เหตุการณ์เครื่องบินโดยสารตกหลุมอากาศเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อากาศที่แปรปรวนจากสภาวะโลกร้อนที่กำลังกลายเป็นโลกเดือดได้ส่งผลกระทบต่อการบิน สภาพอากาศปั่นป่วนเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้การโดยสารไปกับเครื่องบินมีสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป รัดเข็มขัดในที่นั่งตลอดเวลาขณะบินจะเป็นการดีที่สุด เดินเอ้อระเหย หรือไม่คาดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทาง คุณอาจเจ็บหนักจากการตกหลุมอากาศที่มีอยู่ทั่วไปในระดับความสูงใกล้เคียงกับเพดานบินปกติของเครื่องบิน ซึ่งอาจทำให้เครื่องเสียการควบคุมร่วงหล่นจากเพดานบินปกติ เช่น เครื่องบินโบอิ้ง 777 ของสายการบินเอมิเรตส์ ซึ่งบินขึ้นจากสนามบินนานาชาติเมืองดูไบ มุ่งตรงไปยังประเทศอินเดีย เครื่องบินลำดังกล่าวบินเข้าไปปะทะกับกระแสลมแปรปรวน (Turbulence) ทำให้เครื่องถูกกระแสลมแรงกระหน่ำเข้าใส่จนตัวเครื่องหล่นระดับจาก 20,000 ft ลงมาที่ระดับ 5,000 ft ด้วยการเสียระยะสูงมากถึง 4,000 เมตร หรือ 4 กิโลเมตร ในเวลาไม่ถึงหนึ่งนาที นับเป็นช่วงเวลาแห่งการร่วงหล่นที่น่ากลัวสุดๆ และคงเป็นเหตุการณ์ที่ยากจะลืมเลือนของคนบนเครื่อง เหตุการณ์ตกหลุมอากาศอย่างหนักในครั้งนั้นทำให้มีผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บมากถึง 17 คน

...

สภาพอากาศที่ปั่นป่วนในสภาวะโลกเดือดนั้น ทำให้เหตุการณ์เครื่องบินโดยสารตกหลุมอากาศเกิดขึ้นบ่อยและถี่มากกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เมื่อ 7 ปีก่อน เครื่องบินโดยสารแอร์บัส เอ330 เที่ยวบินที่ 'อีวาย 474' (EY474) ของสายการบิน เอติฮัด แอร์เวย์ส ซึ่งกำลังเดินทางจากกรุงอาบูดาบีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไปยังกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ประสบเหตุตกหลุมอากาศ ทำให้มีผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ 31 คน แถลงการณ์ของ เอติฮัด แอร์เวย์ส ระบุว่า เครื่องบินแอร์บัส เอ330-200 ลำนี้ ตกหลุมอากาศที่เกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึงอย่างรุนแรง ประมาณ 45 นาทีก่อนที่เครื่องบินจะเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติ ซูการ์ โนฮัตตา และลงจอดอย่างปลอดภัย จากการตรวจสอบพบว่า ช่องเก็บสัมภาระในห้องโดยสารของเครื่องบินได้รับความเสียหาย ขณะที่ผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บเข้ารับการปฐมพยาบาลที่คลินิกภายในสนามบิน แต่อย่างน้อย 9 คนถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล

สภาพอากาศกับการบินมีความสำคัญอย่างใกล้ชิดกับการเดินทางด้วยอากาศยาน เพราะการบินเป็นการนำเอาอากาศยานเข้าไปสัมผัสกับอากาศโดยตรง ดังนั้น อากาศจึงมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งต่อการบิน สภาวะอากาศต่างๆ ที่ดีหรือเลวร้ายวิปริตแปรปรวน ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ทำให้เกิดสภาวะอากาศเลวร้ายจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการปฏิบัติการบินทั้งสิ้น สภาพของอากาศนั้น โดยธรรมชาติของบรรยากาศรอบโลกจะมีความแตกต่างกันไปตามคาบเวลาและสถานที่ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและสภาวะอากาศเลวร้ายต่างๆ ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น สามารถคาดหมายพยากรณ์ล่วงหน้าได้โดยหลักวิชาทางอุตุนิยมวิทยา ทำให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อกิจการบิน โดยก่อนทำการบินทุกครั้ง นักบินผู้ควบคุมการบินและตัวแทนฝ่ายปฏิบัติการบินจะต้องศึกษาสภาวะของอากาศตามเส้นทางบินสนามบินต้นทางสนามบินปลายทาง และสนามบินสำรองใกล้เคียงอย่างละเอียดจากเอกสารประกอบการบิน สำนักงานอุตุนิยมวิทยาประจำสนามบินจะทำหน้าที่วางแผนการบินล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะอากาศเลวร้ายที่เป็นอันตรายต่อการบินตลอดเส้นทางบิน หรือขณะเครื่องบินขึ้น-ลงรอบๆ ห้วงอากาศของสนามบิน แต่ก็มีสภาพอากาศที่ปั่นป่วนท่ามกลางความแจ่มใส ซึ่งเรดาร์ของเครื่องบินไม่สามารถตรวจจับได้

...

...

CAT (Clear Air Turbulence)
หลุมอากาศที่เกิดจากกระแสลมปั่นป่วนรุนแรงที่ระดับความสูงเดียวกับเพดานบินของเครื่องบินโดยสาร ซึ่งเรดาร์ไม่สามารถตรวจจับได้นั้นคือความปั่นป่วนของกระแสลมท่ามกลางสภาพอากาศแจ่มใส สำหรับกลุ่มเมฆทุกชนิดที่เกิดขึ้นในท้องฟ้าสามารถใช้เป็นสัญญาณเตือนให้ทราบถึงความปั่นป่วนได้ว่ามีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด ซึ่งนักบินจะต้องเลือกว่าจะหลีกเลี่ยงหรือบินผ่านเข้าไปในเมฆชนิดนั้น เมื่อนักบินสังเกตเห็นเมฆปรากฏอยู่เบื้องหน้า นักบินสามารถประเมินความรุนแรงของความปั่นป่วนได้และอาจตัดสินใจลดความเร็วของเครื่องบินลง หรือปฏิบัติการอย่างอื่นตามคำแนะนำเพื่อผจญกับความปั่นป่วนนั้น แต่มีความปั่นป่วนอีกชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่มีสิ่งเตือนใดๆ ที่มองเห็นได้ มีเครื่องบินจำนวนมากที่บินอยู่ในบริเวณที่ไม่มีก้อนเมฆปรากฏอยู่เลย แต่เครื่องบินได้รับการกระแทกหรือราวกับถูกจับโยน เหมือนกับเรือที่แล่นอยู่ในทะเลที่เต็มไปด้วยระลอกคลื่น เรียกความปั่นป่วนในลักษณะนี้ว่า ความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส

...

หากข้อมูลพยากรณ์อากาศที่ได้รับทำให้นักบินทำการบินทวนลมหรือมีสภาวะอากาศเลวร้าย เช่น กระแสลมกระโชกแรง พายุฝนฟ้าคะนองที่พัดผ่านสนามบินหรือบริเวณพื้นที่รอบๆ สนามบินปลายทางที่เกิดพายุฟ้าคะนอง นักบินจะมีการเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง หรือคำนวณจำนวนผู้โดยสารและสินค้าสัมภาระที่บรรทุกให้เพียงพอต่อเชื้อเพลิง หากต้องบินวนรอหรือบินไปลงยังสนามบินใกล้เคียง ในทางตรงข้ามถ้าข้อมูลพยากรณ์อากาศที่ได้รับเป็นการบินตามลมและอากาศปลอดโปร่งแจ่มใสตลอดเส้นทางของการบินไปจนถึงสนามบินปลายทาง นักบินก็สามารถเติมเชื้อเพลิงให้มีความพอดีกับระวางสินค้าและผู้โดยสารได้มากขึ้น ซึ่งข้อมูลจากการพยากรณ์อากาศของอุตุนิยมวิทยาการบินนั้น ทำให้สามารถวางแผนการบินเพื่อให้เกิดความสะดวก ประหยัด ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงสุดในการบิน

Clear Air Turbulence ร่วมกับกระแสลม Jet Streams
สาเหตุของความปั่นป่วนของกระแสอากาศบริเวณ Jet Stream ซึ่งอยู่ในระดับความสูงมากๆ นั้นเกิดจากด้านในสุดของแกนของ Jet Stream บางครั้งอาจทำให้เกิดลมที่มีความเร็วสูงสุดถึง 250 ไมล์ต่อชั่วโมง แต่ถัดออกมาด้านนอกหรือขอบนอกของแนวกระแสลม Jet Streams ความเร็วลมก็จะลดลงเรื่อยๆ จนถึงขอบด้านนอกสุดอาจเหลือเพียง 50 ไมล์ต่อชั่วโมง โดยในแต่ละจุดของความแตกต่างของความเร็วลม จะเกิดกระแสอากาศหมุนวน เกิดความปั่นป่วน เรียกว่า CAT หรือ Clear Air Turbulence ปรากฏการณ์ที่พบได้บ่อยเมื่อเครื่องบินบินผ่านบริเวณ CAT ทั้งๆ ที่มีสภาพอากาศที่แจ่มใสปลอดโปร่ง คือ เครื่องบินจะเกิดการโยนตัวอย่างทันทีทันใด หรือที่เรียกว่า ตกหลุมอากาศ (Air Pocket) ระดับความรุนแรงของความปั่นป่วนนี้อาจอยู่ในขั้นปานกลางถึงขั้นรุนแรงมาก

ลำดับชั้นความรุนแรงของความปั่นป่วน
การแบ่งชั้นความรุนแรงความปั่นป่วนในสภาพอากาศที่เครื่องบินบินผ่าน โดยนักบินประเมินค่าความรุนแรงได้ตามชนิดของเครื่องบินนั้นๆ ซึ่งการประเมินความรุนแรงนี้ต้องทำตามแนวทางการปฏิบัติงานและข้อจำกัดของนักบินแต่ละบุคคล

ความรุนแรงของความปั่นป่วนในบรรยากาศความรุนแรงลักษณะที่เกิดขึ้นกับเครื่องบิน

ความรุนแรงเล็กน้อย (Light)
สภาพความปั่นป่วนที่ทำให้ผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัด สิ่งของต่างๆ ในเครื่องบินยังคงอยู่นิ่งกับที่

ความรุนแรงปานกลาง (Moderate)
สภาพความปั่นป่วนที่ทำให้ผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัด และผู้โดยสารอาจถูกโยนตัวขึ้นเป็นครั้งคราว แม้ขณะที่รัดเข็มขัดอยู่ สิ่งของต่างๆ ในเครื่องบินเคลื่อนที่ได้

รุนแรงมาก (Severe)
สภาพความปั่นป่วนที่ทำให้นักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องบินได้ชั่วขณะหนึ่ง ผู้โดยสารถูกโยนตัวขึ้น-ลงอย่างรุนแรงขณะรัดเข็มขัด และสิ่งของต่างๆ ในเครื่องบินถูกโยนลอยขึ้นในอากาศได้

รุนแรงมากที่สุด (Extreme)
สภาพความปั่นป่วนในลักษณะนี้พบน้อยมาก เครื่องบินถูกโยนขึ้น-ลงอย่างรุนแรงมาก และนักบินไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งอาจก่อความเสียหายให้แก่เครื่องบินได้ บริเวณของ CAT จะเคลื่อนที่ไปในทิศตะวันออกเสมอ โดยจะเคลื่อนที่ตามแนวปะทะอากาศ (Front) ที่เกิดขึ้นในบรรยากาศของผิวพื้นโลก

อันตรายของ CAT (Clear Air Turbulence) ต่อเครื่องบินที่กำลังทำการบินในอากาศ โดยเฉพาะเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ ที่ทำการบินในระดับสูง เมื่อเครื่องบินบินเข้าไปสัมผัสกับบริเวณของ CAT จะประสบกับความปั่นป่วนของอากาศ เกิดการสั่นสะเทือนของเครื่องบินอย่างรุนแรง ทำให้ผู้โดยสารตกใจ ขาดความสุข หรือบางครั้งรุนแรงมากจนทำให้เกิดความเสียหายแก่เครื่องบินและผู้โดยสารบาดเจ็บได้ ดังนั้น ก่อนทำการบินทุกครั้ง นักบินและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการบินจะต้องศึกษาตำแหน่งของ CAT ให้ละเอียดจากเอกสารประกอบการบิน (Flight folder) และข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยง หรือลดความรุนแรงของ CAT เพื่อให้เกิดความสะดวก ความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพของการบิน

วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553 เครื่องบินโบอิ้ง 777 ของสายการบินเอมิเรตส์ บินขึ้นจากสนามบินนานาชาติเมืองดูไบ มุ่งตรงไปยังประเทศอินเดีย เครื่องบินบินเข้าไปปะทะกับกระแสลมแปรปรวน (Turbulence) ทำให้เครื่องถูกลมกดจนลดระดับจาก 20,000 ft ลงมาที่ระดับ 5,000 ft (4 กิโลเมตร) ในเวลาไม่กี่นาที ทำให้มีผู้โดยสารบาดเจ็บ 17 คน

วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2553 เครื่องบินโบอิ้ง 777-200 เที่ยวบินที่ 622 ของสายการบินไทย ออกเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปยังเมืองโอซากา เกิดอุบัติการณ์ตกหลุมอากาศ ขณะทำการลดระดับเพื่อร่อนลงจอดที่ท่าอากาศยานคันไซ เมืองโอซากา ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บเข้าโรงพยาบาลทั้งสิ้น 4 คน เที่ยวบินนี้มีผู้โดยสารและลูกเรือรวม 244 คน

วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553 เครื่องบินแอร์บัส เอ 330 ของสายการบินแควนตัส ตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงขณะที่เดินทางจากฮ่องกง สู่เมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 7 คน พร้อมปฏิเสธความเชื่อมโยงกับเหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินรุ่นเดียวกันที่เคยประสบอุบัติเหตุก่อนหน้านี้ แควนตัส ระบุว่า อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากนักบินนำเครื่องขึ้นบินราว 4 ชั่วโมง โดยผู้โดยสาร 6 คน และลูกเรือ 1 คน ที่ได้รับบาดเจ็บ ได้รับการรักษาพยาบาลบนเครื่องบินที่มีผู้โดยสาร 206 คน และลูกเรือ 13 คน ก่อนที่นักบินจะนำเครื่องลงจอดได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ดี สายการบินปฏิเสธความเกี่ยวข้องของอุบัติเหตุครั้งนี้ กับเหตุร้ายครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินแอร์บัส เอ 330

วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555 สายการบินไชน่าแอร์ไลน์ เที่ยวบิน CI 641 ซึ่งออกเดินทางจากฮ่องกงมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระหว่างเครื่องบินกำลังจะร่อนลงจอดที่ท่าอากาศยานประมาณ 20 นาที ประสบอุบัติเหตุตกหลุมอากาศ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บบนเครื่อง เป็นผู้โดยสารจำนวน 21 คน ลูกเรืออีก 11 คน ซึ่งเมื่อเครื่องบินลงจอดเวลาประมาณ 13.23 น. สายการบินได้ประสานงานมายัง ทอท. เพื่อนำตัวผู้โดยสารและลูกเรือที่ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาล

วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2556 เครื่องบินของสายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ SQ308 ซึ่งบินจากสิงคโปร์ไปกรุงลอนดอนของอังกฤษ บินผ่านสภาพอากาศแปรปรวนและตกหลุมอากาศอย่างแรง ทำให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ 1 คน

เอกสารข้อมูลประกอบการเขียนบางส่วนจาก
สำนักอุตุนิยมวิทยาการบิน