูงขึ้นในรูปแบบของรถ Crossover ระบบกันสะเทือนมัลติลิงค์พัฒนาขึ้นใหม่ ระบบช่วยเลี้ยวล้อหลังแบบไดนามิก (DRS) เมื่อยกความสูงของรถขึ้นและใส่ล้อใหญ่ขึ้น จุดศูนย์ถ่วงก็จะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว  จุดศูนย์ถ่วงของรถครอสโอเวอร์ อยู่ระหว่างรถเก๋งและรถ SUV ให้ความรู้สึกแตกต่างจาก Crown รุ่นอื่นๆ ด้วยฟิลลิ่งการขับขี่ที่ไม่เหมือน Crown รุ่นอื่น ข้อดีของรถเครื่องวางหน้าขับเคลื่อนล้อหลัง คือ การตอบสนองของพวงมาลัย ควบคู่ไปกับความเสถียรในการควบคุมและความสบายในการขับทางไกล ในทางตรงกันข้าม จุดศูนย์ถ่วงที่สูงขึ้นใน Crown Crossover ทำให้มีแนวโน้มที่ตัวถังจะเกิดอาการโคลงตัวมากขึ้นเมื่อเข้าโค้ง หากพยายามแก้ไขด้วยช่วงล่างที่แข็งขึ้น รถก็จะสูญเสียความรู้สึกนุ่มนวลที่เป็นเอกลักษณ์ของ Crown สัมผัสดังกล่าวถือเป็นจุดศูนย์กลางของความเป็น Crown 

Ryo Higashiura วิศวกรในแผนกวิศวกรรมยานยนต์ของ MS ชี้ให้เห็นว่าแพลตฟอร์มใหม่ขาดความแข็งแกร่งของตัวถังและต้องมีการเสริมบางจุดให้รับแรงบิดได้ดีขึ้น ความแข็งแกร่งสูงช่วยหยุดไม่ให้ตัวรถโค้งงอหรือสั่นสะท้าน ทำให้ระบบกันสะเทือนเคลื่อนที่ได้อย่างลื่นไหล สร้างความสบายในการขับมากขึ้น การขาดความแข็งแกร่งของตัวรถ โดยเฉพาะที่ส่วนท้าย วิศวกรของ Toyota ต้องแก้ไขปัญหานี้เพื่อให้ได้คุณภาพการขับขี่ที่สมกับความเป็น Crown สุดท้าย ความแข็งแกร่งที่ไม่ถึงเกณฑ์ของวิศวกร ได้รับการแก้ไขด้วยการออกแบบใหม่และทำการทดสอบหลายครั้งเพื่อเก็บข้อมูลแล้วนำมาปรับแต่งใหม่ด้วยการเสริมความแข็งแรงเพิ่มเติมในบางจุดแล้วประเมินอีกครั้งว่าส่วนใดของตัวถังที่ได้รับการเสริมความแข็งแกร่งจะมีประสิทธิภาพดีขึ้น

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือ หลักอากาศพลศาสตร์ของรถยนต์ครอสโอเวอร์ ซึ่งเกิดจากการออกแบบที่โฉบเฉี่ยวเป็นเอกลักษณ์ของ Crown รุ่นนี้ ที่ความเร็วต่ำประมาณ 20 ถึง 30 กม./ชม. นักทดสอบรู้สึกว่าส่วนท้ายไม่ได้สัมผัสพื้นอย่างเหมาะสม เมื่อเร่งความเร็ว ส่วนท้ายก็จะเริ่มเอียง (เคลื่อนขึ้นและลง) เมื่อเทียบกับส่วนหน้า วิธีแก้ปัญหาทั่วไปคือ การรักษาเสถียรภาพของการเคลื่อนไหวด้วยแรงกดเพิ่มเติมด้วยการติดตั้งสปอยเลอร์หลังหรือปรับแต่งส่วนท้ายของตัวรถให้คล้ายกับสปอยเลอร์หลัง แต่ประเดนหลักก็คือ ต้องรักษาการออกแบบที่สวยงามของ Crossover เอาไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาอากาศพลศาสตร์ วิศวกรของ Toyota ตัดสินใจเพิ่มชิ้นส่วนที่สามารถสร้างแรงกดใต้พื้นรถ แผงและครีบระบายอากาศแบบแผ่นถูกติดตั้งที่ใต้ท้อง หลังจากการทดสอบและปรับปรุงเป็นเวลากว่าสี่เดือน ทีมวิศวกร Toyota ก็ทำให้การควบคุม Crown Crossove มีเสถียรภาพมากขึ้น ด้วยอุปกรณ์แอโรไดนามิกที่มีส่วนช่วยอย่างมากในการบรรลุความเป็นยานยนต์ Crown

โดยทั่วไปแล้ว เพื่อรักษาเสถียรภาพของตัวรถ จำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบกันสะเทือนที่แข็งขึ้น แต่ถ้าใช้โช้คอัพและสปริงที่แข็งขึ้น Crown Crossover จะไม่สามารถบรรลุความสบายในการขับและคุณภาพเชิงเอกลักษณ์ของ Crown ได้ ในทางกลับกัน การรับประกันความเสถียร ด้วยอุปกรณ์แอโรไดนามิก ปรับระบบกันสะเทือนให้มีความสบายมากขึ้น สำหรับส่วนท้ายมีการปรับเปลี่ยนตามหลักอากาศพลศาสตร์ โดยไม่กระทบต่อรูปลักษณ์ที่ลงตัวของบั้นท้ายซึ่งหลายคนมองว่ามันคือจุดขายของ Crown Crossover

DRS (Dynamic Rear Steering) ระบบบังคับเลี้ยวล้อหลังอิเล็กทรอนิกส์ของ Toyota ในช่วงความเร็วต่ำไปจนถึง 60 กม./ชม. ล้อหลังจะหักเลี้ยวสวนทางกับล้อหน้า ทำให้ควบคุมรถได้ดีขึ้นและตอบสนองได้อย่างคล่องแคล่ว เมื่อความเร็วเกิน 60 กม./ชม.ล้อหลังจะเลี้ยวไปในทิศทางเดียวกันกับล้อหน้า เพื่อทำให้รถมีความเสถียรมากขึ้น DRS ช่วยให้ช่วงล่างนิ่มลง ทำให้ Crown นุ่มนวลตามแบบฉบับของตัวเองและมีความคล่องตัวจากการตอบสนองที่ยอดเยี่ยมในย่านความเร็วต่ำ  รวมถึงการขับขี่ที่มีเสถียรภาพในช่วงความเร็วสูง ลดอาการโคลงตัวเมื่อเปลี่ยนเลน

พวงมาลัยพาวเวอร์ไฟฟ้า (EPS) ใช้ฮาร์ดแวร์ EPS พื้นฐานเดียวกันกับรถเก๋ง มีอัตราทดพวงมาลัยที่เร็วกว่ารถ SUV ทั่วไป โดยปกติ การตั้งค่า EPS ให้เลี้ยวเร็วขึ้น มักจะทำให้เกิดความไม่เสถียรในรถที่มีรูปลักษณ์ที่ยกสูงสไตล์ Crossover ด้วยระบบกันสะเทือนที่นิ่มกว่า ออกแบบมาเพื่อให้ขับขี่ได้อย่างสบายและมีคุณภาพ Crown จึงมีความอ่อนไหวต่อการปรับแต่งมากเป็นพิเศษ เว้นแต่ว่าระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น DRS และ EPS จะได้รับการปรับแต่งอย่างสมบูรณ์แบบ Toyota  ตั้งใจที่จะให้การขับขี่เป็นธรรมชาติซึ่งไม่สามารถรู้สึกถึงการมีอยู่ของระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์

โดยปกติแล้ว วิศวกรที่ทำการปรับแต่ง จะทำตามลำดับขั้นตอนที่กำหนด ตั้งแต่ AVS ไปจนถึง DRS และ EPS โดยแต่ละส่วนจะปรับแต่งตามการตั้งค่าก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม เมื่อนักขับทดสอบรู้สึกว่าการควบคุมไม่ปกติ ทีมจะกลับไปที่ AVS หลังจาก DRS หรือกลับไปที่ DRS อีกครั้ง หลังจากปรับแต่ง EPS จาก เวลาและความพยายามที่ใช้ไปกับการปรับเทียบนี้ส่งผลให้ไดนามิกของ Crown Crossover ดีขึ้น.