ไม่มียางสมรรถนะสูงยี่ห้อใดที่สามารถรีดน้ำได้ 100% ยางที่ดีทำได้แค่การรีดน้ำออกไปจากหน้ายางให้เร็วที่สุดเท่านั้น เมื่อผิวถนนเปียก ยางจะไม่สามารถรีดน้ำได้หมด ไม่มากก็น้อยที่คุณอาจเกิดอาการลื่นไถล ยิ่งขับมาเร็วมากเท่าไร ก็ทำให้ยางหมุนผ่านไปอย่างรวดเร็ว การกดเพื่อรีดไล่น้ำออกจากหน้าสัมผัส ก็จะแย่ลงกว่ารถที่ขับช้าๆ การขับด้วยความเร็วต่ำ ทำให้ยางหมุนผ่านผิวน้ำไปช้าๆ ยางจึงสามารถรีดน้ำได้อย่างเต็มที่ แถมความเร็วต่ำยังทำให้ไม่สูญเสียการควบคุม หรือเกิดขึ้นแค่เล็กน้อย สามารถแก้ไขได้

...

อาการเหินน้ำ หรือ Hydroplaning เกิดขึ้นเมื่อยางรถยนต์ที่หมุนไปบนน้ำที่เจิ่งนองอยู่บนผิวถนน เมื่อหน้ายางไม่ได้สัมผัสกับผิวถนนโดยตรง ทำให้ยางไม่สามารถยึดเกาะกับผิวถนนได้ เนื่องจากมีน้ำเป็นตัวขวางกั้นหน้ายางที่จะสัมผัสกับถนน การเหินน้ำจนทำให้เสียหลักอย่างรุนแรง อาจเกิดขึ้นได้เมื่อขับฝ่าน้ำฝนท่วมขังเป็นแอ่งเล็กๆ บนถนน หรือวิ่งฝ่าสิ่งสกปรกยามเกิดฝนตกหนัก เช่น โคลน เลนที่อยู่บนพื้นผิวถนน ทำให้สูญเสียการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นทิศทางหรือการเบรก เพราะความฝืดระหว่างล้อรถยนต์กับถนนถูกกั้นด้วยน้ำนั่นเอง

ตัวแปรที่ทำให้เกิดอาการเหินน้ำก็คือ ความเร็วที่ใช้ขับระหว่างวิ่งทับแอ่งน้ำ ซึ่งมีความสำคัญ ยิ่งขับเร็ว โอกาสที่ล้อจะรีดน้ำได้ทันจะยิ่งน้อยลง ขับเร็วก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงจะก่อให้เกิดอาการเหินน้ำแล้วเสียหลักหลุดออกจากถนนได้มากกว่าการขับด้วยความเร็วต่ำฝ่าแอ่งน้ำเล็กๆ บนผิวถนน น้ำหนักของรถ เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่มีความสำคัญ ดอกยางของรถยนต์ ลักษณะของดอกยาง ความลึกของดอกยางที่จะใช้สำหรับการยึดเกาะและรีดน้ำ ความลึกของดอกยางในทางทฤษฎี หากดอกยางเหลือเพียงครึ่งเดียว ความเร็วที่ใช้จะต้องลดลงจากเดิมประมาณ 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อเทียบกับดอกยางที่สดใหม่

ล้อ หากเป็นล้อหน้ากว้าง ยางแก้มเตี้ย โอกาสเกิด Hydroplane จะน้อยกว่ายางเส้นเล็ก แต่ก็ไม่เสมอไป รถล้อโตโหลดเตี้ยหากใส่มาเต็มสูบไม่ยอมเบา หรือเบรกก่อนเจอกับแอ่งน้ำ ก็อาจเกิดอาการเหินน้ำได้เหมือนกัน ลักษณะของพื้นผิวถนน หากผิวถนนในช่วงที่มีน้ำท่วมขังเล็กๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากฝนตกหนักจนกลายเป็นแอ่งน้ำ เมื่อผิวถนนเป็นพื้นคอนกรีต โอกาสเกิดอาการเหินน้ำสูญเสียการควบคุมทิศทางจะง่ายกว่าถนนที่มียางมะตอยราด แต่ถนนลาดยางมะตอยจะลื่นมากกว่าเมื่อเกิดฝนตก ไม่ว่าจะเป็นผิวถนนแบบใดก็ไม่ควรใช้ความเร็วสูงขับฝ่าแอ่งน้ำอย่างเด็ดขาด

...

วิธีป้องกันอาการเหินน้ำ
ไม่ใช้เร็วเกิน 70-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากพื้นผิวถนนมีน้ำขัง หรือแม้แต่เปียกเล็กน้อย ต้องลดความเร็วและใช้ความระมัดระวัง ถ้าฝนตกหนักจนมองไม่เห็น ก็หาที่จอดที่ปลอดภัย รอจนฝนซาแล้วค่อยเดินทางต่อ ฝืนขับต่ออันตราย ยางไม่มีดอก หรือดอกยางเหลือน้อยเกินไป ยางหัวโล้น จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเมื่อขับท่ามกลางฝนตก หรือถนนที่เปียกชื้น เมื่อขับทับแอ่งน้ำ แต่ใช้ความเร็วต่ำ รวมถึงยางก็อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ รถจะสูญเสียการควบคุมเพียงเล็กน้อย คุณควรควบคุมรถยนต์ก่อนขับผ่านแอ่งน้ำบนถนน ทั้งการลดความเร็ว จับพวงมาลัยให้กระชับขึ้นเล็กน้อย ห้ามเบรก หรือหักพวงมาลัยไปมาเด็ดขาด

...

รถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า
รถขับหน้านั้นมีคนใช้เป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่ทราบอาการเมื่อล้อหน้าซึ่งเป็นล้อขับเคลื่อนเกิดการลื่นไถล เมื่อเกิดอาการเหินน้ำที่ล้อหน้า โอกาสเกิดการเสียหลัก หรือหมุนจะเพิ่มมากขึ้น หากขับมาด้วยความเร็วสูง มีความเป็นไปได้ที่คุณจะสูญเสียการควบคุมจนรถตกข้างทาง ฟาดอย่างรุนแรงกับต้นไม้หรือเสาไฟฟ้า ควรลดความเร็วเมื่อฝนตกหนัก หรือสภาพถนนเริ่มมีแอ่งน้ำท่วมขัง

รถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลัง
การควบคุมเมื่อเกิดอาการเหินน้ำจะง่ายกว่า แต่ถ้ามาเร็วเกินไปขับแบบไหนก็ยากที่จะแก้ไข อาการของรถขับหลังจะไม่มากเท่ากับรถขับเคลื่อนล้อหน้า แค่ยกคันเร่งแล้วประคองพวงมาลัยคืนไปในทางตรงข้ามกับส่วนท้ายที่เริ่มกวาดออก อย่าตกใจ ห้ามเบรกหรือหมุนพวงมาลัยอย่างรวดเร็ว ที่ถูกต้องก็คือ ลดความเร็วเมื่อฝนตก และขับอย่างระมัดระวัง

...

รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ
อาจไม่หมุนคว้างเมื่อขับผ่านแอ่งน้ำ เนื่องจากรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลากับยางดีๆ นั้นให้ประสิทธิภาพในการยึดเกาะกับผิวถนนมากกว่าระบบขับเคลื่อนแบบอื่นๆ แต่หากเกิดสูญเสียการควบคุมขึ้นมาจริงๆ เนื่องจากความเร็วที่ขับผ่านแอ่งน้ำนั้นสูงมากๆ ให้ลดความเร็วแล้วรักษาทิศทางของรถเอาไว้ เมื่อคุณไม่ใช่พวกยอดฝีมือหรือมือขับแรลลี่ระดับโลก อาการจะเกิดได้ทั้งหน้าดื้อและท้ายปัด ซึ่งจะเกิดพร้อมๆ กัน ทำให้เมื่อรถขับเคลื่อนสี่ล้อสูญเสียการยึดเกาะนั้นจะแก้กลับได้ยากมากกว่ารถประเภทอื่นๆ

ข้อควรระวัง
ห้ามเบรกเมื่อเกิดอาการเหินน้ำ ผู้ขับส่วนใหญ่จะตกใจแล้วเหยียบเบรกอย่างรุนแรงเมื่อรถสูญเสียการควบคุม การเหยียบเบรกฉุกเฉินจะยิ่งทำให้เกิดอาการสูญเสียการทรงตัวมากยิ่งขึ้น หลีกเลี่ยงโอกาสเกิดอาการเหินน้ำให้มากที่สุดด้วยการลดความเร็ว ใช้เกียร์ต่ำเพื่อสร้างแรงยึดเกาะ ขับให้ช้าลงเมื่อถนนเริ่มมีแอ่งน้ำท่วมขังทั้งเลนขวาและเลนซ้าย ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือน้อยกว่านั้น หากยางที่คุณใช้อยู่ในสภาพที่ไม่ค่อยจะดี

อาการเหินน้ำที่น่ากลัวที่สุดคือ เมื่อเกิดขึ้นในล้อข้างเดียว หรือเหินน้ำไม่เท่ากันในแต่ละล้อ เจอแอ่งน้ำตื้นๆ โดยไม่คาดคิด และไม่ได้เจอทุกล้อ แต่เจอแค่ล้อข้างเดียว เช่น เมื่อใช้ความเร็วสูงแล้วเจอแอ่งน้ำตื้นๆ บนล้อบางล้อ อาจทำให้เกิดอาการเป๋ปัดพวงมาลัยดึงไปในทางใดทางหนึ่งอย่างรวดเร็ว ถึงขั้นรถหมุน หรือไถลตกข้างทาง ควรใช้ความเร็วให้เหมาะกับสภาพถนน ไม่ประมาทมั่นใจกับรถของตัวเองมากจนเกินไป ขับให้ช้าลงพร้อมยางที่สดใหม่ก็จะปลอดภัยกันทุกคนครับ.